Korkankru

ผู้นำแห่งอนาคต

คนรุ่นใหม่สร้างชุมชน: มุ่งเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย1 min read

Reading Time: 2 minutes เราจะสร้างการศึกษาเพื่อช่วยลดความทุกข์ของสังคม และก่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนได้อย่างไร ไม่นับรวมการสร้างห้องเรียนที่มีความสุขต่อทั้งตัวครูและนักเรียนด้วย Oct 12, 2018 2 min

คนรุ่นใหม่สร้างชุมชน: มุ่งเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทย1 min read

Reading Time: 2 minutes

การพัฒนาการศึกษาเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในระดับรากฐาน สังคมไทยฝากความหวังของประเทศไว้กับ ครู โรงเรียน และผู้ออกนโยบาย แม้ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะมีการกระจายอำนาจและทรัพยากรในการพัฒนา แต่กระนั้นยังไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน ทำให้รูปแบบวิธีการสอนไม่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของผู้เรียนยุคใหม่ จากปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเกิดเป็นคำถามว่า

เราจะสร้างการศึกษาเพื่อช่วยลดความทุกข์ของสังคม
และก่อประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียนได้อย่างไร
ไม่นับรวมการสร้างห้องเรียนที่มีความสุขต่อทั้งตัวครูและนักเรียนด้วย


เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่ผ่านมา โครงการก่อการครูและโครงการผู้นำแห่งอนาคต ดำเนินการโดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ (LSEd)  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จัดวงเสวนา การประชุมปฏิบัติการสานพลังเครือข่ายก่อการครู ณ คณะ LSEd มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ร่วมกับกลุ่มผู้มีพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษา ทั้งครูและอาจารย์ในระบบระดับชั้นมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ด้านการศึกษา และคนทำงานสื่อสาร รวมจำนวนกว่า 60 คน จาก 35 องค์กร

เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดกันว่าจากต้นทุนทางความรู้ ความคิด และโมเดลในการทำงานต่าง ๆ ที่แต่ละคนพัฒนามา เขาจะสามารถนำมาหนุนเสริมการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยให้เป็นไปดังภาพฝันที่สังคมต้องการได้อย่างไรบ้าง ซึ่งในขั้นแรกทุกฝ่ายต่างทำความรู้จัก แชร์การทำงาน และบอกเล่าความต้องการแก่กันและกัน เพื่อแต่ละคนในชุมชนเพื่อการเรียนรู้ (Professional learning community : PLC) แห่งนี้ จะได้นำกลับไปขบคิดพัฒนาแผนการทำงานหนุนเสริมกันต่อไป

คุณพฤหัส พหลกุลบุตร มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)

คุณพฤหัส พหลกุลบุตร มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) หนึ่งในผู้ร่วมจุดประกายพื้นที่การเรียนรู้นี้ ได้อธิบายถึงการจัดงานว่า “การจัดเวทีนี้มาจากความต้องการของ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะ LSEd ว่า อยากให้คนรุ่นใหม่ที่ทำเรื่องการศึกษาซึ่งอาจมีโมเดลเก๋ ๆ ได้เจอกับครูที่เป็นเจ้าของปัญหาจริง  เพราะที่ผ่านมาคนทั้ง 2 กลุ่มนี้แทบไม่เคยได้เจอกัน

เราจึงจัดเป็นเวที Round Table เพื่อให้คนต่างองค์กรและต่างบริบทการทำงานได้มาทำความรู้จักกันอย่างลึกซึ้ง มากกว่าการรู้จักกันทางช่องทางออนไลน์ เพื่อที่จะเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย และหนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยส่วนตัวผมเองก็สนใจนิเวศการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่มีนอกเหนือไปกว่าตัวละครเก่า ครู กระทรวง ผมรู้สึกว่าโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว คนที่ขยับการทำงานอยู่รอบนอกมีบทบาทสำคัญในการทำงานคุณภาพเยอะเลย ถ้ามันมีวิธีการ มีแพลตฟอร์มในการเชื่อมโยงใหม่ ก็น่าจะได้มีการปรับเปลี่ยนโมเดลเหล่านั้นให้ไปไกลยิ่งขึ้นอีก”

