ก่อการครู – Korkankru

ผู้นำแห่งอนาคต

พัง ยับ เยิน: หมอก็เปิงได้

Reading Time: 3 minutes หมอต้องตระหนักรู้เท่าทันคือตัวเอง รู้จักตัวเองว่าเรารู้สึกอย่างไร ถ้าไม่ชอบในอาชีพหมอจริง ๆ ก็หาตัวเองให้เจอแล้วออกเดินทางไปในทางของตัวเอง Feb 12, 2019 3 min

พัง ยับ เยิน: หมอก็เปิงได้

Reading Time: 3 minutes

อาชีพของหมอมีปัญหาอะไรที่ทำให้มีความทุกข์ในอาชีพบ้างหรือไม่

ตอนที่เราเป็นหมออายุน้อยกว่านี้ เราคงใช้คำว่าทุกข์ แต่ตอนนี้เราไม่ทุกข์แล้วเพราะเราเข้าใจมัน ถึงอย่างนั้นเรารู้ว่ายังมีคนอื่นในระบบทุกข์

ทุกข์สำคัญคือทุกข์จากระบบ อย่างที่รู้ ๆ กันว่าปริมาณหมอมันไม่เพียงพอกับปริมาณของคนที่ต้องดูแล งานมันเกินพิกัด (Overload) มันก็ทุกข์อยู่แล้วเพราะงานหนักเกินไป แล้วถ้าเราคาดหวังกับตัวเอง อยากทำงานได้มีคุณภาพ อยากดูแลให้ดี ก็ต้องใช้พลังงานจากตัวเราและทีมมาก ซึ่งมันนำมาสู่ปัญหาต่อไปคือเรื่องของทีม เพราะงานมันไม่ได้โหลดเป็นคนมันโหลดคนทั้งทีม ทุกคนต่างเคยคิดว่ามันเหนื่อยเกินไปมั้ยที่ทำแบบนี้ เพราะมันไม่ได้ทำให้ใครสุขภาพดี ตัวเองก็ไม่ดี คนไข้ก็ไม่ได้ดีจริง มันก็คือทุกข์จากระบบ ทุกข์จากโครงสร้าง มันจึงกลับมาที่คน

ตัวเราเองตอนนี้ไม่ทุกข์แล้ว เราอยู่มานานจนรับสภาพได้แล้วว่ามันก็เป็นแบบนี้ เราปรับตัว เราตระหนักว่าจริง ๆ แล้วเราไม่ได้ทุกข์กับงาน เราก็แค่เหนื่อย แต่เราก็รู้นะว่ามันเป็นปัญหา เราจึงอยากจะแก้ อยากจะทำให้มันดีขึ้น

มันเป็นปัญหาเชิงระบบสำหรับผู้ร่วมงานสายวิชาชีพนี้ อาจคล้ายกับงานทั่วไป คือ ความไม่เข้าใจ ไม่รู้จักเนื้องาน ตอนนี้งานที่เราทำมันเป็นงานที่ต้องทำในระดับปฐมภูมิ ต้องเกี่ยวข้องกับคนหลากหลายฝ่าย ไม่ใช่แค่หมอพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณะสุข แต่ยังเชื่อมโยงไปกับ อบต. อบจ. ซึ่งหากเราไม่เข้าใจกัน ประสานงานได้ไม่ราบรื่น ยังมีรอยต่อ รอยสะดุดอยู่ อาจจะทุกข์ได้โดยปัจเจกของเราเอง เราทุกข์เพราะเราคาดหวัง

ตอนนี้เราไม่ทุกข์แล้ว เราหายทุกข์เพราะเข้าใจและยอมรับว่ามันเป็นอย่างนี้แหละ เราผ่านกระบวนการเรียนรู้มามากมาย ทำให้เราเห็นบวกเห็นลบ มันไม่ได้แย่เป็นสีดำ เรารู้ว่ามันมีสีสดในตะติ๊งโหน่งอยู่อีกมาก เราก็เลือกมองส่วนที่ให้พลังกับเรา แต่ส่วนสีดำก็ไม่ใช่ว่าเราไม่มอง เราก็ดำเนินการจัดการไปตามศักยภาพที่เราจะทำได้

