Korkankru

ผู้นำแห่งอนาคต

ทิชา ณ นคร: ไม่มีใครเกิดมาเพื่อเป็น ‘อาชญากร’ และสังคมมีส่วนทำร้ายพวกเขา1 min read

Reading Time: 3 minutes “สังคมไทยทำร้ายเด็กอย่างไร” คือหัวข้อในการสนทนาโดย ป้ามล-ทิชา ณ นคร แห่งบ้านกาญจนาภิเษก ในเวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำ สุขร่วมสร้าง Feb 22, 2020 3 min

ทิชา ณ นคร: ไม่มีใครเกิดมาเพื่อเป็น ‘อาชญากร’ และสังคมมีส่วนทำร้ายพวกเขา1 min read

Reading Time: 3 minutes

“ป้าอยากจะเริ่มต้นเรื่องราวของบ้านกาญจนาฯ ตรงที่ว่า เรามีคนที่ถูกลืม ถูกเท ถูกทิ้งในสังคมไทยมากมายมหาศาล ซึ่งจากการถูกทิ้งของสังคม มันผลักดันให้เขาต้องไปอยู่ในมุมที่อับ หลังชนฝาและในที่สุดก็กลายเป็นคนที่ถ้าไม่ฆ่าตัวตาย ก็ต้องฆ่าคนอื่น”

มันคือบางถ้อยคำจากหัวข้อ ‘สังคมไทยทำร้ายเด็กอย่างไร’ เวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำ : ผู้นำร่วมสร้างสุข (Leadership for Collective Happiness – LCH) โมดูล 1 ปัญญาโลก ปัญญาชีวิต ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ศูนย์ฝึกอบรมงานอภิบาล “บ้านผู้หว่าน” อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

ถ้อยคำนั้นเป็นของ ป้ามล-ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก เริ่มต้นการสนทนาอย่างไม่อ้อมค้อม ด้วยเพราะช่วงชีวิตนับแต่เริ่มต้นทำงาน เธอล้วนคลุกคลีอยู่กับงานช่วยเหลือเยียวยาเด็กและเยาวชน ซึ่งแน่นอนว่า ทอล์คของเธอในวันนี้ ไม่อาจบอกเล่าเรื่องราวการทำงานทั้งหมดออกมาได้ แต่ก็เพียงพอที่จะอธิบายปรากฏการณ์และตั้งคำถามกับสังคมได้ว่า อาชญากรเด็กในวันนี้ สังคมมีส่วนทำร้ายพวกเขาอย่างไร?

ไม่มีใครเกิดขึ้นมาเพื่อเป็น ‘อาชญากร’

“เรามีคนกลุ่มนี้อยู่เยอะมาก ซึ่งเรามักจะเกรี้ยวกราดกับพวกเขา อย่างวันนี้ เราก็กำลังเกรี้ยวกราดกับนายทหารคนที่ถือปืนไปกราดยิง ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่เขาทำนั้นไม่ถูกต้อง มันไม่ถูกอยู่แล้วที่เขาไปพรากชีวิตที่บริสุทธิ์ แต่ว่าการที่เราเกรี้ยวกราดต่อปัจเจกเหล่านี้อย่างเอาเป็นเอาตาย เหมือนเรากำลังขังตัวเองอยู่ในกรอบกรอบหนึ่ง ซึ่งไปไม่ถึงเบื้องหลังอันลึกซึ้งหรือปัจจัยร่วมที่สำคัญ ที่ทำให้คนคนหนึ่ง ลุกขึ้นมาก่อความวุ่นวายให้กับสังคม เราไปไม่ถึงหรอก เพราะว่าเราบล็อคตัวเองไว้ภายใต้ความเลวร้ายของปัจเจก

“ซึ่งภายใต้ทัศนะของป้า ไม่มีผู้ร้ายคนไหนเลวร้ายด้วยตัวของเขาเองเพียงลำพังโดยไม่มีปัจจัยร่วมที่สำคัญในสังคม และตัวปัจจัยร่วมเหล่านี้ก็ไม่ถูกตั้งคำถาม เมื่อไม่ถูกตั้งคำถาม มันก็ทรงพลังของมันไปเรื่อยๆ หมุนตัวเองไปอย่างมีพลัง แล้วมันก็ใหญ่ขึ้นกลายเป็นยักษ์ตัวใหญ่ ซึ่งจริงๆ นั่นอาจจะเป็นซาตานตัวจริงด้วยซ้ำไป และนับวัน ทิศทางนี้จะเป็นทิศทางที่คนเดินเยอะขึ้นด้วยเหตุผลที่ว่าเรามีสื่ออยู่ในมือ”

