Finance Matter: เขาหาเงินเพื่อทำงานกันอย่างไร
Reading Time: 2 minutesหากคุณกำลังคิดจะปรับรูปแบบการบริหารการเงินในองค์กรของคุณ เราอยากให้คุณได้ลองศึกษาตัวอย่างรูปแบบการหาเงินขององค์กรเพื่อสังคมเหล่านี้ เผื่อจะได้ไอเดียใหม่ๆ ไปปรับใช้ให้เหมาะกับงานของคุณ
เวทีพัฒนาศักยภาพเครือข่ายด้วยเครื่องมือสนับสนุนความยั่งยืนการขับเคลื่อนทางสังคม ครั้งที่ 2หัวข้อ การคิดและวางแผนการเงินแบบผู้ประกอบการสังคม (Finance Matter for Social Entreperneurs) ระหว่างวันที่ 15 – 17 มกราคม 2561
ปรับตัวในการทำงาน (Adapt)
มูลนิธิกระจกเงา ได้ปรับตัวเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการสื่อสารซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ได้รับการสนันสนุนเงินทุนในการดำเนินงาน โดยการมองหาช่องทางในการสื่อสารใหม่ ผลจากการวิเคราะห์ช่องทางที่เหมาะสมได้ออกมาเป็นการสื่อสารออนไลน์ผ่านช่องทาง Facebook ที่ทั้งประหยัดงบประมาณ ประหยัดเวลาในการดำเนินงาน และยังสื่อสารได้รวดเร็วทันสถานการณ์
นอกจากนั้นมูลนิธิฯ ยังได้หาผู้เชี่ยวชาญในการสื่อสารด้านนี้
มาร่วมทำงานเพื่อสังคมด้วยกัน ทำให้ได้งานออกมามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย
สร้างความหลากหลายและแตกต่าง (Diversify)
HEIFER เป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม ในการช่วยเหลือคนยากจนกว่า 50% ในประเทศอูกันดา ด้วยค่าใช้จ่ายต่อหัว (Impact Unit Cost) ที่สูง เขาเลยคิดวิธีการเปิดรับการบริจาคโดยแบ่งย่อยการสร้างผลกระทบต่อสังคม (Impact Unit) ออกเป็นหลายด้าน เช่น การช่วยเหลือด้านสิ่งแวดล้อม การศึกษา การสร้างอาชีพ เป็นต้น ทั้งนี้ แต่ละด้านยังแบ่งย่อยสัดส่วนการช่วยเหลือ เพื่อให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการบริจาคได้ตามกำลังทรัพย์และความสมัครใจ เช่น การบริจาคสัตว์ สามารถบริจาคทั้งตัว หรือจะบริจาคเป็นส่วนก็ได้ เช่น บริจาคแกะ 1 ตัว 120$ หรือจะบริจาคเป็นส่วนในอัตรา 10$ ก็ได้
ยิ่งไปกว่านั้นการดำเนินงานยังเน้นให้ผู้ได้รับการช่วยเหลือ ได้รับความรู้ที่จะสามารถเลี้ยงชีพด้วยตัวเองได้ จากตัวอย่างข้างต้นเรื่องการบริจาคสัตว์ ผู้เข้าร่วมจะต้องนำสัตว์ชนิดนั้นไปเลี้ยงและขยายพันธุ์ต่อด้วยตัวเอง จากนั้นจะต้องส่งคืนสัตว์ตัวเมียให้กับทางโครงการ เพื่อให้โครงการได้นำสัตว์ตัวนั้นไปขยายผลช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป (ทั้งได้สร้างอาชีพ และยังลด Impact Unit Cost ในระยะยาวอีกด้วย)
สร้างความหลากหลายและแตกต่าง (Diversify)
Dialog in The Dark เป็นองค์กรที่ทำงานเพื่อสังคม ในประเด็นการสร้างอาชีพให้กับผู้พิการทางสายตา และเน้นการสร้างผลกระทบทางสังคมในด้านการตระหนักถึงศักยภาพในการทำงานของผู้พิการ โดยวิธีการทำงานหลัก คือ การสร้างห้องนิทรรศการจำลองการใช้ชีวิตของผู้พิการทางสายตา แล้วให้ผู้พิการเป็นผู้พาคนทั่วไปเข้าไปสัมผัสประสบการณ์และความรู้สึกที่เกินคาดคิด
นอกจากการจัดนิทรรศการที่เป็นงานหลักแล้ว Dialog in The Dark ยังได้มีการจัดกิจกรรมอื่น ๆ เพื่อสร้างรายได้และประสบการณ์พิเศษให้กับผู้ใช้บริการ เช่น Love in The Dark (ในช่วงวันวาเลนไทน์), Family Tour (ให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันโดยไม่มีสิ่งเร้าอื่น ๆ), Dinner in The Dark (เปิดประสาทสัมผัสรับรสชาติอาหารอย่างเต็มที่)
ทำงานโดยใช้เงินทุนเท่ากับศูนย์ (Free)
