ก่อการครู – Korkankru

การศึกษาไทย คลังความรู้

พลังของพื้นที่เรียนรู้คู่ขนานกับการศึกษาในระบบ: เพราะทุกคนต่างมีบทบาทต่อการศึกษา

Dec 20, 2024 6 min

พลังของพื้นที่เรียนรู้คู่ขนานกับการศึกษาในระบบ: เพราะทุกคนต่างมีบทบาทต่อการศึกษา

Reading Time: 6 minutes

‘มนุษย์เด็ก’ ในสถานการณ์โลกที่ผันผวน โรคระบาด โลกรวนรุนแรง เรียกร้องให้เขาต้องปรับตัว

ค่าครองชีพสูง สวนทางกับเศรษฐกิจทางบ้านที่ไม่สู้ดี ตัวเร่งที่ทำให้ตัดสินใจว่าอยาก ‘อยู่ต่อ’ หรือ ‘พอแค่นี้’ กับระบบการศึกษา

ทุนนิยมเร่งเร้า โซเชียลมีเดียประชิดตัว เครื่องมือปลูกฝังค่านิยมชั้นดีที่เด็กในครอบครัวห่างเหินไม่มีคนสร้างการเรียนรู้พร้อมเชื่อและทำตาม

ท่ามกลางความซับซ้อนและปั่นป่วนเหล่านี้ การที่มนุษย์เด็กเดินเข้าสู่รั้วโรงเรียน ใช้เวลาจากวัยเด็กสู่วัยรุ่นเพื่อหวังเติบโต แข็งแกร่ง มีเกราะกำบังต่อโลกจากการเรียนตามหลักสูตรแกนกลาง จึงเป็นเรื่องที่มองอย่างไรก็เป็นไปได้ยาก

รวมพลังหลากนักสร้างการเรียนรู้ สร้างพื้นที่จัดการศึกษาแนวใหม่

‘พื้นที่เรียนรู้ในชุมชน’ ที่จัดการเรียนรู้คู่ขนานไปกับโรงเรียน และเป็น ‘พื้นที่เรียนรู้ที่เสริมความแข็งแกร่งของครู’ คือตัวช่วยที่คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโครงการทุนการศึกษา บริษัท กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด ร่วมกันพัฒนาขึ้น ในชื่อ ‘โครงการพัฒนานิเวศการเรียนรู้ เชื่อมครูและศิษย์: เครือข่ายก่อการครูกาฬสินธุ์และมหา’ลัยไทบ้าน’ หวังสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่ไม่ติดกรอบ มีครู ศิษย์ ชุมชน และกลุ่มคนที่มีอาชีพหลากหลายสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน พื้นที่ที่ผู้เรียนเป็นไปได้ทั้งนักเรียนในและนอกระบบ พื้นที่ที่ไม่เพียงเรียนรู้วิชาการแต่จะได้เรียนมิติอื่น ๆ ของชีวิตจากการเชื่อมโยงสิ่งแวดล้อม  ชุมชน วิถีชีวิต วัฒนธรรม เข้ากับการเรียนการสอน รวมถึงเป็นพื้นที่เสริมศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งและมีพลังในการขับเคลื่อนการศึกษาของพื้นที่

เครือข่ายนักสร้างการเรียนรู้สามแห่งที่เปรียบเหมือนโรงเรียนสร้างสรรค์ที่จะเป็นผู้สร้างพื้นที่เรียนรู้ที่ว่านี้ คือ เครือข่ายก่อการครูกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มหา’ลัยไทบ้าน จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดเลย และเครือข่ายก่อการครูกระบวนกรอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี พวกเขาในฐานะคนในพื้นที่ ได้รวบรวมสรรพกำลัง ผู้คน ความคิด และความฝันที่อยากเห็นการเรียนรู้ที่มีความหมายกับชีวิตเด็กมาเป็นทรัพยากรในการทำงานครั้งนี้

1

‘ดงระแนงวิทยา’ พื้นที่เรียนรู้แบบองค์รวมที่ทำให้โอกาสเข้าถึง    การศึกษาเกิดขึ้นได้ทุกขณะ สร้างครู หลักสูตร และพื้นที่เรียนรู้นิยามใหม่

พื้นที่เรียนรู้นั้นกว้างไกลแต่ใกล้ และใหญ่กว่าห้องเรียนมหาศาล    

       พื้นที่เหล่านี้มีอยู่ รอเราอยู่

       พื้นที่ที่การเรียนรู้สนุก ปลอดภัย มีชีวิต มีความหมาย

       พื้นที่ที่การเรียนรู้เกิดได้ด้วยหินหนึ่งก้อน ใบไม้หนึ่งใบ หรือกระทั่งดินเหนียวหนึ่งกำมือ

       พื้นที่นี้คือ ‘ดงระแนงวิทยา’ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์

จุดเริ่มต้น (ที่ไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุด)

ดงระแนงวิทยา เกิดจากจุดเริ่มต้นของครูในระบบที่ลึก ๆ แล้วเชื่อว่าการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน

จุดเริ่มต้นของครูในระบบที่สงสัยว่ารอยยิ้มและความสุขของเด็ก ๆ หายไปไหนจากห้องเรียน

จุดเริ่มต้นที่ชวนเด็ก ๆ ออกไปปั่นจักรยานในวันเสาร์และอาทิตย์ พัฒนามาสู่ ‘ดงระแนงวิทยา’ พื้นที่เรียนรู้แบบองค์รวมโดยความร่วมมือของคนกาฬสินธุ์ที่สร้างครู หลักสูตร และพื้นที่เรียนรู้นิยามใหม่ที่ทำให้เราเห็นว่า ‘โอกาสในการเข้าถึงการศึกษาเกิดขึ้นได้ทุกขณะ’

