ก่อการครู – Korkankru

กิจกรรม

สรุปการอบรมโมดูลที่ 3 ครั้งที่ 1

Reading Time: 3 minutes การอบรมเชิงปฏิบัติการภาวะการนำเพื่อการข้ามพ้น โมดุลที่ 3 หัวข้อ นำด้วยเป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณ เป็นชุดการอบรมต่อเนื่องต่อจากการอบรม หัวข้อภาวะการนำเพื่อการก้าวข้าม และนำด้วยญาณทัศนะ Sep 20, 2018 3 min

สรุปการอบรมโมดูลที่ 3 ครั้งที่ 1

Reading Time: 3 minutes

สรุปการอบรมเชิงปฏิบัติการภาวะการนำเพื่อการข้ามพ้น ปีที่ 1
โมดูลที่ 3 นำด้วยเป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณ (Leading with Soul Purpose)

การอบรมเชิงปฏิบัติการภาวะการนำเพื่อการข้ามพ้น โมดุลที่ 3 หัวข้อ นำด้วยเป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณ เป็นชุดการอบรมต่อเนื่องต่อจากการอบรม หัวข้อภาวะการนำเพื่อการก้าวข้าม และนำด้วยญาณทัศนะ (Leading with Intuitive Intelligence) เป็นการกลับเข้ามาทำงานกับภายในตัวเอง มีหลายกิจกรรมที่ทำให้เรากลับมาใคร่ครวญ ทบทวน และมองเห็นถึงความกระจ่างชัด ถึงความหมายของชีวิต การดำรง และเป้าประสงค์ที่เราใช้ชีวิตบนโลก โดยกระบวนกรวิแกรม บัตต์ และทีมงานจากองค์กร Leadership the Works ประเทศอินเดีย

กระบวนกรอธิบายตอนเปิดการอบรมว่า เป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณอาจดูเป็นนามธรรม แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนล้วนแต่เคยถามตัวเอง เช่นว่า เราเกิดมาทำไม เราเกิดมาเพื่อจะทำอะไรบางอย่าง แม้จะในระดับความเข้มข้นที่แตกต่างกัน โดยอาจแบ่งผู้เข้าร่วมการอบรมเป็นสามกลุ่ม

กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่กำลังตั้งคำถามเหล่านี้กับตัวเอง
สอง รู้จักเป้าหมายชีวิตของตัวเองอยู่แล้ว แต่ต้องการทำให้เห็นชัดเจนและมีพลัง
สามคือ รู้จักและเดินสู่เป้าหมายของตัวเองอยู่แล้ว แต่ต้องการหาเพื่อนร่วมทาง

การจะเข้าไปรู้จักและเรียนรู้เป้าประสงค์ คือใช้ทั้งชีวิต ดำรงอยู่ และเดินบนเส้นทางดังกล่าว เพราะการรู้เป้าประสงค์เปรียบเหมือนการเป็นผู้ดูหนัง แต่การดำรงอยู่บนเป้าประสงค์เหมือนการเป็นผู้กำกับหรือนักแสดงในเรื่อง ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของการอบรม

DAY 1

หลังจากกระบวนกรบอกเล่าประสบการณ์ค้นพบเป้าประสงค์ของตัวเอง เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้เข้าร่วมใช้ในการพูดคุยกัน จึงให้ผู้เข้าร่วมจับกลุ่มสามคนแบ่งปันเป้าประสงค์ของแต่ละคนให้กันฟัง ไม่ว่าความทรงจำแรกๆ ที่เกิดคำถามถึงเป้าประสงค์ มีคนในครอบครัวหรือผู้ใหญ่มาบอก เกิดเหตุการณ์แปลกที่ทำให้คิดถึงเป้าประสงค์ หรือเกิดการเชื่อมโยงกับส่วนลึกในใจตัวเองจนเห็นเป้าประสงค์เผยออกมา เป็นต้น ตามด้วยกิจกรรมให้ผู้เข้าร่วมเคลื่อนที่ไปรอบๆ สัมผัสพลังงานตามจุดต่างๆ ในห้อง จินตนาการถึงพลังงานตอนเป็นเด็ก แล้วหาพื้นที่ที่ทำให้สัมผัสพลังงานดังกล่าว วาดประสบการณ์ช่วงเวลาที่วิเศษในวัยเด็กออกมา เพื่อเป็นการเข้าไปสัมผัสจุดเริ่มต้นของปัญญาญาณของแต่ละคน ก่อนจะจับคู่แบ่งปันกับเพื่อน

กิจกรรมต่างๆ ในช่วงเช้า เป็นการตระเตรียมสำหรับกิจกรรมสำคัญที่สุดในวันแรก คือการชวนคู่ถามคำถาม 4 ข้อ คือ

