ก่อการครู – Korkankru

ก่อการครู ด้านการศึกษา บทความ / บทสัมภาษณ์ โรงเรียนปล่อยแสง

ฟื้นคืนความเป็นมนุษย์ จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการศึกษา

Reading Time: 2 minutes คุยกับวิทยากรโครงการโรงเรียนปล่อยแสง 3 ท่าน ที่จะมาชวนให้คุณครูไม่ลืมว่าตนเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง มนุษย์ที่มีเรื่องเปราะบางในใจ มนุษย์ที่มีเส้นทางชีวิตของตัวเองและไม่มีใครเหมือน เป็นมนุษย์ที่เลือกได้ว่าจะอยู่อย่างไรในวัฒนธรรมอำนาจของห้องเรียน Jun 10, 2023 2 min

ฟื้นคืนความเป็นมนุษย์ จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงการศึกษา

Reading Time: 2 minutes

มีคำกล่าวที่ว่า “ก้าวที่ยากที่สุดของการเดินทางคือก้าวแรก” หากเป็นเช่นนั้น แล้วถ้าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงครูสักคนหนึ่ง เราควรเริ่มต้นกันอย่างไร 

เพื่อตอบคำถามนี้ เราจึงมาคุยกับ พฤหัส พหลกุลบุตร, ธนัญธร เปรมใจชื่น และ ผศ. นพ. พนม เกตุมาน วิทยากรในโมดูลที่หนึ่งของโครงการโรงเรียนปล่อยแสง ผู้ออกแบบห้องเรียนแรกที่ครูทุกคนจะต้องผ่าน เพื่อปรับฐานคิด ปลุกคุณครูให้ตื่นมาย้อนมองคุณค่าภายในตนเอง และเชื่อมั่นว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง

พฤหัส พหลกุลบุตร, ธนัญธร เปรมใจชื่น และ ผศ. นพ. พนม เกตุมาน

“โมดูลแรกใช้ชื่อว่า ‘ครูคือมนุษย์’ มาจากการที่เราสังเกตเห็นว่ากระบวนการสร้างครู การพัฒนาครู ไม่ค่อยสนใจเรื่องมิติตัวตนหรือความเป็นมนุษย์ของครูสักเท่าไร  เราจะให้ครูกระโจนไปที่เทคนิคการสอน สอนแบบ Active Learning ทำยังไง สอนแบบ Project based Learning ทำยังไง  แต่เราคิดว่าสิ่งสำคัญคือการสำรวจสภาวะความทุกข์ความสุขภายในของครู สัมพันธภาพภายใน ให้เขาไม่หลงลืมคุณค่าและความหมายของอาชีพ ให้เขาจำได้ว่ามาเป็นครูทำไม”

พฤหัส พหลกุลบุตร หรือ ‘อาจารย์ก๋วย’ มองว่าครูไทยภายใต้ระบบการศึกษาทุกวันนี้นั้นสะสมทุกข์ไว้ในใจไม่น้อย การพัฒนาครูของโครงการโรงเรียนปล่อยแสงจึงไม่เริ่มต้นที่การเติมอะไรเข้าไปอีกในแก้วที่เต็มปรี่และขุ่นหมอง แต่จะเริ่มจากการระบายออกด้วยการรับฟัง

“ช่วงแรกที่ครูมาเข้าโครงการในโมดูลที่หนึ่ง เขาจะมาระบายทุกข์ว่า ตอนนี้ฉันเหนื่อยมากเลย เครียดมากกับการต้องรับรองวิทยฐานะ กดดันกับงานที่มากมายมหาศาล แล้วไหนฉันจะต้องไปเข้าเวรอีก คุณครูพกความไม่สบายใจไว้เยอะมาก”

“เริ่มแรกเราจะให้เขาได้ระบายและรับฟังกัน เพราะเขาเป็นคนที่ประสบหรือเข้าใจความทุกข์แบบเดียวกัน และเขาก็จะได้ร่วมแบ่งเบาความทุกข์ของครูคนอื่นด้วย”

ในโมดูลครูคือมนุษย์ การรับฟังคือหนึ่งในทักษะที่ครูจะได้ฝึกฝนมากที่สุดนี้ เพื่อเรียนรู้ที่จะ “ฟังอย่างลึกซึ้ง” ในหลากหลายมิติ โดยแบ่งออกเป็นสามห้องย่อย

ห้องแรกที่จะชวนทุกท่านไปเข้า คือห้องที่ว่าด้วยการฟังเสียงจากภายใน

ย้อนกลับมาสำรวจภูมิทัศน์ภายใน

“เราอยู่ภายใต้แบบแผนของความดีงามและความน่าจะเป็นมากมาย ครูเป็นอาชีพที่ถูกคาดหวังให้อยู่ในแบบแผนเหล่านั้น เช่น ครูต้องเมตตา ครูต้องให้ ครูต้องเป็นผู้รู้  จนบ่อยครั้ง เราลืมคุณภาพบางอย่างในตัวเราเอง ความเป็นมนุษย์ ความรู้สึกนึกคิด  กิจกรรมของเราคือการวางความคาดหวังต่างๆ ไว้ก่อนแล้วกลับมายอมรับทั้งด้านบวกลบในใจ”

