Korkankru

บทความ / บทสัมภาษณ์

เรียนไปทำไม ตายไปก็ลืม1 min read

Reading Time: < 1 minutes "เรียนไปทำไม ตายไปก็ลืม" จากข้อความบนกระดานที่เด็กคนหนึ่งเขียนขึ้นมาอย่างกวนๆ กระทั่งเพื่อนมองว่าเป็นอักษรสกปรกเปื้อนกระดาน ครูกลับมองเห็นว่านี่คือกระทู้ที่น่าสนใจ และนำไปสู่การถกเถียงในห้องเรียน Jan 20, 2020 < 1 min

เรียนไปทำไม ตายไปก็ลืม1 min read

Reading Time: < 1 minutes

เรื่อง/ภาพ: สัญญา มัครินทร์

“เรียนไปทำไม ตายไปก็ลืม” คือข้อความ ที่ถูกเขียนบนไวท์บอร์ด หลังจากที่ผมชวนนักเรียน ช่วยกันทำความสะอาด และลบกระดานก่อนเริ่มเรียนไปก่อนหน้านี้แล้ว

“ครูครับ ไอ้…มันเขียนครับ อุตส่าห์ลบเกลี้ยงแล้วแหม่” เสียงบ่นจากนักเรียนคนหนึ่ง

“เฮ้ย! ดีแล้วๆ เอาไว้นั้นแหละ เดี๋ยวบ่ายนี้ เราเปิดประเด็นคุยจากประโยคนี้กัน” ครูตอบนักเรียน ในใจคิดว่าต่อไปจะเจออะไรก็ไม่รู้ แต่รู้สึกว่าน่าจะดี เพราะแผนการสอนในหัวตอนนี้ไม่มีเลย (ได้สอนแทนครูที่ไปราชการ)

สายตาของเจ้าของกระทู้ที่ดูจะกังวลตอนแรกเริ่มเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเจตนาตั้งต้นของผู้เขียนจะเป็นอะไร แต่ในใจผมตอนนั้นคือ..ชอบคำนี้มากก

ผมเริ่มต้นด้วยเกมส์ปลุกให้เด็กๆ ตื่นตัว เล่นให้หายง่วง 5-8 นาที เหมือนทุกครั้ง จากนั้นก็ โยนประโยคนี้เข้าวงแบบซื่อๆ ไร้ลีลาใดว่า

“เห็นประโยคนี้แล้ว รู้สึก และคิดเห็นกันอย่างไร”

เมื่อคนแรกเริ่มให้ความรู้สึกและความเห็นแล้ว ก็ส่งต่อไปหาเพื่อนคนอื่นๆที่นักเรียนอยากฟัง จนครบทุกคน

มีหลายเสียง รู้สึกชอบ และเห็นด้วยกับประโยคนี้ และก็มีหลายเสียง ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ ตั้งคำถามกลับว่า ประโยคนี้เป็นจริงอย่างที่ว่าจริงหรือ และพวกเค้าก็ให้เหตุผลประกอบว่าเรียนไปทำไมในมุมมองของ เด็กนักเรียน ม.1 ได้น่าสนใจไม่น้อย

“เราเรียนเพื่อให้ตัวเองรู้ รู้เพื่อจะได้ฉลาดขึ้น ก่อนที่ตัวเองจะตาย ช่วงที่มีชีวิตอยู่ สิ่งที่ดีที่สุดคือการเรียน”

“เรียนเพื่อเอาไว้ใช้ในอนาคต การงาน อาชีพ ตายไปอาจจะลืมหรือไม่ ไม่รู้ แต่ที่รู้ หนูยังไม่ตาย” เสียงฮา และเสียงปรบมือลั่น

“เรียนไปเพื่อเอาใช้เลย อย่างวิชาเลข วิชาสุขศึกษา วิชาทักษะชีวิตต่างๆ เอาไปบอกต่อ หรือทำได้เลย ตายไปจะได้ไม่เสียชาติเกิด หรือตายแบบโง่ๆ”

หลังจากฟังเสียงของนักเรียน ม.1 ได้แสดงความรู้สึก และมุมมองไปแล้ว ครูขอสิทธิแบ่งปันจากเสียงนักเรียนที่อยากฟังทัศนะของครูกับประโยคดังกล่าว ครูขอใช้สิทธิพูดคนสุดท้าย เพราะจะขอใช้เวลาเยอะหน่อย และอยากวาดภาพประกอบอธิบายด้วย

เด็กๆ เริ่มเปลี่ยนจากวงกลมใหญ่มานั่งชิดกัน ส่งสายตามาที่ครูแบบเหมือนเตรียมฟังคำตอบอะไรบางอย่าง

ครูเริ่มต้นเล่า “ความยากของการเกิดเป็นมนุษย์ เปรียบเทียบกับเต่าตาบอด ร้อยปีผุดขึ้นเพียงครั้งเดียว แล้วยื่นคอเข้าไปในรูซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียวในมหาสมุทร ที่มีคลื่นลมทะเลรอบทิศทาง”

ครูถามต่อว่า ถ้าเราเป็นเต่าตัวนั้น แล้วเกิดมาเป็นเราในวันนี้ เราคิดว่าเรามีชีวิตมีค่ามากขนาดไหน แล้วพอจะตอบคำถามกับตัวเองได้ไหมว่า เราจะเรียนไปทำไม แล้วมีเหตุปัจจัยใด ที่คนเราต้องเรียน