ครูตู้-สราวุฒิ พลตื้อ ครูโรงเรียนหัวหินวัฒนาลัย แกนนำเครือข่ายก่อการครูกาฬสินธุ์ และแกนนำในการร่วมสร้างห้องเรียนแห่งนี้เล่าให้ฟังว่า ดงระแนงวิทยา คือ ‘การพัฒนาการศึกษาเชิงพื้นที่’ เป็นการจัดการเรียนรู้ฐานชุมชนสำหรับนักเรียน ครู บุคลากรทางการศึกษา และคนทั่วไปที่สนใจ โดยใช้สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมาออกแบบห้องเรียน ปัจจุบันเกิดเป็นต้นแบบหลักสูตรดงระแนงวิทยาที่มีรายวิชาเลือกอิสระและกิจกรรม season ดงระแนง ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบองค์รวมที่สอดคล้องกับ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตรแกนกลางที่พัฒนาเยาวชนสู่การเห็นคุณค่าของการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน รวมทั้งช่วยพัฒนาทักษะต่าง ๆ ให้แก่เขา แถมยังเป็นพื้นที่เรียนรู้สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เข้ามาเรียนรู้ร่วมกันเพื่อหาโอกาสไปปรับหรือขยับการศึกษาในโรงเรียนตอบโจทย์นักเรียนได้มากขึ้น

พื้นที่-กระบวนการ-ผู้คน ส่วนผสมในการสร้างพื้นที่เรียนรู้

ครูตู้เล่าว่าการก่อรูปของดงระแนงวิทยาเกิดขึ้นจากสามส่วน ส่วนแรกคือพื้นที่เรียนรู้ ซึ่งใช้พื้นที่ป่าไม้ในจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่เรียกว่าดงระแนง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ป่าสงวนแห่งชาติดงระแนง พื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้และทรัพยากรธรรมชาติหลากหลาย เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้พลวง(กุง) ไม้สะแบง ไม้ยางนา ฯลฯ ตั้งอยู่ในอำเภอยางตลาด และบริเวณชุมชนรอบข้าง แล้วจึงออกแบบกระบวนการจากทรัพยากรที่พื้นที่นี้มี บ้างป่า บ้างไม้ บ้างธรรมชาติ บ้างน้ำ ฯลฯ โดยการร่วมมือของผู้คนหลากหลายที่มาร่วมจัดการเรียนรู้จนเกิดเป็นดงระแนงวิทยา

อาร์-องอาจ สารคาม แห่งสวน๙ตามธรรม หนึ่งในทีมงานและผู้เปิดห้องเรียนเมล็ดพันธุ์ดงระแนงเพื่อชวนเด็ก ๆ เรียนรู้พันธุ์ไม้ในป่าดงระแนง เล่าว่าดงระแนงวิทยาเกิดจากความร่วมมือของคนหลากหลาย นอกจากครูตู้แล้วก็มีครูตุ๋ม-วิภาวี พลตื้อ โรงเรียนห้วยเม็ก ครูฝน -สายฝน จันบุตราช ครูอร-เอมอร จันทร์ขุนทด และครูอ้อน-ปนัดดา ภาณุรัตน์โรงเรียนบ้านหนองแวงบ่อแก้ว ครูนา-กัญจนา แข็งฤทธิ์ โรงเรียนหนองบัววิทยาเสริม และเอิร์ท-กฤตเมธ สายแสน จากมหาลัยนัยหลืบ ซึ่งทีมงานจะช่วยกันออกแบบพื้นที่เรียนรู้และห้องเรียนต่าง ๆ ของดงระแนงวิทยา รวมถึงแบ่งกันรับผิดชอบในแต่ละห้องเรียนตามความถนัดและความสนใจ

‘ห้องเรียนดงระแนง’ ห้องเรียนที่กินพื้นที่ป่า น้ำ ชุมชน เปิดรับผู้คน และการเรียนรู้ที่มีชีวิต

จากความพยายามของทีมงานและภาคส่วนต่าง ๆ ห้องเรียนดงระแนงจึงเกิดขึ้น เป็นโรงเรียนเสาร์-อาทิตย์ที่จัดการเรียนรู้ผ่านโลกจริง มี 6 ห้องเรียนที่เลือกเรียนได้อย่างอิสระ ห้องเรียนที่ 1 ปั่น-เปิด-โลก ครูตู้ ครูตุ๋ม ครูอ้อย และทีมงานชวนนักเรียนและครูไปปั่นจักรยานไปบริเวณอ่างเก็บน้ำหนองหญ้าม้า ไปเห็นสถานการณ์ปัญหา ส่งเสริมให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นผ่านการปั่นจักรยานสํารวจพื้นที่ในชุมชน ห้องเรียนที่ 2 ไผ่สานใจ ครูนาชวนปราชญ์ชุมชนบ้านดอนขี พาครูและนักเรียนไปเรียนรู้การทำเครื่องจักสาน เช่น หวดนึ่งข้าวเหนียว มุ่งเน้นให้ผู้เรียนตระหนักและเห็นคุณค่าของไผ่และภูมิปัญญาการจักสานในชุมชน เห็นแนวทางในการอนุรักษ์ไผ่ และต่อยอดภูมิปัญญาให้เหมาะสมกับตนเอง ห้องเรียนที่ 3 สํารวจโคก ครูต้นตาล ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องภูมิศาสตร์ ฟลุค ครูอร ครูฝน และทีมงาน พาไปสำรวจโคกบริเวณวนอุทยานภูพระ อำเภอท่าคันโท เพื่อให้ผู้เรียนเห็นคุณค่า ตระหนักถึงความสําคัญของภูมินิเวศ เชื่อมโยงประเด็นการเรียนรู้ต่อตนเอง ชุมชน และสังคม ห้องเรียนที่ 4 ตามฮอยเหง้าดงระแนง เป็นห้องเรียนที่เอิร์ทพาผู้เข้าร่วมสังเกตและรับรู้กายใจผ่านการทำงานไม้ ณ ป่าสงวนแห่งชาติดงระแนง ห้องเรียนที่ 5 บอร์ดเกมดงระแนง สำรวจป่าดงระแนง สัมผัส รับรู้ สังเกตธรรมชาติ และร่วมกันออกแบบบอร์ดเกมจากผืนป่าดงระแนง และห้องเรียนที่ 6 มัดย้อม มัดใจ ครูฝน ครูนา พานักเรียนและครูไปเรียนรู้ลวดลายดงระแนง เพื่อเชื่อมความทรงจําและความรู้สึกนึกคิดของผู้เข้าร่วมกับงานหัตถกรรมมัดย้อม ซึ่งในปีนี้มีทั้งผู้บริหาร ครู นักเรียน ศึกษานิเทศก์ เยาวชนกระบวนกร คนในชุมชน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักการจัดการทรัพยากรป่าไม้ บุคคลทั่วไป ฯลฯ ได้เข้ามาเรียนรู้ หลัก ๆ แล้วมีครูจากโรงเรียนเครือข่าย 8 แห่ง หน่วยงานราชการ 11 แห่ง และครูจากโรงเรียนอื่น ๆ อีก 22 แห่ง ที่เข้ามาเรียนรู้

