พัฒนาผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ด้วยการสื่อสารอย่างสันติ
Reading Time: 2 minutesโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม จังหวัดตราด เป็นโรงเรียนมัธยมฯ ขนาดเล็กที่รายล้อมด้วยธรรมชาติและต้นไม้ใหญ่ บริเวณทางเข้ามีเขาลูกเล็กตามชื่อ เด็กส่วนมากเป็นลูกหลานของเกษตรกรในพื้นที่ ทำสวนยาง ปลูกผลไม้ และส่งขายพืชเศรษฐกิจ
“คนจะเข้าใจว่าเป็นโรงเรียนที่เกี่ยวกับการเกษตร ไม่ก็การปลูกพืชนี่แหละครับ ตอนผมไปตลาด พอแม่ค้ารู้ว่าเป็นครูที่นี่ เขายังทักเลยว่าเด็กโรงเรียนนี้ปลูกต้นไม้ขายได้เงินเยอะเลยนะ” ครูก๊อต-สุทัศน์ ลาดคำ คุณครูที่ปรึกษาประจำชั้น ม.4 เล่าถึงภาพจำของโรงเรียนให้เราฟัง
โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคมมุ่งสร้างเด็กให้เป็นผู้นำเชิงสร้างสรรค์ ทั้งนำตัวเอง นำกลุ่ม นำงาน และมีความเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งหมายถึงทักษะการคิด การวางแผน และการจัดการ เพื่อประกอบอาชีพและสร้างรายได้ให้ตัวเอง ผ่านการเรียนรู้ในกิจกรรมพิเศษและวิชาเสริมที่เปิดขึ้นเฉพาะตามความสนใจของเด็ก เช่น การให้เด็กรับบทผู้ค้านำของมาขายกันเองในโรงอาหารโดยมีสภานักเรียนเป็นผู้จัดการ ร้านค้าทุกร้าน ตั้งแต่อาหาร เครื่องดื่ม ขนม ไปจนถึงคาเฟ่ในโรงเรียน บริหารจัดการโดยเด็กนักเรียนทั้งหมด โรงเรียนไม่ต้องจัดหาผู้ค้าจากภายนอกเลยแม้แต่ร้านเดียว
วิชาผู้ประกอบการ
เมื่อเดินชมรอบโรงเรียน ก็พบว่าทั้งข้างตึกเรียน หน้าบ้านพักครู ไปจนถึงข้างโรงอาหาร ถูกจับจองด้วยแปลงผักและต้นกล้า บางพื้นที่มีแม้กระทั่งบ่อปลา ครูก๊อตอธิบายว่าทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชา “โปรเจกต์ 19” ในปีนี้
“วิชาโปรเจกต์คือการพัฒนาพื้นที่รับผิดชอบของเด็กแต่ละกลุ่ม โดยคำว่า 19 มาจากเด็ก ม.6 ในปีนี้จำนวน 19 คน เราจะให้พี่ ม.6 เป็นหัวหน้านำพาน้อง ๆ ให้ทำอะไรก็ได้ในพื้นที่ที่ตัวเองเลือก บางกลุ่มเลือกพื้นที่โรงอาหาร เขาก็จะทำความสะอาดโรงอาหาร รับผิดชอบจัดระเบียบโรงอาหารให้สะอาดตลอดเวลา หรือถ้ากลุ่มไหนเลือกปลูกผัก ก็จะมาดูแลผัก ใส่ปุ๋ย รดน้ำ ถอนหญ้า กลุ่มที่ทำบ่อปลาก็จะไปดูน้ำและให้อาหารปลาดุก เป็นการทำโปรเจกต์ส่วนตัวของนักเรียนครับ”
ครูก๊อตซึ่งเป็นที่ปรึกษาวิชานี้บอกว่า เด็กเลือกพื้นที่หน้าบ้านพักของตนเพื่อใช้ปลูกผักสวนครัว ทุกเช้า-เย็นเด็กในกลุ่มจะผลัดเวรกันมาดูแลแปลงผักเพื่อนำไปขายในตลาดผักของชุมชน วิชาโปรเจกต์จึงเป็นธุรกิจจำลองให้เหล่าผู้ประกอบการรุ่นเยาว์ได้ฝึกฝนตัวเอง ทั้งการทำงานร่วมกัน การเป็นผู้นำ ผู้ตาม การทำงานอย่างมีวินัย ไปจนถึงการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งกับเพื่อนในโปรเจกต์เดียวกันและโปรเจกต์อื่นในโรงเรียน
วิชาเรียนเพื่อสร้างผู้ประกอบการของเขาน้อยวิทยาคมไม่ใช่ห้องเรียนที่เราคุ้นชินกันสักเท่าไร จนเกิดความสงสัยว่าหากจะเตรียมความพร้อมให้คุณครูสักคนมาสอนวิชาแบบนี้ ทักษะวิธีคิดสำคัญที่ครูต้องมีนั้นเป็นแบบไหน
ก้าวข้ามปัญหาด้วยการสื่อสารอย่างสันติ
