การศึกษาฐานสมรรถนะ (Competency-Based Education) ระบบการศึกษาเพื่อแทนที่ระบบเดิม
Reading Time: 2 minutesการศึกษาฐานสมรรถนะ (Competency-Based Education) ระบบการศึกษาเพื่อแทนที่ระบบเดิม
ศราวุธ จอมนำ
มันฝรั่งล็อตใหญ่ถูกส่งไปยังโรงงานแห่งหนึ่ง มันแต่ละหัวถูกลำเลียงไปตามสายพาน เข้าสู่ขั้นตอนต่าง ๆ ด้วยความเท่าเทียม ไม่มีลูกไหนได้เปรียบเสียเปรียบกัน ทั้งลำดับของการไปสู่แต่ละแผนก วิธีการที่ใช้ในแผนกนั้น ๆ ระยะเวลาในแผนกนั้น ๆ ด้วย ตั้งแต่แผนกล้างทำความสะอาด แผนกต้ม แผนกปอกเปลือก แผนกหั่น แผนกทอด แผนกคัดแยก แผนกบรรจุ ฯลฯ
ด้วยความเชื่อมั่นว่า มันฝรั่งที่เข้าสู่ขั้นตอนก่อนหน้าจะพร้อมสำหรับไปสู่ขั้นตอนถัดไป เพราะมันแต่ละหัวล้วนแต่ได้รับสิ่งต่าง ๆ เหมือนกัน ถ้าระบบควบคุมการผลิตไม่ผิดพลาด ผลลัพธ์สุดท้ายก็ไม่น่ามีอะไรผิดพลาด
ระบบการศึกษาปัจจุบันที่เราใช้กันมาแต่ดั้งเดิม ก็เช่นกัน
ระบบการศึกษาดั้งเดิม
ระบบการศึกษาปัจจุบันที่เราใช้กันมาแต่ดั้งเดิม มีฐานคิดเดียวกันกับการผลิตในโรงงาน (Factory Model of Education) ที่เชื่อหลักความเท่าเทียม (Equality) โดยมุ่งให้ทุกคนได้รับสิ่งต่าง ๆ เหมือนกัน เท่ากัน ทั้งเนื้อหา วิธีการ ช่วงเวลา และระยะเวลา แต่เนื่องจากมนุษย์ไม่เหมือนวัตถุดิบในโรงงาน การได้รับสิ่งต่าง ๆ เหมือนกันไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะพัฒนาได้เท่ากัน ระบบการศึกษาแบบนี้จึงอนุญาตให้ “การเรียนรู้” แปรผันไปตามศักยภาพของแต่ละคน โดยตีค่าออกมาเป็นคะแนนหรือเกรด
“ขอแค่ครบเวลาก็พอ ได้ผลไม่ได้ผลเป็นอีกเรื่อง”
เรามักจะได้ยินประโยคหรือวิธีคิดแบบนี้อยู่บ่อย ๆ ทั้งการพัฒนานักเรียนที่ดูจากปริมาณชั่วโมงที่เข้าห้องเรียน และการพัฒนาครูที่ดูจากปริมาณชั่วโมงอบรม นี่คือฐานคิดหลักของระบบการศึกษาปัจจุบัน ที่เรียกว่า การศึกษาโดยยึดเวลาเป็นสำคัญ (Time-Based Education)
ระบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์
ความก้าวหน้าขององค์ความรู้เกี่ยวกับสมองและการเรียนรู้ ทำให้เราตระหนักว่าแต่ละคนต่างกัน ทั้งความเร็ว ความชอบ ความถนัด แรงกระตุ้น ความพร้อม ความสนใจ ฯลฯ และการเรียนรู้เกิดขึ้นจากตัวผู้เรียนเอง สิ่งอื่น ๆ รอบตัวเป็นเพียงตัวกระตุ้น ที่แม้จะกระตุ้นขนาดไหนถ้าเขาไม่สนใจหรือไม่ต้องการ การเรียนรู้ก็จะไม่เกิด ฐานคิดเกี่ยวกับการจัดการศึกษาจึงเปลี่ยนไป
จากเดิมที่เชื่อว่าการศึกษาต้องพัฒนาผู้เรียนผ่านการจัดสรรทรัพยากรให้ทุกคนเท่ากัน เหมือนกัน ทั้งวิธีการ สื่อ และเวลา เพื่อที่จะมั่นใจว่าผู้เรียนได้รับสิ่งต่าง ๆ เท่ากันแล้วจริง ๆ ตามหลักความเท่าเทียม (Equality)