นอกจากห้องเรียนดงระแนงแล้วยังเกิดหลักสูตรเรียนรู้ตามฤดูกาลที่ดงระแนง หรือ season ดงระแนง เป็นกิจกรรมหลักที่จัดต่อเนื่องทั้งปีตามฤดูกาล ทั้งฤดูร้อน ฤดูอุ่น ฤดูหนาว ฤดูปั่น ฯลฯ จัดโดยเครือข่ายคนภายนอกพื้นที่เพื่อให้นักเรียนและครูในจังหวัดไปเรียนรู้ เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่เรียนรู้และพัฒนาวิทยายุทธ์ของเหล่าคุณครูในเครือข่าย โดยสามารถเลือกเข้าได้ตามความสนใจ อาทิ ห้องเรียนที่ 1 ภาพถ่ายเล่าเรื่องวิถีดงระแนงที่ฉันรู้จัก ให้นักเรียนเชื่อมโยงชีวิตกับพื้นที่ธรรมชาติผ่านการใช้ภาพถ่ายเล่าเรื่อง ห้องเรียนที่ 2 การวาดภาพผ่านเรื่องเล่าชุมชน ให้นักเรียนเล่าเรื่องตนเองและชุมชนผ่านศิลปะการวาดภาพ ห้องเรียนที่ 3 การเล่าเรื่องปรัชญาดงระแนง กิจกรรมที่มุ่งให้ผู้เรียนได้ศึกษาสภาพที่แท้จริงของป่าชุมชนในพื้นที่ เห็นการใช้ประโยชน์ป่าไม้ และฝึกการเล่าเรื่องราวผ่านการเขียน ห้องเรียนที่ 4 เมล็ดพันธุ์ดงระแนง เรียนรู้สถานการณ์ดงระแนง ไฟไหม้ป่า ล้มตาย โดนตัด ผ่านอบรมเชิงปฏิบัติการเมล็ดพันธุ์จากดงระแนง เพิ่มประชากรต้นไม้ ส่งต่อเมล็ดพันธุ์และต้นกล้า ห้องเรียนที่ 5 ศิลปะภาวนาผ่านธรรมชาติ Mindfulness Art กิจกรรมเรียนรู้สถานการณ์ดงระแนง และเติมสุขผ่านธรรมชาติรอบกาย

เรียกได้ว่าเป็นหลักสูตรที่นักเรียน ครู และผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้ตนเอง ชุมชน และสังคม ผ่านพื้นที่จริงและการเรียนรู้ที่รื่นรมย์ สนุก พร้อม ๆ กับการพัฒนาทักษะ มุมมอง ความเข้าใจไปด้วย แถมยังมีโปรแกรมพิเศษให้สำหรับนักเรียนที่เข้าร่วม Season ดงระแนง มาแล้วรวม 4 ห้องเรียนได้พัฒนาตัวเองต่อ เรียกว่า ‘กิจกรรมพัฒนาเยาวชนรุ่นใหม่ (Next Gen)’ เพื่อให้ผู้เรียนได้เห็นตัวเอง ค้นพบสิ่งที่สนใจและอยากพัฒนาตนเอง รวมทั้งทำโครงงานในประเด็นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงตัวเองกับชีวิตจริง เข้าใจตนเองและผู้อื่น มองเห็นแนวทางการพัฒนาชุมชน เห็นคุณค่าของการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและพื้นที่ดงระแนง (เป็นพลเมืองเพื่อสิ่งแวดล้อม)

       ซึ่งพื้นที่และวิธีการเรียนรู้แบบนี้ทีมงานบอกว่าทำให้เด็ก ๆ กล้าคิด กล้าพูด และรู้ว่าตัวเองชอบและต้องการอะไร

จัดการศึกษาเชิงพื้นที่ ที่พ่วงการพัฒนาครูและผลักดันนโยบายการศึกษา

นอกจากสร้างพื้นที่เรียนรู้ฐานชุมชน ดงระแนงวิทยายังมีเป้าหมายให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่ครูจะได้เข้ามาเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง พูดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และดูเหมือนจะไม่มีทางอื่น การเปลี่ยนแปลงการศึกษาในระบบจำเป็นต้องอาศัยครูที่เป็นผู้นําการเปลี่ยนแปลง ในระหว่างจัดการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ พื้นที่ตรงนี้จะส่งเสริมให้ครูสามารถออกแบบการจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับโลกจริง และสอดคล้องกับบริบทของชุมชน (Authentic Learning) ใช้ทรัพยากรท้องถิ่นมาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ ซึ่งครูที่เข้าร่วมโครงการจะได้ทํางานร่วมกับผู้นําชุมชนและศึกษานิเทศก์ ฝึกจัดการเรียนรู้ที่เป็นองค์รวม (Holistic Learning) จากเนื้อหาการเรียนรู้และพื้นที่เรียนรู้ที่เป็นของจริง พร้อมทั้งมีพื้นที่ให้ครูได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Professional Learning Community – PLC) เป็นโรงเรียนที่ครูจะได้ฝึกฝีมือ ด้วยหวังว่าสิ่งที่ทำนี้จะจุดประกายให้ครูอยากกลับไปปรับวิธีจัดการเรียนรู้ที่โรงเรียน

 จากจุดเริ่มต้นที่ดงระแนง ก้าวต่อไปของการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ได้ขยับขับเคลื่อน โดยดงระแนงวิทยาได้ผลักดันการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ในพื้นที่ จัดทํา MOU ระหว่างโรงเรียนและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการและการพัฒนาหลักสูตร เช่น การร่วมมือระหว่างทีมครูแกนนำกับเครือข่ายทางการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนรู้แบบองค์รวม มีการประชุมและแลกเปลี่ยนความรู้ ระหว่างผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจในการจัดการเรียนรู้ รวมถึงแบ่งปันแนวทางการทํางานผ่านการประชุมระหว่างโรงเรียนในเครือข่ายเพื่อสร้างการร่วมมือกัน

สามารถติดตามการทำงานของดงระแนงวิทยาเพิ่มเติมได้ในเฟสบุ๊กเพจ ‘ดินดำน้ำซุ่ม-Ed’

2

ห้องเรียนสีชมพู จังหวัดขอนแก่น: การเรียนรู้ที่ใช้ป่า ภูเขา ลำธาร เป็นตำราเรียนได้ทุกวิชารวมถึงวิชารู้จักตัวเอง

       หากพูดถึงพื้นที่เรียนรู้ของนักเรียน แน่นอนว่าหลายคนคงนึกถึงห้องเรียน หรือบริเวณโรงเรียน

       โดยเฉพาะที่อำเภอสีชมพู หรืออำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น พื้นที่ห่างไกลจากตัวเมืองขอนแก่นกว่าร้อยกิโลเมตร เราจะจินตนาการถึงการเรียนรู้ของเด็กทั้งในและนอกระบบการศึกษาว่าอย่างไรกัน

       หรือหากพูดถึงพื้นที่เรียนรู้ของผู้ใหญ่ วัยชรา เราจินตนาการว่าห้องเรียนของเขาหน้าตาเป็นแบบไหน

สอญอ-สัญญา มัครินทร์ อดีตครูในระบบที่ยังคงมีไฟเรื่องบ้านเมืองและการเรียนรู้ นุ-อนุวัตร บับภาวะตา ผู้ที่เกิดและเติบโตที่นี่ กับประสบการณ์ทำงาน อบต. พี่อิ๋ว-เพลินจิตร เวชวงศ์ เจ้าของธุรกิจส่วนตัว ขายวัสดุก่อสร้าง อีฟ-วรรณศิริ สีนามบุรี เจ้าของไร่ภัทราวรินทร์เปลี่ยนการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรเพื่อการท่องเที่ยว ต้น-ธนวัฒน์ เดชขันธ์ ผู้ยึดอาชีพเกษตรกรที่อำเภอสีชมพู เกมส์อุทิศ จอดนอก ผู้ที่สนใจเรื่องการสำรวจ เดินป่า ครูทอม-ขวัญยืน เกตุหนู ครูศิลปะที่ลาออกมาเป็นศิลปิน และมิ้ว-ขวัญนภา หอมโสภา ผู้ที่เรียนจบและสนใจเรื่องการท่องเที่ยว พวกเขามารวมตัวกันก่อตั้ง มหา’ลัยไทบ้าน เพื่อสร้างพื้นที่เรียนรู้ดี ๆ ที่ตอบโจทย์เด็ก ๆ และคนหลากอายุในชุมชน

“การเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากทุกพื้นที่ สิ่งแวดล้อมและพื้นที่ต่าง ๆ ในชุมชนคือทรัพยากรการเรียนรู้ชั้นดี และนักเรียนรวมถึงคนในชุมชนเองสามารถสร้างห้องเรียนแห่งความสุขในแบบฉบับของตัวเองได้” คือความเชื่อที่ทุกคนมีร่วมกัน จึงรวมตัวกันสร้างพื้นที่เรียนรู้นี้ขึ้นที่อำเภอสีชมพู ในจังหวัดขอนแก่น

ด้วยหวังว่าจะทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องเดียวกับชีวิต เป็นวิถี เป็นปกติ ทรงพลัง ไม่แปลกแยก และมีคุณค่ากับชีวิต

ฝันของมหา’ลัยไทบ้านและเครือข่าย

สำหรับชาวมหา’ลัยไทบ้าน เรื่องการเรียนรู้ การศึกษา เป็นสิ่งที่ทุกคนสนใจ แต่สิ่งที่ติดอยู่ในใจคือทำอย่างไรที่การเรียนรู้ของเด็ก ๆ จะตรงกับความสนใจของเขาและเป็นการเรียนรู้ที่มีประโยชน์กับชีวิตเขาได้จริง ๆ 