Love is Hear เป็นโปรเจ็คคอนเสิร์ตเพื่อให้ผู้พิการทางการได้ยินได้สัมผัสประสบการณ์รับชมการแสดงดนตรีอย่างเต็มรูปแบบ โดยคณะผู้จัดงานใช้การตั้งต้นจากการคิดรูปแบบโครงการแล้วขอความร่วมมือภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม เข้ามามีส่วนในการลงทุนจัดคอนเสิร์ต ทั้งส่วนของค่ายเพลง ศิลปิน บริษัทรับจัดแสง สี เสียง และออแกไนเซอร์ ฯลฯ โดยทีมผู้จัดงานไม่ต้องลงเงินทุนในการจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้ด้วยตัวเอง
ความเต็มรูปแบบที่พูดถึงของงานนี้ คือ ผู้จัดได้ทดแทนประสาทสัมผัสด้านการรับฟัง ด้วยการใช้ลูกโป่งเป็นสื่อกลางในการรับการสั่นสะเทือนของเครื่องเสียงแต่ละชิ้นที่แตกต่างกัน เพื่อให้ผู้พิการได้มีส่วนร่วมความสนุกของการรับชมดนตรีมากกว่าที่เคยเป็น และยังเชิญดารา ศิลปิน นายก และผู้มีชื่อเสียงที่ปรากฏตัวบ่อยครั้งในจอโทรทัศน์ มาร่วมถ่ายทอดบทเพลงด้วยภาษามืออีกด้วย
แก้ปัญหาให้ตรงจุด (Focus)
EDF Climate Corp. เป็นบริษัทที่ทำงานแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งทำงานพุ่งเป้าการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด โดยการทำงานกับหน่วยงานที่สร้างผลกระทบด้านนี้มากที่สุด นั่นคือภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นบริษัทจึงพัฒนาบุคลากรขึ้นมาเพื่อเข้าไปแก้ปัญหานี้โดยตรง ผ่านการคัดเลือกนักศึกษาระดับหัวกะทิจากมหาวิทยาลัยมาอบรมเรื่องการลดการใช้พลังงานในเวลาอันสั้นและให้ค่าตอบแทนราคาสูง เพื่อส่งเข้าไปในโรงงานอุตสาหกรรม แล้วทำงานออกแบบวิธีการลดการใช้พลังงานโดยเฉพาะ ตัวอย่างผลลัพธ์ที่ได้ คือ ภายในวันที่สองของการทำงาน เจ้าหน้าที่ของบริษัทสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับโรงงานได้ถึง 100,000$ ซึ่งสูงกว่าค่าจ้างที่โรงงานจ่าย และยังลดการสร้างมลพิษได้อย่างมหาศาล
ซื้อหนึ่ง บริจาคหนึ่ง (BOGO)
Social Enterprise กิจการเพื่อสังคมที่ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากไม้เป็นของใช้ต่าง ๆ เช่น ที่กั้นหนังสือ (บนชั้นวาง) โดยทุกผลิตภัณฑ์ของเขา จะถูกออกแบบให้สามารถเจาะไม้ส่วนกลางออก แล้วนำไม้เหล่านั้นมาใช้ในการผลิตของเล่นเพื่อมอบให้แก่เด็กด้อยโอกาส
ซื้อหนึ่ง บริจาคหนึ่ง (BOGO)
TOMS เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายรองเท้าที่มีการจำหน่ายไปทั่วโลก โดยหลักการตลาดของเขา คือ เมื่อมีผู้ซื้อซื้อรองเท้าหนึ่งคู่ บริษัทจะจัดส่งรองเท้าอีกหนึ่งคู่ไปให้กับผู้ด้อยโอกาสในประเทศด้อยพัฒนา
แบ่งส่วนการทำงาน ลดค่าใช้จ่าย (Sliding Price)
Aravind Eye Care System เป็นบริษัทในประเทศอินเดียที่ทำงานช่วยผ่าตัดโรคต้อกระจกให้กับผู้ป่วยในราคาย่อมเยา โดยใช้หลักการทำงานแบบร้านอาหารฟาสต์ฟูด นั่นคือการแบ่งหน้าที่การทำงานของแพทย์ออกเป็นหลายส่วนย่อย เพื่อลดการจ้างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพิเศษที่สามารถทำงานได้ครบวงจร เช่น แบ่งงานเป็นการกรีด การใส่เลนส์ตา และการเย็บ ดังนั้นแพทย์แต่ละท่านจะเชี่ยวชาญในหน้าที่ที่ต้องทำและทำได้รวดเร็ว ทำให้ศูนย์บริการแห่งนี้สามารถให้บริการผู้ป่วยได้เป็นจำนวนมากในแต่ละวัน
การระดมทุนจากคนหมู่มาก (Crowdfunding)
โครงการบ้านมั่นคงชุมชนบ้านปางแดง เป็นโครงการเพื่อระดมทุนเช่าพื้นที่อยู่อาศัยระยะยาวและจัดสรรพื้นที่ใช้สอยอย่างเป็นระบบให้กับชาวดาระอั้งที่อาศัยอยู่ในชุมชนบ้านปางแดง ในการนี้โครงการจึงได้ขอระดมทุนจากคนหมู่มาก ในจำนวนเงินต่อคนที่ไม่สูง เพื่อรวมกันให้เป็นเงินก้อนใหญ่ในการทำงาน