ห้องย่อยของ ธนัญธร เปรมใจชื่น หรือ ‘อาจารย์น้อง’ ที่พาคุณครูสำรวจภูมิทัศน์ภายในของตนเอง กลับมาใคร่ครวญว่ากำลังยึดถือคุณค่าและความหมายแบบไหน มีสิ่งใดที่ถนัด ที่ชอบ  สิ่งใดเป็นศักยภาพ สิ่งใดเป็นความเปราะบางหรือความอ่อนแอ  อะไรที่เป็นสิ่งอื่น และอะไรที่เป็นตัวเราเอง 

“เราเอากิจกรรมผู้นำ 4 ทิศเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อให้ครูรู้จักตัวเองมากขึ้น เขาจะได้รู้จักว่าคนที่มีคุณลักษณะแบบหนูเป็นอย่างไร กระทิงเป็นอย่างไร  อินทรีเป็นอย่างไร และหมีเป็นอย่างไร  สิ่งสำคัญของกิจกรรมนี้ไม่ใช่การรู้ว่าตัวเองเป็นสัตว์ทิศไหนแล้วขังตัวเองอยู่กับคุณลักษณะนั้น แต่เป็นการเข้าใจว่ายังมีคุณลักษณะอีกหลายแบบที่มีศักยภาพต่างกัน  ได้รู้ว่าเราสามารถเป็นได้มากกว่าที่เราเป็นอยู่ หากเราอนุญาตให้ตัวเองขยายพื้นที่กว้างขึ้น ไม่ปิดกันตนเอง”

อีกส่วนหนึ่งที่ไม่ง่ายเลยในกิจกรรมนี้ คือการฝึกที่จะสบตากับความอ่อนแอของตัวเองอย่างกล้าหาญ ผ่านการออกไปยืนพูดถึงสิ่งที่เราอ่อนแอและเปราะบางต่อหน้าเพื่อนฝูง เป็นทั้งการกระโดดออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวผู้พูด และการเรียนรู้ที่จะดูแลใจผู้อื่นที่กำลังเผชิญเรื่องยากๆ ขณะเปลี่ยนบทบาทเป็นผู้ฟัง

เส้นทางชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย

ห้องย่อยที่สอง คือห้องของ ผศ. นพ. พนม เกตุมาน ที่ว่าด้วยการเปิดเผยเรื่องราวชีวิตของกันและกัน 

“เรียนรู้ที่จะเล่า เรียนรู้ที่จะฟัง” มองเห็นความแตกต่างบนเส้นทางชีวิตของตนเองและผู้อื่น เรียนรู้ที่จะสังเกตแง่มุมที่งดงามในชีวิต

“เราให้คุณครูทำความรู้จักกันผ่านการแบ่งปัน Road Map หรือ ถนนชีวิต  ครูจะวาดรูปถนนชีวิต ตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน และทอดยาวต่อไปในอนาคต ในอดีตมีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นในชีวิตเราบ้าง สถานที่สำคัญที่ฝั่งแน่นไม่เคยลืม ผู้คนและเรื่องราวที่ถักทอกันเป็นชีวิตของเรา พอวาดรูปเสร็จ ครูก็จะผลัดกันเล่าให้กันและกันฟัง”

นอกเหนือจากการฝึกสะท้อนและเปิดเผยตัวตน แบบฝึกหัดสำคัญของห้องย่อยนี้ คือการฟังอย่างตั้งใจ ฟังโดยไม่ซักไม่ถามแทรก ฟังโดยไม่ตัดสิน ฟังเพื่อให้เข้าใจชีวิตของเพื่อนอย่างแท้จริง และปิดท้ายเมื่อเพื่อนเล่าจบด้วยการแลกเปลี่ยนกันว่าได้เห็นอะไรบ้างในชีวิตของเพื่อน 

ผศ. นพ. พนม สะท้อนว่าขณะที่ครูเล่าเรื่องถนนชีวิตของตัวเอง จะเป็นการสอนตัวเองบางอย่างไปด้วย ทำให้ครูได้ย้อนคิดถึงทางแยกสำคัญในชีวิต บทเรียนที่ได้รับจากประสบการณ์ตรง คำถามที่ย้ำกับตัวเองในบางช่วงวัย ได้กลับมาเรียนรู้จักตัวตนของตนเองในอดีต 

“ผมเชื่อว่าการที่ครูได้ฝึกรับฟังประสบการณ์ของผู้อื่น ทำความรู้จักชีวิตของผู้อื่น และเข้าใจความงดงามของชีวิตที่แตกต่าง เขาจะมีทัศนคติบางอย่างเปลี่ยนไป ครูจะอยากรู้ว่าชีวิตของเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร สภาพแวดล้อม ภูมิหลังของชีวิตเด็กๆ แต่ละคนเป็นแบบไหน เขาจะเห็นคุณค่าในการเข้าอกเข้าใจคน เกิดความรู้สึกเชิงบวก ซึ่งนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียน”