สิ่งที่ป้ามลกล่าวมานั้น เราล้วนพบเจอได้ตามหน้าฟีดเฟซบุ๊ค ข่าวโทรทัศน์ หรือหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ที่มวลอารมณ์ของผู้คนล้วนจับจ้องไปยังผู้กระทำความผิดอย่างรุนแรง แน่นอนว่าความเกรี้ยวกราดเหล่านั้น มิใช่ประเด็นหลักที่ป้ามลกำลังจะกล่าวถึง แต่การไปไม่ถึงต้นสายปลายเหตุของการกระทำเหล่านั้น คือหลักใหญ่สำคัญที่เธอกำลังชี้ชวนให้เราคิดตาม

“อย่างเช่นกรณีไอซ์หีบเหล็กชัดเจนว่า สื่อมีส่วนอย่างมากที่ทำให้เรื่องไอซ์หีบเหล็กถูกหันเหทิศทางออกทะเลไปเรื่อยๆ เช่น วิธีฆ่าคืออะไร ก่อนฆ่าทำอย่างไร ทั้งๆ ที่มันมีสัญญาณบางอย่างที่บอกเรื่องราวของไอซ์หีบเหล็กว่า ชายหนุ่มคนนี้น่าจะขาดความรักอย่างสุดขีด เขาหิวความรักอย่างสุดขีดนะ แล้วสังคมไทยจะได้ประโยชน์อะไรจากความหิวรักของผู้ชายคนนี้ ที่เขาได้แสดงตัวเป็นประจักษ์พยานกับเราแล้ว แต่เราไปไม่ถึงและอยู่ในลูปเดิมตลอดเวลา ซึ่งมันน่าเสียดายมาก” ป้ามลว่า

เสื้อผ้าและทรงผม คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราจะไม่ละเมิด

“ป้าโชคดีที่สุดในชีวิดเลย ถ้าตายก็แทบจะไม่เสียดายแล้ว เมื่อเราได้มีโอกาสไปทำงานกับเด็กที่ก่ออาชญากรรมที่บ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งมีเด็กอยู่ 110 กว่าคน ซึ่งกว่า 70 คนมาด้วยคดีที่ฆ่าคนอื่น ซึ่งพอเราทำงานกับเขาจริงๆ ก็พบว่า มันมีวินาทีที่ผิดพลาดแค่วินาทีเดียวนะ แต่หมื่นพันแสนล้านนาทีของเขา มันยังดีอยู่ แล้วมีเหตุผลอะไรที่เราจะเล่นกับหมื่นพันแสนล้านนาทีที่ยังดีอยู่ของเขาด้วยด้านมืดของเรา ดังนั้น กระบวนการทุกอย่างภายใต้ชุดความคิดแบบนี้ มันต้องถูกออกแบบ” 

การออกแบบที่ป้ามลพูดถึง ไม่ใช่การออกแบบที่ยืนอยู่บนความต้องการของเธอเอง ทว่าทุกๆ กระบวนการและกิจกรรมที่เกิดขึ้นในบ้านกาญจนาฯ คือการมองไปยังต้นตอของกฎเกณฑ์ต่างๆ ว่าถูกผลิตขึ้นด้วยเงื่อนไขใด แล้วหากวิธีการนั้นไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด กระบวนการเช่นไรจึงจะเป็นคำตอบ

“ตอนที่ป้าออกแบบการทำงานกับเด็กที่บ้านกาญจนาภิเษก เบื้องต้นคือ ทันทีที่เขาเดินเข้ามาหาเรา สิ่งแรกที่เขาจะถูกกระทำคือ ใส่กุญแจมือ เพราะว่ามีกติกาชัดเจนว่า

