Korkankru

สื่อการสอน

9 ข้อค้นพบบางประการของโครงการผู้นำแห่งอนาคต1 min read

Reading Time: < 1 minutes 9 ข้อค้นพบของโครงการผู้นำแห่งอนาคต นำเสนอในการประชุมคณะที่ปรึกษาและกรรมการกำกับทิศ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ Nov 7, 2017 < 1 min

9 ข้อค้นพบบางประการของโครงการผู้นำแห่งอนาคต1 min read

Reading Time: < 1 minutes

9 ข้อค้นพบของโครงการผู้นำแห่งอนาคต นำเสนอในการประชุมคณะที่ปรึกษาและกรรมการกำกับทิศ วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๙

1. กระบวนการภายในที่ลึกซึ้งมีผลในการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อผู้นำและการทำงานของผู้นำได้จริง

มีผู้นำทางสังคมจำนวนมากที่ทำงานคลุกคลีกับประเด็นปัญหาที่ตนเองสนใจด้วยความทุ่มเทอย่างยาวนาน จนหลายครั้งไม่มีโอกาสได้ทบทวนใคร่ครวญสิ่งที่ทำไปและการสะท้อนย้อนมองตนเอง ทำให้เกิดการ “ติดหล่ม” ไม่สามารถก้าวไม่พ้นวิธีการทำงานและแก้ปัญหาที่ถูกใช้มาอย่างยาวนานโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง การที่ผู้นำได้มาเข้าร่วมกระบวนการภายในที่ให้ความสำคัญกับการเข้าใจและตระหนักรู้ถึงพฤติกรรมตนเอง และเสริมเครื่องมือการวิเคราะห์และเข้าใจสังคมในภาพกว้างนั้น อย่างในเวที Leadership Social Facilitation สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ตัวผู้นำได้ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงในตัวผู้นำนี้ทำให้เกิดการปรับวิธีคิดในการจัดการปัญหาและการทำงานในพื้นที่อย่างแท้จริง เช่น คนที่เคยเห็นรัฐเป็นศัตรู เริ่มมองว่าการทำงานกับรัฐด้วยมุมมองที่มีความเข้าใจและเห็นความเป็นมนุษย์เป็นสิ่งที่สำคัญ

2. พื้นที่การเรียนรู้ด้านภาวะภายในสำหรับคนรุ่นใหม่เป็นสิ่งจำเป็นที่มีอยู่อย่างจำกัด

มีคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่มีศักยภาพ และมีจิตใจที่ต้องการทำสิ่งดีๆเพื่อสังคม แม้ว่าในสังคมไทยจะมีหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพแก่เยาวชนเหล่านี้อยู่มากมาย แต่หลักสูตรส่วนมากมักเป็นหลักสูตรที่มีแบบแผนอันถูกกำหนดไว้ตายตัวว่าเยาวชนควรจะเป็นอย่างไร ส่วนหลักสูตรและพื้นที่ที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตทางจิตวิญญาณและปัญญาภายในของตนเองอย่างแท้จริง อันเปิดโอกาสให้เยาวชนผู้มีพลังใจทำงานเพื่อสังคมได้สร้างพลังจากภายใน ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานเพื่อสังคมด้วยความมั่นคงเข้มแข็ง โดยเป็นกระบวนการที่ถูกอย่างเหมาะสมสำหรับแนวทางการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่อย่างงานอบรมของโครงการฯนั้น ยังมีอยู่จำนวนน้อย ไม่เพียงพอต่อเยาวชนที่มีศักยภาพจำนวนมากที่ยังไม่มีโอกาสได้สัมผัสและเรียนรู้จากกระบวนการเช่นนี้