คุณณัฐพล อิสระเสรีรักษ์ โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา

คุณณัฐพล อิสระเสรีรักษ์ โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล ได้สะท้อนว่า

เป้าหมายระยะสั้นที่ตั้งใจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในตอนนี้ คือ อยากให้เด็กได้รับการประเมินการเรียนการสอนด้วยวิธีการที่นอกเหนือจากการทำข้อสอบ และอยากเติมเต็มเรื่องทักษะชีวิตลงไปในกระบวนการสอนเพื่อให้เด็กนำไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน โดย

การมาเข้าร่วมในครั้งนี้ทำให้เห็นลู่ทางในการจะได้แลกเปลี่ยนทักษะ
และองค์ความรู้เพื่อเอามาเติมเต็มการทำงานซึ่งกันและกัน

คุณอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ Co-founder องค์กร Life Education

คุณอรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ Co-founder องค์กร Life Education ได้สะท้อนว่า

สิ่งที่กำลังเสาะหาตอนนี้คือกระบวนการทำงานใหม่ในเรื่องการจัดการพฤติกรรมวัยรุ่นในโรงเรียนด้วยวิธีการเชิงบวก ที่ไม่ใช่แค่บอกว่าอยากให้เขาดีอย่างไร แต่เป็นวิธีการที่ดีเพียงพอกับการจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยไม่ใช้ความรุนแรง สำหรับการเข้าร่วมในวันนี้ทำให้ได้เห็นแง่มุมการทำงานที่สามารถเชื่อมโยงต่อกัน คิดว่าควรจะมีเวทีแบบนี้อย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เกิดการถ่ายเทองค์ความรู้ และสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับการศึกษา”

คุณธนชัย วรอาจ ผู้ผลิตเนื้อหาสื่อออนไลน์เพจ echo

คุณธนชัย วรอาจ ผู้ผลิตเนื้อหาสื่อออนไลน์เพจ echo ได้สะท้อนว่า

“สิ่งที่กำลังทำตอนนี้คือการผลิตเนื้อหาที่ ตอบสนองความต้องการของสังคม หรือการทำให้คนเท่ากันมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือเรื่องการศึกษา โดยเลือกที่จะเล่าเรื่องของคนที่เผชิญกับความเหลื่อมล้ำ ไปจนถึงกระทั่งเรื่องของคนบนกระทรวง เพื่อให้สังคมตระหนักถึงเรื่องนี้ การมาเข้าร่วมครั้งนี้เห็น 2 เรื่อง หนึ่งคือการลงมือทำจริงของผู้เข้าร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ชีวิตของคนในสังคมดีขึ้น แม้จะไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำไปแล้วจะสร้างผลกำไรหรือไม่ เรื่องที่สอง คือ การเกิดขึ้นของเครือข่ายคนที่พร้อมจะทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เกิดจากใครอยากทำบ้างยกมือหน่อย พวกเขาลงมือทำแล้วและจะทำต่อไปอีก”

เวทีนี้เป็นเพียงเวทีเริ่มต้นเปิดชุมชน (PLC) เพื่อก่อการเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษาไทย และชุมชนนี้ยังต้อนรับทุกท่านไม่ว่าจะมีอาชีพประจำอะไร ขอเพียงคุณมีแนวคิด มีความมั่นใจ ในการจะขับเคลื่อนงาน การก่อการนี้จะเป็นอีกหนึ่งการขยับเขยื้อนของสังคมที่ ประชาชน หรือ ผู้นำร่วม (Collective Leadership) ลุกขึ้นมาทำให้ตระหนักว่า เราสามารถมีส่วนทำให้การศึกษาไทยตอบโจทย์ความต้องการของสังคม ติดตามความเคลื่อนไหวได้ทาง Facebook โครงการผู้นำแห่งอนาคต Leadership for the Future และ ก่อการครู

Your email address will not be published.