กริยาสามช่องของการศึกษา: อดีตที่เคยชิน ปัจจุบันอันเจ็บปวด และอนาคตที่ใฝ่ฝัน
Reading Time: 2 minutesกล่าวกันอย่างถึงที่สุด ‘ครู’ ไม่ใช่อาชีพอันพึงปรารถนาในประเทศนี้อีกต่อไปแล้ว นับกันแค่ช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา พาดหัวข่าว ‘ครูประกาศลาออก’ ปรากฏขึ้นเป็นระยะๆ การลาออกไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เหตุผลของการเลือกที่จะลาออกจากอาชีพที่ใครหลายคนบากบั่นร่ำเรียนมาถึง 4 ปี หรือมากกว่านั้นนี่สิน่าสนใจ ว่านอกจากจะสะท้อนโครงสร้างของระบบการศึกษาของประเทศได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังสะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษา ไปจนถึงทำนายอนาคตของประเทศจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ไม่น้อยก็มาก
‘ภาระงานของครูที่มากเกินไป, ค่าตอบแทนที่น้อยเกินไป, ระบบที่ขาดความเข้าใจในสิทธิและสวัสดิภาพในการทำงาน, ครูถูกผลักให้ต้องรับผิดชอบปัญหาที่เกิดขึ้น, อำนาจรวมศูนย์ โรงเรียนไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ, ขาดการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพภายในองค์กร, การศึกษา โรงเรียน ชุมชน ถูกแยกขาดออกจากกัน’
ขณะที่เราเรียกร้องให้ครูต้องเป็นทุกอย่าง แต่การศึกษาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมากลับคับแคบจนครูหายใจหายคอกันอย่างลำบาก ครูไม่น้อยแพ้พ่ายและชิงลาออกเพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตที่ดีขึ้นบนเงื่อนไขที่แตกต่างกัน นั่นไม่ผิดอะไร และครูไม่น้อยอีกเช่นกันที่ยังมองเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและฝันถึงอนาคตที่ดีกว่า
‘ครูตู้’ สราวุฒิ พลตื้อ จากโรงเรียนหัวหินวัฒนาลัย, ‘ครูอ้อม’ ชุตินธร หัตถพนม จากโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู, ‘ครูยอร์ช’ ณัฐพงศ์ อนุสนธิ์ จากโรงเรียนทุ่งแฝกพิทยาคม คือหนึ่งในจำนวนครูที่พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น อย่างน้อยๆ ก็ในพื้นที่ห้องเรียนของตน
ปัญหาอะไรที่พวกเขาต้องเจอ ห้องเรียนแบบไหนที่กำลังสร้าง เขาทำอย่างไร คิดฝันแบบไหน และต้องเจอกับอุปสรรคอะไร ทั้งหมดคือสิ่งที่ก่อการครูสนทนากับพวกเขา
เมื่อการศึกษาทำราวกับว่า ‘กลัวเราฉลาด’
