ก่อการครู – Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้

ไม้ขีดไฟแห่งความวาดหวังจากภูเขาถึงจักรวาลกว้างคือห้องเรียนไร้ขอบของเด็กทุกคน

Reading Time: 2 minutes เพราะตระหนักดีว่าการศึกษาไทยไม่สามารถทำให้ผู้เรียนทุกคนบรรลุศักยภาพของตนเอง มากกว่านั้น การศึกษายังไม่ตอบโจทย์ชีวิตของมนุษย์ในสังคมและยุคสมัยที่ซับซ้อนผกผัน การศึกษามีพื้นที่ให้เด็ก ‘เก่งและดี’ แต่ไม่มีพื้นที่ให้ความเก่งรูปแบบอื่นๆ Mar 3, 2023 2 min

ไม้ขีดไฟแห่งความวาดหวังจากภูเขาถึงจักรวาลกว้างคือห้องเรียนไร้ขอบของเด็กทุกคน

Reading Time: 2 minutes

โดยสังเขป ‘ไม้ขีดไฟ’ เริ่มต้นจากกลุ่มนักศึกษาที่อกหักกับการศึกษา (ไทย)

ครูคือศูนย์กลางของห้องเรียน ผู้เรียนคือผู้ฟังที่ภักดี ความสร้างสรรค์มีพื้นที่จำกัด ขณะที่ความสนุกสนานแทบจะไม่มีที่เหยียบยืนในระบบการศึกษาเช่นนี้ 

กุ๋ย – ศรัทธา ปลื้มสูงเนิน ผู้ประสานงานกลุ่มไม้ขีดไฟ และเพื่อน ตระหนักดีว่าการศึกษาไทยไม่สามารถทำให้ผู้เรียนทุกคนบรรลุศักยภาพของตนเอง มากกว่านั้น การศึกษายังไม่ตอบโจทย์ชีวิตของมนุษย์ในสังคมและยุคสมัยที่ซับซ้อนผกผัน การศึกษามีพื้นที่ให้เด็ก ‘เก่งและดี’ แต่ไม่มีพื้นที่ให้ความเก่งรูปแบบอื่นๆ 

“เรามาทำกิจกรรมแล้วพบว่า กิจกรรมทำให้คนค้นพบศักยภาพตัวเองอีกหลายด้าน ทั้งด้านศิลปะ การพูด การทำกิจกรรม การอยู่กับผู้คน เราจึงเริ่มเข้าใจตั้งแต่เรียนมหา’ลัยปีท้ายๆ แล้วกลุ่มไม้ขีดไฟก็เลยตั้งขึ้นมา”

โรงเรียนไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชีวิต – คือเส้นเรื่องหลักของ ‘กลุ่มไม้ขีดไฟ’ ในการทำงานด้านการศึกษา พวกเขาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย หยิบยืมเครื่องมือและแลกเปลี่ยนไอเดียกับเครือข่าย ชักชวนเด็กๆ เข้ามาทำกิจกรรมบนความสนใจและความสมัครใจ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับทักษะที่สอดคล้องกับศักยภาพและการดำรงชีวิต

“เราจะให้ทักษะในการทำกิจกรรม เช่น การนำเกม การอยู่กับผู้คน การวิเคราะห์สังคม ที่เหลือเราก็ปล่อยให้เด็กมีประสบการณ์ในทางสังคมด้วยตนเอง เช่น เขาอาจมีโอกาสได้ทำโปรเจกต์กับชุมชน ได้เก็บข้อมูลชุมชน ได้ออกแบบกิจกรรมที่เขาจะทำกับชุมชน สุดท้ายเรามีเวทีให้เขาได้พบเจอคุณค่าที่เขาได้ทำ ถ้าชอบก็ลุยต่อ ถ้าไม่ชอบก็รีบหาอย่างอื่นทำต่อไปเพื่อจะได้เจอศักยภาพของตัวเอง”

ธรรมชาติยันจักรวาล การเรียนรู้ไม่มีขอบ

นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา กลุ่มไม้ขีดไฟได้ทำงานร่วมกับ 5 กลุ่มกิจกรรม เพื่อสร้างห้องเรียนธรรมชาติเพื่อการเรียนรู้ที่หลากหลายในกับเด็กๆ ชุมชนและผู้ที่สนใจภายนอก ดังนี้ 

  1. กลุ่มไม้ขีดไฟ พื้นที่เรียนรู้ด้านทักษะชีวิตและพื้นที่อาสาสมัคร ณ สวนไฟฝัน อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา
  2. กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ ทำหน้าที่เชื่อมคนกับป่า ผ่านกิจกรรมหมอยาน้อย เนเจอร์เกม และการเดินสำรวจธรรมชาติบนพื้นที่อุทยานเขาใหญ่
  3. กลุ่มต้นกล้า ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ธรรมชาติ เน้นที่กิจกรรมดูนก สำรวจธรรมชาติ ป่าชายทุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก และพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
  4. กลุ่มใบไม้ สร้างการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมและงานด้านอาสาสมัคร ที่อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก
  5. กลุ่มลูกมะปราง ทำกิจกรรมด้านภูมิปัญญา ศิลปะธรรมชาติ การพึ่งพิงธรรมชาติ ป่าชายขอบ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

“เราคิดว่าวิชาศิลปะจะช่วยทำให้มนุษย์มีความเติมเต็ม มีความงาม ได้มองไปเห็นความงาม เพลงก็ไม่ต้องฟังเพลงป๊อปเหมือนกันก็ได้ เราก็พยายามทำห้องเรียนศิลปะให้ถี่ขึ้น  โดยการเอางานฝีมือ (craft) เข้าไปในห้องเรียน โดยที่ไม่เน้นว่าเด็กต้องมาจับปากกา พู่กันวาดรูปเท่านั้น นี่คือกลุ่มวัยประถม”

ส่วนในวัยมัธยม พวกเขาจะเรียนรู้ในกิจกรรมประจำปีคือ ‘เขาใหญ่ดีจังคราฟท์’ โดยเครือข่ายเขาใหญ่ดีจัง ประกอบด้วยห้องเรียนสิ่งแวดล้อม โดยการนำงานสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมของตนมาแลกเปลี่ยนกันกลางอุทยาน เป็นกิจกรรมที่ครอบครัวจะได้มาใช้เวลาร่วมกันร่วมกัน เพื่อเปิดโลกเข้าสู่การเรียนรู้ 

“เราคิดว่าถ้าทำให้คนอยากรู้เรื่องหนึ่ง ก็อยากรู้ไปอีกหลายเรื่อง อยากรู้เรื่องธรรมชาติก็ไปยันจักรวาล” กุ๋ยเล่าพลางยิ้ม

สุดท้ายคือกลุ่มผู้เรียนวัยอุดมศึกษา พวกเขาจะได้เข้าร่วม World Animal Protection ขับเคลื่อนภารกิจยุติการทารุณกรรมสัตว์ เปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวได้ออกมาทำกิจกรรมของสังคมผ่านประเด็น ‘ปัญหา’ โดยมีใจความสำคัญ 3 ส่วนคือ 

  1. ป้อนข้อมูล (input) ที่ผู้เรียนควรรู้ 
  2. ปล่อยให้ผู้เรียนไปเจอประสบการณ์ในสังคม
  3. สรุปการเรียนรู้ร่วมกัน

“อีกไม่นาน เขาใหญ่จะมีประเด็นเรื่องการสร้างเขื่อน 11 แห่ง (ไล่เลียงตั้งแต่ปราจีนบุรี ถึงนครนายก) โดยใช้คำว่า ‘อ่างเก็บน้ำ’ เพื่อสนองนโยบาย EEC ตอนนี้เริ่มมีการสำรวจกัน แล้วทางทีมก็ลงสำรวจพื้นที่สู้กับรัฐอยู่ กระบวนการตอนนี้อนุมัติแล้ว

“หากพวกเราติดตั้งเรื่องสิ่งแวดล้อมให้กับเด็กๆ ไปแล้ว พวกเขาน่าจะเป็นนักท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์ รับรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม ตระหนักสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมากกว่าคนอื่นๆ ที่ไม่ได้มีประสบการณ์แบบนี้ เวลาที่อุทยานมีปัญหา น้องๆ พวกนี้เป็นแรงซัพพอร์ตในการต่อสู้กับนโยบายที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นตอนเขื่อนแม่วงก์ก็มีเด็กจำนวนมากที่ออกมาเคลื่อนไหวเหมือนกัน”

ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มไม้ขีดไฟและเครือข่ายของเพื่อนพ้อง จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่เพียงสายลม แสงแดด ทิวทัศน์และสุนทรียภาพ หากแต่มันยึดโยงกับการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างไม่อาจแยกขาด ยึดโยงกับอากาศที่เราใช้หายใจ กับแหล่งน้ำที่เราใช้อุปโภคบริโภค กับระบบนิเวศที่เป็นแหล่งอาหารของผู้คนนับไม่ถ้วน 

การเรียนรู้ที่ดีควรเป็นเช่นนี้มิใช่หรือ?