เมื่อเอาเด็กที่เป็นผู้ต้องขังออกจากสถานควบคุม สิ่งแรกที่ต้องทำคือใส่กุญแจมือ เพราะว่าเผื่อเกิดเหตุการณ์คับขันอะไรขึ้นมา เจ้าหน้าที่ต้องเซฟตัวเองไว้ก่อน เด็กทุกคนถูกใส่กุญแจมือเมื่อถูกส่งมาหาป้า แต่ ณ วินาทีที่เด็กได้มายืนในบ้านกาญจนาภิเษกต่อหน้าป้า เราจะปลดกุญแจมือของเขาออก แล้วเราจะผูกข้อมือรับขวัญเขาแทน

“ซึ่งระหว่างที่ผูกข้อมือรับขวัญ เราจะบอกเขาเสมอว่า ถ้าปาฏิหาริย์มีจริงแล้วพาหนูย้อนกลับไปในค่ำคืนนั้นอีกครั้งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ณ จุดนั้นอีกครั้งหนึ่ง เราเชื่อว่าหนูจะไม่ทำ แต่มันไม่มีปาฏิหาริย์เลยมีคนตายจริงๆ มีคนติดคุกจริง มีพ่อแม่เหยื่อผู้เศร้าโศกจริง และมีพ่อแม่ของหนูที่หมดเนื้อหมดตัวจริง ทุกอย่างมันคือเรื่องจริงทั้งหมด 

“แต่ภายใต้ความจริงทั้งหมดนี้ เราเชื่อว่าภายในตัวหนู มีอีกคนหนึ่งซึ่งทุกข์โศกเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด แต่มันเล็กมากแล้วอ่อนแอมาก แต่คนที่ตัวใหญ่จริงในตัวหนู ก็คือคนที่กระทำเหตุการณ์นั้น มันใหญ่มาก มันพาชีวิตหนูมาตรงนี้ แต่ระหว่างที่หนูมาอยู่กับเราที่นี่ เราจะทำให้คนเล็กๆ คนนั้นแข็งแกร่งขึ้น แล้วทำให้คนใหญ่สีดำคนนั้นมันเล็กลง แต่ป้าทำเองไม่ได้หรอกหนูต้องช่วยเรา หนูต้องช่วยพ่อแม่หนู หนูต้องช่วยทุกๆ คน และถ้าเราทุกคนช่วยกัน เราเชื่อว่าคนคนนั้นจะออกมา”

เมื่อชุดความคิดเช่นนี้ถูกสร้างขึ้น กระบวนการอื่นๆ จึงถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนความสัมพันธ์จากแนวดิ่งเป็นความสัมพันธ์แนวราบ เปลี่ยนกิจกรรมที่แฝงเร้นไปด้วยอำนาจ สู่กิจกรรมที่สร้างการคิดและการตัดสินใจ ซึ่งสิ่งที่บ้านกาญจนาฯ ได้ทำต่อมา คือการเคารพในสิทธิการแต่งกาย เสื้อผ้า ทรงผมของเด็กๆ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง ในช่วงชีวิตที่เด็กๆ รู้สึกอ่อนแอและล้มเหลว

“ธรรมดาในคุกนั้น เขาจะทำให้คนเหมือนกัน ซึ่งป้าไม่รู้ว่าไปเอาทฤษฎี หรือเหตุผลอะไรมา ที่ปล้นความเป็นมนุษย์ของคนไปขนาดนั้น แล้วพอถึงเวลา เราจะคืนเขากลับสู่สังคม? คืนด้วยอะไร? ในเมื่อเราปล้นทุกอย่างไปจากเขาหมดแล้ว ดังนั้นที่บ้านกาญจนาฯ หลังจากผูกข้อมือเด็กเสร็จ ป้าจะบอกกับเด็กๆ ว่า

ไปยืนต่อหน้ากระจกนะลูก แล้วลองพิจารณาดูว่าผมทรงไหนต่างหูคู่ไหน เสื้อผ้าแบบไหน ที่มันกอบกู้ความเชื่อมั่นทั้งหมดของหนูกลับมา หนูจงเลือก พวกเราทุกคนไม่มีหน้าที่อดทนแต่มีหน้าที่ยอมรับในสิ่งที่หนูมีความสุขกับมัน”

ให้อภัย เท่ากับให้ความเป็นคน

“ในนั้นปี 2547 เด็กที่เข้ามาใหม่คนหนึ่ง ที่เข้ามาด้วยคดีฆ่า บอกป้าว่า ผมรู้สึกล้มเหลว เลวร้าย รุนแรง และรู้สึกไร้ค่า ณ วินาทีที่ศาลตัดสินให้ผมต้องติดคุก ผมก็เลยทำตัวให้เหมือนขยะกองหนึ่งที่ไม่มีค่า ประโยคเหล่านี้อยู่ในไดอารีของเขา ที่พอป้านั่งอ่าน ป้าก็มานั่งถอดรหัส และในที่สุดป้าก็เขียนงานชิ้นหนึ่ง ที่ตอนนี้เป็นหัวใจสองดวงในบ้านกาญจนาฯ ป้าเขียนว่า

‘ณ วินาทีที่ศาลตัดสินให้ผมต้องติดคุก เป็นวินาทีที่ผมอาจจะรู้สึกล้มเหลว เลวร้าย รุนแรง และไร้ค่า แต่มันก็เป็นวินาทีเดียวกับที่เหยื่อของผมรู้สึกว่า โลกนี้ยังมีความเป็นธรรม เหยื่อไม่สามารถเอาชีวิตกลับคืนมาได้ แต่การที่คนที่ทำให้เขา ให้ลูกหลานของเขาเสียชีวิตถูกลงโทษ นั่นคือความเป็นธรรมเท่าที่เหยื่อจะหาได้จากแผ่นดินนี้’

บัดนี้ เด็กบ้านกาญจนาฯ มีโทรศัพท์สาธารณะใช้หากสามารถขึ้นบ้านชนะ ซึ่งป้ามลได้บอกกับเราว่า การห้ามใช้โทรศัพท์นั้น มาจากสมมุติฐานที่ว่า อาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรม คุกคามเหยื่อ หรือจัดการกับพยาน แต่เมื่อบ้านกาญจนาฯ ได้สร้างกระบวนการที่ไปปลดล็อคหัวใจของเด็ก ว่าเหยื่อนั้นสมควรได้รับความเป็นธรรม การห้ามใช้โทรศัพท์จึงเป็นกลไกที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป

“เมื่อเราตัดตอนสิ่งหนึ่งหายไป สิ่งหนึ่งก็ไม่เกิดขึ้น ไม่ได้แปลว่าเราจะยอมรับทุกๆ อย่างโดยไม่รู้สาเหตุของมัน ไม่ว่าคุณจะจบสังคมสงเคราะห์ จบจิตวิทยา คุณก็สมาทานสิ่งเหล่านี้มาโดยที่คุณไม่สงสัยว่า มันพ่วงอะไรเข้ามา อะไรเกิดก่อน อะไรเกิดหลัง อะไรที่ควรจะตายแล้ว และอะไรที่ไม่ควรจะไปต่อ ดังนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ถูกออกแบบมา” ป้ามลว่า

ฉันเพียงแค่กล้าหาญ และคุณก็ทำได้

หลายต่อหลายครั้งที่ป้ามลกล่าวย้ำ สิ่งที่ดีที่สุดของบ้านกาญจนาฯ นั้นไม่ใช่เธอ ทว่าสิ่งที่เธอมีนั้น คือความกล้าหาญ บนความเชื่อมั่นว่า เธอเกิดมามีชีวิตเดียวเท่านั้น และเธอจะทำในสิ่งที่เธอเชื่อ แน่นอนว่า นัยยะสำคัญที่ป้ามลย้ำ คือทุกคนสามารถทำเช่นเธอได้ ทุกคนกล้าหาญได้ และเธอไม่ใช่พระเจ้า

“อาจารย์คนไทยคนหนึ่งไปพูดเรื่องเด็กบ้านกาญจนาฯ ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และถูกถามว่า เมื่อบ้านเกาญจนาฯ เป็นคุก เขารับมือกับความเสี่ยงนั้นได้อย่างไร? ซึ่งอาจารย์ที่ขึ้นไปพูดเขาบอกว่า เขาตอบแทนไม่ได้เพราะว่าเขาไม่ได้ทำ แต่เขา LINE มาถามป้าว่า ถ้าป้านั่งอยู่ที่ฮาร์วาร์ดและถูกถามแบบนี้ ป้าจะตอบอย่างไร

“คำตอบของป้าก็คือ ความเสี่ยงเป็นมายาคติ เด็กเหล่านี้เขาไม่ได้น่ากลัว แต่เขาถูกทำให้น่ากลัวเพื่อนำไปสู่ความชอบธรรมในการจัดการกับเขา แต่ตัวตนที่แท้จริงแล้ว เขาไม่ได้น่ากลัว เขาขึ้นหลังเสือแบบคนหลงทาง และเขาก็อยากลงจากหลังเสือนั้นถ้ามีใครช่วยเขา นั่นคือความจริง ดังนั้นถ้าเราพูดถึงความเสี่ยงของเด็กเหล่านี้

เรากำลังสร้างความชอบธรรมให้กับภารกิจของเราต่างหาก เรามีค่าเสี่ยงภัย เรามีเครื่องมือหลายเครื่องมือ เพื่อทำให้น่ากลัว ดังนั้นด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งมวลนี้ ป้าถึงต้องเอากุญแจมือออกจากบ้านกาญจนาฯ เอาวิทยุสื่อสารออกไป เอายูนิฟอร์มออกไปจากบ้านกาญจนาฯ เพราะทั้งหมดนั้น ถ้ารวมอยู่ในคนคนเดียวกัน มันคืออำนาจ

“โดยรวมของสังคมไทยแล้ว ทำร้ายเด็กอย่างไรบ้างครับ?” คือคำถามจาก อาจารย์ประชา หุตานุวัฒน์ ที่เอ่ยขึ้นหลังสิ้นเสียงบอกเล่าของป้ามล

“ป้าไม่รู้จะใช้คำไหนให้เหมาะสมกว่าคำว่าเหลื่อมล้ำ ในเชิงระบบโครงสร้าง เมื่อมันมีช่องว่างมากมายมหาศาล คนที่จะรับผลก่อนหรือพ่ายแพ้ก่อน มักเป็นคนที่เปราะบางที่สุด ในเด็กหนึ่งคนที่ก่ออาชญากรรมด้วยเหตุผลใดก็ตาม ถ้าพ่อเขาเป็นตำรวจ เป็นคนที่มีชื่อเสียงในสังคมหรือมีฐานะ เขาไม่ต้องมารับผลตรงนี้นะ

แต่ถ้าแค่เด็กธรรมดาที่พ่อแม่หาเช้ากินค่ำ ไม่สามารถเจรจาอะไรได้เลย คุณต้องติดคุกก่อนนะ และที่สำคัญ กลไกที่ทำให้เด็กติดคุกได้ง่ายที่สุด หนึ่ง-คือครอบครัว เราไม่ปฏิเสธ แต่เวลาพูดถึงครอบครัว ป้าก็ไม่อยากให้ใครรู้สึกว่า ครอบครัวคือจำเลยของสังคม แต่ครอบครัวก็คือผลผลิตของรัฐ ที่จะมีนโยบายที่เหมาะสมกับเขาหรือเปล่า” คือคำตอบของป้ามล

จิตวิญญาณของเด็กที่ล่มสลายในวันปิดเทอม

เมื่อถึงตรงนี้ เธอได้ขยายความต่อ “ป้าพูดเสมอว่า เรามีครอบครัวอยู่ประมาณ 22,800,000 ครอบครัว ในนาทีนี้ เรามีเวลา 120 วันใน 365 วัน ที่คน 22,800,000 ครอบครัว ไม่รู้จะจัดการอย่างไรกับวันหยุดยาวในช่วงปิดเทอมของลูก แต่เราพบว่า คนจำนวนเล็กๆ จำนวนหนึ่ง พาลูกไปซัปโปโร ไปหลายประเทศในโลก ทำให้ 120 วันของเด็กกลุ่มนั้นมีพลัง มีคุณค่า มีโลกทัศน์และชีวทัศน์ ไม่กี่ครอบครัวหรอกจะทำเช่นนั้นได้ ไซส์ใหญ่ลงมานิดนึง สามารถซื้อค่ายพักแรมให้ลูกได้ แต่แน่นอนแม่ที่สามารถซื้อค่ายพักแรมให้ลูกได้ แม่จะต้องตรัสรู้ระดับหนึ่งว่า มันจะกลายเป็นทุนชีวิตของลูกเรา และเราต้องลงทุน แม้รัฐจะไม่ลงทุนให้เรา

