ก่อการครู – Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้ บทความ / บทสัมภาษณ์

รักษ์เขาชะเมา: การเรียนรู้คู่ขนาน เมื่อห้องเรียนไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชีวิต

Reading Time: 3 minutes “โรงเรียนไม่มีความสุข หนูไม่อยากไปโรงเรียน ถ้าไม่อยากไปโรงเรียน แล้วมีโรงเล่นจะไปไหม” Feb 20, 2023 3 min

รักษ์เขาชะเมา: การเรียนรู้คู่ขนาน เมื่อห้องเรียนไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชีวิต

Reading Time: 3 minutes

“โรงเรียนไม่มีความสุข หนูไม่อยากไปโรงเรียน”
“ถ้าไม่อยากไปโรงเรียน แล้วมีโรงเล่นจะไปไหม”

บทสนทนาขนาดสั้น ผ่านคำบอกเล่าจาก ป้าแฟ๊บ-บุปผาทิพย์ แช่มนิล ผู้ดูแลกลุ่มรักษ์เขาชะเมา ถึงที่มาของ ‘โรงเรียน โรงเล่น’ โดยมีความเชื่อมั่นว่า การศึกษาควรหลากหลาย ไม่ผูกขาด ใครใคร่เรียนก็ได้เรียน ผ่านการศึกษาบนฐานชุมชน เปิดพื้นที่นอกห้องเรียนให้เด็กและเยาวชนเรียนรู้ธรรมชาติ รู้จักวิถีชุมชน ณ ทุ่งควายกิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ซึ่งแวดล้อมไปด้วยผืนป่า สายน้ำ และชายหาด

“เรามุ่งหวังเรื่องสังคมใหม่ที่เท่าเทียม เป็นธรรม อิสระ พึ่งตนเอง มีคุณค่าอยู่บนฐานจิตวิญญาณที่หลากหลาย เคารพธรรมชาติ เน้นความสุข”

ป้าแฟ๊บ–บุปผาทิพย์ แช่มนิล

จากความทรงจำในวัยเยาว์ที่สวยงาม สู่การเรียนรู้นอกห้องเรียนบนฐานชุมชน

ทุ่งนาที่มีคนราว 30-40 คน มาร่วมลงแขกเกี่ยวข้าว ลานนวดข้าวที่ใช้ควาย 7 ตัว การหุงข้าวกระทะใบบัวเลี้ยงคนในชุมชน หรือยามอากาศหนาวแล้วมีกองฟางให้เด็กๆ วิ่งเข้าไปซุกรับความอบอุ่น

นี่คือภาพความทรงจำที่สวยงามของป้าแฟ๊บ ซึ่งเป็นคนรุ่นสุดท้ายที่ได้เห็นวิถีชีวิตชุมชนทุ่งควายกินแบบนั้นและกลายเป็นรากฐานของจิตใจ ทำให้รู้สึกโหยหาความสัมพันธ์ของผู้คนในรูปแบบดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการไปเรียนต่อมหา’ลัยที่กรุงเทพฯ กระทั่งตัดสินใจกลับมาอยู่บ้านเกิด

เริ่มที่การเปิด ‘ร้านหนังสือน้ำใจ’ ให้เด็กๆ ในชุมชนได้มาเช่าหนังสืออ่าน โดยร่วมดูแลกับ ป้าอี๊ด-มลฑา เข้มพิมพ์ เพื่อนที่ออกค่ายอาสาพัฒนารามคำแหงด้วยกันสมัยมหาวิทยาลัย บางครั้งก็หากิจกรรมทำร่วมกับเด็กๆ เช่น เล่านิทาน เล่นละคร กระทั่งจัดกิจกรรมเรียนรู้ธรรมชาติอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง เมื่อมีการทำกิจกรรมมากขึ้น รวมกลุ่มกันมากขึ้น จึงเกิดเป็น ‘กลุ่มรักษ์เขาชะเมา’

จากนั้นคนทำงานจึงร่วมกันกำหนดทิศทางของการจัดกิจกรรมให้กับเด็กๆ ในชุมชนว่า อยากเห็นอะไรจากสิ่งที่ทำอยู่

