กว่าจะเป็นห้องเรียนแนะแนวแห่งรัก ครูลูกหมี โรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์
Reading Time: 3 minutesห้องเรียนโล่งกว้าง สะอาดสะอ้าน บนผนังห้องมีบอร์ดปฏิทินและตารางสอบ ทั้ง GAT/PAT O-NET วิชาสามัญและวิชาเฉพาะอื่นๆ ไม่ไกลจากทางเข้ามีคุณครูยิ้มแฉ่งอารมณ์ดีค่อยทักทายนักเรียนที่เดินพ้นประตูเข้ามาอย่างเป็นกันเอง
เด็กๆ ทิ้งตัวลงนั่งบนพื้นห้องโดยไม่มีทีท่าเคอะเขิน บ้างจับกลุ่มนั่งคุยเล่นกันกับเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันตลอดช่วงปิดเทอม บ้างเข้ามาพูดคุยกับคุณครูอย่างสนิทสนม
นี่คือบรรยากาศในวันแรกของการเปิดภาคการศึกษา ณ ห้องเรียนวิชาแนะแนวของ คุณครู ‘ลูกหมี’ สุพัตรา ศรีพันธบุตร โรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู หนึ่งในคุณครูจากโครงการโรงเรียนปล่อยแสง ผู้แนะนำตัวกับเราว่าตนเองเคยเป็นครูสุดโหดที่เด็กกลัว
เมื่อครูโหดมาเป็นครูแนะแนว
“เดิมเราเคยอยู่โรงเรียนในเมืองใหญ่มาก่อน ที่นั่นเขามีครูแนะแนวเฉพาะทาง มีระบบระเบียบการสอนชัดเจน ตัวเด็กเองก็มีความพร้อม มีเป้าหมายของตัวเองชัดเจน พ่อแม่พร้อมสนับสนุน เด็กส่วนมากเรียนพิเศษ เราในฐานะครูแนะแนวแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย เราแค่แนะนำพื้นฐาน ให้ข้อมูลนิดหน่อย แต่โรงเรียนคำแสนฯ เป็นโรงเรียนต่างอำเภอ เด็กที่นี่หลายคนตื่นเช้ามาต้องไปทำงานก่อนจะมาโรงเรียน หลายคนไม่ได้มีความคิดเรียนต่อ จบ ม.6 ก็จะเอาวุฒิไปสมัครงานเลย เราต้องทำงานเยอะขึ้นมากในการหาแนวทางแนะแนว”
ครูลูกหมีเริ่มเล่าเรื่องสมัยเธอย้ายมาเป็นครูแนะแนวคนแรกของโรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ เมื่อ 4 ปีก่อน ซึ่งมีบริบทแตกต่างกับโรงเรียนเดิมที่เคยสอนอย่างมาก
ตลอด 47 ปีก่อนหน้าที่เธอจะมาทำหน้าที่ โรงเรียนให้ครูที่ปรึกษาแต่ละห้องสอนแนะแนวเอง ซึ่งครูไม่ได้มีความรู้ด้านการแนะแนว ทำให้ชั่วโมงเรียนแนะแนวในความเข้าใจของเด็กๆ เป็นเพียงแค่คาบว่าง ไม่มีการเรียนการสอน และไม่ต้องมาร่วมกิจกรรมก็ได้
“ปีแรกที่สอน เด็กไม่มาเรียนวิชาเราเลย แต่เราเป็นคนค่อนข้างเข้มงวด เช็กชื่อตรงเวลา ไม่มาก็ลงว่าขาด ขาด 3 ครั้งเด็กก็ติด มผ. ตอนนั้นเด็กบ่นกันเยอะมาก รู้สึกว่าอะไรนักหนา คาบแนะแนวเกรดก็ไม่มี หน่วยกิตก็ไม่มี ยังจะมาเข้มงวดเรื่องเช็กชื่อ โหดกว่าวิชาหลักอีก เด็กก็จะไม่ชอบวิชาแนะแนวของเรา แล้วก็ไม่ชอบเราด้วย”
เรียกว่าปีแรกมีทั้งปัญหาเด็กไม่เข้าเรียน เด็กๆ กลัวครูแนะแนวจนไม่กล้าเข้าใกล้พูดคุยสอบถาม รวมทั้งการออกแบบเนื้อหาแนะแนวในชั้นเรียนก็เข้าไม่ถึงเด็กๆ ที่ส่วนใหญ่ไม่สนใจจะเรียนต่อชั้นอุดมศึกษา