  1. คุณรักที่จะทำอะไรเป็นพิเศษเมื่อตอนเป็นเด็ก ก่อนที่โลกจะบอกว่าคุณควร / ไม่ควรทำอะไร บรรยายช่วงเวลานั้นและความรู้สึกที่คุณมีต่อสิ่งนั้น
  2. บอกเล่าประสบการณ์ชีวิตที่ท้าทายที่สุดของคุณ ประสบการณ์เหล่านั้นทำให้คุณกลายเป็นคนแบบไหน คุณจะเป็นอย่างไรถ้าปราศจากการเรียนรู้เหล่านี้
  3. สิ่งที่สร้างความเบิกบานที่สุดในชีวิตของคุณคืออะไร
  4. คุณปรารถนาที่จะสร้างตำนานอะไร และจะเป็นที่จดจำอย่างไรในอีก 10 ปีต่อไป

โดยใช้ความรู้สึกหรือญาณทัศนะเข้าไปดูว่า คำตอบมาจากไหน สัมผัสความรู้สึกและสังเกตพลังงานข้างในตัวเองว่ามีการปรับเปลี่ยนอย่างไรขณะทำแบบฝึกหัด โดยไม่หลีกเลี่ยงคำถามใดคำถามหนึ่ง แล้วจึงจับกลุ่ม 6 คนเก็บเกี่ยวองค์ความรู้จากการทำกิจกรรม โดยให้คู่ที่เป็นคนรับฟังสะท้อนเรื่องของเพื่อนแทนที่เจ้าตัวจะพูดเอง โดยเล่าแก่นเรื่องหรือพลังงานหรือรูปแบบในเรื่องราวที่เพื่อนเล่าให้ฟัง ถ้าเพื่อนอนุญาต

DAY 2

หลังจากทำกิจกรรม Grounding แล้วเป็นการแบ่งกลุ่ม 6 คน แบ่งปันเรื่องราวของของบุคคลที่ผู้เข้าร่วมรู้สึกชื่นชมว่าเขามีชีวิตตามเป้าประสงค์ ว่าเขามีคุณสมบัติเข้มแข็งหรือพิเศษอะไรบ้าง และเหมือนกับเราอย่างไร กระบวนการดังกล่าวช่วยดึงพลังด้านบวก และพาผู้เข้าร่วมหลายคนออกจากความลังเล ไม่แน่ใจ กังวลเกี่ยวกับเป้าประสงค์ของตัวเอง มองเห็นคุณค่าที่ตนเองให้ความสำคัญที่สุดชัดเจนขึ้น

ต่อด้วยการอธิบายกระบวนการ Hero’s journey หรือแผนผังการเดินทางทางจิตวิญญาณของมนุษย์จากหนังสือ เรื่อง The Hero with Thousand Faces ของโจเซฟ แคมเบลล์ ผู้ศึกษาวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลกในอดีตและปัจจุบัน จนเห็นแบบแผนของสภาวะต่างๆ 12 ขั้นตอนที่ผู้เดินทางตามเป้าประสงค์ภายในจะต้องพบเจอ แล้วให้แต่ละคู่ทบทวนและแบ่งปันประสบการณ์การเดินทางภายในของตัวเองให้เพื่อนฟังตามขั้นตอนดังกล่าว ได้แก่

