ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์: เรียนรู้การต่อสู้ ดิ้นรนในอดีต เพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคต
Reading Time: 2 minutesทำไมเราถึงรู้สึกยิ่งใหญ่กับปัญหาที่ใครก็มองว่าเล็กน้อย
ทำไมคนอื่นถึงเพิกเฉยและไม่เข้าใจเวลาเราบอกว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ
ใช่ ความรู้สึกและความคิดคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างกัน
และจะดีกว่าไหม หากเราสืบสาวจนทราบต้นตอของความรู้สึกและความคิดที่แตกต่างนี้ เพราะนอกจากจะช่วยทำให้เราเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้นแล้ว ยังทำให้เรามองเห็นตัวเองในโลกใบใหญ่และเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับโลกใบนั้น ทำให้เราพร้อมตั้งหลักเตรียมปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลกได้อย่างมั่นคงอยู่เสมอ
เรื่องราวดังกล่าวสอดคล้องกับเรื่องที่ อาจารย์ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ประธานสถาบันการเรียนรู้และพัฒนาประชาสังคม พูดในเวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำ: ผู้นำร่วมสร้างสุข (Leadership for Collective Happiness – LCH) โมดูล 1 ปัญญาโลก ปัญญาชีวิต เมื่อวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ศูนย์ฝึกอบรมงานอภิบาล ‘บ้านผู้หว่าน’ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
อาจารย์ชัยวัฒน์ ชวนสำรวจปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดในโลก ภายใต้หัวข้อ ‘โลกที่กำลังเปลี่ยน’ เพื่อทำความเข้าใจความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตัวเอง
โลกเปลี่ยนไป เราใคร่ครวญหรือยัง
“ตอนที่ผมรู้ตัวว่าต้องพูดเรื่องโลกที่เปลี่ยนไป ผมคิดหนักนะ เพราะเราพูดเรื่องนี้กันมาหลายปีแล้วแต่เราไม่เคยรู้ความหมายของมันเลย หากจะพูดในมุมมองของเหล่าผู้นำแห่งอนาคต ผมมองว่าการเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น มันน่าจะเป็นเรื่องของการใคร่ครวญ”
เราใคร่ครวญเพื่อมองย้อนไปยังอดีต ใคร่ครวญเพื่อเห็นปัจจุบัน และมองไปสู่อนาคต นี่คือหัวใจหลักที่อาจารย์ชัยวัฒน์ใช้เปิดประเด็น
“ถ้าพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก ผมเชื่อว่าเรามักมองกันที่ภายนอก แต่ไม่เคยกลับไปมองโลกภายในของตัวเองเลย เรารู้ตัวไหมว่า ตอนนี้เรารู้อะไร เราคิดอะไร และเราจะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนมันกลายเป็นเรื่องภายใน เราต้องมองการเปลี่ยนแปลงนี้ให้เป็นเรื่องของ emotional (อารมณ์) และ spiritual (จิตวิญญาณ) กันมากขึ้น”
เรื่องราวของวิทยากรท่านอื่นภายในเวทีผู้นำร่วมสร้างสุข (LCH) ทำให้อาจารย์ชัยวัฒน์รู้สึกประทับใจ
“ผมรู้สึกดีที่ได้ฟังไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าจาก ‘ป้ามล-ทิชา ณ นคร’ ที่สะท้อนทำให้เราเห็นความคิดที่มืดและสว่างของมนุษย์ หรือภาวะปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริงของโลกที่ ‘คุณจอบ-วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์’ ได้นำเสนอ แต่เมื่อเราขยับเข้ามาในหัวข้อที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง ขยับให้มันเข้ามาอยู่ในมุมการเรียนรู้เพื่อการนำไปสู่อะไรบางอย่าง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในมุมประชาธิปไตย ผมจึงนึกถึงเรื่องที่ท่านน่าจะได้เคยฟังแล้ว แต่ผมยังคงอยากจะนำเรื่องนี้ส่งต่อให้ทุกคนได้ฟัง”