หลังจากผ่านปีแรกมาอย่างทุลักทุเล ครูลูกหมีจึงตั้งใจว่าจะทำให้วิชาแนะแนวเป็นมิตรมากขึ้น แต่จะเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร ทั้งความเป็นคนเข้มงวดของตัวครูเอง และสาระของการแนะแนว ที่ดูเหมือนจะไปคนละทิศละทางกับความคาดหวังของเด็กๆ
ห้องเรียนแห่งรัก
“ตอนเข้าโครงการโรงเรียนปล่อยแสง เราอยากให้ห้องเรียนแนะแนวไม่ใช่ห้องเรียนที่เด็กๆ มาแค่เช็กชื่อตรงเวลา หรือมานั่งฟังครูฝ่ายเดียว อยากให้ห้องเรียนเต็มไปด้วยความสุข ความอบอุ่น อยากรู้เทคนิคและวิธีการ ก็เลยลงเรียนวิชาห้องเรียนแห่งรัก เพราะอยากให้ห้องเรียนของตัวเองเป็นห้องเรียนแห่งรักจริงๆ”
ห้องเรียนแห่งรัก : เครื่องมือการสะท้อนตนและสร้างสรรค์พื้นที่ของความสุข คือหนึ่งในวิชาในโมดูลที่สองของโครงการโรงเรียนปล่อยแสง ซึ่งมุ่งเน้นที่จะช่วยฟื้นความมีชีวิตชีวาในห้องเรียน ทําให้ผู้เรียนกับผู้สอนเกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน
คุณครูลูกหมีเล่าถึงวิชา “ห้องเรียนแห่งรัก” ว่า ตอนแรกเธอแปลกใจมากที่วิทยากรให้เธอไปนั่งใต้ต้นไม้เงียบๆ และทำความเข้าใจธรรมชาติที่แตกต่างกันของต้นไม้ใบหญ้า ก่อนจะเปรียบให้รู้ว่านี่คือธรรมชาติของคน ธรรมชาติของนักเรียน ธรรมชาติของวัยรุ่น ที่แต่ละคนล้วนแตกต่าง เราต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจธรรมชาติของเด็ก และมองเห็นตัวตนของเด็กๆ แต่ละคน เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับความหลากหลายของนักเรียน และดูแลให้นักเรียนมีพื้นที่เรียนรู้อย่างมีความสุข
ครูลูกหมีเริ่มเทอมต่อมาด้วยการจัดห้องใหม่ ห้องเรียนแนะแนวกลายเป็นห้องโล่งๆ ที่ไร้โต๊ะเก้าอี้ ปัดกวาดเช็ดถูพื้นอย่างดีให้สะอาดพอที่เด็กจะทิ้งตัวลงนอนได้อย่างสบายใจ และให้ทุกคนนั่งพื้นเหมือนกัน ไม่มีใครสูงกว่าใคร สร้างบรรยากาศของพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียนแนะแนว
“กลับจากอบรม รู้สึกว่าตัวเองใจเย็นขึ้นเยอะ สื่อสารกับเด็กอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้น ตกลงกันใหม่กับเด็กว่าในห้องเรียนนี้ เขามีอิสระ แต่ต้องไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนอื่น เช่น ไม่คุยเสียงดัง จะนั่งเล่นโทรศัพท์ก็ได้ แต่ต้องไม่สร้างความรำคาญให้คนอื่น เช่น ถ้าคาบนี้เราคุยเรื่องการศึกษาต่อมหาวิทยาลัย เด็กที่ไม่คิดว่าจะศึกษาต่อก็อาจจะไม่สนใจ เราก็ไม่บังคับให้เขาเข้าร่วม แค่มาอยู่ในห้องตามเวลาเรียนและอนุญาตให้ทำอะไรก็ได้ที่ไม่รบกวนผู้อื่น”
ครูลูกหมียังนำรูปแบบการจัดกิจกรรมและเกมของโครงการโรงเรียนปล่อยแสง มาใช้ในห้องเรียนแนะแนวแทนการบรรยายด้วย อย่างเกมหนึ่งที่เธอใช้ทุกปี คือเกมทายอาชีพ วิธีเล่นให้นึกอาชีพที่ตนเองชอบไว้ในใจ แล้วให้คนอื่นถามคุณสมบัติหรือลักษณะของอาชีพนั้นไปเรื่อยๆ เพื่อทายว่าอาชีพนั้นคืออะไร เธอชอบการนำเกมมาเล่นในวิชาแนะแนวมาก จนถึงกับออกปากว่า