State 1: โลกปกติ เป็นสภาวะของโลกทั่วไป ยกตัวอย่างโฟรโดในเรื่อง The Lord of the Rings อาศัยอยู่กับลุงในหมู่บ้านของตัวเอง มีชีวิตทั่วๆ ไปตามประสาเด็กคนหนึ่ง
State 2: เสียงเรียกให้ออกผจญภัย สำหรับโฟรโดคือการเดินทางไปพร้อมกับแหวน มีเสียงมาบอกว่านี่เป็นภารกิจของเขา
State 3: ปฏิเสธเสียงเรียก เหมือนเด็กร้องไห้งอแงไม่อยากไปโรงเรียน
State 4: พบครู ทันทีที่ตอบรับเสียงและออกเดินทาง จะเข้าสู่อีกช่วงหนึ่ง เรียกว่าการอภิเษก เป็นจุดสุดท้ายของชีวิตธรรมดาสามัญ
State 5: ข้ามเขตแดน การตัดสินใจข้ามขอบของโลกปัจจุบันไปยังอีกโลกหนึ่ง สละโลกเก่าเข้ามาสู่การเดินทางอย่างเต็มตัว
State 6: รับบททดสอบ เป็นสิ่งแรกที่จะต้องเจอ ทั้งเพื่อนและศัตรู
State 7: เข้าสู่ถ้ำภายใน คือการทดลองวิธีใหม่ๆ หรือการเป็นอื่นๆ เป็นสภาวะสำคัญ เพราะเป้าประสงค์จะทำให้เราเจอทางตัน เพื่อให้เราทดลองเปลี่ยนเป็นคนที่ตัวเองนึกไม่ถึงมาก่อนว่าจะเป็นได้
State 8: เผชิญความลำบาก/อุปสรรค การเผชิญหน้ากับอุปสรรคสูงสุดในการเดินทางด้านใน ผู้เดินทางจะต้องเจอความกลัวสุดขีดหรือการเผชิญกับเงามืดของตัวเอง แล้วต้องหาวิธีหลอมรวมด้านมืดของตัวเองเข้ามา
State 9: รับพลังวิเศษ ถ้าผ่านความกลัวสุดขีดไปได้ เป้าประสงค์จะมอบของขวัญหรือรางวัลเป็นพลังวิเศษ ขุมทรัพย์ บทเรียน หรือปัญญา เปลี่ยนแปลงข้างในตนเองให้กลายเป็นอีกคนหนึ่งที่มีพลัง
State 10: เดินทางกลับ เป็นการนำเอาพลังกลับไปโลกปกติ
State 11: เกิดใหม่ กลายเป็นอีกคนหนึ่ง มีความรู้บางอย่างในตัวที่จะแบ่งปันออกไปได้
State 12: กลับมาพร้อมยาอายุวัฒนะ กลับมายังโลกพร้อมกับแบ่งปันพลังพิเศษหรือสิ่งที่จะรับใช้และเป็นประโยชน์กับชีวิตอื่น พร้อมกับรับโจทย์ใหม่เข้ามา

ช่วงบ่าย เป็นการจับคู่แล้วนึกถึงการเดินทางของชีวิต ประสบการณ์ที่มีความหมาย มีอิทธิพลต่อการเดินทางในชีวิตตนเอง อาจจะเป็นเรื่องหน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ ครอบครัว ประสบการณ์กับพ่อแม่ การศึกษา โดยให้คู่เดินจากจุดหนึ่ง หยุด แล้วพูดถึงประสบการณ์ของจุดนั้นในชีวิตตนเอง ก่อนจะเคลื่อนไปอีกจุดหนึ่งจนครบ อาจพูดทีละคนจนครบแล้วค่อยมาฟังเรื่องของอีกคน หรือสลับกันเล่าไปทีละจุด วัตถุประสงค์หลักของกิจกรรม คือการเล่าแล้วถอดบทเรียนออกมาอย่างลื่นไหลและรับฟังอีกฝั่งหนึ่ง

ต่อมาให้จับกลุ่ม 4 คนแบ่งปันเรื่อง

1. เพื่อนร่วมทางที่ท้าทายเรา อาจเป็นเหตุการณ์ บุคคลแวดล้อมที่วิพากษ์วิจารณ์เรา ดูถูกเรา กับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง ไม่ให้เดินทางตามเป้าประสงค์
2. ครูหรือคนแปลกหน้าที่เข้ามาในชีวิต หรือหนังสือ ที่เกื้อหนุนให้เดินตามเป้าประสงค์

เลือกว่าจะแบ่งปันเรื่องไหนก่อน ทำทีละเรื่อง ขั้นตอนแรก บอกว่าตนเองอยู่บนเส้นทางเดินทางจุดไหน ให้ชื่อเพื่อนร่วมทาง ถ้ามองเห็นหลายแบบ ให้เลือกมา 4 ชื่อ แล้วจัดลำดับความสำคัญ ขั้นตอนที่สอง ระบุบทบาทหรือความสัมพันธ์ของเขากับเรา ว่าเป็นพ่อแม่ลูก เจ้านายลูกน้อง หรือเป็นเพื่อน เพื่อจะได้เห็นว่าใครมีอำนาจมากกว่ากัน ขั้นตอนที่สาม ลองเดาว่าเพื่อนร่วมทางของเรามีเป้าประสงค์อะไร ถึงเข้ามาในชีวิตเรา

DAY 3

เริ่มด้วยการภาวนาอยู่กับความเงียบ และความสงบภายในตัวเอง ก่อนจะจับคู่ฝึกการส่งเสียงออกไปและการรับในภาวะที่เป็นสมาธิ หรือมีสติ เพื่อรับรู้พลังงานของการสั่นสะเทือนที่เข้าไปสัมผัสกับจักระต่างๆ ในร่างกาย เป็นการฝึกเชื่อมโยงเข้ากับเป้าประสงค์ ตัวตนที่แท้จริงในระดับแรงสั่นสะเทือน ต่อด้วยการจับกลุ่ม 4 คนแบ่งปันสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรม

แล้วจึงแบ่งเป็นสองกลุ่มย่อย แลกเปลี่ยนพูดคุยสิ่งที่ได้เรียนรู้เมื่อวาน จากการทำงานกับเพื่อนร่วมทางที่เป็นมิตรและศัตรู

ก่อนจะหลอมรวมสิ่งที่ได้เรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยกระบวนกรนำผู้เข้าร่วมให้อยู่กับความเงียบ ดูลมหายใจเข้าออกของตนเอง นึกถึงสิ่งที่แต่ละคนอยากจะปล่อยวางผ่านลมหายใจเข้าออก 7 ครั้ง ได้แก่

  1. หายใจเข้า เก็บลมหายใจไว้ และเมื่อหายใจออก ปล่อยสิ่งที่เราไม่ต้องการมันอีกแล้วออกไป … หายใจเป็นปกติ
  2. ความกลัว
  3. ความทรงจำในอดีตที่ทำให้เราก้าวเดินต่อไปไม่ได้
  4. รับความเป็นไปได้ใหม่ๆ เข้ามา และนำพาเงื่อนไขเก่าๆ ที่ทำให้เราตัวเล็กลงๆ ออกไป
  5. เข้าถึงการไหลลื่นของเบื้องบนเข้าสู่ชีวิต … หายใจออกทุกสิ่งที่ขัดขวางความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่งที่จะนำเราไปสู่เป้าประสงค์
  6. รับความกรุณาเข้ามา นำพาความตึงเครียด ความแข็งตึงออกไป ให้เป้าประสงค์เป็นตัวนำพาเรา
  7. นำพาความรักโดยไม่มีเงื่อนไขสำหรับตัวเองเข้ามา นำพาความนึกคิดที่เราจะต้องโดดเดี่ยวคนเดียวในการเดินบนเส้นทางเป้าประสงค์ออกไป

ก่อนจะให้แต่ละคนเขียนสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นในระหว่างเวิร์คช็อป เป็นการบันทึกข้อเรียนรู้ของตนเอง และกิจกรรมสุดท้าย คือการจับคู่ สลับกันทำ 7 ขั้นตอนค้นหาการกระทำเพื่อให้การใช้ชีวิตประจำวันดำเนินไปบนเป้าประสงค์ ได้แก่

  1. สิ่งที่ตั้งใจจะทำ เพื่อให้กลับมาระลึกถึงเป้าประสงค์ของตนเองทุกๆ วัน
  2. ค้นหาวิธีการกระทำที่จะหาเพื่อนหรือกลุ่มเพื่อนที่จะเข้ามาสนับสนุนเรา
  3. การประกาศเป้าประสงค์ของเราให้โลกรู้ อาจจะเป็นการบอกเล่า หรือเขียนบอก แม้แต่การบอกง่ายๆ ว่าฉันไม่รู้หรอกว่าเป้าประสงค์ของฉันคืออะไร และฉันกำลังอยู่บนเส้นทางนั้นเพื่อค้นหามันอยู่ จะทำให้เรารู้สึกมีอิสระ
  4. เราต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเพื่อให้เป้าประสงค์เป็นไปได้ ต้องเป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ไม่ใช่แค่ผ่านหัวหรือข้อมูล
  5. สำหรับเพื่อนร่วมทางจำพวกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ คนที่ปกป้องเรา หรือไม่อยากให้เราไปบนเส้นทางของเป้าประสงค์ เราจะทำอะไรเพื่อจะเข้าไปรับรู้เสียงดังกล่าว รับรู้เขา ให้เกียรติเขา และขออนุญาตให้เขาไปอยู่ข้างๆ ก่อน เพื่อให้เราเดินไปบนเส้นทาง ไม่ใช่การไปสู้กับเขา
  6. คิดหาการกระทำเพื่อทำให้ความคิด สมองของเราเงียบสงบ เพราะทำให้เราเชื่อมโยงกับปัญญาญาณของเราได้
  7. เปิดโอกาสให้ปัญญาญาณเข้ามา ให้เราและคู่ของเราบอกปัญญาญาณให้กับเราว่า เราจะต้องทำอะไร

ก่อนจะปิดวง และเตรียมพบกับการอบรมโมดูลที่ 4 เรื่อง Connected Leadership ซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้เรื่องญาณทัศน์ครบวงจร

วันพฤหัสบดีที่ 8 – วันเสาร์ที่ 10 มีนาคม 2561
ณ ห้องประชุม 201 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพฯ
โดย โครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Array