ก่อการครู – Korkankru

การศึกษาไทย คลังความรู้ บทความ / บทสัมภาษณ์ ห้องเรียนข้ามขอบ

เมื่อการสอนไม่เพียงพอ ถึงเวลาครูข้ามขอบ ข้ามขอบฟ้าไปเป็นกระบวนกร

Jan 16, 2025 3 min

เมื่อการสอนไม่เพียงพอ ถึงเวลาครูข้ามขอบ ข้ามขอบฟ้าไปเป็นกระบวนกร

Reading Time: 3 minutes

จุดมุ่งหวังของโครงการห้องเรียนข้ามขอบการพัฒนา ‘นวัตกรรมทางการศึกษารูปแบบใหม่’ ที่มุ่งสร้างระบบนิเวศการเรียนและการศึกษาที่ยืดหยุ่น ‘ครู’ จึงเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ขาดไปไม่ได้ ยิ่งครูเต็มเปี่ยมไปด้วยศักยภาพในการจัดการเรียนรู้มากเท่าไหร่ เด็กก็จะสามารถข้ามขอบไปได้ไกล มากไปกว่าครูในระบบ ห้องเรียนข้ามขอบยังขยับชักชวนเหล่าผู้สร้างการเรียนรู้และสถานีการเรียนรู้ เข้ามาร่วมขบวนข้ามขอบสร้างการเรียนรู้แบบใหม่ไปพร้อมๆ กัน ด้วยความพยายามก้าวเล็กๆ แต่ต่อเนื่องจาก ‘เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้’ สิ่งที่เป็นผลสืบเนื่องต่อยอดกันมาคือการที่เหล่าสถานีการเรียนรู้พร้อมที่จะขยับต่อไปด้วยกันอย่างแข็งแรง

บทบาทของครูในพื้นที่การเรียนรู้ แค่การ ‘สอน’ ไม่เพียงพออีกต่อไป

‘บอกวิชาความรู้ให้ (กริยา)’ คือความหมายของ ‘การสอน’ ที่ถูกแปลโดยราชบัณฑิตยสถาน การสอนให้นักเรียนมีความรู้เป็นหนึ่งในหน้าที่หลักของผู้เป็นครูทุกคนบนโลกใบนี้ หากแต่การส่งต่อความรู้ด้วยการสอนเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ การที่เด็กทุกคนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีประสิทธิภาพจะต้องมีกระบวนการหรือปัจจัยอื่นๆ ร่วมกัน แม้ว่าจะมีเงื่อนไขหรืออุปสรรคใดๆ ก็ตาม นี่จึงกลายเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ใหม่ของผู้เป็นครูที่ต้องรังสรรค์กระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ๆ เพื่อเข้าถึงเด็กๆ และผู้เรียน

ด้วยเหตุนี้ห้องเรียนข้ามขอบ จึงไม่ได้เป็นเพียงโครงการสำหรับนักเรียนเท่านั้น แต่ยังเป็นการเตรียมการให้ผู้เป็นครูและบุคลากรที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ที่ทำบ้านเรียนโฮมสคูล หรือวิทยากรในสถานีการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ได้พัฒนาทักษะความคิดและกระบวนการที่จะนำไปสู่การออกแบบสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้แบบใหม่ๆ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย เพื่อให้ทุกคนสามารถสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพได้

ก๋วย – พฤหัส พหลกุลบุตร

ก๋วย – พฤหัส พหลกุลบุตร เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เล่าถึงองค์ประกอบของโครงการห้องเรียนข้ามขอบ ซึ่ง ‘ครู’ ก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่มีความสำคัญและจำเป็นต้องมีการพัฒนาควบคู่ไปพร้อมกับส่วนอื่นๆ จนเกิดเป็นการเชิญชวนครูๆ ในพื้นที่การเรียนรู้ต่างๆ ทั้งที่อยู่ในโรงเรียนสพฐ. ครูสกร. พ่อแม่บ้านเรียน ไปจนถึงสถานีการเรียนรู้ต่างๆ ให้ได้เข้ามาร่วม Workshop การออกแบบการเรียนรู้อย่างบูรณาการมากขึ้น

ผึ้ง ปริยาภรณ์

“ที่เชียงดาวมีหลากหลายชาติพันธุ์ หลายครอบครัวไม่ค่อยให้ความสำคัญเรื่องการศึกษา แต่จะเป็นเรื่องการทำมาหากินมากกว่า การที่เราได้ไปสำรวจความต้องการของคนในชุมชน หลังการสำรวจ สถิติของเชียงดาว เรื่องปากท้องมาเป็นอันดับหนึ่ง เรื่องเรียนเป็นอันดับที่สอง น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ในปัจจุบัน อยากให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น อยากให้เด็กค้นหาตัวเองให้เจอ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก การจัดกิจกรรมให้เด็กได้เชื่อมโยงก็คิดว่าสามารถทำให้เด็กค้นหาตัวเองได้”

ผึ้ง ปริยาภรณ์ ครูจากกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) อำเภอเชียงดาว เล่าถึงเด็กๆ ที่มาเข้าร่วมโครงการห้องเรียนข้ามขอบ ที่แม้จะมีเงื่อนไขที่เด็กๆ บางกลุ่มจะต้องไปทำงานจนทำให้มีเวลามาเข้าร่วมโครงการเพียงสัปดาห์ละ 1 วัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป สภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ที่ถูกออกแบบภายใต้โครงการก็ทำให้เด็กๆ ที่มาจากการศึกษาทั้งในและนอกระบบเริ่มปรับตัว เริ่มอยากมาเรียน อยากเจอเพื่อน เป็นข้อพิสูจน์ว่าการออกแบบสภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้มีผลดีเพียงใด

“เด็กสกร. มีวันมาเรียนเพียง 1 วัน เพราะเขาต้องทำงาน เขาต้องมาเรียน 10 ครั้ง ครั้งแรกที่มาเรียนกับมะขามป้อมเขายังไม่อิน เพราะว่าเป็นเด็กนอกระบบ พอเรียนครบ 10 สัปดาห์ เขาก็โอเคขึ้นเพราะว่าได้เจอเพื่อนใหม่ ได้แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ที่เขาไม่เคยเจอมาก่อน กล้าคิด กล้าที่จะพูดมากขึ้น หลายคนเลยไม่ขาดเรียนเพราะสนุกและสนใจมาเรียน เจอเพื่อนใหม่และมีกิจกรรมร่วมกันที่จะไปทำ”

(ภาพ : Facebook page ห้องเรียนข้ามขอบ)

แม้ว่าจะเป็นเด็กๆ จากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเด็กจากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ เด็กๆ กลุ่มชาติพันธุ์ที่ต้องพบเจอกับกำแพงภาษาแต่ ปริยาภรณ์ ก็ยังมั่นใจและพยายามที่จะสร้างสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ให้สามารถยึดโยงเด็กๆ เหล่านี้ไว้ด้วยกัน ให้สามารถเข้าถึงการศึกษาภายในพื้นที่การเรียนรู้แห่งนี้ได้ รวมถึงหนทางในการป้องกันไม่ให้เด็กๆ ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา หรือการรับมือกับปัญหาเมื่อหลุดออกจากระบบการศึกษาแล้วก็ตาม

“เด็กที่มาเรียนกับมะขามป้อมไม่ได้มีแค่เด็กนอกระบบ แต่มีเด็กในระบบด้วย หลายคนเป็นชาติพันธุ์ มีกำแพงภาษา เราก็สอนแบบให้ทุกคนมีอำนาจร่วมกันได้ เพราะบางคนเป็นเด็กที่หลุดออกจากระบบ คนข้ามแดน กลุ่มคนเหล่านี้จะต้องทำให้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เท่าๆ กัน ส่วนเด็กที่หลุดออกมาที่มีปัญหา อันดับแรกเขาต้องรู้ตัวเองจากการให้เขาได้เรียนรู้ก่อน ใช้ตัวอย่างจากพี่ ๆ ว่าพี่เขามีปัญหาประมาณไหน และเขาแก้ปัญหายังไง เพื่อสะท้อนมาที่ตัวเองว่า เรามีปัญหาอะไร และจะแก้อย่างไร” พฤหัสกล่าว

เอก – เอกชัย จินาจันทร์

ทางด้าน เอก – เอกชัย จินาจันทร์ พ่อที่จัดการเรียนรู้ให้กับลูกทั้งสามคนเองที่บ้าน อธิบายความหมายของ “โฮมสคูล” ในมุมมองของตนไว้ ว่านอกจากจะเป็นการจัดการการเรียนการสอนโดยพ่อแม่แล้ว ยังเป็นการให้เด็กๆ ได้สัมผัสประสบการณ์ที่ผู้ปกครองเป็นผู้ออกแบบโดยตรง หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นครูของลูก ก่อนที่เด็กจะเติบโต ออกไปตามหาความฝันต่อไปโดยไม่ขาดตกบกพร่องใดๆ

“เราอยากสร้างพื้นฐานของลูก แต่ไม่ใช่ว่าจะให้เป็นเกษตรกรตามพ่อแม่นะ อยากให้เขาได้รู้จักธรรมชาติ เข้าใจเรื่องดินฟ้าอากาศ ต้องการความอึดอดทนในตัวเอง”

นอกจากนี้ การออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ผ่านมุมมองของ เอกชัย ยังช่วยให้ลูกๆ ของเขาได้รับการเรียนการสอนที่มีคุณภาพหลายๆ วิชาได้พร้อมกัน อย่างเช่นการเลี้ยงเป็ด ที่นอกจากจะได้ความรู้ด้านการเกษตรแล้ว ยังถือเป็นการเรียนวิชาพละศึกษาผ่านการต้อนเป็ด และวิชาวิทยาศาสตร์ไปพร้อมๆ กันได้ด้วยจากการที่เด็กๆ ต้องคอยสังเกตชีวิตความเป็นอยู่ของเหล่าบรรดาเป็ดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเอกชัยมองว่าการควบรวมองค์ความรู้ต่างๆ ให้ออกมาเป็นรู้แบบการเรียนรู้แบบนี้ จะทำให้เด็กๆ ไม่ต้องฝืนเรียนวิชาที่ตัวเองไม่ชอบ แต่เป็นการซึมซับผ่านประสบการณ์ที่เด็กๆ ชอบและสนุกกับมันไปโดยไม่รู้ตัว

“เด็กๆ ชอบอยู่แล้ว เพราะมันไม่ต้องแยกเรียน และมันได้หลายวิชาในกิจกรรมเดียว เช่น เลี้ยงเป็ด วิชาเกษตรก็ได้ พละศึกษาก็ได้ เพราะต้องต้อนเป็ด วิทยาศาสตร์ก็ได้เพราะต้องสังเกตไข่เป็ดและรอมันฟักออกมาเป็นตัว มันไม่ต้องเสียเวลาในวิชาที่เด็กไม่ชอบ มันมองได้หลายแง่มุม” 

นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของพื้นที่การเรียนรู้ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในห้องเรียน ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการออกแบบ เพียงแค่คิดกับมันอย่างลุ่มลึก ค่อยๆ ดึงผ่านประสบการณ์ ผ่านความรู้สึกนึกคิด รวมทั้งการเฝ้ามองพัฒนาการอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันก็ช่วยเสริมองค์ความรู้ที่เขาอยากให้ลูกๆ ได้รับ และแม้ว่าจะเป็นการสอนคนใกล้ตัวอย่างลูกๆ แต่ก็ต้องคอยปรับเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับลูกทั้งสามคนด้วย

“เรามั่นใจว่า 15 ปีที่สอนเขา เราสามารถตายได้ เขาอยู่ต่อไปได้โดยไม่ต้องมีเรา เพราะเขามีทักษะชีวิตเป็นของตัวเอง”

และสิ่งที่สำคัญมากพอๆ กับความรู้ที่เด็กๆ จะได้รับ คือประสบการณ์ ซึ่งจะได้รับมาจากกิจกรรมต่างๆ ผ่านการออกแบบของผู้สอน คำบอกเล่าของ เอกชัย จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันว่านวัตกรรม ในการสร้างสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้มีความสำคัญเพียงใด อีกทั้งยังช่วยย้ำถึงความเป็นไปได้ของผู้เป็นครู ที่สามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นมากกว่าผู้บอกสอนความรู้ สู่ ผู้อำนวยกระบวนการเรียนรู้ เพื่อยกระดับการเรียนรู้สู่การสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน

ซึ่งการสัมผัสกับประสบการณ์จริงก็ถือเป็นหัวใจของการเรียนรู้ตามทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ หรือ Experiential Learning Theory (ELT) โดยนักทฤษฎีการศึกษาอย่าง David A. Kolb เชื่อว่าการเรียนรู้ของมนุษย์จะหมุนวนเป็นวงจรที่จะวนเวียนซ้ำไปมา โดยแบ่งออกได้เป็น 4 ขั้นตอน ซึ่งถ้าทำบ่อยๆ ก็จะเกิดเป็นบทเรียนและองค์ความรู้ใหม่ คือ หนึ่ง ‘Experiencing’ เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ เน้นการเรียนรู้ที่ได้คิดเองทำเอง สอง ‘Reflecting’ นำประสบการณ์ที่ได้มาทบทวน สาม ‘Thinking’ วิเคราะห์ขบคิด สรุปออกมาเป็นแนวทางปฏิบัติหรือออกมาเป็น ‘ความรู้ใหม่’ สี่ ‘Acting’ ลงมือทำจากองค์ความรู้ใหม่ที่ได้ แล้วเรียนรู้ว่าสิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนควรปรับปรุง

‘ครูกระบวนกร’ ครูที่ไม่ใช่แค่สอน แต่ต้องสร้างประสบการณ์และสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้

แอ๋ว – สิริกุล พญางาน

“เราไม่รู้เลยว่าครูกระบวนกรว่าคืออะไร อย่างทักษะการฟัง เราก็ไม่รู้ว่าการฟังที่ดีมันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับมนุษย์มากๆ และสามารถนำไปปรับใช้ได้หลายอย่าง ทั้งด้านเทคนิคพูด ฟัง และการเป็นครูกระบวนกรที่ดี มันทำให้เราได้รู้ว่ามีอะไรอีกหลายอย่างที่ต้องพัฒนา”

แอ๋ว สิริกุล พญางาน ครูจากศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอเชียงดาว บอกเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เธอรับรู้ได้หลังได้รู้จักกับความเป็น “ครูกระบวนกร” ที่ไม่ได้เพียงผู้ให้ความรู้ แต่ยังเป็นผู้ฟัง ผู้พูด รวมถึงกลายเป็นผู้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่ดี และแม้ว่าจะยังมีจุดที่ต้องพัฒนากันต่อ เธอก็เชื่อว่าการพัฒนาในครั้งนี้จะช่วยให้เหล่านักเรียนของเธอได้เล่าเรียนอยู่ในสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ที่ดีได้อย่างแน่นอน

‘กระบวนกร’ หรือ ‘Facilitator’ เป็นมากกว่าแค่ผู้สอน แต่คือผู้เอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ มีหน้าที่ในการออกแบบและสร้างกระบวนการเรียนรู้ รวมทั้งชวนคิดชวนตั้งคำถามเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน เชื่อมโยงความรู้กับประสบการณ์เข้าหากัน นอกจากนี้ยังต้องสามารถสร้างพื้นที่ ออกแบบบรรยากาศที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งอาจต้องปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขที่เด็กๆ แต่ละคนมีอยู่ด้วย

โดยทักษะครูกระบวนกร (Facilitator Skills) เป็นหนึ่งในหลักสูตรที่ห้องเรียนข้ามขอบออกแบบมาเพื่อพัฒนาทักษะให้กับครู รวมทั้งผู้สร้างการเรียนรู้และสถานีการเรียนรู้ให้สามารถเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ที่ผสมผสาน รวมไปถึงการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลายและปลอดภัย

แจ็ค – ธนาวัตน์ รายะนาคร

แจ็ค – ธนาวัตน์ รายะนาคร มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) ให้มุมมองว่าเราทุกคนสามารถเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ในพื้นที่ของตัวเองได้ โครงการห้องเรียนข้ามขอบ ในหลักสูตรครูกระบวนกร จึงเป็นเหมือนการทำให้ผู้เป็นครู รวมถึงนักสร้างการเรียนรู้และสถานีการเรียนรู้ได้ลองค้นหาทิศทางหรือองค์ประกอบที่เหมาะสมในการเป็นครูกระบวนกร

“มันช่วยทำให้เขากลับมาลองค้นหา ว่าถ้าเขาจะเป็นครูกระบวนกร หรือผู้อำนวยการเรียนรู้ เขาต้องเป็นแบบไหน”

ธนาวัตน์ยังมองไปต่ออีกว่า กระบวนกรเป็นทักษะสำคัญของการสร้างพื้นที่การเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม ไม่ใช่เพียงแค่การสอน หลักสูตรครูกระบวนกรจึงเป็นเหมือนการเชื้อเชิญให้ผู้เป็นครูจากพื้นที่การเรียนรู้ต่างๆ เข้ามาลองตั้งคำถาม เพื่อให้เด็กๆ ได้ลองค้นหาคำตอบด้วยตัวเองภายใต้การผลักดันและเอื้ออำนวยของผู้สอน รวมถึงการทำให้ ‘พื้นที่ไหนก็ได้’ ที่ไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในตัวเมือง หรือแม้แต่แค่ที่เชียงดาวเท่านั้น เชียงดาวอาจจะเป็นจุดตั้งต้นหลักของโครงการ แต่โครงการนี้เราเชื่อว่าจะเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่จะนำไปสู่การกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาในอนาคต ฉะนั้นทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย ครู นักสร้างการเรียนรู้ และพื้นที่เรียนรู้ต่างๆ ก็สามารถสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพได้เช่นกัน และจะเป็นยกระดับการ ‘สร้างระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น’ ให้เท่าทันต่อโลกและความผันผวนต่างๆ ได้ ในอนาคต ข้ามขอบฟ้าไปด้วยกัน

Array