“สิ่งที่ได้กลับมาจากการอบรมมากที่สุดก็คือเกมดีๆ ที่นำมาใช้ในห้องเรียนนี่แหละ”
ศึกษาต่อ ประกอบอาชีพ และการปรับตัวเพื่ออยู่ในสังคม
วันนี้เปิดภาคเรียนวันแรก การเรียนการสอนจึงเน้นการล้อมวงพูดคุย แลกเปลี่ยน นำเสนอข้อตกลงในวิชานี้ที่ทุกคน ทั้งครูและนักเรียนจะยึดถืออย่างเท่าเทียมกัน ร่วมคิดร่วมเขียนความคาดหวังของแต่ละคนว่าอยากให้วิชานี้ช่วยแนะนำเราไปในทิศทางไหน
“วิชาแนะแนวเทอมหนึ่งมีประมาณ 18 คาบ เราจะแบ่งเนื้อหาเป็นสามส่วน คุยเรื่องการศึกษาต่อประมาณ 6 คาบ เรื่องการประกอบอาชีพ 6 คาบ ส่วนอีก 6 คาบจะเป็นเรื่องการปรับตัวเพื่ออยู่ในสังคม”
ครูลูกหมีปรับการออกแบบเนื้อหาการเรียนการสอนของวิชาแนะแนวให้เหมาะกับบริบทของเด็กๆ โรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์มากขึ้น ด้วยความเข้าใจใหม่ว่าเด็กอยากรู้เรื่องการประกอบอาชีพไม่น้อยไปกว่าการศึกษาต่อ เธอจึงจัดสรรปันส่วนคาบเรียนของเนื้อหาทั้งสองเรื่องนี้เท่าๆ กัน และเพิ่มเติมอีกหัวข้อหนึ่งที่สำคัญเข้ามาด้วย คือ “การปรับตัวเพื่ออยู่ในสังคม”
“เดี๋ยวนี้สังคมเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราจะปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ นี้อย่างไรดี เราจะเอาข่าวหรือเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันขณะนั้นมาให้เด็กช่วยกันวิเคราะห์ ว่ามันเกิดจากอะไร มีวิธีการแก้ปัญหายังไงบ้าง เช่นเทอมก่อนเราเอาเหตุการณ์มิจฉาชีพโทรมาหลอกให้คนโอนเงินมาคุยกันในชั้นเรียน เกิดวงสนทนาที่ดีมาก ได้แลกเปลี่ยนความคิดกันว่าถ้าเราอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นจะทำอย่างไร แก้ไข ป้องกัน หรือหลบเลี่ยงอย่างไรได้บ้าง บางความคิดเห็นของเด็กๆ ก็ดีมาก เรายืนยันเลยว่าบางเรื่องเด็กเก่งกว่าครูเสียอีก ห้องเรียนแนะแนวนี้จึงไม่ใช่การให้ครูมาแนะนำนักเรียนอย่างเดียว ไม่ใช่การสอน แต่เราทุกคนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกัน”
เพราะธรรมชาติของเด็กแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน การออกแบบการเรียนการสอนสำหรับเด็กแต่ละห้อง จึงมีการยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมได้ เช่น นักเรียนห้องพิเศษวิชาการที่ส่วนมากตั้งใจศึกษาต่อระดับสูง ก็จะเพิ่มจำนวนคาบเรียนสำหรับหัวข้อนี้มากขึ้น ส่วนถ้าเด็กห้องไหนคุยกันตอนเริ่มเทอมแล้วส่วนใหญ่ไม่ได้อยากศึกษาต่อ ครูลูกหมีก็จะลดจำนวนคาบของหัวข้อนี้ลง แล้วเพิ่มสัดส่วนให้กับเรื่องการประกอบอาชีพและการปรับตัวเพื่ออยู่ในสังคมให้แทน