“ครูที่ปรึกษาที่ดีจะต้องรับฟังเด็กค่ะ รับฟังปัญหา แล้วก็ลงมือทำไปด้วยกันกับเขา ถ้าครูคอยรับฟัง คอยช่วยเหลือ และเสนอแนะ เด็กก็จะผลักดันตัวเอง แล้วกล้าลงมือทำได้มากขึ้นด้วยค่ะ”
ครูเอิร์ธ-อภิษฎา อ่อนสุทธิ ครูวิชาภาษาอังกฤษและครูที่ปรึกษาโปรเจกต์พื้นที่โรงอาหาร เล่าถึงงานหลักในการช่วยสนับสนุนเด็กว่า สิ่งสำคัญคือการคุยกับเด็กอย่างสม่ำเสมอ ไถ่ถามถึงปัญหาในพื้นที่ที่เด็กรับผิดชอบ เปิดวงสนทนาว่าเราจะแก้ปัญหาด้วยวิธีไหนได้บ้าง ให้ทุกคนช่วยกันเสนอแนวคิด และลงมือทำด้วยตัวเอง
“ส่วนเราที่เป็นครูก็คอยจด คอยเรียงลำดับ คอยย้ำ และคอยช่วยดูว่างานที่คุยกันไว้นั้นไปถึงกระบวนการไหนแล้ว”
ปัญหาอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อตามลักษณะของโปรเจกต์ เด็กกลุ่มโรงอาหารที่ปกติต้องดูแลทำความสะอาดเรียบร้อยของโรงอาหารทุกเย็น อาจมีธุระอื่นจนไม่ได้มาทำเวรแต่ไม่ได้บอกเพื่อนไว้ล่วงหน้า เด็กกลุ่มเลี้ยงปลาอาจลืมให้อาหารบ้างเป็นบางครั้ง หรือเด็กกลุ่มปลูกผักก็อาจยังอยู่ในช่วงลองผิดลองถูก ทำผักตายไปบ้าง ไม่ว่าโปรเจกต์ของเด็กจะทำในพื้นที่แบบไหน สถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ปัญหาที่ไม่คาดฝัน หรือการกระทบกระทั่งกันระหว่างสมาชิกก็เกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัญคือคุณครูที่ปรึกษาจะช่วยแก้ทั้งปัญหาหน้างานและประสานความสัมพันธ์ของเด็กกลับคืนมาได้ด้วยวิธีไหน หัวข้อการอบรมที่โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคมขอให้โครงการโรงเรียนปล่อยแสงจัดให้จึงเป็นเรื่อง “การสื่อสารอย่างสันติ”
“ภาษาอังกฤษเรียกย่อๆ ว่า NVC (Non-Violent Communication) คือการสื่อสารที่รู้ลึกจนไปถึงความรู้สึกและ ความต้องการของคนนั้น จากที่ขัดแย้งกันก็นำไปสู่ทางออกอย่างสันติได้ อันนี้คือการสื่อสารอย่างสันติครับ” ครูก๊อตอธิบาย
ในกิจกรรมการอบรมนี้เราชวนคุณครูมาฝึกฝนทักษะหลักสองรูปแบบที่จะช่วยให้ก้าวข้ามความขัดแย้งอย่างสันติวิธีได้ ทักษะแรกคือการฝึกที่จะสื่อสารความรู้สึกและความต้องการของตัวเองออกไป ส่วนทักษะที่ 2 คือการยอมรับความรู้สึกและความต้องการของผู้อื่น โดยให้คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างมาลองสร้างพื้นที่สนทนาใหม่โดยไม่ต้องเก็บความรู้สึกไว้ เป็นการสนทนาที่พูดความรู้สึกและความต้องการออกไปได้ เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างพยายามเข้าใจและนำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน
“ในการอบรมเขาจะมีการเล่าและให้เราฝึกแสดงความรู้สึก ปกติเราไม่เคยมานั่งดูว่าเรารู้สึกอะไรอยู่เลย ตอนนี้ถ้าเราเริ่มมีปัญหา เราก็จะคิดกับตัวเองว่าตอนนี้เรารู้สึกอะไรอยู่ ความต้องการของเราคืออะไร แก้ปัญหาตรงไหนได้บ้าง อารมณ์ก็จะเบาลง เพราะเรารู้แล้วว่าความต้องการของตัวเองคืออะไร” ครูเอิร์ธเล่าถึงวิธีคิดของตัวเองที่เปลี่ยนไป