“เราช่วยกันคิดว่า อยากเห็นชุมชนทางเลือก อยากส่งเสริมการดูแลฟื้นฟูทุนทางสังคม แล้วก็เรียงร้อยคำที่คนทำงานสนใจและกำหนดวิสัยทัศน์ของรักษ์เขาชะเมา คือ การพัฒนาเยาวชนไปสู่การสร้างชุมชนทางเลือก ในขณะที่สังคมพูดถึงเรื่องความรวย เราสนใจเรื่องความสุข สังคมพูดถึงเรื่องการแข่งขัน เราก็เน้นเรื่องการแบ่งปัน การสร้างสัมพันธ์ของผู้คน”

นอกจากนี้ กิจกรรมของรักษ์เขาชะเมายังเน้นการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนเป็นหลัก ผ่านการเรียนรู้ 3 เรื่องสำคัญ

สิ่งที่ต้องรู้ คือ ตัวเอง ชุมชน การสร้างสัมพันธ์เชื่อมโยงตนเองกับชุมชนเพื่อให้มีรากเหง้าที่แข็งแรง
สิ่งที่ควรรู้ คือ เรื่องราวในสังคม สิทธิ ความรู้เท่าทันสิ่งต่างๆ
สิ่งที่อยากรู้ คือ ความสนใจของเด็กๆ ที่อยากรู้อะไร อยากฝึกทักษะอะไร

รักษ์เขาชะเมาจึงมีกิจกรรมให้เด็กๆ ได้เลือกเข้าร่วมอย่างหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การมัดย้อมสีธรรมชาติจากพื้นพันธุ์ท้องถิ่นอย่างใบมังคุด แก่นโกงกาง การเป็นนักสืบสายลมเพื่อตรวจสอบคุณภาพอากาศ หรือเรื่องเชิงวัฒนธรรม ซึ่งทุกปีจะมีการจัดค่ายรักษ์วัฒนธรรม ‘เรื่องเก่าที่บ้านเกิด’ เป็นการเรียนรู้วิถีชุมชน อาทิ ห้องเรียนอาหารพื้นบ้าน ของเล่นพื้นบ้าน หรืองานหัตถกรรม

รวมถึงเรื่องของการเก็บข้อมูลต่างๆ อย่างประวัติศาสตร์ชุมชน ภูมิปัญญาพื้นบ้าน หมอพื้นบ้าน ประมงพื้นบ้าน ความเชื่อของชุมชน อีกทั้งยังมีเรื่องของการรู้เท่าทันสื่อ หรือทักษะการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและสื่อดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy: MIDL) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่กลุ่มรักษ์เขาชะเมาเพิ่มเข้ามา
“แรกๆ บางทีผู้ปกครองจะบังคับมา แต่ครั้งที่ 2 เขาเริ่มขอมาเอง เหมือนเขาได้เจอเพื่อน แล้วเวลาที่เขาซนมากๆ เราไม่ดุ ไม่ว่า แต่ปล่อยให้เขาซน ให้เขาเรียนรู้ไปตามวัย เพราะเราเข้าใจ ให้เขาเป็นอิสระของเขา” พจนา ศุภผล หรือ พี่กิ๊ฟ ของเด็กๆ กลุ่มรักษ์เขาชะเมา หนึ่งในเสียงบอกเล่าถึงการเรียนรู้ของรักษ์เขาชะเมา และนับว่าเป็นคนที่เติบโตมากับกลุ่มและโตที่สุดในกลุ่มคนทำงาน

กิ๊ฟ-พจนา ศุภผล

จากความเข้าใจของคนทำงานสู่ความเข้าใจของเด็กต่อสิ่งแวดล้อมผ่านการเรียนรู้จากการสังเกตและตั้งคำถาม โดยไม่ได้ให้คำตอบว่าดีหรือไม่ดี แต่เป็นการอธิบายให้ข้อมูลเขาไปคิดต่อ

“เมื่อเร็วๆ นี้ก่อนเปิดเทอม เราพาเด็กๆ ไปเขาสิบห้าชั้น พาไปเล่นน้ำตก ไปทำกิจกรรมกัน แล้วห้ข้อมูลเรื่องเขื่อนคลองวังโตนดที่จะสร้างในพื้นที่อนุรักษ์ 6,000 กว่าไร่ ข้าวปุ้น (ป.5) ก็บอกว่า เขาไม่อยากให้มีเขื่อน เพราะมันเป็นที่อยู่ของช้าง ถ้ามีเขื่อน ช้างก็จะออกมากินพืชพันธุ์ของชุมชน แล้วสุดท้ายชุมชนก็จะเดือดร้อน” เขาพูดออกมาเอง คือเขาเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขารู้สึกไม่อยากให้มีเขื่อนด้วยความเช้าใจ ไม่ได้ถูกบอกว่าต้องคัดค้าน”

“ทรัพยากรเหล่านี้ คือทรัพยากรในบ้าน ไม่ใช่แค่ทรัพยากรของตำบลทุ่งควายกิน หรืออำเภอแกลง หรือจังหวัดระยอง แต่มันคือทรัพยากรของประเทศไทย เพราะฉะนั้นเราก็ดูว่ามีช่องจังหวะที่เราจะปกป้องสิ่งเหล่านี้ได้ยังไง ทั้งเป็นกิจกรรมให้เด็กๆ เรียนรู้ตามความเหมาะสมกับวัยของเขา ส่วนวัยของเราก็ต้องไปส่งเสียงในนามของประชาชน”

ความร่วมมือ และสิ่งที่รอคอยการแก้ไข เพราะเด็กคือใจความสำคัญ

การเรียนรู้ที่รักษ์เขาชะเมา ไม่เพียงเป็นหนึ่งในเครือข่ายเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาที่ขับเคลื่อนเรื่องการศึกษาบนฐานชุมชน แต่ยังมีโอกาสร่วมมือกับโรงเรียนตามกิจกรรมต่างๆอาทิ โรงเรียนพาเด็กมาเรียนรู้เรื่องนักสืบสายน้ำ นักสืบสายลม เชิญไปเป็นวิทยากรตามโรงเรียน หรือค่ายรักษ์วัฒนธรรม ซึ่งกลุ่มรักษ์เชาชะเมาติดต่อโรงเรียนละแวกทุ่งควายกิน 4-5 โรงเรียน ผ่านคุณครูเพื่อเชิญชวนให้เด็กและเยาวชนมาเข้าค่ายร่วมกัน

“เด็กๆ เราไม่ได้เป็นเด็กนอกระบบเลยนะ ส่วนใหญ่ก็เรียนโรงเรียนทั้งนั้น เราเหมือนเป็นอะไรที่เสริมกับโรงเรียน ช่วงปิดเทอมหรือวันหยุดเขามาเรียนรู้กับเรา แล้วจะเห็นเลยว่ามีความต่างจากที่เรียนอยู่ในโรงเรียนอย่างเดียว เราร่วมมือในลักษณะนี้”

รวมถึงการขับเคลื่อนภายใต้โครงการอ่านบันดาลใจเพื่อเด็กปฐมวัยในแกลง ซึ่งกลุ่มรักษ์เขาชะเมาร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยะ (สพป.) เขต 2 จัดการอบรมเรื่องกระบวนการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า (EF) ให้กับครูปฐมวัย จำนวน 10 โรงเรียน และส่งเสริมการอ่าน

นอกจากนี้ รักษ์เขาชะเมายังเริ่มทำงานกับโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการออกแบบหลักสูตรและจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน 

แม้กลุ่มรักษ์เขาชะเมาจะทำงานร่วมกับการศึกษาในระบบอยู่หลายครั้ง ทว่าสิ่งหนึ่งที่ยังไม่สามารถทำได้ นั่นคือ การทำงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น เนื่องจากหลายเหตุปัจจัยทั้งเรื่องเป้าหมายของหน่วยงานที่ไม่ได้มุ่งเน้นการพัฒนา เรื่องการเมืองที่ไม่โปร่งใสหรือมีเรื่องของอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง

“นักการเมืองของเราที่มาโดยซื้อเสียง ทำให้เราลำบากใจ เราไม่สามารถร่วมงานกับบุคคลลักษณะไม่ค่อยโปร่งใสได้ เพราะเรารู้ว่าเขามาโดยความไม่ชอบธรรม หากเราไปใช้เงินเขา แล้วเราจะเอาอะไรไปสอนลูกหลานเรา แม้มันจะเป็นภาษีเราก็จริง แต่ถ้าเราเดินไปของบเขา อย่างแรกเขาจะถามเราว่า เด็กที่มาทำกิจกรรมกับรักษ์เขาชะเมาเป็นเด็กที่ไหนบ้าง เด็ก อบต. กี่คน เด็กเทศบาลกี่คน ซึ่งเป็นการจำกัดกลุ่มเป้าหมาย เรารู้สึกไม่โอเค”

เมื่อกลุ่มรักษ์เขาชะเมาไม่สามารถทำงานกับท้องถิ่นได้ จึงกระทบต่อแหล่งทุนจำนวนหนึ่งที่มองว่าความยั่งยืนในการทำงาน คือ ท้องถิ่นต้องสนุบสนุน “เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ถ้าเขาเป็นคนทำงานเด็กเยาวชนและมายืนในจุดเรา เขายังกล้าที่จะรับเงินของท้องถิ่นแบบนั้นหรือเปล่า นี่ก็เป็นปัญหาของระดับท้องถิ่น” นี่คือเสียงสะท้อนของป้าแฟ๊บต่อการทำงานด้านการศึกษา

หากมองภาพใหญ่กว่านั้น ในเชิงนโยบายการศึกษาถูกผูกขาดโดยกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งไม่พ้นจากกรอบที่ว่า ความรู้ต้องอยู่ในโรงเรียนเท่านั้น ความรู้ต้องอยู่ในครูที่เป็นครูเท่านั้น ส่วนสิ่งที่นอกระบบจะไม่ได้รับการดูแล ไม่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียม ลุงป้าน้าอาในชุมชนไม่เคยถูกยกย่อง ความรู้ที่อยู่ในชุมชนก็ไม่ได้รับความสนใจ

“แม้กระทั่งองค์กรอย่างเราที่ทำเรื่องความรู้นอกห้องเรียน ก็ไม่มีโอกาสบอกว่า เด็กๆ ที่มาเรียนรู้กับเราได้รับการรับรองว่าเขามีความรู้ นโยบายของการศึกษาก็ยังไม่ได้เอื้อองค์กรอย่างพวกเราเท่าไร”

การเดินทางเข้าสู่สามทศวรรษ รักษ์เขาชะเมากับเมล็ดพันธุ์ที่งอกเงยนอกห้องเรียน

แน่นอนว่าหากนึกถึงแหล่งการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยเฉพาะการศึกษาบนฐานชุมชน อาจมีหลายกลุ่ม หลายกิจกรรม หลายพื้นที่ให้เลือกเข้าร่วม แต่สิ่งที่รักษ์เขาชะเมาโดดเด่นคือ ความสัมพันธ์ของรุ่นต่อรุ่น

จากเด็กป.4 ที่เข้ามาทำกิจกรรมกับกลุ่มรักษ์เขาชะเมาครั้งแรก แล้วทำกิจกรรมมาเรื่อยๆ จนชั้นมัธยมจะได้เป็นพี่เลี้ยงสำรองและพี่เลี้ยงตัวจริง ซึ่งส่วนใหญ่แต่ละคนจะมีพี่ในกลุ่มเป็นแรงบันดาลใจและช่วยงานต่อเนื่องกันมา กระทั่งเมื่อเป็นพ่อแม่แล้วก็ส่งลูกมาทำกิจกรรมของรักษ์เขาชะเมาเช่นกัน

“เดี๋ยวนี้เวลาใครพูดถึงกลุ่มรักษ์เขาชะเมา เราไม่ต้องพูดอะไรเลย เพราะพ่อแม่เด็กรู้ว่าลูกเขาอยู่กับเราแล้วได้ประโยชน์ยังไง ครอบครัวเขาได้ประโยชน์ยังไง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กๆ ที่มาทำกิจกรรมตอนนี้ พ่อแม่เขาก็มาทำกิจกรรมกับเราทั้งนั้น คือพ่อแม่ก็เคยเข้าค่ายมาก่อนตั้งแต่ป.4 ตอนนี้ไม่ห่วงเรื่องความเชื่อมั่นเลย ความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยม”