ห้องเรียนแนะแนว “ห้องใหม่” ที่ครูลูกหมีตั้งใจจะเป็น จึงไม่ใช่ห้องเรียนที่แข็งกระด้างเย็นชาอีกแล้ว แต่เป็นห้องเรียนแนะแนวที่ปลอดภัย เปิดกว้าง เป็นมิตร พร้อมจะให้เด็กๆ ได้มาลองถูกผิด ไม่ว่าพวกเขาจะอยากใช้ชีวิตหลังเรียนจบชั้นมัธยมของตัวเองอย่างไร ในห้องเรียนแนะแนวแห่งรักนี้ ครูลูกหมีและนักเรียนก็จะร่วมค้นหาตัวเองไปพร้อมๆ กัน
ด้วยรัก และไม่คาดหวัง
ช่วงท้ายของวิชาแนะแนวคาบเรียนแรก นักเรียนแต่ละกลุ่มย่อยผลัดกันนำเสนอถึงความคาดหวังต่อวิชาแนะแนวในปีนี้ บางคนรู้ตัวเองชัดแล้วว่าอยากเรียนต่อคณะไหน จึงไม่ได้อยากรู้เรื่องวิธีการเตรียมตัวสมัครสอบ แต่อยากให้ครูแนะนำเรื่องการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยมากกว่า บางคนวางแผนจะช่วยทำกิจการของที่บ้านอย่างเต็มตัวทันทีหลังเรียนจบมัธยมศึกษา จึงอยากให้มีการแลกเปลี่ยนแนวคิดในการทำงาน บางคนอาจยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัด ซึ่งครูลูกหมีก็บอกว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไว้มานั่งล้อมวงคุยเรื่องการวางแผนชีวิตกัน
นักเรียนดูสนุกสนานที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในกิจกรรมของวิชาเรียน จนรู้สึกได้ถึงห้องเรียนที่มีชีวิตชีวา ครูลูกหมีเล่าด้วยความภูมิใจว่าทุกวันนี้เด็กกล้าแสดงความคิดเห็นในห้องเรียน เทียบกับเมื่อก่อน ถามอะไรไปก็ไม่ตอบ
“เด็กไม่ตอบเรา เพราะเขากลัวเราอยู่ ทุกวันนี้พอเขารู้สึกคุ้นเคยกับเรา รู้สึกปลอดภัยกับเรา เขาก็กล้าที่จะพูดแสดงความคิดเห็น กล้าที่จะแสดงออก เราจะดีใจมากเวลาเด็กๆ มาปรึกษาเราเรื่องต่างๆ”
เคยมีเด็กเอาเรื่องใหญ่ที่กังวลอยู่มาขอให้ครูลูกหมีช่วยตัดสินใจ เธอรับฟังเขาเล่าจนจบ และบอกเด็กว่า ครูแนะแนวให้คำปรึกษาได้ แต่ตัดสินใจแทนไม่ได้ หน้าที่ของครูคือการสนับสนุนเขาด้วยความรัก สอนให้เขารู้จักทางเลือกต่างๆ เพื่อให้เขาได้ไตร่ตรองและตัดสินใจด้วยตัวเอง รวมถึงการรับผิดชอบต่อทางเลือกและการตัดสินใจของตัวเอง
“ในฐานะครูแนะแนว เราไม่คาดหวังว่าเด็กจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เด็กจะเลือกเป็นอะไรก็ได้ เราจะรับฟัง และพยายามเตรียมความพร้อมให้ลูกศิษย์ช่วยเหลือตัวเองได้ ยืนบนลำแข้งของตัวเองได้ อยู่กับสังคมได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าทางเลือกนั้นของเขาจะเป็นอย่างไรก็ตาม”
เมื่อคุณครูเปลี่ยนแปลง สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ปลอดภัย ไม่กดดันหรือคาดคั้น นักเรียนก็พร้อมเปิดใจให้กับผู้สอนและตัววิชามากขึ้น เต็มใจที่จะร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนเพื่อบอกเล่าถึงความฝันและความหวังของตนเอง ห้องเรียนแนะแนวของครูลูกหมีเป็นแบบนั้น เป็นห้องเรียนที่ทำให้เราเชื่อว่าห้องเรียนที่เปี่ยมไปด้วยความรักนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริง