เชื่อมครูรุ่นใหม่กับครูใกล้เกษียณ
Reading Time: 2 minutes“แต่ก่อนโรงเรียนบ้านกาเนะเป็นเสมือนที่พักพิงของครูวัยเกษียณ”
อรุนา ตาเดอิน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกาเนะ จังหวัดสตูล เล่าให้ฟังถึงวิถีชีวิตในอดีตของครูก่อนที่เธอจะมาเป็นผู้อำนวยการ ซึ่งปัจจุบันเข้าปีที่ 5 แล้ว
“มาถึงเดือนแรกตกใจเลย พอบ่ายสามครึ่ง นักเรียนกลับบ้าน คุณครูก็หิ้วกระเป๋าลงตามนักเรียนมา พอเข้าแถวเสร็จ นักเรียนกลับบ้าน คุณครูก็เอารถออกแล้วกลับบ้านเลย เราไม่พูดอะไร เพราะมาสังเกตและศึกษาเรียนรู้ว่าจะปรับตัวให้เข้ากับที่นี่ยังไง”
ผ่านไป 3 เดือนกับการพยายามปรับตัว ผอ. คนใหม่ไฟแรงกลับพบว่าสิ่งที่เห็นนั้นไม่ใช่อย่างที่คิด และคงยากจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีได้ สิ่งที่ทำได้ ณ ตอนนั้น คือพยายามชวนคุณครูนั่งคุย ถามสารทุกข์สุกดิบถึงที่มาที่ไปว่าคุณครูที่นี่อยู่กันอย่างไร และแอบถามครูที่อยู่มานานว่าอยากให้โรงเรียนบ้านกาเนะเป็นอย่างไรต่อไป
“พอคุยกับหลายคนก็สรุปได้เลยว่า คุณครูก็ไม่อยากให้เป็นแบบนี้ แต่อดีตอยู่กันมาแบบนี้ พอมีคนย้ายเข้ามาใหม่ก็ทำตาม ปรับตัวให้เข้ากับวิถีเดิม ซึ่งพอคิดจะปรับเปลี่ยนก็ไม่อยากเปลี่ยน เพราะกลัวว่าจะสร้างภาระงานให้ตัวเอง
“เราอยากปรับเปลี่ยน ก็เลยชวนครูมาคุย ชวนออกแบบและวางแผนร่วมกันว่าจะอยู่แบบนี้ไม่ได้ แทรกซึมเข้าไปทีละนิด เพื่อเปิดใจคุณครูให้ยอมรับการเปลี่ยนแปลง”
ที่พักพิงของครูวัยเกษียณ
โรงเรียนบ้านกาเนะ จังหวัดสตูล เป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดกลางค่อนไปทางเล็ก อยู่ติดถนนใหญ่ ห่างจากตัวเมืองไม่กี่สิบกิโลเมตร มีนักเรียนรวมทั้งหมด 124 คน บุคลากรทางการศึกษารวม 13 คน ผู้ปกครองของนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะปานกลางไปจนถึงยากจน โดยรอบเต็มไปด้วยโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา
ผอ.อรุนา เล่าว่าก่อนเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านกาเนะมีชื่อเสียงในด้านวิชาการ
“เมื่อก่อนโรงเรียนบ้านกาเนะโดดเด่นมากเรื่องการเรียน ไม่ว่าผล O-NET ผล NT หรือผลการสอบ RT แต่วิกฤตโควิด-19 ทำให้ผลการเรียนถดถอยลง การเรียนรู้นักเรียนไม่ได้ตามเป้าหมายตัวชี้วัด ทำให้เราต้องกลับมาคิดว่าจะทำยังไงถึงจะพัฒนาให้ก้าวกระโดดขึ้นมา ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่”
นารีส๊ะ โสสนุ้ย ครูคณิตศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ผู้บรรจุเข้ามาในโรงเรียนบ้านกาเนะยาวนานกว่า 14 ปี เล่าถึงความกังวลใจกับการมาทำหน้าที่ครูที่นี่
“ที่นี่เลื่องลือกันว่า ผอ. เข้มงวดและเน้นวิชาการ เราก็เข้ามาเป็นครูด้วยความกลัวและเครียด เพราะมีคนพูดเยอะว่าอย่ามาโรงเรียนนี้ จะทำงานยาก แต่ด้วยความที่เราสงสารครูอีกคนหนึ่งที่ต้องการสับเปลี่ยนเพราะเขาไม่สบาย เราก็ยอมมา อีกอย่างโรงเรียนก็อยู่ใกล้บ้าน จะได้ดูแลเด็ก ๆ ของเราที่บ้านได้
“พอมาอยู่ ผอ. ท่านก่อนจะเน้นวิชาการ เน้นการเรียนการสอนเป็นหลัก นอกจากต้องสอนตามปกติ วันเสาร์ก็ต้องติวโอเน็ต รู้สึกตึงเครียดมาก แล้วเด็กไม่ค่อยกล้าแสดงออก เพราะมุ่งแต่พัฒนาผลสัมฤทธิ์ให้สูง”