“ถ้ามองไปถึงตัวปัญหาในห้องเรียน สิ่งสำคัญคือเรื่องของหลักสูตรการศึกษาแกนกลางที่ดิ้นได้ยาก หลักสูตรที่แข็งตัว เอาไปใช้จริงๆ ในห้องเรียนยาก ขาดความยืดหยุ่น พอเราพยายามออกแบบให้การเรียนรู้มีความเป็นท้องถิ่นมากขึ้น มันก็ยังไปติดกรอบตัวหลักสูตรแกนกลางอยู่”
สำหรับครูยอร์ช หลักสูตรแกนกลาง เป็นเหมือนหัวใจของการศึกษาภาคสามัญ และไม่ต่างกับรากของปัญหาการศึกษาทั้งหมด เมื่อการเรียนการสอนเน้นครอบคลุมเนื้อหาตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรมากกว่าการคำนึงถึงการเรียนรู้ของนักเรียน เน้นที่ปริมาณมากกว่าคุณภาพและการพัฒนาทักษะ หรือครั้นครูจะออกแบบการเรียนการสอนที่นอกเหนือจากตำรา กลายเป็นว่าต้องมาเจอข้อจำกัดของเวลาและจำนวนนักเรียนที่ล้นห้อง ไม่นับภาระงานกองพะเนินนอกเหนือการเรียนการสอน ในทางปฏิบัติมันจึงไม่ง่าย และทำให้ครูกระทั่งนักเรียนหมดไฟได้ไม่ยาก
“จริงๆ มันสามารถเปลี่ยนได้จากการที่คุณครูพยายามจะออกแบบ แต่ด้วยความที่เราดิ้นได้ยากปริมาณของเนื้อหามันค่อนข้างเยอะมาก ตัวชี้วัดเยอะมาก แล้วเวลาที่เราไปพยายามออกแบบ เราก็ต้องไปออกแบบในจำนวนชั่วโมงที่สั้นแต่เนื้อหาเยอะมาก เราเลยเข้าใจครูหลายๆ ท่านที่พยายามสอนภายใต้ข้อจำกัดครับ”
ไม่ใช่แค่นักเรียนและครูที่ต้องรับภาระหนักอึ้ง เอาเข้าจริงผู้บริหารก็เผชิญสภาพไม่ต่างกันนัก เมื่อบทบาทผู้อำนวยการส่วนมากถูกวางตำแหน่งแห่งที่เป็นเพียงผู้รับคำสั่งจากส่วนกลาง บริหารจัดการโรงเรียนภายใต้การสอดส่องของผู้บังคับบัญชา
“ในมุมของผู้บริหาร ความรุงรังที่มันเกิดขึ้นคือการที่ ‘เดี๋ยวจะต้องทำตามนโยบาย’ มีโครงการเยอะแยะมากมาย ซึ่งเราเองมีแนวคิดอยากทำห้องเรียนให้มันสนุก อยากทำให้คุณครูทำงานให้มีความสุข แต่เดี๋ยวก็มีโครงการนั่นนี่เข้ามา ซึ่งเราไม่ได้บอกว่าเราจะไม่ทำ แต่เราจะดีไซน์ยังไงให้มันเป็นเรื่องของเราด้วย แล้วก็ตอบโจทย์เขาด้วย อีกปัญหาคือเรามักได้ยินตลอดเลยว่า ครูสอนไม่ตรงเอก ไม่ตรงสาขาวิชา ซึ่งถือเป็นอุปสรรคมากๆ และยากมากในการแก้ปัญหา”
หากผู้อ่านทำอาชีพ ‘ครู’ หรือเคยเป็นนักเรียน ย่อมถึงบางอ้อได้ไม่ยากจากเรื่องเล่าของ ‘ครูอ้อม’ ชุตินธร เราต่างคุ้นเคยกับโครงการมหาศาลที่ถาโถมมาในแต่ละปีการศึกษา ครูบางคนต้องไปจับจีบผ้า เด็กบางคนต้องไปซ้อมรำต้อนรับ บางไปจัดซุ้ม บ้างหัวหมุนกับเอกสารโครงการ
สิ่งที่ครูอ้อมทำ ในฐานะผู้อำนวยการ ไม่ใช่การยอมหักไม่ยอมงอในระบบที่คนตัวเล็กมักพ่ายแพ้ได้อย่างง่ายดาย แต่เป็นการต่อสู้ด้วยการผูกมิตร เธอเลือกที่จะทำโครงการต่างๆ โดยการดึง ‘สาระสำคัญ’ ของโครงการเหล่านั้น มาประยุกต์เข้ากับการเรียนรู้ที่โรงเรียนและครูออกแบบไว้ โดยยึดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญ
“เราต้องการสร้างมิตร ไม่ใช่ทำให้ทุกคนเป็นศัตรูของเราหมด เราต้องการให้ทุกคนเพื่อนเรา ฉะนั้นเราต้องมองหาว่าทำยังไงให้โครงการและสิ่งที่เราต้องการมันไปด้วยกันได้ทั้งคู่ เพียงแต่เราต้องหาว่าแก่นของเรื่องนี้คืออะไร แล้วศักยภาพของคุณครูและโรงเรียนของเรานั้น สามารถทำได้มั้ย ฉะนั้นในมุมของผู้บริหาร เรามีหน้าที่ดัดแปลงหรือจับแก่นของเรื่องนั้นมาทำให้เราไม่ลำบากมากนัก”
แต่ถึงที่สุด ระบบการศึกษาต่างหากคือตัวแปรสำคัญ ที่ต้องมองเห็นปัญหาและลดภาระงานที่ไม่จำเป็น มอบอำนาจการตัดสินใจที่ควรแก่ผู้บริหาร มอบค่าตอบแทนเวลา และพื้นที่ในการออกแบบห้องเรียนให้ครู และมอบการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นเจ้าของให้แก่พวกเขา
‘ชุมชน’ ทรัพยากรทางการเรียนรู้ที่ถูกมองข้าม
‘ครูตู้’ สราวุฒิ พลตื้อ จากโรงเรียนหัวหินวัฒนาลัย คืออีกหนึ่งคนที่ใช้เวลาหลายสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ความสัมพันธ์’ ที่ไม่ใช่แค่นักเรียนกับครู แต่รวมถึงโรงเรียนกับผู้ปกครอง และโรงเรียนกับชุมชน
“ส่วนใหญ่แล้ว การประชุมผู้ปกครองมันเป็นงานพิธีการ เราจะไม่ค่อยได้ลงลึก แต่ถ้าเราเปลี่ยนบทบาทจากที่ประชุมผู้ปกครอง เราเข้าไปในพื้นที่จริงๆ จะเห็นว่าพื้นที่ทุกอย่างรอบๆ ตัวชุมชนในบ้านของเด็กๆ เป็นพื้นที่ที่เรียนรู้ได้เลย หมายความว่าเราต้องเปลี่ยนบทบาทจากดึงความร่วมมือเป็นไปหาความร่วมมือหน่อย โรงเรียนต้องเปลี่ยนบทบาทหน่อย”
ชุมชนมีทรัพยากรทางการเรียนรู้มหาศาล ทั้งทรัพยากรบุคคล พื้นที่ และองค์ความรู้ สิ่งที่ครูตู้เริ่มทำคือการเดินเข้าไปหาชุมชน เพื่อเชื่อมต่อความสัมพันธ์และสร้างพื้นที่เรียนรู้ร่วมกัน ความสัมพันธ์ที่ก่อนหน้านั้น ถูกระบบการศึกษาตัดขาดจากชุมชนมายาวนาน
“เท่าที่สัมผัสการไปทำงานกับชุมชน ผู้ปกครองดีใจมากที่โรงเรียนเข้าไปมีส่วนร่วม แล้วพอเราเข้าไปเชื่อมปุ๊บ เครือข่ายของผู้ปกครองจะขยายเองครับ เขาจะรู้เลยว่าเขาจะทำยังไงเพื่อให้เด็กๆ ได้สร้างการเรียนรู้ในชุมชนของเขา เราก็รู้สึกทึ่งอยู่นะว่า พอให้เด็กๆ ในชุมชนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ มันจะนำไปสู่พ่อกับแม่เขา แล้วก็เครือข่ายผู้ปกครองที่สนใจก็ขยายๆ ไป”
“แต่ในช่วงเปิดเทอม รู้สึกว่าทางโรงเรียนเน้นไปทดสอบเรื่องของ Learning loss ของเด็กเกินไป จนไม่ได้ดูว่าในช่วงที่ปิดเทอมนั้น เด็กเขามีทักษะชีวิตเพิ่มขึ้นตั้งมากมาย ผมเสียดายว่าจุดนี้เราไม่ได้มองว่า ในช่วงโควิดเขาเติบโตมากมายเลย หลายคนมีทักษะที่เพิ่มขึ้น สิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งสำคัญเพราะว่ามันเชื่อมกับโรงเรียนกับชุมชนอยู่แล้ว”
ยิ่งในสภาวะที่เด็กๆ ต้องเรียนออนไลน์ สบตากับกระดาษใบงานและสร้างการเรียนรู้ผ่านหน้าจอ ครูตู้แก้วิกฤติด้วยการสร้างโอกาส เขาใช้หลักการง่ายๆ คือ เมื่อนักเรียนมาโรงเรียนไม่ได้ ครูก็ไปหาเด็กๆ เสียเอง ใช้ลานกว้างของชุมชนเป็นห้องเรียน และใช้ภูมิปัญหาและประวัติศาสตร์ชุมชนเป็นบทเรียน
“เด็กๆ เขา คุ้นชินกับชุมชน ส่วนเราก็ได้เห็นสิ่งใหม่ ไปเห็นว่า ‘อ๋อ ชุมชนเขาเป็นอย่างนี้นี่เอง’ เราเคยคิดว่าชุมชนต้องเป็นภาพที่เราต้องออกไปเรียนรู้ไกลๆ แหล่งที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ สถานที่สวยงาม ประวัติศาสตร์สวยงาม ปีนึงถึงจะได้ไป แต่เมื่อเรามาเห็นว่า จริงๆ แล้วสิ่งที่ง่ายๆ ใกล้ตัวเด็ก สิ่งที่มันติดเนื้อติดตัวเขามันสามารถเรียนรู้ได้ เราพบว่า เด็กส่วนใหญ่ทำประมงพื้นบ้าน เด็กผู้หญิงจะทอดแหเป็น เด็กที่มาจากที่อื่นก็จะให้เด็กผู้หญิงสอน เป็นครูให้ แล้วก็สอนเด็กจากพื้นที่อื่นมาทอดแห เราก็เห็นว่าจริงๆ แล้วนี่มันเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีครูไม่มีนักเรียนมันเป็นการแบ่งปันแล้วก็ไหลเชื่อมกัน”
การระบาดของ covid-19 กระทบต่อการจัดการเรียนรู้โดยตรง และยังส่งผลถึงความเป็นอยู่ของนักเรียนจากเศรษฐกิจครัวเรือนที่ตกต่ำลง เด็กๆ หลายคนต้องเข้าสู่อาชีพในช่วงปิดเทอม เด็กหลายคนกลายเป็นผู้นำครอบครัวเพื่อหารายได้เลี้ยงปากท้อง ในแง่หนึ่ง พวกเขามีทักษะชีวิตและอาชีพเพิ่มขึ้นโดยปริยาย แต่ในอีกแง่ หลายคนหลุดออกจากระบบการศึกษา และไม่หวนกลับมาแม้สถานการณ์เริ่มทุเลาลง
ครูยอร์ชเล่าเสริมว่า “ช่วงสถานการณ์โควิด เราก็ต้องดีลกับฝ่ายวิชาการก่อนว่า เป็นไปได้ไหมที่เด็กๆ ที่เขาหลุดตกจากระบบการศึกษา ผมจะขออนุญาตว่า อย่าเพิ่งให้เด็กๆ แนวโน้มหลุดจากระบบติด 0 นะ เพราะพวกเขามีวิถีชีวิตที่สามารถพัฒนาทักษะบางอย่างที่บ้านของเขาได้ ถ้าเรามาออกแบบการวัดประเมินผลโดยใช้ทักษะชีวิตที่บ้านเขาเป็นฐานโดยมาคุยร่วมกันจะเป็นไปได้ไหม มันก็เกิดพื้นที่การพูดคุยระหว่างคุณครูแล้วก็ทีมฝ่ายบริหารเกิดขึ้น”
ครูแห่งอนาคต: ยืดหยุ่นและแข็งแรง