ความเชื่อมั่น ความเชื่อใจที่ผู้คนมีต่อรักษ์เขาชะเมาไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เพราะสายสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชนทุ่งควายกินที่มีอย่างยาวนานรุ่นต่อรุ่น “โชคดีที่พ่อแม่เราเป็นคนที่ชุมชนยอมรับ จนบัดนี้ยังได้อนิสงฆ์ของพ่อแม่อยู่เลย พอบอกว่าเราเป็นลูกใคร เขาก็บอกพ่อแม่เราเคยดีกับเขายังไง เพราะฉะนั้นฐานของครอบครัวเราสำคัญมาก”

มากกว่านั้น กิจกรรมของรักษ์เขาชะเมายังช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างรุ่น อย่าง ‘โครงการสืบสานภูมิปัญญา’ ที่ให้เด็กๆ ช่วยกันคิดว่าอยากเรียนรู้อะไรในชุมชน จากนั้นลงไปเก็บข้อมูล กิ๊ฟเล่าประสบการณ์ในวัยเด็กว่า

“เราอยากเรียนรู้เรื่องภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้าน ตำบลทุ่งควายกิน และชวนน้องๆ ที่สนใจลงไปเก็บข้อมูลในชุมชน ตอนนั้นทำอยู่ประมาณ 3 ปี เราลงไปเก็บข้อมูลซ้ำๆ ให้เขา

เห็นหน้า จนเขาคุ้นเคยและยอมให้ข้อมูล เห็นเราเป็นลูกเป็นหลาน เราสามารถเดินไปได้ทุกบ้าน เขารู้สึกว่าพวกเราคือครอบครัว ถ้าพวกเราหายไปสักอาทิตย์หนึ่ง โทรมาตามแล้ว หายไปไหนกัน ทำไมไม่พาน้องมา เขาจะคอยห่วง พอมีอะไรเขาก็จะโทรมาปรึกษา เขาสามารถคุยกับเราได้ทุกเรื่อง”

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญคือความเป็นรักษ์เขาชะเมา ‘ทุกคนมีที่ยืนที่นี่’ ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะอาชีพไหน เช่น ลุงอ๊อดเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อย ลุงพัดเป็นเกษตรกร ลุมทิมรับจ้าง พี่ประภาสจบจุฬามากีดยางอยู่ที่บ้าน ก็ออกมาเอาวิชาความรู้มาสอนเด็กๆ ทำงานศิลปะ พี่แจ็คเคยเป็นสื่อมวลชน กลับมาอยู่บ้านดูแลแม่ เขาก็เอาวิชาความรู้ที่เคยเป็นสื่ออาชีพมาช่วยที่กลุ่มรักษ์เขาชะเมา เราเป็นประชาชนที่เป็นพลเมืองและเราทำงานทางสังคมได้

นี่คือตัวอย่างสายสัมพันธ์ของรักษ์เขาชะเมา ไม่ว่าพวกเขาจะงอกงามที่บ้านเกิด หรือผลิบานในพื้นที่แห่งอื่น สะท้อนให้เห็นว่าการเรียนรู้นอกห้องเรียนก็สามารถตอบโจทย์ชีวิต ซึ่งได้ทั้งความรู้ที่จับต้องได้และความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น

ระยะเวลาเกือบสามทศวรรษที่กลุ่มรักษ์เขาชะเมาสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงขยับขยายสู่การเชิญชวนคนนอกพื้นที่มาร่วมเรียนรู้ ผ่านการศึกษาบนฐานชุมชน

รู้รากเหง้า เท่าทันสังคม และสุดท้ายสามารถกำหนดวิถีชีวิตของตัวเองได้ 

“ใครเติบโตอยู่ที่บ้านของตัวเองได้ก็เติบโต ใครไปงอกงามที่ไหนได้ก็งอกงาม ชีวิตจะบอกเราเองว่า เราเหมาะจะไปเติบโตงอกงามที่ไหน แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องติดตัวไป คือความเป็นรักษ์เขาชะเมา ความทรงจำในวัยเยาว์ที่สวยงาม และที่นี่พร้อมต้อนรับทุกคน”

ภาพจาก กลุ่มรักษ์เขาชะเมา – โรงเรียนโรงเล่น

Array