“เราจะมีพ่อแม่กลุ่มนึงพาลูกไปค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายสเก็ตบอร์ด ภาษาอังกฤษ จักรยานภูเขา อะไรก็ว่าไป แต่เรามีพ่อแม่ไซส์มหาศาลที่ ‘จะไปไหนกันดีในวันปิดเทอม’ แล้วเราพบว่าเด็กจำนวนมหาศาลถูกฆ่าในช่วงปิดเทอม ไม่ใช่ฆ่าให้ตายเป็นศพนะ แต่ว่าจิตวิญญาณของเขามันล่มสลายไปแล้ว

“มีคนถามป้าว่า แล้วจะให้เราทำอย่างไร… ก็ให้เด็กไปทำกับเด็กไง ประเทศนี้ทั้งประเทศต้องมีกิจกรรมให้กับเด็กๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้ดูแลตัวเองให้ได้ ไม่ใช่อยู่บนความรับผิดชอบของคนอื่น จะค่ายอะไรก็แล้วแต่ แล้วต้องฟรีด้วย เราก็ถูกถามต่อไปอีกว่า จะเอาเงินมาจากที่ไหน… เฮ้ย ตอนซื้ออาวุธเอาเงินมาจากที่ไหน เงินทอนจากอาวุธก็มหาศาล”

สิ้นประโยคสุดท้าย ผู้ฟังที่นั่งเรียงรายพลันหัวเราะ ทว่าเป็นเสียงหัวเราะที่ทุกคนต่างรู้สึกว่า สิ่งที่ป้าพูดนั้นไม่ได้ผิดแปลกไปจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และความเหลื่อมล้ำที่ว่า กำลังกร่อนจิตวิญญาณของเหล่าเด็กๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเราต่างรับรู้…

31 กรกฎาคม ปี 2548 หน้าประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนขึ้น 

“เมื่อปี พ.ศ. 2548 วันที่ 1 กรกฎาคม บ้านกาญจนาฯ มีเด็กอยู่ 134 คน 70 เปอร์เซ็นต์ มาด้วยคดีฆ่า แต่วันนั้นเรารับเด็กใหม่ 51 คน ปรากฏว่า มีอยู่หนึ่งคนมาด้วยคดีฆ่าผู้ใหญ่สองคนเสียชีวิต ในวันที่เขาเป็นเด็กชั้น ม.3 แต่วันที่เขามาอยู่กับเรา เราไม่เห็นความเป็นอาชญากรในตัวเขาเลย เขาเป็นเด็กตัวเล็กๆ ที่น่ารัก ร่าเริงแจ่มใส และรู้สึกผิด รู้สึกแย่กับสิ่งที่ตัวเองทำ ระหว่างที่เขาอยู่กับเรา เราแทบไม่ต้องทำอะไรกับเขาเลย เพราะว่าด้านดีของเขามีอยู่เยอะแยะไปหมด

“แต่หลังจากที่เขาอยู่กับเราได้พักใหญ่ เราก็มีเด็กกลุ่มหนึ่งเข้ามาอีก 51 คน เหมือนจักรวาลจัดสรรนะ เพราะ 1 ใน 51 คนนั้น เป็นลูกชายของ 1 ใน 2 คนที่เด็กคนแรกไปฆ่าไว้ แล้วในนาทีนั้น เขาไม่ได้มาด้วยความรู้สึกที่อยากจะเปลี่ยนแปลงอะไร แต่เขามาด้วยความรู้สึกที่อยากจะฆ่าคนที่ฆ่าพ่อเขา 

“เหตุการณ์ในวันที่ 31 กรกฎาคม ปี 48 เป็นเหตุการณ์ที่กดดันป้ามาก ผู้ใหญ่หลายคนในประเทศนี้แนะนำให้เราเอาเด็กคนที่มาทีหลังออกไปซะ เหตุผลเพราะเดี๋ยวจะฆ่ากันในบ้านกาญจนาฯ และป้าถามไปว่า ถ้าปล่อยให้เขาออกไป แล้วถ้าเขาไปเจอกันข้างนอกในอีก 5 ปีข้างหน้าในวันที่ทั้งสองคนถูกปล่อยไป เขาจะฆ่ากันไหม คำตอบคือ เขาก็จะฆ่ากันอีก แต่ว่าไม่ได้ฆ่ากันในบ้านกาญจนาฯ ไง ซึ่งทำให้ป้ารู้สึกว่า เราคิดแบบนี้ไม่ได้ 

