ก่อการครู – Korkankru

ผู้นำแห่งอนาคต

 “จงเชื่อมั่นในประชาธิปไตย แม้ในวันที่ผลลัพธ์ออกมาไม่ดี”- พริษฐ์ วัชรสินธุ

Reading Time: 3 minutes ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กับการทอร์คในหัวข้อ “การล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปไตยในสังคมไทย” เวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำ: ผู้นำร่วมสร้างสุข Mar 1, 2020 3 min

 “จงเชื่อมั่นในประชาธิปไตย แม้ในวันที่ผลลัพธ์ออกมาไม่ดี”- พริษฐ์ วัชรสินธุ

Reading Time: 3 minutes

“หัวข้อที่ผมจะมาพูดคุยคือ การล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปไตย ซึ่งผมไม่ใช่ผู้ที่เชี่ยวชาญที่สุดในเรื่องของประวัติศาสตร์นี้ แต่ที่แน่นอนก็คือว่า คำว่าประชาธิปไตยนี่แหละ ที่ทำให้ชีวิตผมล้มลุกคลุกคลานมาจนถึงวันนี้”

บางถ้อยคำจากหัวข้อ “การล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปไตยในสังคมไทย” เวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำ: ผู้นำร่วมสร้างสุข (Leadership for Collective Happiness – LCH) โมดูล 1 ปัญญาโลก ปัญญาชีวิต ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ศูนย์ฝึกอบรมงานอภิบาล ‘บ้านผู้หว่าน’ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

ถ้อยคำนั้นเป็นของ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ที่นับแต่กระโจนสู่งานการเมืองเมื่อประมาณสองปีก่อน กระทั่งวันนี้ เส้นทางในฐานะนักการเมืองของเขาก็ไม่ค่อยจะราบเรียบนัก ทั้งจากการสอบตกจากสนามเลือกตั้งครั้งแรก และการลาออกจากพรรคเหตุเพราะแนวคิดทางการเมืองที่ต่างออกไป ทอล์คของเขาในครั้งนี้จึงมีความน่าสนใจ ว่าบทเรียนที่ผ่านของเขานั้น สะท้อนทัศนะเช่นไรต่อทิศทางของประชาธิปไตยในสังคมไทยปัจจุบัน 

ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง

“เมื่อประมาณ 6-7 เดือนที่แล้ว ผมตัดสินใจลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะคำคำเดียวเหมือนกันคือ ‘ประชาธิปไตย’ ซึ่งพอพูดถึงคำว่าประชาธิปไตย ผมอยากสอบถามและอยากขอให้ทุกคนเปิดกว้างว่า คำถามนี้ไม่ได้มีคำตอบที่ถูกต้องที่สุด แต่ผมอยากถามทุกท่านเลยว่า ‘คุณคิดว่าประเทศไทยควรถูกปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือไม่’ ผมมีให้สามทางเลือก หนึ่ง – คิดว่าควร สอง – คิดว่าไม่ควร สาม – ไม่แน่ใจ”

หลากหลายความเห็นถูกแลกเปลี่ยนกัน บ้างเห็นด้วย บางไม่แน่ใจ และบ้างคิดว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมต่อการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย สิ้นเสียงความเห็นที่ผลัดกันพูด ผลัดกันฟัง ไอติมจึงเริ่มอธิบายต่อ

“ประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่แย่ที่สุด
หากยกเว้นระบอบการปกครองอื่นทั้งหมดที่เคยมีมา

คือคำกล่าวของอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ วินสตัน เชอร์ชิล นั่นหมายความว่า เราไม่ได้คาดหวังว่าประชาธิปไตยจะถูกต้องเสมอไปในทุกๆ กรณี และหมายความว่า ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นระบอบที่ผลิตผู้นำที่ขึ้นมาบริหารประเทศ แล้วจะถูกใจเราทุกครั้ง