ระบบการศึกษา ที่ (ไม่) รัก

ห้องเรียนศิลปะ สิ่งแวดล้อม และธรรมชาติของกลุ่มไม้ขีดไฟ คือความพยายามหนึ่งในการรื้อถอนมายาคติการเรียนรู้ผ่านศิลปะของห้องเรียนไทย เพราะศิลปะของพวกเขาหมายถึงต้นทุนของชีวิต คือความงาม คือไม้ขีดไฟส่องทางในการต่อสู้ดิ้นรนของชนชั้น ด้วยหลักการสำคัญคือ

หนึ่ง – ไม่ทำซ้ำกับห้องเรียนที่ระบายสีตามกรอบ แต่ออกแบบการเรียนรู้ให้ผู้เรียนสนุกกับศิลปะ เพื่อสร้างความหมายใหม่ว่า ‘ศิลปะทำได้ทุกอย่าง’
สอง – ทุกคนสามารถสร้างศิลปะได้ เพื่อหักล้างความเชื่อว่า “คุณเกิดมาเพื่อเป็นศิลปิน จึงจะสามารถทำงานศิลปะ” กลุ่มไม้ขีดไฟเชื่อว่า ศิลปะคือสุนทรียะในชีวิต ไม่ว่าจะเรื่องการแต่งตัว การเลือกเสื้อผ้า การเลือกสีของใช้ประจำวัน อาหาร ล้วนแล้วเป็นศิลปะทั้งสิ้น

“ศิลปะสามารถนำมาออกแบบผลิตภัณฑ์ออกมาวางขาย สามารถออกแบบอาชีพใหม่ๆ ได้สารพัดจากความคิดสร้างสรรค์ของคุณ มากกว่านั้น มันเป็นสุนทรียะที่คุณจะประคับประคองชีวิตท่ามกลางความทุกข์ต่างๆ นานา ให้มันผ่านไปได้”

“เด็กๆ ปากช่องที่เราทำกิจกรรมด้วย ส่วนมากไม่ใช่ลูกคนรวย พ่อแม่เคยเป็นเจ้าของที่ดิน ที่ขายให้กับคนรวยไปหมดแล้ว ทุกวันนี้กลายเป็นคนสวน เด็กส่วนใหญ่ก็จะอยู่กับตายาย มีโรงเรียนขนาดเล็กขนาด 100 คน

“ครั้งหนึ่งเราเคยไปทำกิจกรรมการอ่าน เราเชื่อว่าหนังสือดีทำให้คนอ่านหนังสือ ถ้าเด็กได้อ่านสักรอบหรือไปอ่านให้เด็กฟัง ยังไงก็ติดใจถ้าเป็นหนังสือดี แต่คุณครูกลับเอากุญแจมาล็อกไม่ให้เด็กอ่าน โดยให้เหตุผลว่า ตอนนี้ผู้อำนวยการเน้นนโยบายให้เด็กอ่านออกเขียนได้ในวัยอนุบาล

“คุณก็รู้ว่าเร่งเด็กในวัยนี้มันไม่เหมาะสมกับพัฒนาการ แต่นโยบายที่เขาทำมามันกระทบกับเด็กทุกคน เพื่อตามเทรนด์ของกระทรวงศึกษาที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นี่คือสถานการณ์ที่เราพบกับเด็ก เด็กขาดโอกาสในการเล่น ขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพตัวเอง เพราะวิชาหลักที่ถูกบังคับให้เรียน ถูกขังอยู่ในห้องในโต๊ะสี่เหลี่ยมวันละ 6 ชั่วโมง มันลิดลอนศักยภาพเด็กไปเยอะมาก”

การดำรงอยู่ของกลุ่มไม้ขีดไฟ มีขึ้นเพื่อเด็กๆ และผู้เรียนที่อกหักกับการศึกษาดังเช่นพวกเขาในอดีต ในพื้นที่ที่ปราศจากการขู่เข็ญ บังคับ ยัดเยียด และยึดครองความรู้ เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ใช้คำว่า ‘ลองดู ลองทำ ไม่มีผิดถูก’ จนกลายเป็นวัฒนธรรม พวกเขาไม่ได้มีหวังนักว่าระบบการศึกษาไทยจะเปลี่ยนแปลงในเร็ววัน นั่นคือเหตุผลที่ ‘กลุ่มไม้ขีดไฟ’ ยังทำงานต่อเนื่องมาร่วม 20 ปี

Array