ด้วยบริบทโรงเรียนบ้านกาเนะที่ใครก็มองว่าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากก่อนๆ จึงเป็นตัวเลือกชั้นยอดของครูวัยใกล้เกษียณ
ผอ.อรุนาเล่าว่า “คุณครูที่อยู่พื้นที่ใกล้ๆ ก็ทำเรื่องย้ายมาอยู่โรงเรียนบ้านกาเนะ เพราะคิดว่าจะอยู่ได้จนเกษียณ สุดท้ายบางคนอยู่ถึง 30 ปี บางคน 20 ปี บางคน 15 ปี เกิดความสบายและเคยชิน ไม่อยากจะพัฒนาอะไร ทำไปตามหน้างาน แต่ละวันมาถึงโรงเรียนก็สอน ‘อะเปิดหนังสือ อะถึงหน้าไหน อะเรียน’ เรียนเสร็จ จบ กลับบ้าน”
คงไม่ใช่เรื่องแปลกไม่ว่าจะในองค์กรไหนที่ดำรงอยู่มานาน ทุกอย่างดำเนินไปตามกรอบที่เคยทำมา เมื่อถึงเวลาที่โรงเรียนต้องปรับเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงใดๆ จึงเป็นเรื่องยาก การพัฒนาก็หยุดอยู่กับที่ ซึ่ง ผอ.อรุนาเผยว่าสิ่งที่ทำให้เธอตกใจและมองว่าเป็นปัญหาคือความสบายจนเคยชิน
ค้นหาสาเหตุที่แท้จริง
“ปัญหาหลักคือครูในโรงเรียนไม่ยอมคุยกัน ตั้งแต่เราย้ายมามันมีปัญหานี้อยู่แล้ว เช่นครูบางกลุ่มไม่ชอบพูดกับคนอื่น ซึ่งอาจจะเป็นนิสัยส่วนตัวก็ได้ บางคนไม่ค่อยถูกกัน บางคนบอกว่าฉันมาก่อน ฉันเป็นพี่ บางคนก็ว่าฉันเก่งกว่า” ครูนารีส๊ะเล่าถึงสภาพที่ทุกคนต่างแยกกันอยู่ รับผิดชอบงานของตนเพียงลำพัง ไม่อยากให้ใครมีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึง Generation Gap ระหว่างครูใหม่กับครูที่อยู่มานาน ขณะที่โรงเรียนเน้นมุ่งเป้าผลงานทางวิชาการของเด็กเป็นหลัก แต่ปัญหาของครูไม่ได้ถูกแก้ จน ผอ.อรุนาเข้ามาทำหน้าที่
“ผอ. คนใหม่จะเป็นคนคอยประสาน ครูคนนั้นดูท่าแล้วจะไม่ค่อยคุยกับครูคนนี้ เขาก็จะช่วยให้พูดคุยกัน”
ไม่ใช่แค่ ผอ.อรุนาที่เป็นกาวใจช่วยสานความสัมพันธ์ให้ครูในโรงเรียน แต่การเข้าร่วมโครงการโรงเรียนปล่อยแสงตั้งแต่ปี 2565 ก็ทำให้เกิดกระบวนการที่ทำให้เริ่มเห็นถึงปัญหา จากปีแรกของโครงการในการปรับกระบวนทัศน์และติดเครื่องมือให้ครูแกนนำ และปีที่ 2 กับการเริ่มนำ Active Learning เข้าสู่ห้องเรียนเชื่อมกับชุมชน แต่ใช่ว่าทุกอย่างจะราบรื่น ครูโรงเรียนบ้านกาเนะและทีมโครงการโรงเรียนปล่อยแสงจึงได้ร่วมกันถอดบทเรียนก่อนเข้าโครงการปีที่ 3 และพบต้นตอจริงๆ ว่า
“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เด็ก แต่อยู่ที่ครู เพราะว่าครูยังไม่มีเป้าหมายเดียวกัน และยังมีความขัดแย้งกันอยู่ เราเลยเลือกจะพัฒนาทีมเวิร์กของครูก่อน เพราะจะได้พัฒนาเด็กต่อไปได้”
สร้าง Team Work ช่อชะมวง
เมื่อดินดี ปุ๋ยดี อากาศดี น้ำสะอาด ทุกสิ่งเมื่อประกอบสร้างรวมกันก็ส่งให้ผลผลิตนั้นงดงาม เช่นเดียวกับที่ทีมครูโรงเรียนบ้านกาเนะต้องการให้นักเรียนเติบโตและมีความสุขกับการเรียน ซึ่งกว่าจะถึงตรงนั้นได้ครูต้องดีและมีพื้นที่ปลอดภัยท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดี
ผอ.อรุนาเล่าต่อว่าตั้งแต่เริ่มโครงการทุกอย่างค่อยๆ เปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ครูทุกคนเริ่มเข้าใจตัวเอง กล้าพูดสิ่งที่อยู่ภายในใจอย่างตรงไปตรงมา กล้าแลกเปลี่ยนความคิด และร้องขอความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
“พอเราได้ร่วมโครงการทีมเวิร์กช่อชะมวง กระบวนการที่โครงการโรงเรียนปล่อยแสงนำมา ไม่ว่าจะ PLC กระบวนการเช็กอิน สกรัมบอร์ด และ Action Learning ทำให้คุณครูพัฒนาตนเองไปโดยอัตโนมัติ ถือเป็นพลังของทีมเวิร์ก”
