มายาคติความเสมอภาคทางการศึกษาภาคบังคับในประเทศไทย: การขยายโอกาสและสุขภาวะทางสังคม
Reading Time: < 1 minuteงานวิจัยเรื่องมายาคติความเสมอภาคทางการศึกษาภาคบังคับในประเทศไทย : การขยายโอกาสและสุขภาวะสังคม เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) ใช้วิธีการศึกษาแบบชาติพันธุ์วรรณา(ethnographic approach) มาทำการวิเคราะห์กระบวนการประกอบสร้างความหมายเกี่ยวกับความเสมอ ภาคทางการศึกษาภาคบังคับที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมไทยด้วยคำถามสำคัญที่ว่า อะไรคือความคิดเบื้องหลังคอยหล่อหลอมให้เกิดความเข้าใจเรื่องความเสมอภาคทางการศึกษาภาคบังคับในสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และการรับรู้ดังกล่าวอุบัติขึ้นเพราะมีปัจจัยทางวัฒนธรรมหรือวาทะทางประวัติศาสตร์ชุดใดเข้ามาทำให้เกิดการยอมรับโดยไม่ถูกตั้งคำถามใด ๆ ด้วยคาดหวังว่าผลจากการวิจัยจะสามารถสะท้อนให้เห็นภูมิหลังอุดมการณ์ปฏิรูปการศึกษาไทยควบคู่กับชี้ให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสุขภาวะสังคมในอีกแง่มุมหนึ่ง
ผลการศึกษาพบว่า นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 การศึกษาถูกยกให้เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาประเทศและการทำให้ชนชั้นเท่าเทียมกัน โดยคำว่า “ความเสมอภาคทางการศึกษา” ถูกกล่าวถึงอย่างชัดเจนในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 3 (2515-2519) ซึ่งให้ความหมายในเชิงการปรับปรุงและขยายโอกาสทางการศึกษาโดยเฉพาะพื้นที่ท้องถิ่นที่มีลักษณะพิเศษ กระทั่งปัจจุบันกาลเวลาล่วงเลยกว่า 136 ปี นิยามความเสมอภาคทางการศึกษาของสังคมไทยยังคงผูกพันอยู่กับสิทธิในการเข้าถึงบริการและทรัพยากรของรัฐ อันเป็นจุดกำเนิดของการก่อตั้งกองทุนความเสมอภาคทางการศึกษา (2561) ขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ขาดแคลนรวมถึงการพัฒนาคุณภาพบุคลากรทางการศึกษาให้ได้มาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม ผลจากการลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างผู้เป็นส่วนหนึ่งของนิเวศการเรียนรู้ (นักเรียน ผู้ปกครอง ครู และผู้บริหารสถานศึกษา) ทำให้ค้นพบว่า ความเสมอภาคทางการศึกษามิใช่แค่การเข้าถึงทรัพยากรที่มีคุณภาพตามการสถาปนานิยามความเสมอภาคผ่านกระบวนการกำหนดมาตรฐานชุดหนึ่งขึ้นมา (standardization) ซึ่งนำไปสู่การตกอยู่ภายใต้ภาวะจำยอมต่อระเบียบกฎเกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง อนึ่ง ผู้วิจัยมองเห็นว่า แนวทางการเปิดโอกาสการพัฒนาสู่ความเสมอภาคทางการศึกษาควรประกอบด้วยมุมมอง 3 มิติคือ 1) พื้นที่สำหรับภูมิปัญญาท้องถิ่นได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต มีความปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นแม้บางครั้งจะขัดกับเกณฑ์การประเมินที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เพื่อนำไปสู่โอกาสในการได้สร้างสรรค์ทดลองและพัฒนาการศึกษาที่มีความแตกต่างหลากหลาย 2) เวลา กล่าวคือ การจัดการศึกษาต้องเหมาะสมกับวิถีชีวิตของประชาชนโดยมีเป้าหมายหลักคือผลักดันให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างเหมาะสมตามสมรรถนะของตนเอง และ 3) เครื่องมือ แม้การสร้างหลักสูตรแกนกลางขึ้นมาเป็นแนวทางให้สถานศึกษาแต่ละแห่งนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมตามบริบท ทว่าในทางปฏิบัติครูกลับขาดเทคโนโลยีและองค์ความรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เป้าหมายที่ถูกวางไว้ตามทิศทางโลกยุคโลกาภิวัตน์ไม่อาจเปิดพื้นที่หลอมรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้