“แต่พอเรากลับมานึกกันจริงๆ ว่า ถ้าเราไม่ใช้ระบบการเลือกตั้งเลือกผู้นำ หลายคนอาจจะคิดไม่ออกว่า เราจะใช้ระบบอะไรที่ชอบธรรมกว่าการใช้ระบบการเลือกตั้ง จึงเป็นที่มาของประโยคที่ว่า ประชาธิปไตยอาจจะไม่ใช่ระบอบที่สมบูรณ์แบบ แต่ท้ายที่สุดแล้ว พอมานั่งคิดถึงระบอบอื่น ก็ยังไม่มีใครคิดออก ว่าเราจะใช้ระบอบอะไรมาปกครองประเทศ

“เมื่อพูดถึงประชาธิปไตย ผมคิดว่าเราต้องย้อนกลับมาทำความเข้าใจแก่นแท้ของประชาธิปไตยก่อนว่าคืออะไร แค่การเลือกตั้งรึเปล่า? หรือแค่เสียงข้างมากที่ทำให้ทรัมป์ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ หรือมีอะไรที่ลึกซึ้งและซับซ้อนกว่านั้น ประเด็นต่อไปคือ ถ้าเราเห็นพ้องต้องกันว่าประเทศควรเป็นประชาธิปไตย เราจะพัฒนาให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร และประเด็นสุดท้ายคือก้าวต่อไปของระบอบประชาธิปไตย

“ทำไมผมถึงให้ความสำคัญเรื่องการเข้าใจประชาธิปไตย อันนี้เป็นคำเตือนนะครับ ว่า เวลาใครมาบอกว่าเราเป็นประชาธิปไตยแล้ว เพียงเพราะว่ามีการเลือกตั้ง เราต้องระมัดระวังเล็กน้อย หลักฐานของคำเตือนตรงนี้มีอยู่จากดัชนีประชาธิปไตย เป็นดัชนีที่วัดความเป็นประชาธิปไตยของทุกประเทศทั่วโลกตั้งแต่อันดับ 1 ถึง 167 สองประเทศที่อยู่ท้ายตารางคือเกาหลีเหนือกับคองโก ได้คะแนน 1 เต็ม 10 เป็นสองประเทศที่เป็นประชาธิปไตยน้อยที่สุด

“แต่ทุกท่านรู้ไหมครับว่า สองประเทศนี้มีชื่อเต็มๆ ว่าอะไร? เกาหลีเหนือชื่อว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี คองโกชื่อเต็มว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก จะเห็นว่า ท้ายที่สุดแล้วคำว่าประชาธิปไตยมักถูกใช้ในหลายกรณีมาก แม้กระทั่งประเทศที่สังคมโลกตีตราว่าเป็นประชาธิปไตยน้อยสุด แต่ผมมองว่าก่อนที่เราจะก้าวไปถึงขั้นที่ว่าเราควรไม่ควรมีประชาธิปไตย ต้องพยายามเข้าใจตรงนี้ก่อนว่าคำศัพท์นี้เราใช้ตรงกันหรือเปล่า

“หลักการหลักๆ ของประชาธิปไตย คือการที่อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชน นั่นคือประชาชนอยากเห็นอะไร ประชาชนมีสิทธิกำหนดอนาคตและทิศทางของประเทศได้ คำถามต่อมาคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าประชาชนต้องการอะไร? ถ้าเรามองว่าอยากให้ประชาชนมีอำนาจตัดสินว่าจะบริหารประเทศแบบไหน แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ประชาชนต้องการอะไร ประชาชนมีตั้งหกสิบล้านคนในประเทศ คำตอบก็คือการเลือกตั้ง

“แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวยังไม่พอ เพราะอย่าลืมว่า ประเทศเกาหลีเหนืออาจจะไม่มีการเลือกตั้ง แต่ประเทศจีนเขาก็มีการเลือกตั้งในรูปแบบหนึ่ง สิ่งสำคัญของการจัดการเลือกตั้งคือการเลือกตั้งที่ภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า ‘free and fair’ หรือว่า ‘เสรีและเป็นธรรม’ ”

ประชาธิปไตยคือการทำตาม ‘เสียงข้างมาก’ ทุกครั้ง? 