กระบวนการ Professional Learning Community (PLC) ของคุณครูโรงเรียนบ้านกาเนะ จะเน้นการสื่อสารความรู้สึก อาจเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการสอน เพื่อเปิดใจซึ่งกันและกันบริเวณหน้าเสาธงหลังเลิกแถวทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์
ส่วน Action Learning จะเข้มข้นมากกว่าวง PLC เป็นการประชุมเพื่อรับรู้และหาหนทางแก้ปัญหาของเพื่อนครูด้วยกันอย่างที่ทุกคนมีส่วนร่วม การทำ Action Learning มีกฎอยู่สองข้อ ข้อที่ 1 คือ ต้องฟังทีม ฟังผู้อื่น กฎข้อที่ 2 คือ พูดได้เมื่อเปิดโอกาสให้พูด โดย ผอ. เป็นผู้ไถ่ถามถึงปัญหาการทำงานของแต่ละคน จากนั้นให้ทุกคนในวงประชุมเสนอข้อแก้ไขร่วมกัน
“เป็นการฝึกตัวเองให้เป็นผู้ฟังที่ดี ได้เชื่อมโยงประสบการณ์ตนเองกับปัญหาที่เพื่อนกำลังเผชิญ ได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกัน และร่วมกันแก้ปัญหาของทีมได้ดีขึ้น”
เมื่อรับรู้ถึงปัญหาที่แท้จริงว่าทุกอย่างต้องกลับมาที่จุดเริ่มต้น นั่นคือตัวครูทุกคน ทำให้โรงเรียนซึ่งเคยเป็นแค่สถานที่ทำงานกลายเป็นบ้านและสถานที่ปลอดภัยซึ่งทุกคนเปิดใจได้
พลังแห่งความร่วมแรงร่วมใจ
“ก่อนเข้าโครงการ ความรู้สึกก็ยังตึงๆ ในกระบวนการสร้างความสัมพันธ์ เพราะเราขาดการสื่อสารที่ดีต่อกัน ทำให้ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยที่จะคุยให้เข้าใจกัน หลังจากเข้าร่วมโครงการโรงเรียนปล่อยแสง ครูก็ได้เปิด Mindset เปิดความรู้สึก เปิดให้รู้ความต้องการของตนเองและของเพื่อน”
ปัจจุบัน ผอ.อรุณาเห็นความช่วยเหลือเกื้อกูลของคลื่นลูกเก่ากับคลื่นลูกใหม่ คือครูรุ่นเก่ากับครูรุ่นใหม่ สามารถมีความสุขในทำงานร่วมกัน
“ทำให้ทีมของเราเข้มแข็งขึ้น การทำงานไม่ยึดติดในรูปแบบของคำสั่งแบบราชการเหมือนเดิม แค่คุยกันก่อนว่าใครมีหน้าที่ทำอะไร ใครจะอาสาทำเรื่องอะไร จะช่วยเหลือกันและกันก่อน”
เช่นเดียวกับครูนารีส๊ะที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงในการสื่อสาร “รู้สึกว่าดีขึ้น และเปิดใจยอมรับความแตกต่างของแต่ละคนมากขึ้น เพื่อนร่วมงานที่เมื่อก่อนมาถึงโรงเรียนก็ทำแต่หน้าบึ้ง ไม่พูดจากับใคร ตอนนี้หน้าตาแบบนั้นไม่มีแล้ว ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส
“ครูที่กำลังจะเกษียณ เราก็เข้าใจว่าเขาแบกภาระงานที่รับผิดชอบมานาน เป็นงานที่ยาก เขาอาจจะเหนื่อยล้า เราก็ต้องยอมรับเขา ยอมให้เขาบ่นเพื่อให้สบายใจขึ้น เรามีกิจกรรมปาร์ตี้ด้วยกันเดือนละหนึ่งครั้ง อย่างน้อยครูก็ได้ผ่อนคลาย ไปร้องเพลง ไปกินข้าวด้วยกัน หลังจากได้อยู่ทีมเวิร์กนี้ ได้ทำโครงการนี้ ก็โอเคมากขึ้น”
จากวิถีเดิมๆ ที่ครูต่างคนต่างอยู่ สนใจแต่ภาระของตัวเอง ไม่เคยช่วยเหลือกัน หรือมีเป้าหมายร่วมกัน วันนี้ครูโรงเรียนบ้านกาเนะได้เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงเป็นทีมเวิร์กอย่างแท้จริง ด้วยการพูดคุยอย่างเปิดใจ และพร้อมจะรับฟังเพื่อนครู จนมาถึงวันที่ครูทุกชั้นเรียนและผู้อำนวยการโรงเรียนต่างร่วมแรงร่วมใจไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อร่วมกันพัฒนานักเรียน และมุ่งสู่การสร้างนิเวศการเรียนรู้ที่มีความหมาย
เพราะครูคนเดียวทำไม่ได้