เมื่อกลับมาดูทรัพยากรธรรมชาติที่อำเภอสีชมพู ความสมบูรณ์ของพื้นที่ที่มีทั้งน้ำตก ภูเขาหินปูนที่มีภาพเขียนสีประวัติศาสตร์ ถ้ำ และพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม นี่เองทำให้มหา’ลัยไทบ้านคิดจะสร้างห้องเรียนธรรมชาติและชุมชนที่อำเภอสีชมพูและอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น

‘ใช้พื้นที่ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ศิลปะ วัฒนธรรม หรือทรัพยากรอื่น ๆ ในชุมชน มาใช้จัดการเรียนรู้สำหรับนักเรียนทั้งในและนอกระบบ ครู ผู้ใหญ่ วัยชรา เพื่อเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ หรือแม้กระทั่งการรู้จักตัวเอง

เป็นการเรียนรู้ที่สนุก มีความหมาย เข้มแข็ง และมีพลัง

และพื้นที่เดียวกันนี้เองที่จะเป็นห้องเรียนของคุณครู ที่จะได้เฝ้าดูและเรียนรู้ร่วมกันว่าห้องเรียนเพื่อการเรียนรู้หน้าตาเป็นอย่างไร สร้างอย่างไร แล้วหยิบมุมมอง วิธีการ และพลังใจกลับไปทำที่โรงเรียน

เรียกได้ว่าทุกคนที่มาเรียนรู้ในพื้นที่นี้จะกลับไปจัดการเรียนรู้ที่มีชีวิตในพื้นที่ของตัวเองได้ และเป็นเครือข่ายกันเพื่อพัฒนาการศึกษาของพื้นที่’ นี่คือฝันของมหา’ลัยไทบ้านและเครือข่าย เพื่อท้ายที่สุดแล้ว เขาหวังว่าการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ จะค่อย ๆ ก่อตัวและเกิดขึ้นได้ด้วยมือของทุกคน

ห้องเรียนของครูในระบบ เจาะจุดคานงัดพัฒนาการศึกษา

นอกจากในชุมชนแล้ว ในปีนี้มหา’ลัยไทบ้าน เปิดพื้นที่ให้ครูและนักเรียนในโรงเรียนจาก 5 อําเภอ ในจังหวัดขอนแก่นเข้าร่วม ด้านหนึ่งคือสร้างพื้นที่เรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน อีกด้านหนึ่งคือ พื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่ที่ชวนครูใน 5 อำเภอนี้มาเข้าร่วม เห็นตัวอย่างการจัดการเรียนรู้จากพื้นที่ในชุมชน เพื่อหวังว่าครูจะกลับไปสร้างการเปลี่ยนแปลงกับห้องเรียนของตัวเองที่โรงเรียน

ดังนั้นห้องเรียนแรกที่มหา’ลัยไทบ้านจัดขึ้นคือ ห้องเรียนสำหรับครู ชวนคุณครูมาถอดรหัสและเรียนรู้การสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ห้องเรียนแห่งความสุข ความเชื่อเบื้องหลังของการจัดกระบวนการเรียนรู้ หลักการออกแบบและสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียนด้วยกรอบคิดการจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับโลกจริง หรือ Authentic Learning ที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับชีวิตจริง และการออกแบบการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยเส้นโค้งการเรียนรู้ (Learning Curve)

ห้องเรียนธรรมชาติและชุมชน

จากนั้น ห้องเรียนธรรมชาติและชุมชนจึงเกิดขึ้น โดยใช้พื้นที่ป่าดงลาน ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ ภูเขา ภาพเขียนสี ผาแต้ม แหล่งน้ำซับซึมบ้านซำขาม เรียนรู้หินสีตามน้ำตกดอยนาง ฯลฯ ทีมงานเล่าว่าพื้นที่เรียนรู้ที่มหา’ลัยไทบ้านสร้างขึ้นเรียกรวม ๆ ว่า ห้องเรียนธรรมชาติและชุมชน ซึ่งภายใต้คำนี้มีหลายความหมาย (Meaning) ที่ซ่อนอยู่ ความหมายแรกคือห้องเรียนนี้เกิดขึ้นโดยใช้พื้นที่ต่าง ๆ รวมถึงธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาจัดการเรียนรู้ ความหมายที่สอง คือ คนในชุมชนเจ้าของพื้นที่มีส่วนในการเป็นคนจัดการเรียนรู้ ความหมายที่สาม คือ ห้องเรียนนี้เป็นพื้นที่ที่นักเรียน เด็ก เยาวชน ได้เข้ามาเรียนรู้ ที่ไม่เพียงทำกิจกรรม แต่ได้ค้นหาความสนใจ จนอาจนำไปสู่อาชีพและรายได้ รวมถึงคนทั่วไป ครู มาเรียนรู้ร่วมกับเด็ก และอาจนำไปสู่การสร้างการรับรู้และแก้ปัญหาในชุมชนร่วมกัน

“เราอยากเห็นการไปข้างหน้าแบบไม่แยกส่วน การศึกษา ชุมชน สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ควรเป็นองค์รวมที่ผู้เรียน ครู คนในชุมชน ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ทุกตัวละครมาเจอกันเพื่อมองเห็นปัญหาและหาทางออกร่วมกันอย่างยั่งยืน” สอญอ หนึ่งในผู้ก่อตั้งมหา’ลัยไทบ้านพูดถึงการสร้างพื้นที่เรียนรู้ในชุมชน

“ทุกพื้นที่เป็นพื้นที่เรียนรู้ได้ ทุกคนเป็นครูได้ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ เพราะการได้มาสอนก็เป็นกระบวนการเติบโตของคนสอนด้วยเช่นกัน ในขณะที่คนเรียนก็เป็นไปได้ตั้งแต่วัยประถมศึกษา จนถึงคนวัยเกษียณ หากห้องเรียนนั้น ๆ มีความรู้ที่ตอบโจทย์ชีวิตเขาก็สามารถสมัครเข้ามา เพราะห้องเรียนเน้นการเรียนที่ได้ใช้และเป็นประโยชน์กับชีวิต อยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นโรงเรียนในชีวิตจริง รวมถึงคนเรียนที่แตกต่างหลากหลายวัยจะได้เรียนจากกันและกันด้วย” อีฟ ให้ภาพรวมของห้องเรียนห้องเรียนธรรมชาติและชุมชน

ในปีนี้มหา’ลัยไทบ้านจัดกิจกรรมพานักเรียนและครู 5 โรงเรียน คือโรงเรียนบ้านวังขอนแดงหนองหญ้าปล้อง โรงเรียนสีชมพูศึกษา โรงเรียนหนองตาไก้ศึกษา โรงเรียนภูเวียงวิทยาคม และโรงเรียนชุมชนบ้านผานกเค้ารวมถึงเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมเรียนรู้ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างห้องเรียน เช่น ห้องเรียนสร้างรายได้จากภาพถ่าย สำหรับประชาชนทั่วไปมาเรียนรู้การถ่ายภาพเล่าเรื่อง รวมถึงรู้จักเครื่องมือในการสร้างรายได้จากภาพถ่าย โดยครูก็อต อภิวัฒน์ เครือข่ายของมหา’ลัยไทบ้าน ห้องเรียนทำไม้ ทำไม ? โดยเอริธและคิว เยาวรุ่น จากมหา’ลัยนัยหลืบ จังหวัดกาฬสินธุ์ ครูโทนแห่งโรงเรียนกุดรัง พี่ประเชิญ จากประเชิญยิ้มสตูดิโอ และเครือข่ายพันธมิตรของมหา’ลัยไทบ้าน สำหรับครู นักเรียน และบุคคลทั่วไป มาเดินป่าเพื่อทําความรู้จักไผ่หลากชนิดบนผาสามยอด เชื่อมโยงตนเองกับไม้ชนิดต่าง ๆ ในป่า ฝึกทักษะการทํางานไม้รูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถสร้างรายได้ เช่น ตั่ง เก้ากี้ ป้าย ควบคู่กับสร้างความเข้าใจวิถีชุมชน ห้องเรียนตามรอยอารยธรรม 3,000 ปี ณ ผาแต้มวสุพล และผาช้าง ตำบลดงลาน เกมส์-อุทิศ จอดนอก และมิ้ว-ขวัญนภา หอมโสภา แห่งมหา’ลัยไทบ้าน ชวนครูและนักเรียน ทําความรู้จักพื้นที่อําเภอสีชมพูและแนะนําองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปะถ้ำโดยปราชญ์ชุมชน เรียนรู้ประวัติศาสตร์และสถานการณ์การต่อสู้เพื่อป้องกันการเข้ามาทําอุตสาหกรรมจากนายทุนที่อาจนําไปสู่การทําลายสิ่งแวดล้อมในชุมชน และทํางานศิลปะเชื่อมโยงกับภาพเขียนสีโบราณที่ลําธารในชุมชน ห้องเรียนเล่นกับศิลปะและธรรมชาติผ่านการเดินป่าระยะสั้น สํารวจธรรมชาติ ทําความรู้จักใบไม้ชนิดต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวเรา สำหรับครู นักเรียน ประชาชนทั่วไป ณ สถานีวนวัตวิจัยดงลาน สถานีวนวัตวิจัยผานกเค้า และอาศรมมรรคง่าย ห้องเรียนศิลปะ (ถ้ำ) ขับเคลื่อนชุมชน สำหรับครู นักเรียน ประชาชนทั่วไป เรียนรู้คุณค่าของธรรมชาติ โบราณคดีและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ผ่านการบรรยายและกิจกรรมเดินป่าระยะสั้น ชมภาพเขียนสีโบราณ บริเวณผาวัวแดง ผาช้าง รวมถึงหลักสูตรชนบทดิจิทัล ที่ชวนเรียนรู้เครื่องมือดิจิทัล ทั้งแคนวา และ AI

เปิดมหา’ลัยในชุมชน

       เพื่อตอกย้ำการเรียนรู้บนฐานชุมชน มหา’ลัยไทบ้าน ได้เปิดห้องเรียนต่อเนื่อง 3 วันเต็ม ประกอบไปด้วยกิจกรรม ไทมุง ชวนผู้เข้าร่วมมามุงดูว่าคนในชุมชนมีวิถีชีวิตอย่างไร และเชื่อแบบไหน มาเห็นว่าชุมชนนนี่เองคือแหล่งความรู้ชั้นดูมีความรู้ซ่อนอยู่มากมาย ไททำ ลงมือทำผลิตภัณฑ์ชุมชนแบบสนุก ๆ กับคนในชุมชน ทั้งงานคราฟท์ งานสวน ไททอล์ก ฟังแรงบันดาลใจและทักษะชีวิต จากผู้ร่วมเสวนาตั้งแต่ ป.5 ถึงผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ไททริป สำรวจธรรมชาติและบ้านเรือนในชุมชน เข้าป่า เดินสวน เล่นน้ำลำธาร เรียนรู้ธรรมชาติที่เป็นวิถีชีวิตของชุมชน เป็นห้องเรียนที่ครู นักเรียน และบุคคลทั่วไปได้มาทำกิจกรรมอย่างเต็มอิ่ม รับแรงบันดาลใจ และเห็นภาพว่าห้องเรียนสร้างสรรค์ในชุมชนที่ได้เรียนรู้และปลุกพลังคนในชุมชนเป็นไปได้อย่างไร

เสริมพลังครู 3 ภูพลัส เมื่อพื้นที่เรียนรู้สร้างสรรค์คืบคลานสู่โรงเรียน

การเปิดห้องเรียนของมหา’ลัยไทบ้านที่เริ่มต้นอยากจัดการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ได้โอกาสเรียนในสิ่งที่เขาชอบ และได้เรียนรู้บ้านตัวเองและชวนครูมาเรียนรู้ร่วมกัน จน ณ ตอนนี้ เกิดพลังไปเปลี่ยนแปลงชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติ ครูที่มาร่วมเรียนรู้กลับไปเปิดห้องเรียน เช่น ห้องเรียนขอนไม้ โรงเรียนภูเวียงวิทยาคมทำโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับนักเรียนและกลุ่มที่สนใจโดยใช้คาบของตัวเอง มีกิจกรรมการเรียนรู้ตาม
ความสนใจของนักเรียน เช่น ห้องเรียนควาย ๆ ห้องเรียนปลานามา ห้องเรียนขอนไม้คาเฟ่ ห้องเรียนมืด ห้องเรียนไก่ชน เป็นต้น

เรียกได้ว่าห้องเรียนสีชมพู และห้องเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดขอนแก่น ค่อย ๆ ผลิบาน จัดการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์เด็ก ๆ โดยใช้คน และทรัพยากรของพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งผู้อ่านสามารถติดตามความสร้างสรรค์ของพวกเขาได้ในเฟสบุ๊กเพจ ‘มหา’ลัยไทบ้าน’

3

เครือข่ายก่อการครูกระบวนกรอุดรธานี พื้นที่จุดไฟให้ครูและ ‘การศึกษาในระบบโรงเรียน’ 

       พื้นที่สุดท้ายที่ชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักคือพื้นที่เรียนรู้สำหรับครูในระบบการศึกษา

เพราะพื้นที่จัดการศึกษาในโรงเรียน คือพื้นที่การเรียนรู้หลักของนักเรียน

       เราทราบดีว่าปัจจุบันพื้นที่นี้มีข้อจำกัดที่จะทำให้การเรียนรู้มีความหมายกับนักเรียน และทำให้ห้องเรียนเป็นพื้นที่เรียนรู้อย่างมีความสุข

       เครือข่ายก่อการครูกระบวนกรอุดรธานีซึ่งค้นพบเคล็ดลับบางอย่างในการจุดไฟให้ครูและการศึกษาในระบบในโรงเรียนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จึงอาสามาเป็นเพื่อนร่วมทาง ชวนผู้บริหารและครูในโรงเรียนมาเรียนรู้เคล็ดลับนี้เพื่อช่วยกันปลุกให้การศึกษาในระบบของอุดรธานีได้ทำหน้าที่สร้างการเรียนรู้ที่มีความสุขและมีความหมายกับนักเรียน

เพราะพวกเขาเชื่อว่าเมื่อครูเปลี่ยนไป ห้องเรียนจะเปลี่ยนแปลงและผู้เรียนจะได้รับผลเป็นจำนวนมาก

ก่อการครูกระบวนกรอุดรธานี

เครือข่ายก่อการครูอุดรธานี เกิดจากการรวมตัวของครูโรงเรียนต่าง ๆ ในอุดรธานี นำโดย อดีตผอ.หมอน-ศรีสมร สนทา ครูเจี๊ยบ-ฐิติยาภรณ์ วิเศษโวหาร ครูจุ๋ม-ประภาพร คำวันดี ครูดรีม-อรนิชกานต์ อินธิบาล ครูเตเต้-สังคม หาญนาดง และทีมครูโรงเรียนอนุบาลหนองหานวิทยายน ผอ.สุจินดา โสภาพร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองบัวสะอาดโพคำ ครูจู-จุรีพร ชื่นนิรันดร์ โรงเรียนบ้านกุดขนวน ครูต่อ-จิรเมธ สนทา โรงเรียนหนองกุงดอนบาก ครูสุวรรณี ศรีเนตร และทีมครูโรงเรียนศรีขวัญเมือง ซึ่งผ่านการเรียนรู้กับโครงการก่อการครูทั้งทฤษฎี การอบรมเชิงปฏิบัติการหลากหลายวิชา และนำเคล็ดวิชาทั้งหมดลองผิดลองถูก ทดลองใช้ที่โรงเรียนจนเกิดผลสำเร็จ และอยากถ่ายทอดวิชาเหล่านี้สู่โรงเรียนอื่น ๆ ต่อไป จึง ‘สร้างพื้นที่เรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพครูในจังหวัดอุดรธานี’ เปลี่ยนจากครูไปสู่กระบวนกร ให้ครูมีทักษะการเป็นกระบวนกร สามารถจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Active Learning) ที่สอดคล้องกับชีวิตจริงของผู้เรียน และตอบโจทย์เรื่องการเติบโตทางวิชาชีพของครู รวมถึงการสร้างเครือข่ายการทำงานพัฒนาการศึกษาของจังหวัด โดยในปีนี้มุ่งเน้นเปิดพื้นที่ให้กับครูโรงเรียนในอําเภอพิบูลย์รักษ์ ครูทั่วไปในจังหวัดอุดรธานีที่สนใจ และบุคลากรจากหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัดอุดรธานี

จุดไฟในใจครู

       จุดไฟในใจครู คือกระบวนการแรกที่หวังเปลี่ยนการศึกษาในระบบโรงเรียน

       ทีมงานก่อการครูอุดรธานีค่อย ๆ ชวนคุณครูรู้จักตัวเองและนักเรียนผ่านกิจกรรมภูเขาน้ำแข็ง เพื่อความเข้าใจมนุษย์ว่าเบื้องลึกของพฤติกรรมที่แสดงออกนั้นเกิดจากอะไร เพื่อเข้าใจถึงความแตกต่างหลากหลายของนักเรียน รวมถึงทบทวนความคาดหวังและเป้าหมายในการเป็นครู กลับไปยังความตั้งใจนั้นอีกครั้งเพื่อนำพลังและความฝันเหล่านั้นมาหล่อเลี้ยง เกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาอีกครั้ง และสํารวจเวทมนตร์หรือศักยภาพภายในที่ตัวเองมีอยู่ซึ่งหลายคนอาจหลงลืมไป และเชิญชวนให้ครูนำศักยภาพเหล่านั้นออกมาใช้ ในการสร้างการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน รวมถึงการเติมศักยภาพด้านอื่น

เรียนรู้เครื่องมือปรับ-เปลี่ยนห้องเรียน

ด้วยความเชื่อเรื่องการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้เรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Active Learning) และสอดคล้องกับชีวิตจริงของผู้เรียน ดังนั้นบทบาทของคุณครูจึงต้องปรับเป็นผู้เอื้ออำนวยการเรียนรู้ หรือกระบวนกร (Facilitator) ที่ทำหน้าที่ออกแบบกระบวนการให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามเป้าหมาย ภายหลังการฟื้นพลังภายในตัวครูแล้ว ลำดับต่อไปหากครูมีกำลังที่อยากกลับไปเปลี่ยนห้องเรียน ทีมงานก่อการครูอุดรธานีจึงชวนครูมาเรียนรู้เครื่องมือ ซึ่งเครื่องมือแรกคือ “มหัศจรรย์สร้างสรรค์การเรียนรู้ (Learning curve)” ชวนคุณครูทําความเข้าใจหัวใจของการออกแบบ “ห้องเรียนสร้างสรรค์” ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถมีส่วนร่วมใน
การเรียนรู้ตั้งแต่การจุดประกาย กระตุ้นให้อยากเรียนรู้ ไปสู่การมีประสบการณ์จากการลงมือ และสรุปบทเรียน เห็นแนวทางการประยุกต์ใช้ความรู้ โดยแนวคิดการออกแบบที่มี เกม กิจกรรม กระบวนการ เข้ามาเพื่อให้กระบวนการเรียนรู้สนุกและสร้างการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้จริง

เครื่องมือที่สองคือ  “Real world” การออกแบบกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมและสอดคล้องกับความต้องการและบริบทของผู้เรียน ด้วยการนําเกมมาร้อยเรียงกับกิจกรรมการเรียนรู้ การฝึกใช้เทคนิคและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ช่วยเปิดประสบการณ์ตรงให้แก่ผู้เรียน โดยเน้นการคิดแก้ปัญหา และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่มั่นคงถาวรมากขึ้น

 นอกจากเครื่องมือแล้ว ครูผู้เข้าร่วมต่างสะท้อนถึงความเข้าใจในการออกแบบและจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มีความหมาย เป็นการสอนโดยให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ พัฒนาทักษะการสื่อสารและความมั่นใจในการสอน รวมถึงความสามารถในการสร้างเครือข่ายและทำงานร่วมกัน ส่งผลใหนักเรียนได้พัฒนาทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ สามารถพัฒนาเรื่องการคิดวิเคราะห์และคิดสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสารและการทำงานเป็นทีม รวมถึงเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนได้อีกด้วย

ติดตามการทำงานจุดไฟให้ครูและการศึกษาในระบบโรงเรียนเพิ่มเติมได้ที่เฟสบุ๊กเพจ ‘ก่อการครู กระบวนกรอุดรธานี’

ความพยายามของทั้ง 3 พื้นที่ทำให้เห็นว่า การศึกษาในพื้นที่เกิดขึ้นได้ และเป็นการศึกษาที่เปิดกว้าง ออกแบบกิจกรรมตามบริบทท้องถิ่น เหมาะสมกับความต้องการและบริบทเฉพาะของแต่ละชุมชน ช่วยเสริม
การเรียนรู้ทั้งในเชิงวิชาการและทักษะชีวิต และทำให้ครูได้ฝึกฝนการทํางานร่วมกับชุมชน ผู้ปกครอง และเครือข่ายการศึกษาทั้งในและนอกพื้นที่ ช่วยให้ครูสามารถแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการสอน และได้รับแรงสนับสนุนจากเพื่อนครูและชุมชนในการปรับปรุงการเรียนการสอน

มาจับมือกัน ปลุกพลังนักสร้างสรรค์การเรียนรู้ เพื่อสร้างทุกพื้นที่ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ที่มีชีวิตและสอดคล้องกับชีวิตจริง

ช่วยกันเสกพื้นที่ธรรมดา ๆ ให้เด็กได้เรียนรู้ ได้หัวเราะ ได้มีความสุข ให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุก ๆ วันด้วยเวทมนต์และความถนัดของพวกเรากันค่ะ

เพราะการศึกษาคงไม่ใช่หน้าที่ของโรงเรียนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

ติดตามงานเครือข่ายได้ที่ 

เครือข่ายก่อการครูกาฬสินธุ์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100054231818460

เครือข่ายมหา’ลัยไทบ้าน
https://www.facebook.com/ThaibanUniversity

เครือข่ายก่อการครูกระบวนกรอุดรธานี
https://www.facebook.com/profile.php?id=100085685086351

เรียบเรียงโดย อุบลวรรณ ปลื้มจิตร

Array