อาจารย์ชัยวัฒน์หยิบเรื่อง ‘โลกไร้ระเบียบในทรรศนะของท่านพุทธทาส’ ขึ้นมาเล่าให้ฟัง โดยบันทึกดังกล่าวถูกบันทึกไว้ในหนังสือชื่อ บันทึกนึกได้เอง ที่ นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช ได้จัดพิมพ์ขึ้นด้วยการถ่ายสำเนาลายมือท่านพุทธทาส ที่บันทึกไว้ในหนังสือไดอารี เมื่อปี 2495 ท่านได้เขียนว่า
“ครั้นบัดนี้โลกโคลง เร่าร้อนอย่างยิ่ง จนเราต้องเตรียมใจกันใหม่เพื่อรับหน้า”
ประโยคดังกล่าวสะท้อนให้เห็นข้อห่วงใยที่ท่านพุทธทาสมีต่อโลกและมนุษยชาติ เพราะสิ่งที่ท่านได้เขียนเอาไว้ ไม่ได้ต่างไปจากเหตุการณ์ที่นักรัฐศาสตร์ นักธุรกิจ นักสังคมศาสตร์ในโลกยุคใหม่ประเมินเอาไว้เลย ในยุคที่เราจินตนาการไม่ออกว่าคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร เราในทุกภาคส่วนต่างคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เร็วจี๋
บันทึกฉบับนี้จึงอาจสรุปได้ว่าสิ่งที่ท่านพุทธทาสมองเห็น คือสัญญาณในการบอกให้มนุษย์ทุกคนเตรียมรับมือ พวกเราจะอยู่อย่างไรในโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง
สำรวจโลกอดีต เพื่อทำความเข้าใจปัจจุบัน
นอกจากบันทึกของท่านพุทธทาสแล้ว เมื่อถามว่าโลกเปลี่ยนไปตอนไหน อาจารย์ชัยวัฒน์สรุปง่ายๆ สั้นๆ เพื่อให้เห็นภาพ ให้เข้าใจ โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ครั้งที่อเล็กซานเดอร์มหาราชกรีฑาทัพไปตีดินแดนต่างๆ จนนำทัพไปถึงอินเดีย นั่นคือจุดเริ่มต้นทำให้เกิดการผสมผสานระหว่าง วัฒนธรรมตะวันตกและตะวันออกและเป็นประตูทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆ
รวมถึงเมื่อกระโดดเข้าไปดูในยุคที่ศาสนจักรปกคลุมทุกอย่างจนทำให้มนุษย์ทนไม่ไหวและเกิดการดิ้นรนต่อสู้เพื่อหาแสงสว่าง จนท้ายที่สุดทำให้โลกถึงคราวเปลี่ยนแปลง ก่อให้เกิดเป็นยุคเรเนส์ซองส์ (Renaissance) ยุคที่เหล่ามนุษย์ต่างแสวงหาความจริงและฟื้นฟูความเป็นมนุษย์ขึ้นมาใหม่
หรือมองให้ลึกในระดับปัจเจกมากกว่านั้น อาจารย์ชัยวัฒน์ยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ใกล้ชิดกับโลกภายในของตัวเองให้ฟังไว้ว่า
“เรื่องนี้มันส่งผลกระทบต่อการเดินทางในเส้นทางชีวิตของผมเลย มันเริ่มมาตั้งแต่ที่ผมเกิดมาในจังหวัดนครศรีธรรมราช บ้านของผมเป็นบ้านสังกะสีเล็กๆ ไม่มีไฟฟ้า ผมอยู่รวมกับญาติพี่น้องคนอื่นๆ ผมใช้เวลาว่างไปกับการดูหนังตะลุงและมโนราห์ ซึ่งหนังตะลุงที่ผมดูมาตั้งแต่เด็กมันได้ถ่ายทอดเรื่องราวบางอย่างที่สะท้อนบุคลิกตัวตนของคนนครฯ รวมถึงตัวผมไว้ด้วยสำนวนที่ว่า ‘ไม่รบนาย ไม่หายจน’ สำนวนนี้เกิดขึ้นในยุคการต่อสู้ระหว่างกรรมกร ชาวนา ที่เข้าป่าร่วมกับกองทัพปลดแอกแห่งประเทศไทย”
‘ไม่รบนาย ไม่หายจน’ เป็นสำนวนที่ช่วยปลุกเร้าชาวบ้านให้ลุกขึ้นสู้กับชนชั้นปกครองที่กดขี่ข่มเหงรังแก เอาเปรียบชาวบ้าน และปกครองอย่างไม่เป็นธรรม ถ้าไม่สู้ไม่รบก็ไม่หลุดพ้นจากการกดขี่ข่มเหง อาจารย์ชัยวัฒน์บอกว่าสำนวนจากหนังตะลุงที่เขาได้สัมผัสตั้งแต่ในวัยเด็กนี้ ได้ฝังลงไปในวิถีชีวิต ฝังในความคิด และติดตัวเขาไปแล้ว
ซึ่งเรื่องดังกล่าว อาจารย์ชัยวัฒน์บอกว่ามันไม่ต่างจากเรื่องราวของโลก เพราะหากย้อนไปในช่วงปี 1960 ที่โลกต้องเจอทั้งสงครามและการต่อสู้ทางการเมือง โลกที่ตกอยู่ในสงครามทางความคิด ศิลปะและวัฒนธรรมอย่างมากมาย แต่ท่ามกลางเหตุการณ์สงครามและการต่อสู้ที่เกิดขึ้นนั้น สะท้อนให้เห็นว่าทุกคนมีสิทธิที่จะประท้วง ทุกคนมีสิทธิที่จะส่งเสียงของตัวเองออกมา โดยเฉพาะช่วงนั้นเป็นยุคที่มีการพยายามต่อสู้เรื่องสิทธิ โดยเฉพาะสิทธิคนผิวดำ