ถ้าระบบมันแย่ ระบบมันทำให้เราเหนื่อยมาก บังคับเรา หมอต่ายมีวิธีจัดการกับการอยู่ในระบบอย่างไร

เราเลือกได้นะทุกอย่างอยู่ที่เราเลือก อย่างวันนี้ตรวจคนไข้แปดสิบคน ทำไมเหนื่อยเป็นพิเศษ (ถามตัวเอง) คำตอบมันก็ออกมา คือเราต้องการคุณภาพเราจึงต้องใช้เวลาในการตรวจคนไข้มากขึ้น จนเรารู้สึกว่ามันช้า แต่เรารู้ว่าเราทำไปเพื่ออะไร เรารู้ว่าเราต้องอธิบายอย่างไร เรารู้ว่าเราต้องคุยกับชาวบ้านยังไง เรารู้ว่าการที่เรายอมเหนื่อยวันนี้วันหน้ามันจะดี แต่ถ้าเราตรวจไปแบบรีบร้อน คนไข้ก็ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงและการเรียนรู้ แล้วเขาก็จะกลับมาด้วยเรื่องเดิมๆ วัฏจักรนี้มันมีจริง เราจึงยอมเหนื่อย แค่กลับไปพักวันสองวันก็หาย

แต่เรารู้แค่คนเดียวไม่พอ เราต้องทำให้คนอื่นมีความเข้าใจเหล่านี้ด้วย

เราเลยขยายออกไปในระดับผู้ร่วมงาน ซึ่งยากเพราะเขาไม่ใช่ลูกน้องเรา ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้จึงเป็นการสอนนักศึกษาแพทย์ ถ่ายทอดความรู้สึกและความคิดแบบนี้ให้รุ่นน้อง ในเรื่องการตระหนักถึงสิ่งที่เราทำอยู่ว่าเป็นไปเพื่ออะไรด้วยเหตุผลอะไร เช่น วันนี้รู้สึกว่าจะต้องตรวจเยอะมากตอนบ่าย ตัวเราก็จะพร่ำบ่นกับตัวเองว่าทำไมต้องตรวจเยอะขนาดนี้วะ เหมือนเสียงมารเข้ามาให้หัวเรา พอเรารับรู้ว่ามีเสียงมารเข้ามาแล้วปล่อยมันผ่านไป ตระหนักรู้เพียงว่าเราพอใจหรือไม่ คิดต่อว่าเราจะจัดการอย่างไร ไม่ต้องเก็บไปเป็นทุกข์  ไม่ต้องไปบ่นว่าเพื่อนร่วมงาน เพราะเขาก็ทำเต็มที่ในหน้าที่ของเขาอยู่แล้ว

ในชีวิตที่ผ่านมามีจุดที่คิดว่าแย่มากจนไม่อยากทำงานนี้แล้วหรือไม่

ไม่มีเลย มีจุดที่อยากจะลาออกบ้างเหมือนกัน แต่อยากออกมาทำงานกระบวนกร ออกมาทำงานสอนเป็นชิ้นเป็นอัน เพราะเรารู้ว่าต่อให้เรารักษาดีแค่ไหน วันหนึ่งตรวจได้หกสิบเจ็ดสิบรายเราก็ไม่ไหวแล้ว แต่ถ้าไปสอนนักศึกษาแพทย์ให้เข้าใจเรื่องนี้ เราสอนได้ปีหนึ่ง 50 – 60 คน คุ้มกว่า ก็เลยอยากลาออกไปทำงานครู  อยากแก้ไขให้มันดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา

เราเชื่อว่าระบบมันเกิดจากคน ดังนั้นเราก็ไปเปลี่ยนที่คน ถ้าเรายังต้องอยู่ในอาชีพแบบเดิม ด้วยเหตุปัจจัยในชีวิตเราก็อยู่ไป แต่เราทำอะไรได้เราก็อยากทำ เรายังมีพื้นที่สอนนักศึกษาแพทย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น เรามองว่าเราจะช่วยอะไรเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกับเราได้บ้าง เขาเรียนรู้เรื่องนี้ได้มั้ย เราไม่ได้เก่งกว่าเขาเราแค่มีโอกาสมากกว่า ถ้ามีโอกาสเราก็อยากช่วย เราอยากทำให้คนทั่วไปเห็นว่ามีหมอคนหนึ่งที่ทำแบบนี้อยู่ ไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะตรวจให้เสร็จไปเร็วๆ โดยละเลยคุณภาพการรักษา

