Korkankru

บัวหลวงก่อการครู

กนกพร พิมพา: เมื่อครูเอาชนะเด็กหนึ่งครั้ง ประตูแห่งความสัมพันธ์ก็ปิดลงทันที1 min read

Reading Time: 2 minutes ตอนเรียนครูเราไม่อินเลย เพิ่งจะเริ่มมาชอบก็ตอนฝึกสอน ตอนนั้นเราเจอเด็กที่ถุยน้ำลายลงพื้นเพื่อให้เราเดินไปเหยียบ เอาเรื่องมาก แต่ตอนนั้นสิ่งที่เราคิดคือ เด็กคนนี้ต้องมีอะไรบางอย่างในใจจากการทำแบบนี้ เราอยากรู้ อยากแก้ปัญหา มันต้องมีอะไรสักอย่างที่ทำให้เด็กคนนี้แสดงออกแบบนี้ มันเพราะอะไรกันนะ Jul 20, 2022 2 min

กนกพร พิมพา: เมื่อครูเอาชนะเด็กหนึ่งครั้ง ประตูแห่งความสัมพันธ์ก็ปิดลงทันที1 min read

Reading Time: 2 minutes

มุก-กนกพร พิมพา เพิ่งบรรจุเป็นครูที่ โรงเรียนวัดอัมพวัน จังหวัดลพบุรี ได้ 7 เดือนเท่านั้น วัดจากอายุและชั่วโมงบินในการสอนหนังสือ เธอคือครูน้องเล็กสุดในโรงเรียน

หากฝันแรกของมุกคือพยาบาล ไม่เฉียดใกล้ครูเลยด้วยซ้ำ

แต่เพราะครอบครัวต้องแบกรับค่าใช้จ่ายส่งเสียลูกหลานเรียนหลายคน มุกจึงจับพลัดจับผลูมาเรียนครูโดยปริยาย

“ตอนเรียนครูเราไม่อินเลย เพิ่งจะเริ่มมาชอบก็ตอนฝึกสอน ตอนนั้นเราเจอเด็กที่ถุยน้ำลายลงพื้นเพื่อให้เราเดินไปเหยียบ เอาเรื่องมาก แต่ตอนนั้นสิ่งที่เราคิดคือ เด็กคนนี้ต้องมีอะไรบางอย่างในใจจากการทำแบบนี้ เราอยากรู้ อยากแก้ปัญหา มันต้องมีอะไรสักอย่างที่ทำให้เด็กคนนี้แสดงออกแบบนี้ มันเพราะอะไรกันนะ”

แม้จะไม่ได้รักใคร่อาชีพครูตั้งแต่เริ่ม แต่เมื่อมีคำว่าครูนำหน้า เธอวางเป้าหมายแน่วแน่ไว้ว่า “ฉันจะไม่เป็นแบบครูที่เคยเจอเมื่อตอนเป็นนักเรียน”

“ตอนเด็กเราไม่ชอบไปโรงเรียนเลย เราเจอการบังคับหลายๆ อย่าง บางครั้งมันเล็กมากจริงๆ เช่น บังคับให้กินขนมจีนน้ำยาใส่กะทิ ทั้งที่เราไม่ชอบกิน โดนบังคับให้เอาก้านกล้วยไปแปะกระดาษให้เป็นรูปดอกไม้ให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็โดนหยิก หรือเจอห้องเรียนที่ให้ไปทำแบบนี้แบบนั้นมานะ ไม่เคยถามว่าเราอยากทำแบบไหน เด็กๆ เราเจอแต่อะไรแบบนั้น”

เมื่อครูที่ชอบเอาชนะเด็ก ถูกบังคับให้มาอบรม

เมื่อมาเป็นครู มุกต้องรับมือกับเด็กมากมายที่แสบสันเอาเรื่อง นั่นทำให้เธอค้นพบว่า การแก้ปัญหาด้วยวิธีเอาชนะเด็กด้วยอำนาจ คือการสร้างปัญหาอย่างไม่สิ้นสุด

“แรกๆ ที่เริ่มสอน ก็เป็นครูที่ใช้คำกับเด็กว่า ‘ทำไมถึงทำไม่ได้’ ‘เพราะอะไรถึงทำไม่ได้ มันแค่นี้เอง’ เป็นครูที่ชอบเอาชนะเด็ก เพราะมั่นใจว่าฉันมีความรู้มากกว่า ยังไงฉันก็ชนะ เพราะฉันรู้เยอะกว่า ยิ่งตอนฝึกสอน เราไปสอนมัธยมปลาย โอ้โห เป็นวัยที่กำลังลองของ แล้วครูก็อยากลองของเด็ก”