เสียงพูดคุยเรื่องการเกิด และการมีชีวิตของเด็กเริ่มดังขึ้น มีนักเรียนคนหนึ่งยกมือถามต่อว่า “แล้วการตายมันเป็นอย่างไรครู แล้วมันลืมได้จริงๆ ไหม”

“ครูก็ไม่รู้ เพราะครูยังไม่ตาย หรืออาจจะเคยตายแต่จำไม่ได้แล้ว” แต่ครูจะขอแบ่งปันในมุมที่ครูสัมผัส และครูเชื่อ ในทางพุทธศาสนาให้ฟัง จะเชื่อหรือไม่เชื่อขึ้นอยู่กับพวกเรานะ”

ครูวาดภาพประกอบ (อีกแล้ว) ว่ามนุษย์ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ รูป (ร่างกาย) และนาม (จิต) เวลาตายไปจะตายแต่รูปหรือร่างกาย แต่จิตยังคงวนเวียนไปตามผลกรรมที่ได้ที่ทำตอนที่ยังมีชีวิต วาระจิตสุดท้าย จะเป็นสัญญาณบอกว่า จิตจะไปอยู่ภพภูมิไหน หากต้องการให้จิตหลุดพ้นจากวัฏจักรสงสาร เลยต้องฝึกรู้สึกตัว ทำดี เว้นทำชั่ว ขัดเกลาจิตใจให้สะอาด จะได้ไม่ทุกข์ หรือติดสุข หรือเป็นจิตปกติ อิสระ เหนือทั้งสุข ทุกข์ และปกติ หรือจะเล่าให้เห็นภาพ แฟนซีหน่อย คือ นรก สวรรค์ นั้นแหละ

คราวนี้จิตมันเป็นพลังงาน จะเก็บความรู้สึกไปด้วย ส่วนข้อมูลหรือความทรงจำจะถูกเก็บที่สมอง ตอนตายสมองก็ตายไปด้วย แต่จิตไม่ตาย เลยหอบแต่ความรู้สึกไปด้วย และความทรงจำที่น่าจดจำหรือข้อมูลที่สำคัญ หรือข้อมูลทำงานกับความรู้สึกมั้ง

เคยไหมที่เราไม่เคยพบ ไม่เคยเจอ เเต่รู้สึกดี และไม่ดีกับสิ่งนั้น ในมุมครู ครูเชื่อว่าจิตปัจจุบันนี้ อาจจะเคยมีความทรงจำหรือประสบการณ์กับสิ่งนั้นมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่จดจำรายละเอียดไม่ได้เฉยๆ มันอาจจะเยอะไป จิตใจเลยเลือกบันทึกแค่ความรู้สึก

จากนั้นครูขอให้นักเรียนที่เป็นคริสเตียนได้แบ่งปันมุมมองของการเกิด หรือการตายให้เพื่อนในวงฟัง เธอบอกว่า การมีชีวิตอยู่ในโลกนี้เป็นเรื่องชั่วคราว แต่ชีวิตหลังความตายคือการกลับไปมีชีวิตนิรันดร์ เมื่อตายแล้วคนเราจะกลับไปในอาณาจักรของพระเจ้า ไปอยู่กับองค์ในสวรรค์อันเป็นที่อยู่ถาวร ซึ่งพระเจ้าได้ทรงเตรียมไว้สำหรับมนุษย์ทุกคนที่เชื่อและวางใจในพระองค์ (ถ้ามีศาสนาอื่นด้วยน่าจะดีมากๆ)

เสียงเด็กๆ ต่างชั้นเริ่มดัง เป็นสัญญาณว่าหมดเวลา ครูเลยย้อนถามกลับไปยังเจ้าของ ผู้ตั้งกระทู้เขียนไว้บนกระดานว่า ก่อนเขียนคิดอย่างไร แล้วตอนนี้คิดเห็นอย่างไร

“ผมเขียนเพราะผมชอบ แค่นั้นเลยครับ ไม่ได้คิด หรือหาคำตอบอะไร เขียนกวนๆ บนกระดานเฉยๆ พอได้ฟัง ได้เรียนจากเพื่อนและครูวันนี้ก็สนุกดีครับ”

ครูทิ้งท้าย ก่อนแยกย้ายว่า “โดยธรรมชาติมนุษย์เราเรียนรู้เพื่อเอาตัวรอด เพื่ออยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว การเรียนในที่นี้จึงไม่ได้หมายถึงการเรียนแบบวิชา หรือเรียนในห้องแบบที่เราคุ้นเคย แต่เราเรียนกันอยู่ตลอด ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวเนอะ

“ครูชวนพวกเรากลับไปสังเกต การเรียนรู้ของตัวเอง ตั้งคำถามว่าเรียนทำไมบ่อยๆ แล้วเราจะค่อยๆ หาคำตอบ หาแนวทางหรือวิธีการเรียนรู้ของตัวเอง หรือไม่ก็รู้สึกตัวอยู่บ่อยๆ การมีชีวิตอยู่ก่อนตาย จะได้มีความหมาย ไม่เสียชาติเกิดเนอะ”

ขอบคุณเจ้าของกระทู้ ที่เป็นครูให้เราได้กลับมาทบทวนชีวิตและเห็นคุณค่าของการเกิดเป็นมนุษย์ และการเรียนรู้ เพื่อเตรียมตัวตายก่อนตายไปด้วยกัน

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10157631371777347&set=a.10155169533727347&type=3&theater

สัญญา มัครินทร์ หรือ ครูสอญอ สอนอยู่ที่โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการก่อการครู และมีบทบาทสำคัญในการสร้างไอเดียใหม่ๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา

Your email address will not be published.