โรคทางใจ รักษาได้ด้วย Empathy
Reading Time: < 1 minuteการให้ความเข้าใจ (empathy) คือพลังแห่งการเยียวยาขนานดีในการพาคนตรงหน้าให้ก้าวพ้นความเจ็บปวดจากโรคร้ายทางใจ ด้วยการรับฟังและเข้าอกเข้าใจอย่างเพียงพอ ซึ่งในฐานะผู้ฟังนั้น เราไม่จำเป็นต้องเป็นผู้รู้หรือเชี่ยวชาญในศาสตร์จิตวิทยา หรือต้องผ่านการเรียนรู้ด้านจิตวิเคราะห์
สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือความสามารถในการอยู่กับความรู้สึกและความต้องการของคนตรงหน้า ณ ช่วงเวลาเดียวกัน
การสื่อสารอย่างสันติ (Non Violence Communication: NVC) ทักษะของการให้ความเข้าใจ (Giving Empathy) นั้น คือทักษะที่ต้องฝึกฝนและอาจฝืนนิสัยเดิมของเราๆ ไม่น้อย ซึ่งก่อนที่เราจะสามารถให้ความเข้าใจแก่คนรอบข้างได้ เราอาจต้องให้ความเข้าใจกับตนเองก่อนเป็นอันดับแรก
ข้อเขียนถัดจากนี้ คือแนวทางในการให้ความเข้าใจต่อตนเอง ต่อคนรอบข้าง ที่จะทำให้เราสามารถนำไปฝึกฝนเพื่อดูแลความสัมพันธ์และหัวใจของคนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้น
เข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้
ในการทําความเข้าใจตนเอง เราจะใช้ความกรุณาและความใส่ใจเช่นเดียวกับที่เราให้ผู้อื่น โดยมองให้ทะลุผ่านการตีความและการตัดสินตัวเอง เพื่อให้เราเห็นความรู้สึกและความต้องการของตัวเราเองได้อย่างกระจ่างชัด เป็นอิสระจากภาพลักษณ์ที่เรามีกับตัวเอง การเข้าใจตนเองอย่างถ่องแท้นั้น ไม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ในเร็ววัน หากแต่ต้องผ่านการทำซ้ำ ฝึกฝน ฝืนนิสัยเดิม และรับรู้ถึงความรู้สึกของตนเองอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งหากเราสามารถเข้าใจตนเอง (Self Empathy) ได้นั้น จะยังประโยชน์ต่อตนเองและคนรอบข้างมหาศาล
หนึ่ง การเข้าใจและยอมรับความรู้สึกและความต้องการของตนเองอย่างตรงไปตรงมา จะทำให้เราสามารถเข้าถึงการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้
สอง เราจะรู้สึกหวั่นไหวกับคำปฏิเสธของผู้อื่นน้อยลง เพราะเราสามารถกลับมาดูแลตัวเองได้ เราพึ่งพาตนเองมากกว่าผู้อื่น และสามารถปลดล็อคตัวเองจากการจองจำโดยคำพูดของผู้อื่น
การเข้าใจตนเอง (Self Empathy) คือการไม่เอาความสุขของตนเองไปไปฝากไว้กับการกระทำ สีหน้า และคำพูดของคนอื่น หากแต่เราฝากความสุขนั้นไว้กับการ Empathy ตนเอง ถ้าเป็นเช่นอย่างหลังได้นั้น เราจะเป็นไทมากขึ้น รู้สึกได้ถึงความอิสระเพียงแค่ใส่ใจรากและความต้องการของตนเองอย่างแท้จริง