3. จำเป็นจะต้องมีแนวทางแบบใหม่ในการสร้างการเรียนรู้เรื่องจริยธรรมแก่คนรุ่นใหม่

ดูเหมือนว่าในปัจจุบันคำว่า “จริยธรรม” จะเป็นคำที่ถูกตั้งคำถามไปจนถึงต่อต้านอย่างมากจากกลุ่มผู้นำคนรุ่นใหม่ โดยโครงการพบว่าความจริงแล้วสิ่งที่คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามนั้นไม่ใช่จริยธรรมแต่เป็นวิธีการเรียนรู้เรื่องจริยธรรมในสังคมไทย ซึ่งมักจะใช้การสั่งสอน มีการผูกโยงกับอำนาจ และมีความเป็นนามธรรมสูง ยังไม่มีการสร้างการเรียนรู้เรื่องจริยธรรมที่เกิดจากปัญญาในตน และเชื่อมโยงจริยธรรมกับการวิถีปฏิบัติชีวิตประจำวัน สิ่งนี้เป็นโจทย์ที่โครงการผู้นำแห่งอนาคต เห็นว่าควรจะมีพื้นที่สำหรับกระบวนกรที่ทำงานกับคนรุ่นใหม่ มาร่วมกันระดมความเห็นเพื่อสร้างหลักสูตรที่เหมาะสมสำหรับการสร้างการเรียนรู้ด้านจริยธรรมแก่คนรุ่นใหม่ และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้าใจที่เกิดจากภายในอย่างลึกซึ้งในประเด็นนี้ต่อไป

4. ภูมิปัญญาตะวันออกยังมีองค์ความรู้มหาศาลซึ่งสามารถชี้นำสังคมได้

แต่ยังไม่ได้รับการสำรวจ องค์ความรู้ด้านภาวะการนำทั้งกระแสหลัก และกระแสทางเลือกที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน มักมีรากฐานที่พัฒนามาจากแนวคิดตะวันตกแทบทั้งสิ้น ในขณะเดียวกัน องค์ความรู้เกี่ยวกับภาวะการนำบนฐานคิดของภูมิปัญญาตะวันออก กลับปรากฏอยู่อย่างประปรายบนชายขอบของความรู้ และมักอยู่ในลักษณะที่ไม่เป็นทางการ งานเขียนส่วนใหญ่มีการอ้างถึงหลักปรัชญาและศาสนาในลักษณะที่ตัดยอดและเหมาคลุม ปราศจากการศึกษาอย่างเป็นระบบ ซึ่งน่าจะเป็นการศึกษาที่ให้บทเรียนสำคัญสำหรับสังคมไทยที่กำลังเผชิญภาวะวิกฤตรอบด้าน โดยโครงการผู้นำแห่งอนาคตเห็นว่าเครือข่ายนักวิจัยที่ทำงานกับโครงการ มีศักยภาพในการที่จะขยายมุมมองและประเด็นที่หลากหลายในเรื่องนี้ได้อย่างลึกซึ้ง โดยเชื่อมโยงกับบริบทที่เป็นจริงในสังคมไทย

5. รูปแบบการทำงานที่เชื่อมโยงงานของนักวิชาการในสถาบันการศึกษาและการทำงานขับเคลื่อนสังคมในพื้นที่จริง

สร้างการเรียนรู้อย่างลึกซึ้งและช่วยยกระดับการทำงานของทั้งสองฝ่าย องค์ความรู้ทางวิชาการมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการยกระดับการทำงานของผู้นำทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์แนวทางการทำงานและจัดเก็บองค์ความรู้การทำงานในพื้นที่อย่างเป็นระบบ การสร้างพื้นที่ให้การสะท้อนย้อนมอง การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของบริบททางสังคมในระดับมหภาคกับงานของผู้นำในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้นำในพื้นที่ได้มีโอกาสทบทวนแนวทางการทำงานของตนเองและมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ในการทำงานขับเคลื่อนสังคมในพื้นที่ ในขณะเดียวกันองค์ความรู้ที่ได้รับการสังเคราะห์จากบริบทของการปฏิบัติงานจริงก็จะช่วยส่งเสริมให้งานวิชาการและความเข้าใจของนักวิชาการมีความลุ่มลึก มีประโยชน์ที่จับต้องได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงนักวิชาการได้มีความเข้าใจต่อสังคมที่ลึกซึ้งและเป็นจริงโดยไม่ยึดติดกับกรอบทฤษฎี จึงควรจะมีขบวนการขับเคลื่อนสังคมในพื้นที่และนักวิชาการที่ได้รับการสนับสนุนให้ทำงานในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป

6. พื้นที่ในการทำงานร่วมกันระหว่างกระบวนกรที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