“ถึงที่สุดก็นำไปสู่การสร้างกระบวนการบางอย่าง ซึ่งการกลับมาคืนดีกันระหว่างคนสองคนและสองครอบครัว แล้วมันก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ของบ้านกาญจนาฯ เพราะเหมือนว่าหน้าของประวัติศาสตร์ถูกเขียนขึ้นมาโดยเด็กๆ

เรื่องราวนี้ ภาสกร จำลองราช (สำนักข่าวชายขอบ – อดีตผู้สื่อข่าวมติชน) ได้เขียนลงในมติชน ป้ามลจึงให้เด็กที่มาใหม่ทุกคนได้อ่านบทความนี้ ภายใต้คำถามที่ว่า

‘ประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งถูกเขียนขึ้นมาแล้ว โดยคนในวันที่ 31 กรกฎาคม ปี 2548 แล้วเราจะทำอย่างไรกับประวัติศาสตร์หน้านี้’

“ซึ่งปรากฏว่า คนที่ฆ่าคนทุกคน เลือกที่จะไม่ทำร้ายประวัติศาสตร์หน้านี้ แต่จะให้มันอยู่ต่อไป ซึ่งความขัดแย้งมันก็หายไป ความรุนแรงก็หายไป ซึ่งป้านึกไม่ออกว่า ถ้าในปี พ.ศ. นั้นเราเลือกที่จะแยกเขาสองคนออกจากกัน เราไม่มีทางที่จะได้กรณีศึกษา ได้ประจักษ์พยานที่ทรงพลังขนาดนี้ 

“ทั้งหมดนั้นมันก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น จนบัดนี้ ที่บ้านกาญจนาฯ ไม่ได้มีความรุนแรง ไม่ใช่เพราะป้าเก่ง ไม่ใช่เพราะมีกฎหมายที่เคร่งครัด แต่เพราะว่ามีประจักษ์พยานนำทางมาให้ ดังนั้นทันทีที่เด็กจะใช้ความรุนแรง เด็กจะนึกเสมอว่า พี่เล็กพี่ใหญ่ได้ทิ้งอะไรไว้ให้กับเรา ถ้าพูดในเชิงบทเรียนก็กล่าวได้ว่า จริงๆ แล้วมันมีการตัดสินใจผ่านหน้าเราหลายๆ ครั้ง แล้วเราทิ้งการตัดสินใจนั้นด้วย comfort zone และบางที ถ้าเราไม่ได้ทิ้งมัน มันจะกลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่สุด

“ป้ายังนึกไม่ออกว่า ถ้าในวันที่ 31 กรกฎาคม ปี 2548 เราจับสองคนนี้แยกออกจากกัน ด้วยความรู้สึกที่ ‘เราจะต้องปลอดภัย คนอื่นจะต้องปลอดภัย’ แล้วเรารู้สึกว่ามันแรงเกินกว่าที่เราจะใช้วิธีปกติแก้ เรายังนึกไม่ออกเลยว่า ไอ้ตัวอย่างที่ยิ่งใหญ่แบบนี้ มันจะลอยจากฟ้ามาให้เราได้ไขว่คว้าอีกหรือเปล่า… ซึ่งไม่มีทาง มันมีครั้งเดียวเท่านั้น แล้วมันท้าทายการตัดสินใจของเรา

“ซึ่งป้ารู้สึกได้ว่า วันนั้นเราลงทุนเยอะแยะไปหมดในหลายๆ มิติ แต่ถ้าเทียบกับคุณค่าที่มันปรากฏ ณ วันนั้น ทั้งหมดนั้นเล็กมากกับการลงทุน เราแอบหาข้อมูลมากมาย แล้วเอามารวมในที่เดียวกัน

เพื่อให้คนคนหนึ่งรู้สึกว่าสง่างามพอที่จะลงจากหลังเสือ เขาไม่ใช่หมานะ ดังนั้นถ้าจะทำให้คนๆ หนึ่งลงจากหลังเสือ ทุกองค์ประกอบมันต้องสวยงามมากๆ เขาไม่ได้ถูกถีบลงมาแต่เขาลงเพราะเขารู้ว่า ถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องลง มันสง่างาม”

 

Your email address will not be published.