เราอยู่ด้วยกัน ในช่วงเวลาเดียวกัน
คือการอยู่กับปัจจุบันและใส่ใจกับผู้ที่อยู่ต่อหน้าของเรา ณ ขณะนั้นว่า เขามีความรู้สึกและความต้องการอะไรบ้าง โดยละวางความคิดเห็นหรือการตัดสินของเราลงก่อน แม้ว่าเราไม่อาจหยุดความคิดของตนเองได้ แต่เมื่อใดที่ตระหนักรู้ได้ว่าเรากําลังตัดสินหรืออยากแสดงความคิดเห็นของตนเองบ้าง ขอให้ละวางความคิดเหล่านั้นลงเสียก่อน แล้วกลับมาใส่ใจกับผู้พูดที่อยู่ต่อหน้าเราเป็นสําคัญ
เช็คความเข้าใจของตนเอง
ดูว่าความเข้าใจของเราถูกต้องหรือไม่โดยการตั้งคําถาม เพราะเราไม่สามารถล่วงรู้ได้จริงๆ ว่าอีกฝ่ายหนึ่งรู้สึกและต้องการอะไร ดังนั้น ความเข้าใจของเราอาจช่วยตอบสนองความต้องการที่จะเข้าใจตัวเองของอีกฝ่ายหนึ่ง หรืออาจจุดประกายให้เขาได้ค้นพบตนเอง โดยการตั้งคําถาม เช่น
“เมื่อคุณได้ยินพ่อบ่นคุณเรื่องกลับบ้านดึก คุณรู้สึกน้อยใจ เพราะคุณต้องการให้พ่อถามถึงเหตุผลของการกลับบ้านดึกก่อนจะต่อว่าใช่ไหม?”
หรือ “คุณเห็นแฟนใช้เงินฟุ่มเฟือย คุณจึงรู้สึกเป็นห่วงเพราะคุณต้องการให้เขามีการเงินที่มั่นคงใช่ไหม?”
การตั้งคำถามนั้น มีพื้นฐานคือ ‘ต้องการความเข้าใจที่แท้จริง’ หรือหากอีกฝ่ายหนึ่งสามารถพูดความรู้สึกและความต้องการของตัวเองได้อย่างชัดเจนแล้ว เราอาจไม่จําเป็นต้องคาดเดาความรู้สึก ความต้องการ หรือตั้งคำถามกับคนตรงหน้าก็ได้ สิ่งที่เราทําได้ดีที่สุดคือรับฟังและอยู่กับผู้ที่กําลังพูด เพียงเท่านี้อีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถสัมผัสได้ถึงความเข้าใจที่เรามีให้กับเขาแล้ว
ความเข้าใจที่แท้ นำไปสู่วิธีการที่ดี
เมื่อแน่ใจว่า ผู้พูดได้รับความเข้าใจอย่างเพียงพอแล้ว เราสามารถหยุดกระบวนการนี้ได้หรือเปลี่ยนความสนใจไปที่ ‘การหาวิธีแก้ปัญหา’ ถ้าเขาต้องการให้เราช่วย
อย่างไรก็ตาม หากเรากระโดดไปที่ขั้นตอนการแก้ปัญหาเร็วเกินไป อาจทําให้ผู้พูดคิดว่าเรายังไม่เข้าใจเขาอย่างเพียงพอ และหากเราใช้เวลาฟังจนเข้าใจเขาอย่างเพียงพอแล้ว ย่อมเป็นประโยชน์สําหรับการหาทางแก้ปัญหาอีกด้วย
แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่าผู้พูดได้รับความเข้าใจอย่างเพียงพอแล้ว คำตอบคือ เมื่อเขาแสดงอาการผ่อนคลายหรือโล่งอกออกมา โดยสังเกตการเปลี่ยนแปลงทางกาย เช่น สังเกตเห็นเขาถอนหายใจด้วยสีหน้าที่ผ่อนคลายลง หรือขยับตัวไปนั่งพิงพนักเก้าอี้อย่างสบายๆ นอกจากนี้ เราอาจสังเกตจากการใช้คําพูดของเขา เช่น เขาอาจจะหยุดพูดด้วยท่าทีที่ผ่อนคลาย หากเราไม่แน่ใจว่าจะหยุดกระบวนการดีหรือไม่ เราสามารถถามเขาได้ว่า “มีอะไรที่คุณอยากจะพูดอีกไหม”