บทบาทของครูในอนาคต จึงไม่หยุดนิ่งเพียงการบรรยายหน้าชั้นเรียน ให้การบ้าน และออกข้อสอบ เพราะสำหรับครูทั้งสามท่านมองว่า คุณครูและนักเรียนคือผู้ที่ต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับหลักสูตรการศึกษาและสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจริงของชุมชน
“คุณครูอาจต้องมีเทคนิคบางอย่างที่สามารถลื่นไหลไปกับหลักสูตรได้ สามารถปรับเปลี่ยนหลักสูตรโดยที่ไม่ต้องกอดตัวชี้วัดทุกตัวเอาไว้ แต่อาจจะต้องอ่อนผ่อนปรนตัวชี้วัดบางอย่างให้มันซอฟต์ลง เบาบางลง แต่ว่าสามารถที่จะไปหยิบเอาแก่นการเรียนรู้บางอย่างที่สำคัญได้ อันนี้ก็อาจจะเป็นทักษะที่คุณครูอาจจะต้องมีเพิ่ม” ครูยอร์ชกล่าว
ส่วนในมุมมองของผู้บริหาร ครูอ้อมมองว่า บทบาทของ ‘ผู้อำนวยการโรงเรียน’ ไม่ใช่ผู้นำที่คอยออกคำสั่งเพื่อให้ครูผู้น้อยเดินตามเท่านั้น แต่ต้องมีทักษะการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดีในคราวเดียวกัน
“ตอนที่เราขึ้นมาเป็นผู้บริหารแรกๆ ผู้บริหารที่เป็นรุ่นพี่เขาบอกเราว่า ‘ผู้นำน่ะ อำนาจน่ะ ยิ่งใช้ยิ่งหมด’ มันทำให้เราฉุกคิดว่า เราจะใช้อำนาจแบบไหน เราใช้อำนาจเหนือ เราใช้อำนาจร่วม แล้วอำนาจภายในเราล่ะ อะไรอย่างนี้ มันทำให้เราเข้าใจว่า หากเราจะใช้อำนาจเหนือสั่งการ มันอาจจะง่าย เร็ว จบ แต่เราจะไม่มีเพื่อนร่วมเดินทางข้างๆ ซึ่งไม่ว่าจะอะไรก็แล้วแต่ หน้าที่ของเราคือ ชวนไปด้วยกัน ชวนให้เขาเห็นมุมมองว่าโลกมันกำลังเปลี่ยนไปแบบไหน”
ระบบการศึกษาแบบรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลาง ทำให้ครู นักเรียน โรงเรียน และชุมชน ไม่สามารถพัฒนาอะไรได้ตามที่ควร ครูที่มีหัวจิตหัวใจในการออกแบบการเรียนรู้ ไม่ช้าไม่นานก็อาจหมดไฟอย่างโดดเดี่ยว ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์เองก็ต้องสู้รบปรบมือกับกลไกของรัฐราชการที่ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจในตัวผู้อื่น ไหนเลยจะชุมชนที่ถูกผลักให้ห่างไกลจากลูกหลาน ทำได้เพียงรอคอยพวกเขาที่หน้าบ้าน แล้วหวังว่าจะ ‘ได้ดี’ กลับมา
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ที่เหล่าครูออกมาส่งเสียงว่านี่คือสภาวะวิกฤติของการศึกษา และไม่ใช่ครั้งแรกหรือครั้งสุดท้ายอีกเช่นกันที่เสียงของพวกเขาถูกเพิกเฉย จากระบบราชการที่ควรเป็นแม่งานในการสนับสนุน ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาให้ดีขึ้น ในฐานะผู้ถือครองงบประมาณและทรัพยากรทั้งหมดไว้ในมือ