“เวลาเราพูดถึงระบบเลือกตั้ง ผมอยากจะเชิญชวนว่า ในฐานะประชาชนในระบอบประชาธิปไตย เราต้องพยายามอย่ามองว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว เพราะท้ายที่สุดแล้ว มันเป็นอะไรที่สำคัญมากต่อการสร้างสังคมที่ผลิตผู้ชนะในแบบหนึ่ง ถ้าเราต้องการผู้ชนะที่เป็นคนกลางๆ เราควรจะใช้ระบบเลือกตั้งไหน ถ้าเราต้องการผู้ชนะที่สามารถเรียกฐานเสียงของตัวเองได้อย่างเดียวก็ใช้การเลือกตั้งอีกระบบหนึ่ง เพราะท้ายสุดแล้วปัญหาที่หนึ่งก็คือ ความซับซ้อนเรื่องของเสียงข้างมาก เพราะว่าคนที่นิยามเสียงข้างมากนั้นแตกต่างกันออกไป ด้วยเพราะขึ้นอยู่กับระบบเลือกตั้งนั่นเอง

“ปัญหาที่สองคือ ประชาธิปไตยคือการทำงานของเสียงข้างมากทุกครั้งหรือไม่ อันนี้ผมขอยกตัวอย่างครอบครัวหนึ่ง มีคุณพ่อคุณแม่ ลูกสาวสองคน พวกเขากำลังตัดสินใจกันว่า เย็นนี้จะไปทานอะไรกัน? สามคนบอกว่าอยากทานร้านก๋วยเตี๋ยว หนึ่งคนอยากทานร้านส้มตำ อะไรคือทางออกที่เป็นประชาธิปไตยของบ้านหลังนี้? เมื่อเสียงส่วนมากบอกว่าอยากไปทานร้านก๋วยเตี๋ยว ก็ไปทานร้านก๋วยเตี๋ยว คนส่วนมากจะไม่มีปัญหากับตรงนี้

“แต่คนจะเริ่มมีปัญหาเมื่อเราเปลี่ยนสถานการณ์ จากที่เป็นการถกเถียงกันเรื่องร้านก๋วยเตี๋ยวกับร้านส้มตำ เราเปลี่ยนสถานการณ์เป็นว่า พ่อกับลูกสองคนอยากทานร้านสเต็กเนื้อที่ไม่มีเมนูผัก แต่คุณแม่ประกาศตัวว่าเป็นมังสวิรัติ คราวนี้ยังคิดอยู่ไหมครับว่าการไปทานร้านสเต็กเนื้อเป็นทางออกที่เป็นประชาธิปไตย?

“จะเห็นได้ว่า ความเข้าใจของเราในเรื่องแก่นแท้ของประชาธิปไตย ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับแค่เรื่องเสียงข้างมากอย่างเดียว เพราะว่าครั้งที่แล้วเราคิดว่า การเลือกระหว่างก๋วยเตี๋ยวกับส้มตำนั้นเราควรจะยึดโยงเสียงข้างมาก แต่ทำไมพอเปลี่ยนสถานการณ์ให้คุณแม่เป็นมังสวิรัติ หลายคนถึงเริ่มกระสับกระส่าย เริ่มไม่สบายใจแล้วว่า ทางออกที่เป็นประชาธิปไตยคือการเคารพเสียงข้างมากใช่หรือไม่? เพราะสุดท้ายแล้ว แก่นแท้ของประชาธิปไตยนั้นไม่ใช่ระบบที่เสียงข้างมากเป็นใหญ่อย่างเดียว แต่เป็นระบบที่เสียงทุกเสียงเป็นใหญ่ และคือที่มาของเรื่องสิทธิเสรีภาพ

ประชาธิปไตย = ระบบการปกครองที่ ปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน
ภากจากเพจ: รัฐธรรมนูญก้าวหน้า