เพราะเมื่อครูมุกเอาชนะเด็กได้หนึ่งครั้ง แปลว่าประตูแห่งความสัมพันธ์ที่เธอเพียรสร้างก็ได้ปิดลงเช่นกัน นั่นมิใช่ทางออกของการแก้ปัญหาแต่อย่างใด เธอจึงได้ทดลองวิธีการหลากหลายแบบด้วยกัน ความที่เป็นครูอายุน้อย เธอจึงเข้าหาเด็กด้วยความสัมพันธ์ฉันเพื่อน และด้วยบุคลิกห้าวหาญอารมณ์ดี ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนจึงถักทอเข้าหากันได้ไม่ยาก

แต่ถึงอย่างนั้น ครูมุกรู้ตัวดีว่า เธอยังมีเครื่องมือและประสบการณ์ไม่มากพอที่จะทำงานกับเด็ก และเป็นขณะเดียวกันที่ผู้อำนวยการโรงเรียนมอบหมายให้เธอเข้าร่วมกิจกรรม ‘บัวหลวงก่อการครู’

“ไม่อยากมา! เราโดน ผอ. บังคับให้มา (หัวเราะ) ตอนนั้นก็งอแงในใจ ทำไมต้องบังคับเรา คนอื่นพร้อมมากกว่าเราอีก ทั้งเรื่องทุนทรัพย์ ประสบการณ์ ทำไมไม่ให้คนอื่นมา ทำไมต้องเป็นฉัน บวกกับการเดินทาง เราไม่มีรถส่วนตัว เราต้องมารถเมล์ โอ้ย ทรมานทรกรรม ไม่อยากเข้าอบรม”

เมื่อเดินทางมาด้วยความรู้สึกเช่นนั้น เริ่มแรกของการเข้าร่วมกิจกรรม ครูมุกไม่ได้รู้สึกสนใจแม้แต่น้อย จิตใจพะวงกับเอกสารและการงานกองโตที่คั่งค้าง แม้ว่ากิจกรรมตรงหน้าจะไม่ใช่การอบรมชวนง่วงอย่างที่เคยเจอ แต่ครูมุกก็สารภาพว่า ขณะนั้นเธอไม่เปิดรับสิ่งใดเลย

จนกระทั่งครูมุกได้เจอกับ หมอพนม เกตุมาน อาจารย์ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล หนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการก่อการครูและกระบวนกรในกิจกรรม

“เรามาเข้าร่วมกิจกรรมในช่วงที่ชีวิตเจอปัญหาหนักมาก เราเลยไม่อิน แต่รู้สึกโชคดีมากที่ได้ไปเจอคุณหมอพนม เราได้ปล่อยปัญหา ความทุกข์ทุกอย่างออกไปหมดเลย ไม่ว่าจะเรื่องราวในอดีต ปัญหาที่เกี่ยวกับตัวเรา กับการงาน ปล่อยออกหมดจริงๆ”

‘ครูคือมนุษย์’ คือชื่อของโมดูลแรกที่ครูมุกไปเข้าร่วม ซึ่งหลังจากได้พบ หมอพนม เกตุมาน และได้ปลดเปลื้องเรื่องราวที่เธอแบกไว้เต็มบ่า กิจกรรมต่อๆ มา จึงไม่มีอุปสรรคใดมาขวางกั้นการเรียนรู้ที่อยู่ตรงหน้า

คลาสต่อมาที่เธอเข้า มีชื่อว่า ‘ห้องเรียนแห่งอำนาจ’

“มันเป็นห้องที่เรารับทุกสิ่งเข้ามาได้ เพราะเราปล่อยความทุกข์ออกไปหมดแล้วในห้องก่อนหน้านี้ (หัวเราะ) กลายเป็นว่า เราเปิดใจกับห้อง พี่ก๋วย-พฤหัส พหลกุลบุตร มากๆ เราเข้าใจหลายๆ อย่างมากยิ่งขึ้นว่า ทำไม ผอ. ต้องทำแบบนี้ ทำไมครูที่โรงเรียนเป็นแบบนี้ พี่ก๋วยพาทำกิจกรรมห้องเรียนแห่งอำนาจ ว่าเวลาเราต้องเป็นผู้ตาม เรารู้สึกอย่างไร แล้วพอเป็นผู้นำบ้าง เรารู้สึกแบบไหน มันทำให้เราเริ่มทำความเข้าใจอีกฝ่ายมากขึ้น


ห้องเรียนแห่งนี้ กติกามีอยู่ว่า ให้ครูจับกลุ่ม 4 คน ครูคนแรกชี้นิ้วไปยังครูคนที่สอง และครูคนที่สองกางนิ้วสองข้างเพื่อชี้ไปยังครูคนที่สามและสี่ โดยครูต้องเคลื่อนไหวตามที่นิ้วชี้สั่งการ สลับตำแหน่งการนำ – ตาม จนครบทุกคน