โครงการผู้นำแห่งอนาคตพยายามสร้างพื้นที่ให้กระบวนกรที่ความเชี่ยวชาญได้เรียนรู้จากกันและกัน และทำงานสร้างการเรียนรู้ให้ผู้อื่นร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการเป็นเสมือนพื้นที่กลางที่สามารถเป็นศูนย์รวมให้กระบวนกรจากแตกต่างสาขามาทำงานร่วมกันได้ แม้ในช่วงแรกอาจจะมีความไม่ราบรื่นและไม่ลงรอยอยู่บ้าง จนกระบวนกรหลายคนสะท้อนว่าคิดว่าการทำงานด้วยตนเองมีประสิทธิภาพกว่า อย่างไรก็ตามความไม่ลงตัวนี้ทำให้กระบวนกรหลายท่านได้ออกจากพื้นที่ปลอดภัยที่ตนเองเชี่ยวชาญ และการที่จะต้องประนีประนอมกับความเชี่ยวชาญของกระบวนกรท่านอื่นๆ ก็ทำให้เกิดกระบวนการฝึกอบรมในรูปแบบใหม่ หรือได้สร้างกระบวนการสะท้อนที่ลึกซึ้งกว่าเดิมให้กับการฝึกอบรม จนมีความทรงพลังและลุ่มลึกมากยิ่งขึ้น

7. พื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจ การเห็นคุณค่าตัวเอง และการยกระดับการทำงานได้

การมีพื้นที่ปลอดภัยที่เปิดให้คนจากหลากหลายภาคส่วนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ อันเป็นกิจกรรมหลักที่อยู่ในเวทีเสริมศักยภาพทุกกระบวนการของโครงการผู้นำแห่งอนาคตนั้น ทำให้ผู้นำหลายคนได้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของตนเอง ผ่านการได้มองตนเอง ได้รับการสะท้อนและชื่นชมจากผู้อื่น เกิดเป็นพลังในการทำงานของตนเองต่อไป นอกจากนั้นยังทำให้เกิดแนวคิดและวิธีการทำงาน และเครือข่ายใหม่ๆ ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อการทำงานในประเด็นเดิมได้จริง มีผู้เข้าร่วมบางคนบอกว่าเวทีของโครงการเป็นพื้นที่แรกที่ทำให้เขากล้าเล่าเรื่องของตนเองให้คนอื่นฟัง

8. การสร้างพื้นที่ให้เครือข่ายที่แตกต่างหลากหลายได้พบปะกัน

เป็นจุดเริ่มของการประสานความแตกต่าง ในปัจจุบันคนจากเครือข่ายที่หลากหลาย ซึ่งไม่ได้ทำงานในภาคส่วนเดียวกัน มีวิถีการปฏิบัติและรูปแบบความคิดความเชื่อต่อสังคมที่แตกต่างกัน มีความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน จนลงเองด้วยภาพเหมาะรวมและอคติต่อกัน การมีพื้นที่ให้คนเหล่านี้ได้พบปะ แลกเปลี่ยน โดยมีกระบวนการที่ช่วยเชื่อมประสานความแตกต่าง สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ อันทำให้ผู้เข้าร่วมเห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน มีความเห็นอกเห็นใจกัน ลดอคติที่มีต่อกันได้ ซึ่งไม่เพียงแต่ปรับทัศนคติต่อคนที่อยู่ในการอบรมเท่านั้น แต่พื้นที่เหล่านี้ยังช่วยปรับความคิดต่อการทำงานกับกลุ่มคนที่มีความแตกต่างจากตนเองในชีวิตจริงด้วย

9. สังคมไทยยังต้องการพื้นที่ให้สื่อสร้างสรรค์ สื่อด้านบวก อีกจำนวนมาก

สื่อในปัจจุบันจำนวนมากยังขาดพื้นที่ของเรื่องราวที่มีความสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างความเปลี่ยนแปลง รวมถึงยังไม่มีการสื่อสารช่องทางไหนที่ท้าทายความคิดความเชื่อและยกระดับความเข้าใจในประเด็นด้านภาวะการนำแก่สังคมไทยในวงกว้าง การที่โครงการได้ทำการผลิตสื่อเผยแพร่อย่างต่อเนื่องจึงเป็นการช่วยเสริมสร้างพื้นที่สื่อสร้างสรรค์ และการขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับภาวะการนำกระบวนทัศน์ใหม่ให้แก่คนในสังคมที่ไม่เคยเข้าร่วมกระบวนการของโครงการผู้นำแห่งอนาคต

 

Your email address will not be published.