อะไรที่จำเป็นสำหรับนักศึกษาแพทย์ แต่ยังไม่มีในหลักสูตร

ในบริบทอีสาน เรามีโอกาสสอนนักศึกษามหาลัยขอนแก่นกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม สิ่งสำคัญสุดที่ไม่อยู่ในหลักสูตร คือการรู้จักและเข้าใจคนอีสาน ถ้าไม่รู้จะไปรักษาให้ดีได้อย่างไร ตอนนี้ไม่มีวิชาหรือรูปแบบวิธีการสอนใดให้เข้าใจความเป็นคนอีสานอย่างแท้จริง นักศึกษารู้จักแต่โรคที่คนทั้งโลกเป็นเหมือนกัน แต่คนอีสานมีวัฒนธรรม รากเหง้า ความเชื่อ วิถีชีวิตที่แตกต่างจากคนภาคอื่น ถ้าไม่รู้ก็จะรักษาคนไข้แบบกลาง ๆ เป็นโรคนี้ก็แนะนำให้ทำตามตำรา 1 2 3 แต่จริงๆ มันทำแบบนั้นไม่ได้กับคนอีสาน เพราะคนอีสานไม่มี 1 2 3 แต่เขาอาจมี 4 5 6 เรารู้สึกว่ามันน่าเสียดายที่แพทย์ถูกคลอดออกมาจากโรงเรียนเพื่อรักษาคนอีสานแต่กลับไม่รู้จักคนอีสาน

เมื่อสิบปีก่อนที่โรงพยาบาลเชิญปราญช์ชาวบ้านมาสอน ปราชญ์ก็ถามหมอพยาบาลที่นั่งฟังวันนั้นว่า ‘ผมนึกสงสัยพวกหมอพวกพยาบาลที่ทำสื่อส่วนใหญ่ออกมาเป็นกระดาษ เป็นโปสเตอร์ ติดอยู่ตามอนามัยเต็มไปหมด คุณไม่ทราบหรือว่าคนอีสานเขาได้ความรู้จากแหล่งไหนมากที่สุด พวกเราฟังมากสุด แต่ไม่เห็นมีสื่อไหนเป็นสื่อเสียง มีแต่สื่อกระดาษทำมาก็ทิ้ง’ มันเป็นตัวจุดประกายให้เราคิดว่า จริงด้วยเราไม่รู้จักคนอีสานดีพอก็เลยคิดว่า

1. น่าสอนวิชาที่จะทำให้หมอพยาบาลเด็ก ๆ ที่อยู่ภาคอีสานรู้จักคนในพื้นที่มากขึ้น

2. เหมือนคนทั่วไป ‘หมออาจฟังได้ไม่ลึกซึ้งพอ’ สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในคำพูดของคน เป็นอีกสิ่งที่ต้องฟัง

3. ในหลักสูตรเราอาจทำให้น้อง ๆ ของเราเห็นความหลากหลายของคนน้อยไปนิด เห็นแต่คนไข้ในโรงพยาบาล ไม่เห็นคนไข้ในรูปแบบอื่น เช่น คนไข้ในเรือนจำ คนไข้ที่เป็น LGBT คนไข้ที่เป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ประเทศไทย คนไข้ต่างศาสนา หรือผู้หญิงขายบริการอาบอบนวด ซึ่งเขามีวิถีชีวิต สังคม และวัฒนธรรม ที่แตกต่าง เราอาจไม่ค่อยได้เรียนรู้เรื่องนี้ เราเลยไม่รู้ว่าจะรักษาเขายังไง

ตอนเราเป็นหมอน้อย ๆ กว่านี้ มีนักโทษในเรือนจำมาตรวจครั้งแรกใส่โซ่ตรวนมา เราก็ตกใจจะต้องทำยังไง