“ตอนเราเป็นผู้ตาม ต้องเดินไปตามที่เขาสั่ง เราอึดอัด เราไม่ชอบเลย แต่พอมาเป็นผู้นำบ้าง เรารู้สึกดี แต่อีกใจหนึ่งก็ต้องระแวดระวังด้วยว่า คนที่เขาตามเราอยู่เขาจะเป็นยังไง แล้วยิ่งเราต้องนำคนหลายๆ คนยิ่งทำให้เรารู้สึกว่า อ๋อ ผอ. เองเขาคงรู้สึกคล้ายเรา เขาก็ต้องคอยระวังให้เรา แต่บางบริบทมันก็ยากสำหรับเขาเหมือนกัน เขาก็ต้องเด็ดขาด ไม่พอนะ เราอ๋ออีกว่า ความจริงแล้ว นักเรียนเขาก็ไม่ได้อยากจะตามเราไปเสียทุกเรื่องเหมือนกัน”

ฉันอยากเป็นครูที่ ‘ผิด’ ได้

“ความที่เราเพิ่งมาเป็นครูได้ไม่นาน เราคิดมาตั้งแต่แรกว่าอยากอยู่กับเด็กแบบเพื่อน ไม่ได้อยากอยู่กับเด็กด้วยการขู่ให้กลัว เพื่อให้เด็กทำตาม หรือสวมหัวโขนทำหน้ายักษ์ว่าฉันคือครูนะ”

หลังจากการอบรมตั้งแต่โมดูลแรก: ครูคือมนุษย์ ตามมาด้วยอีกหลายๆ ห้องเรียนในตลาดวิชา ไปจนถึง โมดูล 3: Authentic Learning ครูมุกบอกว่า เธอได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่าง ทั้งการได้สำรวจภายในของตัวเอง ทำความเข้าใจความแตกต่างของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เติมเครื่องมือและทักษะต่างๆ เช่น ทักษะการฟัง การตั้งคำถาม การใช้จิตวิทยาเชิงบวก

นั่นทำให้ทุกเช้าของการตื่นนอนเพื่อไปสอนหนังสือของเธอเปลี่ยนไป

“พอเราได้ทำความเข้าใจตัวเองมากเท่าไหร่ เรายิ่งเห็นหัวใจของคนอื่นมากขึ้น ทั้งของคนรอบตัว ของเด็ก เห็นความแตกต่าง เห็นความทุกข์ของเขา เห็นสิ่งที่เขาเผชิญ

“แต่ใช่ว่าห้องเรียนของเราจะเปลี่ยนไปจากเดิมมากนัก หลายสิ่งต้องใช้เวลา แต่สิ่งที่เห็นชัดที่สุดคือเป้าหมายของตัวเราเอง การอยู่กับนักเรียนแบบเพื่อน หมายถึงว่า เขามีอะไรก็มาเล่าให้เราฟังโดยไม่ต้องร้องขอ”

เป้าหมายแรกที่ครูมุกวางไว้ คือการสร้างความสัมพันธ์ให้เด็กรู้สึกว่าเล่าได้ ปรึกษาได้ แชร์ความรู้สึกได้ เพราะครั้งหนึ่งที่ครูมุกเป็นนักเรียน เธอเลือกที่จะ ‘ไม่เล่าดีกว่า บอกไปทำไม แก้อะไรให้ไม่ได้หรอก แก้เองดีกว่า’ เธอไม่ต้องการเป็นครูที่ถูกเด็กๆ ทิ้งไว้ข้างหลัง

“มีครั้งหนึ่ง อยู่ดีๆ นักเรียนก็เดินมาเล่าให้ฟังว่ารู้สึกอย่างไร เจอปัญหาอะไร แล้วผมจะทำอย่างไรดี มันทำให้เรารู้สึกว่า เราบรรลุเป้าหมายที่เราอยากให้เขารู้สึกกับครูแบบเพื่อนที่คุยกันได้”
ไม่เท่านั้น ครูมุกนำกิจกรรม ‘ถนนชีวิต’ ที่ได้เรียนรู้จากหมอพนม ไปใช้แก้ปัญหากับนักเรียนคนหนึ่ง คนที่เด็กทุกคนแปะป้ายให้ว่า ‘เด็กคนนี้ทำไม่ได้หรอก ปล่อยเขาไปเถอะ’

“เด็กคนนี้เขาเคยถูกให้ซ้ำชั้นมาสองปี เรียนช้ากว่าเพื่อน คนชอบมองเขาว่า ทำไม่ได้หรอก เราก็เลยลองเอากิจกรรมถนนชีวิตไปใช้ ให้เด็กตั้งเป้าหมายระยะสั้นๆ ว่าเขาคาดหวังอะไร ระหว่างทางนี้เขาผ่านอะไรมาบ้าง และเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย เขาจะต้องทำอะไรบ้าง