“ที่ผมเล่าให้เห็นสภาวะของการเปลี่ยนการเมืองในยุคนั้น เพราะมันมีความเข้มข้นมาก ไม่ว่าจะกลุ่มนักศึกษาในฝรั่งเศสที่พยายามจะลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง มันสะท้อนว่าประชาชนยุคนั้นเริ่มมีความหวัง ความต้องการสร้างสิ่งใหม่ๆ และความต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงของมนุษย์ เหมือนดังเพลง ‘imagine’ ของ john lennon”
ในขณะเดียวกัน อาจารย์ชัยวัฒน์อธิบายต่อว่าในช่วงนั้นมีความพยายามสร้างทฤษฎีต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ขึ้นมาเพื่ออธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับการเกิดทฤษฎี Chaos Theory หรือทฤษฎีความอลวน ซึ่งเป็นทฤษฎีที่อธิบายถึงลักษณะพฤติกรรมของระบบพลวัต กล่าวคือระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงตามเวลาที่เปลี่ยนไป โดยทฤษฎีดังกล่าวขนานกับทางด้านความคิดที่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน
“การเริ่มออกเดินทางแสวงหาความหมายในชีวิต หรือการมีอยู่ขององค์สมเด็จทะไลลามะ (Dalai Lama) มีอิทธิพลสะเทือนทางความคิดในหมู่นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อย และมันทำให้เกิดการพบกันระหว่าง spiritual และ science เกิดความพยายามเบลนด์สองสิ่งนี้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ฉะนั้นจึงเกิดเป็นเรื่องใหม่ ความคิดใหม่ กระบวนทัศน์ใหม่ก่อตัวขึ้นมา เราจึงเห็นโมเมนตัมของการเดินทางทางความคิดและทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เดินไปด้วยกัน”
ทั้งหมดทั้งมวล สิ่งที่น่าสนใจคือการที่อาจารย์ชัยวัฒน์พยายามพาเราทุกคนมองย้อนกลับไปสู่รากของสิ่งที่เกิดขึ้น
“มองสืบสาวไปเรื่อยๆ เราจะเห็นว่าในโลกนี้มันมีการก่อตัวขึ้นมาของความคิด ซึ่งในฐานะผู้นำแห่งอนาคต หากคุณใส่ใจดูกระแสความคิดว่ากว่าจะมาเป็นวันนี้ มันมีที่มาอย่างไร มันจะทำให้คุณรู้ที่ไปที่มา
“สรุปสั้นๆ ผมแค่อยากบอกว่าการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัยมันมี spirit of time หรือ จิตวิทยาแห่งกาลเวลา ซึ่งแต่ละยุคก็ไม่เหมือนกันและส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น
“ถ้าเป็นคนไทยผมขอนุญาตยกตัวอย่างชื่อของ อาจารย์ป๋วย, อาจารย์ปรีดี บุคคลเหล่านี้เขาก็ต่อสู้ใน spirit of time ของเขา เขาสู้เรื่องประชาธิปไตย อิสรภาพ อุดมการณ์ทางการเมืองต่างๆ ฉะนั้นถ้าเรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้น เราจะมองเห็นถึงเรื่องราว เรื่องเล่า ความคิด เราจะเห็นพลังงาน เห็นคนที่อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงนั้น คำถามคือ spirit of time ของยุคนี้สำหรับคุณคืออะไร?
“ปัจจุบันพวกเราอาจจะมีความพร้อมเหลือล้นกว่าคนในยุคอดีต ไม่ว่าจะเทคโนโลยีหรือวัตถุ แล้วจิตวิญญาณการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยนี้คืออะไร เราจะไปทิศทางไหนต่อ ตอนนี้หลายๆ คนพยายามดิ้นรนต่อสู้ไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดก็ตาม
“ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่มันเกิดขึ้นเมื่อพูดถึงโลกเปลี่ยน คือการต้องอย่าลืมว่าภายใต้สถานการณ์หรือความคิดที่เกิดขึ้นมันมีที่มาที่ไปอย่างไร ผ่านการดิ้นรน ผ่านการบดขยี้ เพราะมนุษย์ต่อสู้ภายใต้ข้อจำกัดมาแล้วนับไม่ถ้วน”