เป็น เชื่อว่าการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองผ่านการสนับสนุนทรัพยากรตามความจำเป็นของผู้เรียนแต่ละคน โดยจัดสรรวิธีการ สื่อ และเวลาอย่างยืดหยุ่น เพื่อที่จะมั่นใจว่าผู้เรียนได้พัฒนาตัวเองจนทำได้แล้วจริง ๆ ตามหลักความเสมอภาค (Equity)
ระบบการศึกษาที่พัฒนาขึ้นภายใต้ฐานคิดนี้เรียกว่า การศึกษาฐานสมรรถนะ (Competency-Based Education)
ระบบการศึกษาดั้งเดิม VS ระบบการศึกษาฐานสมรรถนะ
Pre-Fix คือสิ่งที่ระบบการศึกษากำหนดไว้ว่าผู้เรียนทุกคนต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกัน
Variable คือสิ่งที่ระบบการศึกษาอนุญาตให้ผู้เรียนทุกคนต่างกันได้
ประเด็น
|
Time-Based Education
|
Competency-Based Education
|
ฐานคิด
|
ทุกคนต้องได้รับสิ่งต่าง ๆ เท่ากัน (Equality) และอนุญาตให้การเรียนรู้ต่างกันได้
|
ทุกคนต้องได้เรียนรู้ โดยได้รับสิ่งต่าง ๆ ตามจำเป็นของแต่ละคน (Equity)
|
จุดเน้น
|
– เนื้อหา (Content) – การสอน (Teaching) – ครูเป็นศูนย์กลาง (Teacher-Centered)
|
– สมรรถนะ (Competency) ทั้งสมรรถนะทั่วไป (General Competency) และสมรรถนะเฉพาะ (Specific Competency) – การเรียนรู้ (Learning) – นักเรียนเป็นศูนย์กลาง (Student-Centered)
|
สิ่งที่ครูจะถามถึงเป็นอันดับแรก ๆ เมื่อเตรียมบทเรียน
|
จะใช้หนังสือเรียน (Textbook) เล่มไหน แบ่งเป็นกี่บท เรียงบทยังไง
|
อยากให้เด็กทำอะไรเป็น (Learning Outcome) และจะรู้ได้ยังไงว่าตอนนี้เด็กมีความสามารถอยู่ในระดับไหนแล้ว (Rubrics) จะได้ส่งเสริมต่อได้
|
ภาพของห้องเรียน
|
การสอนทั้งห้อง (Whole Class Instruction) ด้วยบทเรียนหรือกิจกรรมที่ออกแบบมากลาง ๆ เพื่อให้ทุกคนในห้องเรียนเหมือนกัน ด้วยวิธีการเดียวกัน เด็กกลุ่มอ่อนจะตามไม่ทัน และเด็กกลุ่มเก่งจะเบื่อ
|
ครูมองเห็นเด็กเป็นคน ๆ แล้วการสนับสนุนผู้เรียนตามความจำเป็นของแต่ละคน (Differentiated Support) ด้วยแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายเท่าที่พึงมี แต่ละคน/กลุ่มทำกิจกรรมที่แตกต่างกันตามความเหมาะสม
|
บทบาทครู
|
ผู้ถ่ายทอดความรู้ (Lecturer) และควบคุมห้องเรียนให้เป็นไปตามที่วางแผนไว้
|
ผู้อำนวยการเรียนรู้ / ผู้สนับสนุนการเรียนรู้ (Facilitation / Supporter)
|
บทบาทผู้บริหาร
|
เป็นเจ้านาย/หัวหน้า (Boss) ผู้ออกคำสั่ง (Director) รับคำสั่งโดยตรงจากหน่วยเหนือและสั่งการต่อไปที่ครู
|
เป็นผู้นำ (Leader) ผู้สนับสนุน (Supporter) ที่คอยฟังครู และเอื้ออำนวยให้ครูปฏิบัติหน้าที่ตามที่ควรจะเป็นอย่างราบรื่น
|
บทบาทนักเรียน
|
รอครูป้อน เพราะต้องเรียนตามที่กำหนดไว้เท่านั้น (Passive Learner)
|
เดินเข้าหาการเรียนรู้ เพราะเลือกประเด็น วิธีการ จังหวะเวลา ได้ (Active Learner)
|
ฐานคิดเกี่ยวกับการประเมิน
|