“ถ้าเราบอกว่าประชาชนคนหนึ่งมีสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนาใดก็ตาม นั่นหมายความว่า ถ้า 99 เปอร์เซ็นต์ของคนในประเทศจะนับถือศาสนาหนึ่ง เขาไม่สามารถมาบังคับให้เราไปนับถือศาสนานั้นได้ เพียงเพราะว่าเราเป็นเสียงส่วนน้อย นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมประชาธิปไตยกับสิทธิเสรีภาพถึงผูกมัดกัน ทำไมถึงแม้ทรัมป์จะได้รับเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งซึ่งอาจจะไม่ใช่เป็นผู้นำที่มีจิตวิญญาณเป็นประชาธิปไตย

“เพราะท้ายที่สุดแล้ว ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เรื่องของการมีการเลือกตั้งแล้วก็เสียงข้างมากเป็นใหญ่ แต่ว่าทำยังไงให้เราสร้างสังคมที่เคารพความเท่าเทียมกันของมนุษย์ เพราะอย่างนั้น ผมถึงมองว่าสององค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตยคือ หนึ่ง – การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม เคารพทุกสิทธิทุกเสียง สอง – การปกป้องสิทธิมนุษยชน นั่นหมายความว่า ถึงแม้คุณจะเกิดมาเป็นเพศใดศาสนาใด คุณมีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่น ถึงแม้คนอื่นจะเป็นเสียงข้างมากของประเทศก็ตาม”

ประเทศไทยอยู่ตรงไหนในการเป็น ‘ประชาธิปไตย’

“เมื่อเราเข้าใจตรงนี้ เราก็ประเมินต่อได้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ตรงไหนในการเป็นประชาธิปไตย คำตอบคือ เราอยู่ในอันดับที่ 68 ครับ คำถามต่อมาคือ แล้วอะไรที่ทำให้เราอยู่ในอันดับที่ 68 ทำไมถึงไม่ขึ้นไปเสียที อะไรในรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อหลักหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงมากที่สุด ผมคิดว่าคือ สว. ครับ

“พอผมพูดเรื่องนี้ทีไร ผมจะพยายามกลางๆ มากที่สุด และคิดว่าการเป็นกลางมากที่สุดคือการใช้คณิตศาสตร์ เพราะตัวเลขไม่สามารถหลอกใครได้ ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า 1+1=2 ไม่ว่าคุณจะมีความคิดเห็นทางการเมืองอย่างไรก็ตาม คำถามต่อมาคือ ทำไมเรื่องของระบบวุฒิสภาถึงขัดกับหลักประชาธิปไตย เราต้องมาดูตัวเลขกันครับ เราบอกว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง ปัจจุบันการเลือกตั้งนายกฯ มีคนเข้าไปโหวตได้ทั้งหมด 750 คน มี 500 สส. แล้วก็ 250 สว.

“ถามว่า 750 คนนี้มาจากไหน ? จำนวน 500 คือ สส. ก็มาจากการเลือกตั้ง ที่มีประชาชน 38 ล้านคนเข้าคูหา แล้วก็เลือกผู้แทนของเขาเข้ามา ในขณะที่ สว. 250 คนนั้นมาจากการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ 10 ท่าน ถ้าพูดตามข้อเท็จจริงก็คือว่า มี 4 ใน 10 ท่านที่สรรหาหรือว่าคัดเลือกพี่น้องตัวเองเข้ามาดำรงตำแหน่งวุฒิสภา ในขณะที่ 5 ท่าน คัดเลือกตัวเองเข้ามาเป็นสมาชิกวุฒิสภาเลย อันนี้เป็นข้อเท็จจริงนะครับ

ภากจากเพจ: รัฐธรรมนูญก้าวหน้า

“พอคิดถึงเรื่องตัวเลข 38 ล้านคน ที่กลายมาเป็น 500 สส. เสียงนั้นหมายความว่า 1 ใน 38 ล้านคนมีอำนาจในการตัดสินใจในการคัดเลือกนายกฯ 0.0000017 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ถ้าคุณเอา 250 สว. มาหารด้วย 10 คน แสดงว่า 1 คนในนี้มีอำนาจทั้งหมด 3.3 เปอร์เซ็นต์ นี่คือความแตกต่างทั้งหมด 2 ล้านเท่า ระหว่างประชาชนตัวเล็กๆ 1 คน กับคณะกรรมการสรรหา สว. 1 คน

“ไม่ว่าคุณจะมองจากมุมไหน ไม่ว่าคุณจะฝักใฝ่การเมืองพรรคไหน ผมพูดไม่ได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าประเทศของเราเป็นประชาธิปไตย ถ้าเกิดว่าคนคนหนึ่งมีอำนาจมากกว่าอีกคนถึง 2 ล้านเท่า เพราะฉะนั้น เราจะหาคำตอบตรงนี้อย่างไร ท้ายสุดแล้วการปรับโครงสร้างวุฒิสภาต้องมาคุยกันเรื่องอำนาจและที่มาครับ”

“จงเชื่อมั่นในประชาธิปไตย ถ้าท่านเห็นด้วย”

“ยกตัวอย่างประเทศจีนซึ่งไม่ได้มีการเลือกตั้งนานแล้ว และเขาเจอการเป็นเผด็จการมากขึ้น จากสมัยก่อนที่ประธานาธิบดีจีนจะมีวาระกำหนดชัดเจนว่าอยู่ได้กี่ปี ตอนนี้วาระนั้นถูกขยายออกไปเป็นตลอดชีวิต เราเห็นหลายประเทศเริ่มกลับเข้าสู่วงจรของเผด็จการด้วยวิธีการ

“ในอีกซีกโลกหนึ่ง เราเห็นอีกปรากฏการณ์คือ ประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ผมอาจจะใช้คำศัพท์ว่าเผด็จการด้วยสาระ นั่นหมายความว่าไม่มีใครถกเถียงหรอกครับว่าทรัมป์มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีใครถกเถียงว่าทรัมป์มาจากเสียงข้างมากของคนในสหรัฐ แต่ว่าการบริหารประเทศมันอาจจะไม่สอดคล้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ อาจจะไม่สอดคล้องกับระบบคุณธรรม ซึ่งในท้ายสุดแล้วเขาก็มองว่าเป็นเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นรูปแบบที่ขัดต่อจิตวิญญาณของประชาธิปไตย

“ทีนี้ถามว่าประเทศไทยอยู่ตรงไหน อันนี้แล้วแต่ดุลยพินิจของท่านทั้งหลายเลย แต่สำหรับผมมองว่า ตราบใดที่เรายังมี สว. อยู่ เราก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำว่านายกรัฐมนตรีของเรามาจากระบบที่เคารพหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงจริงๆ เพราะฉะนั้น เราจะอยู่ตรงไหนนั้น ก็แล้วแต่ดุลยพินิจของท่าน

“แล้วเราจะก้าวต่อไปได้อย่างไร? ในมุมหนึ่ง มันเหมือนกับว่าประชาธิปไตยยังล้มลุกคลุกคลานอยู่ แต่ความจริงในเชิงทฤษฎีและในเชิงปฏิบัตินั้น เทคโนโลยีมันเพิ่มอำนาจให้กับประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะสมัยก่อน คนจะถกเถียงกันระหว่างประชาธิปไตยสองรูปแบบ รูปแบบแรกคือ รูปแบบดั้งเดิม เขาเรียกว่าเป็นประชาธิปไตยโดยตรง หมายความว่าการที่เราจะโหวตกฎหมายเรื่องอะไรก็ตาม เราจะเรียกทุกคนเข้ามาประชุมกันแล้วยกมือ

“พอทำไปสักพักเขาก็รู้ว่าประชากรเยอะไป จะให้ทุกคนเดินทางมาโหวตทุกเรื่องก็เป็นไปไม่ได้ บางคนก็ไม่สนใจทุกเรื่อง จึงมีระบบตัวแทนเข้ามาคือเลือก สส. เข้าสภา แต่พอผ่านไปสักพัก ด้วยพฤติกรรมของ สส. เองด้วย ระบบเองด้วย เราก็เริ่มรู้สึกว่าบางที สส. ก็ไม่อาจตอบสนองความต้องการของเราได้จริงๆ บางทีเราเลือกเขาเข้าไป ก็นึกว่าเขาจะโหวตอีกอย่างหนึ่ง พอเข้าไปแล้ว เขาโหวตอีกอย่างหนึ่ง กระทั่งมีการเสียบบัตรแทนกันด้วย (หัวเราะ)

“หลายคนเริ่มขาดความเชื่อมั่นในระบบตัวแทน พอมีเทคโนโลยีเข้ามา มันเลยมีประชาธิปไตยรูปแบบที่สาม เขาเรียกว่า ‘ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล’ (liquid democracy) ที่พยายามจะผสมผสานข้อดีของประชาธิปไตยโดยตรงและประชาธิปไตยที่เป็นตัวแทน หมายความว่า เริ่มจากพื้นฐานว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ทุกคนสามารถโหวตกฎหมายโดยตรงได้เหมือนกัน แต่ถ้าเราอยากจะโอนสิทธิตัวเองไปให้คนอื่น เราก็สามารถทำได้ และเราไม่จำเป็นต้องโอนสิทธิทั้งหมดของเราตลอดสี่ปีไปให้คนคนเดียว เราสามารถเลือกได้ว่า ถ้าเป็นเรื่องการศึกษา ผมมีความเชี่ยวชาญและผมขอโหวตด้วยตัวเองผ่านเทคโนโลยี

ภากจากเพจ: รัฐธรรมนูญก้าวหน้า

“แต่ว่าถ้าเป็นเรื่องเศรษฐกิจ ผมไม่รู้เรื่องเลย ผมขอโอนให้กับอาจารย์เศรษฐศาสตร์ท่านหนึ่งที่เชี่ยวชาญด้านนี้ แล้วสมมุติว่า ผ่านไปสักพักนึงอาจารย์เศรษฐศาสตร์คนนั้นเริ่มโหวตไม่ตรงใจเรา เราเรียกสิทธิของเรากลับคืนมาได้ คือประชาธิปไตยแบบลื่นไหลที่ทุกคนมีสิทธิในการกำหนดว่า สิ่งไหนที่เราอยากตัดสินด้วยตัวเอง สิ่งไหนที่เราอยากมีผู้แทน นี่คือความก้าวหน้าของประชาธิปไตยที่เทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยได้แล้ว แต่ปัจจุบันเรายังไม่ถึงขั้นนั้น

“สุดท้ายนี้ ผมขอทิ้งท้ายด้วยประโยคที่ว่า เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าแก่นแท้ของประชาธิปไตยคือเรื่องของการเคารพความเท่าเทียมกันของมนุษย์ เรื่องของสิทธิเสรีภาพ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่ระบบการเลือกตั้งจะโยนผู้นำที่เราถูกใจในทุกเรื่อง แต่ท้ายที่สุดแล้ว ระบบประชาธิปไตยก็ยังเป็นระบบเดียวที่เปิดให้เราสามารถมีสิทธิไปเลือกผู้นำใหม่ได้ สมมุติว่า เราได้คนที่ไม่ถูกใจ อีกสี่ปีก็ทนอีกนิดหนึ่ง หรือว่าถ้าเทคโนโลยีเข้ามา อาจจะน้อยกว่าสี่ปี เราสามารถคัดเลือกผู้นำใหม่ได้ และมีการสร้างระบบตรวจสอบที่ทำให้ผู้นำคนนั้นยังคงอยู่ในระบบที่ถูกตรวจสอบว่ามีความโปร่งใส ถึงแม้จะได้สิทธานุมัติจากเราไปแล้ว 

เพราะฉะนั้น จงเชื่อมั่นในประชาธิปไตย ถ้าท่านเห็นด้วย แม้ในวันที่ผลลัพธ์มันอาจจะออกมาไม่ดีก็ตาม”

Array