‘โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้’ เพราะช่วงเวลาผ่อนคลายคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด
Reading Time: 3 minutes“การไปโรงเรียนหรือการเรียนรู้ในชีวิตประจำวันของเด็ก เขาเครียดมาก ทำให้เกิดภาวะปิดกั้นไม่สามารถที่จะเรียนรู้ ขณะที่ครูก็ข่มขู่ บังคับ โดยเฉพาะโรงเรียนที่บอกว่าตัวเองเป็นวิชาการ เพราะฉะนั้นนอกจากเด็กจะถดถอยแล้ว ก็คือกลัวไปอีกร้อยแปด
“ในทางหลักสูตรแกนกลางเขาอาจจะเขียนไว้สวย แต่ในทางปฏิบัติที่เราเห็น เด็กยังมีภาวะการเรียนรู้ถดถอย โดยเฉพาะเด็กรอบนอกที่เราเจอ เขาไม่กล้าที่จะพูดความคิด ความรู้สึก ความต้องการของตัวเอง เด็กเรียนจบม.3 แทบไม่รู้เลยว่าจะประกอบอาชีพอะไร ค้นหาตัวเองเจอหรือยัง ถ้ามันเวิร์คเด็กเราจะมีศักยภาพสูงกว่านี้ ประเทศเราจะไปได้ไกลกว่านี้แล้ว”
‘ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้’ (learning loss) เป็นภาวะของการเสียโอกาสในการเรียนรู้ มีผลให้ทักษะต่างๆ ที่เด็กควรจะได้รับการพัฒนาตามช่วงวัยสูญเสียไป ส่งผลต่อพัฒนาการด้านภาษาและการสื่อสาร ทักษะด้านความสัมพันธ์ ขาดการพัฒนาทักษะการเข้าสังคม และทักษะด้านวิชาการอ่านเขียน
ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 เสมือนตัวเร่งและเเว่นขยายให้สังคมเห็นปัญหา ‘ภาวะถดถอยทางการเรียนรู้’ มากขึ้น ปัญหาที่มีอยู่เดิมจึงทวีความรุนแรง และหากเด็กๆ ไม่ได้รับการฟื้นฟูการเรียนรู้อย่างเหมาะสมและครอบคลุม ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการเรียนรู้ก็จะถูกถ่างให้กว้างขึ้น
จิ๋ว-วีรวรรณ กังวาลนวกุล ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้’ และ เหมียว-อุไรรัตน์ หน้าใหญ่ วิทยากรกระบวนการเรียนรู้ ร่วมบอกเล่าประสบการณ์ พร้อมชวนเราไปสำรวจความเป็นไปได้ของชีวิต หนึ่งทางเลือกของรูปแบบการเรียนรู้ผ่านการเล่น เพราะการศึกษาชุดความรู้เดียวไม่อาจพาเด็กๆ ที่มีความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นนิสัย ความสนใจ ความชอบ หรือความถนัด ให้พวกเขาค้นพบศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง
“ถ้าเราจะรู้จักเด็กคนหนึ่งได้อย่างลึกซึ้ง เราต้องเล่นกับเขา ถึงจะรู้ในเชิงความคิด พฤติกรรม อารมณ์ หรือว่าในแง่สังคมของเขา ในทุกมิติเข้าใจเขาผ่านการเล่นได้เลย”
การเล่นสร้างการเรียนรู้ การลงมือสร้างความเข้าใจ
ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เด็กๆ ชักชวนพ่อแม่ให้ขับรถไปตามถนนในอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย พร้อมบอกหนทางมายังยังโรงเล่น ซึ่งมีพื้นหญ้าสีเขียว เครื่องเล่นปีนป่าย ของเล่นหลากหลายให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ เพียงแค่ดูแลตัวเอง ดูแลคนอื่น ดูแลของเล่นและข้าวของ
“เราทำโปรเจกต์ก่อการเล่น ชวน 5 โรงเรียนในรัศมี 10 กิโลเมตร พาเด็กมาเล่นที่นี่ เด็กๆ จดจำไว้ในใจ แล้วเขาก็กลับไปบอกผู้ปกครอง เด็ก 3 คน 5 ขวบ 7 ขวบ และ 8 ขวบ ชวนกันบอกแม่ว่า ‘ต้องไปนะ วันเสาร์โรงเล่นเปิด’ บ้านเขาอยู่ต่างตำบล และถนนหนทางที่นี่สลับซับซ้อน แต่เขาก็บอกทางผู้ปกครองให้มาโรงเล่นได้”