ถนนชีวิต ได้พาครูมุกเดินทางไปยังเรื่องราวของเด็ก ความทุกข์ที่เขาเผชิญ ความสุขที่เขามี และเป้าหมายที่เขาอยากไปให้ถึง นั่นคือ ‘การเรียนให้จบ ป.6’ เมื่อเข้าใจเช่นนั้นแล้ว ครูมุกจึงชวนคลี่ออกเป็นฉากๆ ถึงสิ่งที่เด็กต้องก้าวผ่านเพื่อไปยังเป้าหมายอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ หนึ่ง ข้อสอบ และสอง งานที่ต้องส่ง

“พอเขาเห็นเป็นขั้นๆ ว่าอย่างน้อยเขาต้องทำอะไรบ้าง ตอนนี้เขาก็เริ่มกลับเข้ามาเรียน จากเมื่อก่อนที่ไม่สนใจหรืออยู่ดีๆ ก็เดินออกไปนอกห้อง ไม่เรียน แถมไม่มีใครสนใจที่จะตาม”

ครูมุกและเด็กจึงช่วยกันวางแผนระยะสั้นในการเรียน โดยไม่ให้เด็กรู้สึกว่ายากจนเกินไป แต่ค่อยๆ คลี่ให้เห็นเป็นขั้นๆ ถึงข้อสอบที่เขาต้องเจอ ถึงงานที่เขาต้องส่ง ถึงสิ่งที่เขาต้องเรียน ใจความสำคัญคือ ไม่ต้องทำข้อสอบถูกทั้งหมด ไม่ต้องทำงานถูกต้องครบถ้วนก็ได้ หนูผิดได้ พลาดได้ แค่ทำมาให้ครู ครูมุกก็ให้คะแนนแล้ว

“สิ่งที่ทำให้เราดีใจมาก คือวันที่เราถามโจทย์คณิตศาสตร์ในห้องเรียนว่าใครตอบได้บ้าง ทั้งห้องก็เกี่ยงกันนะ แต่เด็กคนนี้เขายกมือขึ้นมาตอบ ตอบอย่างมั่นใจ ตอบซ้ำอยู่อย่างนั้นหลายครั้ง ‘เฮ้ย เราทำสำเร็จแล้ว สิ่งที่เราพยายามมันเห็นผลบ้างแล้ว’”

ทั้งหมดนี้ ครูมุกเชื่อในตัวเด็กนักเรียนว่าเขาทำได้ และไม่ใช่แค่เชื่อ เธอใช้กระบวนการพาให้เด็กไปเห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะไปสู่เป้าหมาย ความเป็นไปได้ที่ไม่ยากจนเกินไป และความเป็นไปได้ที่มีเธออยู่ข้างๆ

เราต่างหมดไฟได้ในทุกๆ วัน

“เหนื่อยแล้ว หมดไฟแล้ว ไม่อยากตื่นมาสอน เมื่อก่อนเราคิดแบบนี้”

ความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นด้วยหลายเหตุผล ทั้งระบบการศึกษาที่ไม่เอื้อให้ครูผู้น้อยได้สร้างสรรค์ ทั้งภาระการงานกองโตที่นอกเหนือจากการสอน เอกสารประเมิน ปัญหาชีวิต สารพัดสิ่งที่ถาโถมสู่มนุษย์คนหนึ่ง

และอีกเหตุผลสำคัญ ครูมุกบอกว่า “เรากลัว ว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ไปสร้างบาดแผลให้เด็กๆ

“ก่อนที่จะมาก่อการครู มันคือความรู้สึกนี้เลย อยากจะไปลาออกทุกวัน แต่พอมาโครงการนี้ มันเหมือน… ถูกดึงอะไรบางอย่างที่อยู่ข้างในตัวเราออกมา เห็นวิธีการที่จะทำให้เด็กดีขึ้นแบบไม่เจ็บช้ำ ทำให้เรามั่นใจอย่างหนึ่งว่าเราจะไม่ไปสร้างบาดแผลให้นักเรียน เหมือนที่เราถูกกระทำมาตอนเป็นนักเรียน ก็เลยทำให้เรารู้สึกว่า มันดีที่จะเป็นครูต่อไป”

แล้วอะไรทำให้ครูมั่นใจว่าจะไม่สร้างบาดแผลให้เด็ก? – เราถามกลับ

“เรามีอาวุธตั้งเยอะแยะที่ได้จากก่อการครู แล้วเราจะไปใช้อำนาจ ใช้ความรุนแรงต่อไปทำไม ในเมื่อเรามีอาวุธ มีเครื่องมือในการทำงานหลายอย่างที่เราเลือกหยิบมาใช้ได้ โดยที่ไม่ต้องใช้มีดทิ่มแทงนักเรียน” ครูมุกตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่น

This image has an empty alt attribute; its file name is bbl-supported.png

Your email address will not be published.