ทำไมเราถึงไม่เข้าใจกันเสียที
“ฉันว่าทางที่ดีคุณควรจะ…”
“โอ๊ย เรื่องของคุณมันเล็กนิดเดียว ผมเจอมามากกว่านี้เสียอีก”
“ฉันเห็นมาหลายรายแล้ว เธอควรจะ…”
“เรื่องของคุณ ทำให้ผมคิดถึงเรื่องที่ผมเจอมา เรื่องนั้นมีอยู่ว่า…”
“ฟังเรื่องของเธอแล้ว ฉันล่ะสงสารเธอจริงๆ”
“คุณทําอย่างนั้นได้ยังไงทําไมถึงใจแคบนัก”
ข้อความข้างต้น คือตัวอย่างของการสื่อสารที่เป็นอุปสรรคต่อการสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจ แต่หากว่ากันตามตรง การให้ความเข้าใจผู้อื่นในทางปฏิบัตินั้นถือเป็นเรื่องยาก และบ่อยครั้งที่เราอยากแสดงออกด้วยการตัดสิน สั่งสอน หรือแนะนำมากกว่าการแสดงความเข้าใจ
เราจึต้องพิจารณาให้แน่ชัดก่อนว่า อีกฝ่ายหนึ่งนั้นต้องการคําแนะนําหรือไม่ หรือว่าในขณะนี้เขาต้องการเพียงความเข้าใจเท่านั้น
เราอาจใช้การถามเพื่อรับรู้ความต้องการของอีกฝ่ายให้ชัดเจนเลยก็ได้เช่น “ตอนนี้คุณต้องการคําแนะนําจากฉัน หรืออยากให้ฉันทําความเข้าใจกับความรู้สึกของคุณ” หรืออาจตามด้วยการบอกจุดประสงค์ที่เราถามเขาว่า “ที่ฉันถามอย่างนี้เพื่อจะได้คุยกับคุณได้ตรงกับสิ่งที่คุณต้องการ”
ในกรณีที่เราไม่สามารถแสดงความเข้าใจผู้อื่นได้นั้น คือสัญญาณที่กำลังบอกว่า ตัวเราเองโหยหาความเข้าใจเช่นกัน ดร.มาร์แชล โรเซนเบิร์ก เจ้าของทฤษฎีการสื่อสารอย่างสันติได้เปรียบเทียบไว้ว่า ผู้เป็นแม่ไม่สามารถให้นมลูกน้อยได้ถ้าตัวเธอเองยังไม่ได้รับการบํารุงเลี้ยงอย่างเพียงพอ ฉะนั้น ถ้าเรารู้ตัวว่าเราขาดความเข้าใจ เราอาจจะเปิดโอกาสให้ใครสักคนมอบความเข้าใจให้เราก่อน หรือให้ความเข้าใจกับตัวเราเอง เมื่อได้รับความเข้าใจอย่างเต็มเปี่ยมแล้ว เราจะสามารถให้ความเข้าใจผู้อื่นได้อย่างเต็มที่เช่นกัน
– ถอดบทเรียนจากเวทีพัฒนาศักยภาพผู้นำแห่งอนาคต ‘ผู้นำร่วมสร้างสุข’ ตอนปัญญาภายในบ่มเพาะศักยภาพผู้นำ นำโดยกระบวนกรจากสถาบันขวัญแผ่นดิน ณัฐฬส วังวิญญู, ภาคภูมิ แสงบุญ, ธานินทร์ แสนทวีสุข
– ดร.ไพรินทร์ โชติสกุลรัตน์ , หนังสือสื่อสารอย่างสันติ คู่มือการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและแก้ไขความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์, โครงการส่งเสริมแกนนําสร้างสันติในระบบสาธารณสุข เสมสิกขาลัย