คือรักษาจ่ายยาตามอาการมันไม่ยากหมอทุกคนทำได้
แต่ถ้าจะส่งเสริมป้องกันมันต้องเข้าใจคน

อย่างเคสใส่โซ่ตรวนมา จะบอกให้เขาไปออกกำลังกาย เลือกอาหารที่จะกินมันเป็นไปไม่ได้ นอกจากเรากลัวเขาแล้ว เรายังไม่รู้จะพูดอะไรกับเขา ไม่รู้จะทำยังไงให้เขาหายปวดหัวเป็นเคสที่ทำให้ประทับใจมาก เพราะทำให้เรารู้เลยว่า หากเราไม่รู้จักเขาเราจะไม่สามารถให้คำปรึกษาและคำแนะนำที่เหมาะกับเขาได้ ถ้าหมอไม่รู้หมอก็จะให้คำปรึกษาได้แบบกลาง ๆ ออกกำลังกายสิคะ ไม่เครียดสิคะ ซึ่งใครก็พูดได้ ไม่ต้องเรียนหมอก็พูดได้ แต่เราเป็นหมอ เรารักษาคนไข้ที่หอบสังขารร่างกายมาพบเราตั้งสามสี่ชั่วโมง หมอให้อะไรที่ดีกว่านี้กับเขาได้มั้ย

ซึ่งถ้าหมอรู้จักเขามากขึ้นหมอก็น่าจะให้อะไรเขาได้มากขึ้น
ถูกที่ถูกทางมากขึ้น เหมาะสมกับคนคนนั้น

สามรายวิชานี้จะแก้คำว่า หมอเปิง (พัง ยับ เยิน) ได้อย่างไร

จากตัวเองนะ อย่างวันนี้เรารักษาคนไข้ทั้งวัน คนไข้บางคนก็ดื้อมากอายุ 80 บอกว่า ฉันจะตายแล้ว ฉันจะกินอะไรก็ได้ คนไข้เป็นไตวายอายุแปดสิบปีกินขาหมูทุกวัน (หัวเราะ) ถ้าเป็นสมัยก่อนเราคงปล่อยเปิง ถ้าไม่รักตัวเองก็กินไปโลด มันง่ายมากที่หมอจะพูดแบบนี้

แต่วันนี้เราไม่พูดแบบนั้น เพราะไม่มีใครได้ประโยชน์จากการพูดประชดประชัน เรารู้เราเข้าใจคนไทยอีสานบ้านเรา ถ้าอายุแปดสิบเก้าสิบปีก็พอใจแล้วเนอะ หากญาติ ๆ ลูก ๆ เขาโอเค เราก็มีหน้าที่ทำให้เขารู้ว่าไตวายเป็นยังไง ต่อไปมันจะเป็นยังไง ให้ความรู้กับเขาถ้าเขาเลือกจะเป็นอย่างนั้น มีความสุขแบบนั้น เราจะไม่ไปขัดเขา ถ้าเราเข้าใจแบบนี้เราก็จะไม่เปิง เข้าหาคนได้ดีขึ้น ไม่เหนื่อย

ส่วนใหญ่ที่หมอเปิง หมอเหนื่อย เพราะหมอไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ดูแลตัวเอง ทำไมฉันต้องมาเหนื่อยพูดปากฉีกถึงหู พูดไม่รู้กี่รอบแล้วไม่ฟังฉันสักที แล้วหมอก็เปิดเปิงไป เบื่อไม่อยากรักษา อยากลาออกไปทำงานอื่น

แต่ถ้าเราเข้าใจความเป็นคนของคนไข้สักนิด ถ้าเราอายุ 80 – 90 ปี แล้วเราไตวายแต่ชอบกินสิ่งนี้มาก เราจะไม่กินหรอ โชคดีที่เรามีพ่อป่วยเป็นโรคไตเหมือนกัน เราเคยพาพ่อไปนอนโรงพยาบาล อาหารผู้ป่วยโรคไตคือไม่เค็ม เราไปชิมอาหารพ่อเรา ชิมเสร็จเราก็บอกว่าป๋าเอาน้ำปลามาใส่เหอะมันกินไม่ได้เลย (หัวเราะ) ระหว่างจะทำให้อายุยืนขึ้นแต่ไม่มีคุณภาพชีวิต กับมีคุณภาพชีวิตระดับหนึ่งเอาอะไร