อีกทั้งยังมีการอบรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งเป็นกิจกรรมลงมือประดิษฐ์จริง ทั้งงานคราฟท์ งานของเล่น หรืองานผ้า โดยแบ่งตามวัย เช่น อายุ 3-7 ปี 8-10 ปี 11-14 ปี 14-18 ปี ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ รวมถึงคุณแม่ตั้งครรภ์ และออกแบบตามความต้องการของผู้เข้าร่วม อย่างเด็กอายุ 3-7 ปี ก็จะประกอบของเล่นไม้และลงสี หรืออายุ 14-18 ปี มาเรียนรู้งานไม้และ Automata
“เด็กๆ ของเราเรียนการศึกษาในระบบ ซึ่งเรียนรู้ทางทฤษฎี พอมาค่ายทำ Automata ที่ต้องวัด ตัด และประกอบชิ้นส่วนต่างๆ ปรากฏว่าเด็ก ม.5 ประกอบไม่ได้ เพราะตัดชิ้นส่วนออกมาไม่ได้ตามสัดส่วน เมื่อถามย้อนกลับไปปรากฏว่า เขาใช้ไม้บรรทัดวัดจากเลข 1 ซึ่งจริงๆ แล้วต้องวัดจากเลข 0 ไป เขาบอกว่าเขาเข้าใจผิดมาตลอดเลย
“นั่นแปลว่าในโรงเรียนสอนทฤษฎี แต่ถ้าเด็กไม่ได้ลงมือทำ เขาจะไม่เกิดทักษะเลย การเรียนรู้นอกห้องเรียนจึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะการนำไปปฏิบัติ การนำไปใช้ในชีวิต เพราะถ้าไม่มีค่ายนี้เสริม เขาอาจจะจบม.6 แบบวัดไม้บรรทัดจากเลข 1 ไป”
นิเวศของการดูแลเด็กให้เติบโตอย่างสมวัยและมีสุข
จากความหลากหลายของผู้ที่มาโรงเล่น พื้นที่การเรียนรู้แห่งนี้จึงไม่ใช่แค่พื้นที่ปลอดภัยของเหล่าเด็กๆ แต่รวมถึงคนทุกช่วงวัย โดยเฉพาะเหล่าผู้ปกครอง บางคนมีความเครียด บางคนมีความทุกข์ บางคนไม่รู้ว่าจะเลี้ยงลูกให้มีความสุขอย่างไร
“มากกว่าการเล่น โรงเล่นคือ ‘พื้นที่แห่งการรับฟังอย่างลึกซึ้ง’ ผู้ปกครองหลายคนมาด้วยความทุกข์ว่า กับระบบการศึกษาที่โรงเรียนใช้อำนาจ ทำให้เด็กๆ ไม่อยากเรียนรู้ จากที่เคยชอบเรียน ชอบอ่าน เป็นกลัว ไม่กล้าตอบ ไม่ชอบไปโรงเรียน มีพัฒนาการถดถอย
“มันจำเป็นจริงๆ ที่เขาต้องเดินทางออกจากความทุกข์ เพราะว่าการเติบโตของเด็กสำคัญ แล้วก็มีผู้ปกครองหลายคนที่มานั่งพูดคุย พยายามที่จะเป็นนิเวศของกันและกันในการดูแลเด็กๆ ให้เติบโตอย่างสมวัยและมีสุข”
สำหรับนิเวศของการดูแลเด็ก อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเรียนรู้และเติบโตของพวกเขา นั่นคือ โรงเรียนและครู เพราะเด็กส่วนใหญ่ยังคงเรียนอยู่ในการศึกษารูปแบบดั้งเดิม แต่เด็กๆ กลับพบกับสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้
ตัวอย่างเช่นครูที่สอนวิชาอื่นที่ไม่ใช่วิชาของตัวเอง ทำให้เขาสอนเด็กด้วยความเครียด พร้อมกับการดุ การข่มขู่ และการใช้ความรุนแรง หรือการที่ไม่มีครูบรรจุ แต่เป็นครูอัตราจ้างสอนแทน ซึ่งบางครั้งเป็นคนที่ไม่ได้เรียนครุศาสตร์หรือศึกษาศาสตร์ ทำให้เขาไม่มีความเข้าใจเรื่องจิตวิทยาเด็ก จิตวิทยาการศึกษา และไม่เข้าใจเด็ก
“เราเขียนเรื่องนี้บ่อยๆ เพื่อที่จะทำให้เป็นมาตรฐานใหม่ สร้างค่านิยมใหม่ ให้เขารู้สึกว่าการข่มขู่ไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา แต่การที่คุณเล่นกับเด็ก การที่คุณอยู่กับเด็ก การที่คุณรับฟังเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่เป็นมาตรฐาน”
สิ่งสำคัญไม่แพ้กันอีกประการหนึ่ง คือ ระบบที่จะตรวจพัฒนาการเด็ก โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากครูประจำชั้นในการตรวจพัฒนาการเด็กทีละคน เพราะถ้าตรวจเจอภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ของเด็กเร็ว พวกเขาจะได้รับการกระตุ้นพัฒนาการและมีภาวะถดถอยน้อยลง ซึ่งสำคัญต่อสังคมและชุมชนที่อาศัยอยู่
“ลองจินตนาการดูว่าอีก 10-20 ปี ถ้าเด็กมีพัฒนาการถดถอยทั้งหมู่บ้าน ทั้งตำบล สังคมจะเป็นยังไง เราให้เขาจินตนาการ เขาก็อึ้งไป เพราะมีกรณีให้เห็นในชุมชนอยู่แล้ว เพียงแต่เรามาคุยกับครูว่า ถ้าเราทำอะไรกับเด็กที่อยู่ตรงหน้าสักนิดหนึ่ง มันจะไม่ไปสู่จุดนั้น มันก็เลยเป็นความเห็นร่วมกันว่า เขาทำให้ดีกว่าเดิมได้ จากหน้าที่หลักเพิ่มไปเข้าไปอีกนิดหนึ่ง”
นอกจากนี้ โรงเล่นยังจัดกิจกรรมสัญจรไปตามโรงเรียนต่างๆ ชวนเด็กเล่น ชวนครูเล่น และร่วมพูดคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียน เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ฯลฯ เพราะการเรียนรู้ผ่านการเล่นทำให้เด็กเกิดประสบการณ์ ความเข้าใจ การค้นพบ และจดจำในระบบเชิงลึก รวมถึงการทำงานหลังบ้าน เช่น การศึกษาหลักสูตรประถมศึกษา แล้วจับคู่ของเล่น เพื่อเป็นสื่อกลางในการเรียนรู้
“เราใช้กระบวนการน้ำซึมบ่อทราย เป็นเพื่อนเขา พูดคุยสิ่งที่เขามีต้นทุนอยู่แล้ว และนำไปขยายต่อให้มันง่ายขึ้น เราไม่ได้มาสร้างงานเพิ่ม แต่เราไปลดภาระ ลดหน้าที่ของครู ให้ครูทำงานง่ายขึ้น”
งานซ่อมสำคัญ งานสร้างก็จำเป็น
“คนที่มาโรงเล่นมองหาประสบการณ์ที่ตอบโจทย์กับปัญหาของเขาในแต่ละเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการดูแลเด็กและการเรียนรู้ของลูกหลาน อีกอันที่เราทำได้ดีก็คือ เราจัดประสบการณ์การเล่นอย่างผ่อนคลาย การมีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือการมีรสนิยมที่ดีกว่านี้ได้ มันไม่จำเป็นต้องทำแบบเดิม”
จากระบบการศึกษาไทยดั้งเดิมที่มีเส้นมาตรฐานของตัวเอง แล้วพยายามที่จะพาทุกคนขึ้นมาที่เส้นมาตรฐาน ขณะเดียวกันก็ดึงเด็กที่เดินไปไกลกลับมาที่เส้นมาตรฐานนั้นด้วย ส่งผลให้เด็กหลายคนไม่รู้จะไปยังไงต่อดี โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้ จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกของการเรียนรู้ที่ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเดียว แต่เป็นพื้นที่อิสระให้แต่ละคนได้ค้นหาศักยภาพของตัวเอง
“การเล่นเป็นการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ที่ชัดเจนที่สุด เพราะการเล่นต้องลงมือเล่น จากการเล่นเกิดเป็นความรู้สึก แล้วก็เรียนรู้จากความรู้สึกนั้น ทำให้สมองคนเราจดจำสิ่งที่เป็นความสุข ความสนุกสนาน”
มากกว่านั้น คือการทำงานกับคุณแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ เพื่อให้การเล่นอยู่ในวิถีและให้ครรภ์ได้ผ่อนคลาย และเด็กเกิดมาอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะจากการทำงานของโรงเล่นพบว่า แม่ส่วนใหญ่ที่เครียด ส่งผลให้ลูกที่เกิดมามีภาวะออทิสติก สมาธิสั้น หรือเคมีภายในของเด็กไม่สมดุล เพราะงานซ่อมยากกว่างานสร้าง จึงจำเป็นต้องขยายขอบเขตการทำงานเรื่องการเรียนรู้ตั้งแต่ในครรภ์
“เราเชื่อเรื่องการเรียนรู้ผ่านการเล่น แล้วเราก็ยังต้องยืนหนึ่งในการที่จะพูดเรื่องนี้ ทำให้เป็นเรื่องหลักของสังคม เพราะโรงเล่นมีต้นแบบของเด็กๆ ที่เติบโตผ่านการเล่น วันนี้เขาเข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่น เข้าใจสังคม และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลง”
ภาพจาก โรงเล่น พิพิธภัณฑ์เล่นได้