มุ่งเก็บคะแนน เพื่อเอาไปตัดสินผล (Summative) กดดัน มีโอกาสครั้งเดียวในแต่ละเรื่อง ใช้เครื่องมือเดียวกัน ในเวลาเดียวกัน
|
มุ่งระบุระดับความสามารถ เพื่อส่งเสริมต่อยอด (Formative) เชิงบวก มีโอกาสหลายครั้ง ใช้เครื่องมือที่หลากหลายตามความจำเป็นของแต่ละคน เกิดขึ้นตามจังหวะที่เหมาะสม
|
ผลการประเมินที่ผู้เรียนคาดหวัง
|
ต้องการคะแนนเยอะที่สุด โดยทำทุกวิถีทางแม้กระทั่งการหลอกเครื่องมือวัด
|
ต้องการผลที่ตรงกับความสามารถจริงที่สุด
|
การเลื่อนระดับ (สู่บทเรียนถัดไป / สู่ระดับชั้นถัดไป)
|
เลื่อนพร้อมกันทุกคนตามเวลาที่กำหนด ถ้าเข้าเรียนครบตามเวลา (Seat Time) หรือถึงเวลาแล้วก็ต้องเลื่อนระดับเลย โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมหรือพื้นฐานที่เพียงพอ หรือหากชำนาญแล้วแต่ยังไม่ครบเวลา ก็ต้องอยู่จนครบ
|
แต่ละคนใช้เวลาในแต่ละระดับไม่เท่ากัน ถ้าทำได้แล้วจริง / มีความสามารถจริง (Competent / Proficient / Mastery) ก็เลื่อนระดับได้เลย ส่วนคนที่ความสามารถยังไม่ถึงควรได้เวลาเพิ่ม พร้อมความช่วยเหลือ ให้พัฒนาตัวเองจนพร้อมก่อนเลื่อนระดับ
|
ระบบการศึกษาไม่ได้หมายถึงห้องเรียนหรือครูเท่านั้น การจัดการศึกษาจึงไม่ใช่การสั่งว่าจะให้ครูทำอะไร แต่เป็นการจัดระบบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ฐานคิด เพื่อสนับสนุนให้การทำงานของครูเป็นไปอย่างราบรื่น และเป็นไปเพื่อการพัฒนาผู้เรียนจริง ๆ
การเปลี่ยนผ่านสู่การศึกษาฐานสมรรถนะ ต้องเริ่มที่การตระหนักถึงธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ และยึดหลักที่จะสนับสนุนให้ผู้เรียนแต่ละคนได้พัฒนาตนเอง จากนั้นจึงปลดล็อกวิธีการที่จะใช้และวิธีบริหารจัดการที่เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษาจึงจะตามมา
??????????
อ้างอิง
Bramante, Fredrick J. ; & Colby, Rose L. (2012). Off the Clock: Moving Education From Time to Competency. Thousand Oaks, CA: Corwin.
Colby, Rose L. (2017). Competency-Based Education: A New Architecture for K-12 Schooling. Cambridge, MA: Harvard Education Press.
Levine, E. & Patrick, S. (2019). What is competency-based education? An updated definition. Vienna, VA: Aurora Institute.
Lindsay Unified School District. (2017). Beyond Reform: Systemic Shifts Toward Personalized Learning -Shift from a Traditional Time-Based Education System to a Learner-Centered Performance-Based System. Denver, CO: Marzano Research.
Lopez, N.; Patrick, S.; & Sturgis, C. (2017). Quality and Equity by Design: Charting the Course for the Next Phase of Competency-Based Education. Vienna, VA: iNACOL.