การรักษาโรคเป็นศิลปะนะ ถ้าเราเอาแต่วิทยาศาสตร์มาจับก็ไม่ต้องมีหมอ เอา AI มาประมวลผล เอาเครื่องจักรมารักษาก็ได้ ทำตามตำราได้หมด และอีกเรื่องหนึ่ง คือ

หมอต้องมีศิลปะการดำเนินชีวิต หมอต้องรู้ว่าความงามในการรักษาคนไข้คืออะไร เรื่องที่อยากจะเติมเข้าไปคือสุนทรียศาสตร์

ถ้าหมอเห็นความงามของคนไข้ที่อายุ 80 ปี แล้วยังอยากกินข้าวขาหมู ยังมีความอยากในชีวิต มีชีวิตที่มีพลัง  หมอจะมองเห็นจุดสว่างไม่ใช่เห็นเพียงจุดมืด การบอกว่าเป็นไตวายต้องไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่กินเค็ม คือหมอมองแต่ตัวโรค แต่ถ้าหมอมองที่ตัวคน มองมิติอื่น ๆ เห็นความงามในตัวคนไข้ ครอบครัว ความอุตสาหะมารอหมอตั้งแต่เช้า ถ้าหมอเห็นความงามเหล่านั้นได้ หมอจะมีความสุข

สิ่งที่สอนให้นักศึกษาแพทย์เพิ่ม เจออุปสรรคความยากง่ายอย่างไรบ้าง

มันก็มีความยาก เนื่องจากเราเป็นประเภทหมอลูกทุ่ง เราก็ใช้ประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตของเราไปรักษา น้องหมอของเราเป็นเด็กมากเลยปี 2 ปี 3 ไม่เคยเจอคนไข้ เราจะไปพูดเรื่องคนไข้ให้เขาฟังเขาก็อาจจะยังไม่เข้าใจมันจริง ๆ ในฐานะครูก็ต้องหาวิธีพัฒนาตนเองเพื่อที่จะสื่อสารให้เด็กเข้าใจเรื่องนี้ได้ ผ่านกระบวนการเกมบ้าง ผ่านการทำเวิร์คชอปบ้าง น้องรุ่นใหม่บางคนก็ไม่ได้อยากเป็นหมอ ยังไม่ค้นพบตัวเอง เรื่องที่เราสอนเป็นเรื่องของผู้ใหญ่ เป็นเรื่องของหมอที่จะต้องรักษาคน บางทีเขาจึงยังไม่เข้าใจ

เรื่องหลักสูตรก็ไม่เอื้อ เพราะเขาอาจมองไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ เราเลยใช้วิธีแทรกซึมเอา มีจังหวะก็คอยหยอดเข้าไป ทำตามโอกาสที่พอทำได้ สรุปก็คือทั้งตัวเราเอง ตัวเด็กเอง และโครงสร้าง อาจจะยังมีอุปสรรคอยู่ อย่างอินเทิร์น (นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6) เราไม่มีโอกาสได้สอนเขาเรื่องนี้เลย เพราะเขาจะเรียนรู้แต่เรื่องการพัฒนาวิทยาการการแพทย์ใหม่ ๆ ส่วนอะไรที่มันเป็น Social science, Behavior science และ Spiritual จะขาดหายไป ไม่ค่อยมองเห็นก็ว่าได้ เรื่องนี้มันถูกมองว่าเป็นไม้ประดับ มีก็ดีไม่มีก็ได้ เรื่องหลักคือศาสตร์ทางการแพทย์ที่ต้องสอบให้ผ่าน ต้องมีใบรับรองตามค่านิยมอาชีพแพทย์

ฝากถึงหมอนอกอีสาน

สิ่งหมอต้องตระหนักรู้เท่าทันคือตัวเอง รู้จักตัวเองว่าเรารู้สึกอย่างไร ถ้าไม่ชอบในอาชีพหมอจริง ๆ ก็หาตัวเองให้เจอแล้วออกเดินทางไปในทางของตัวเอง

Array