“เมื่อก่อนเราคิดแค่ว่าการฟังคือต่างคนต่างฟังแล้วก็จบแค่นั้น แต่อารมณ์ข้างในยังมีอยู่ ยังมีความไม่เห็นด้วย พยายามพูดกันเท่าไหร่ก็ยังเห็นไม่ตรงกันสักที ถ้าเป็นตอนนี้เราก็จะดูก่อนว่าที่คิดเห็นไม่ตรงกันคือด้านไหน มีจุดที่เราตกลงกันและหาจุดร่วมได้ไหม เด็กก็เข้าใจไปในทางเดียวกันมากขึ้น เข้าใจปัญหา เข้าใจตัวเอง การทำงานก็ไปในทิศทางเดียวกัน ไปต่อได้ง่ายมากขึ้นค่ะ”
ครูเอิร์ธเป็นตัวอย่างหนึ่งของคนที่นำทักษะการสื่อสารอย่างสันติไปใช้ในการรู้เท่าทันตัวเอง จัดการอารมณ์ของตัวเองก่อนจะสื่อสาร ในขณะที่ครูก๊อตจะถนัดการใช้ทักษะนี้ในอีกรูปแบบหนึ่ง
ครูก๊อตเล่าว่าเคยมีเด็กมาเล่าถึงความรู้สึกไม่พอใจที่มักโดนเพื่อนคนหนึ่งพูดแทรกอยู่เสมอ ครูก๊อตจึงเรียกเด็กทั้งสองคนมาพูดคุยและปรับความเข้าใจกัน ให้เพื่อนคนนั้นได้รับรู้ความต้องการของเพื่อนอีกคนว่าเขาไม่ต้องการให้พูดแทรกและกำลังรู้สึกไม่ดีนะ ฝ่ายที่พูดแทรกพอรับรู้ก็ได้ทบทวนว่าตนเองเป็นแบบนั้นจริงไหม ถ้าใช่ก็ยอมรับความผิดแล้วปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือถ้าไม่ใช่ก็จะได้อธิบายให้อีกฝ่ายหนึ่งฟังว่าเขาทำแบบนั้นทำไม ข้างในรู้สึกอย่างไร และพูดแทรกเพราะต้องการอะไร ซึ่งหลังการพูดคุยทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันมากขึ้นกว่าเดิม
โรงเรียนแห่งความเข้าใจ
“เราต้องการให้กลุ่มคนที่ทำงานร่วมกันแต่มีความเห็นแตกต่างกัน สามารถเสนอและขับเคลื่อนงานของตัวเองไปได้อย่างดี มีคุณภาพ เราถึงเลือกทำเรื่องการสื่อสารอย่างสันติในโรงเรียน เพราะคุณครูเองก็รู้สึกว่าผลลัพธ์ของการอบรมไม่ได้ใช้แค่กับเด็ก แต่เป็นเรื่องของทั้งองค์กรด้วย”
ครูตือ – สมเกียรติ แซ่เต็ง หัวหน้ากลุ่มบริหารวิชาการ โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม เล่าถึงบรรยากาศในโรงเรียนที่เปลี่ยนไปว่าหลังจากการนำเรื่องการสื่อสารอย่างสันติเข้ามาใช้ คุณครูก็เริ่มจะคุยกันในเรื่องที่เคยเห็นต่างและคิดว่าคงเข้าใจกันไม่ได้ อีกทั้งยังเริ่มคุยในเรื่องที่ไม่เคยคุยกันมาก่อน
“ถ้าเมื่อก่อนเนี่ย เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าจริง ๆ แล้วงานของครูคนหนึ่ง เขาอยากให้คนอื่นเข้ามาช่วยหรือเปล่า หรือเวลาครูอีกคนทำงาน มีกิจกรรม มีอะไรที่เราอาจต้องเข้าไปช่วย นอกจากนี้เราก็ไม่มีทางรู้เลยว่าจริง ๆ แล้วการเข้าไปช่วยของเราเขารู้สึกยินดีหรือไม่ยินดี หลายครั้งจึงเลือกจะไม่ยุ่งกับงานพวกนี้ดีกว่า แต่พอเราคุยกัน ทำให้เราเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วถ้าเราเป็นเขา เราอยากได้ความช่วยเหลือแบบไหน หรือจริง ๆ ตอนนี้เขากำลังรู้สึกยังไง กระบวนการแบบนี้ผลไม่ได้เกิดที่ใคร เกิดที่เรานี่แหละ ทำให้เราเข้าใจคนอื่นและตัวเอง แล้วผมก็เชื่อว่าถ้าในระดับครูกับครูด้วยกันคุยกัน ในระดับครูกับเด็กก็น่าจะจะเกิดขึ้นได้”
ปัญหาที่ไม่คาดคิดและความขัดแย้งจะเกิดขึ้นเมื่อไร ไม่มีใครรู้ แต่เด็กโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคมมีคุณครูที่ปรึกษาคอยให้การช่วยเหลืออยู่ข้างหลัง ช่วยคลี่คลายปัญหาที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าด้วยความสันติและความเข้าใจ