เท่าทันห้องเรียนแห่งความกลัว

“ห้องย่อยสุดท้ายเราชวนครูมาสำรวจเรื่องของวัฒนธรรมอำนาจ เพราะในระบบการศึกษาหรือสังคมไทยมันมีระบบอำนาจนิยมสูงมาก ทั้งเรื่องชายเป็นใหญ่ หรืออาวุโส การมองว่าเด็กที่ตั้งคำถามเยอะๆ คือเด็กเกเร เป็นห้องเรียนที่เด็กรู้สึกเกรงกลัว เราพยายามกลับมาสำรวจและรู้เท่าทันสภาวะอำนาจแบบนี้ มองให้เห็นว่าเราอาจเป็นทั้งผู้ถูกกระทำและเผลอเป็นผู้กระทำได้ด้วยเช่นกัน”

ห้องย่อยของพฤหัส เริ่มต้นจากการให้ครูทบทวนประสบการณ์เดิมว่าครั้งเมื่อยังเป็นเด็ก เคยถูกใช้อำนาจจนรู้สึกไม่ดีไหม เคยรู้สึกถูกลิดรอนสิทธิหรือโดนลดทอนความเป็นมนุษย์หรือเปล่า แล้วถามต่อว่าหลังจากเด็กคนนั้นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และมาเป็นคุณครูในทุกวันนี้ มีสักครั้งไหมที่เคยใช้อำนาจล้นเกิน เป็นในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือหลงลืมก็ตาม

คุณครูจะได้รู้จักอำนาจสามแบบ แบบแรกคือ “อำนาจเหนือ” ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุด คืออำนาจที่ใช้กดเหนือคนอื่น เช่น เพศ อายุ ความรู้ สถานภาพ ซึ่งมักถูกใช้โดยไม่ค่อยมีใครตระหนักถึง และเป็นอำนาจที่มีอยู่ในห้องเรียนมากที่สุด

แบบที่สองคือ “อำนาจร่วม” เป็นการใช้อำนาจที่เปิดให้ผู้มีอำนาจน้อยกว่าตอบโต้ได้ ออกแบบการใช้อำนาจร่วมกันได้  ส่วนแบบสุดท้าย คือ “อำนาจภายใน” คือการตระหนักถึงศักยภาพหรือความเป็นมนุษย์ของเรา การเคารพตัวเอง ภาคภูมิใจในสิ่งที่เราทำ เป็นอำนาจที่ผลักดันให้ชนะใจตัวเอง และกล้าลงมือก่อการบางอย่าง

คำถามสำคัญที่ครูจะได้จากห้องย่อยนี้คือ ทำอย่างไรให้ห้องเรียนใช้อำนาจเหนือน้อยลง แล้วเพิ่มการใช้อำนาจร่วมกับอำนาจภายใน  

จะออกแบบรูปแบบกิจกรรมในโรงเรียนอย่างไรให้เด็กแสดงความคิดเห็นได้ 

จะเสริมพลังความมั่นใจภายในเด็กอย่างไร หากสิ่งที่เขาถนัดอาจไม่ตรงกับตัวชี้วัดหรือกรอบของสังคม 

การเดินทางของครูผู้เป็นมนุษย์

“หลังจากคุณครูเข้าครบทั้งสามห้องย่อย ได้มองเห็นและรับฟังสิ่งต่างๆ เขาจะเชื่อมโยงทุกอย่างกับตัวเองได้ เพราะฉะนั้นทั้งสามห้องเราแทบจะไม่ได้สอนอะไรเขาเลย เป็นการชวนให้เขาได้ทบทวนตัวเอง ประกอบสร้างแว่นอันใหม่ ให้มุมมองใหม่กับตัวตนเดิมของคุณครู”

พฤหัสอธิบายว่าโมดูลหนึ่งนั้นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของการเดินทางไกล ครูส่วนมากจะรู้สึกฮึกเหิม มีพลัง พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลง  แต่การกลับไปอยู่กับโลกใบเดิมพร้อมแว่นอันใหม่ทำให้ครูต้องเผชิญกับความเจ็บปวด 

ระบบโครงสร้างและอำนาจนิยมแบบเดิมจะโบยตีคุณครูไม่ยั้ง บางคนอาจยอมแพ้และทิ้งแว่นนั้นไป

“เขาจะต้องเลือกด้วยตัวเอง แล้วเราก็ต้องเคารพในการเลือกของเขาด้วย เพราะความพร้อมของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนเร็ว บางคนช้า ซึ่งไม่เป็นไร เราไม่บังคับ และเรารอได้ด้วย เพราะเราเชื่อว่ามนุษย์ไม่ได้อ่อนแอขนาดนั้น เขาจะค่อยๆ หาสมดุลระหว่างโลกใบเก่ากับแว่นอันใหม่ในแบบของตัวเองได้ 

“เพราะฉะนั้นใครที่ตระหนักได้ เรียนรู้ เติบโตและก้าวข้ามผ่าน เขาจะบอกตัวเองได้ว่าเขาไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป”

ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงครูสักคนหนึ่ง เราควรเริ่มต้นกันอย่างไร 

พฤหัสย้ำทิ้งท้ายว่า โมดูลครูคือมนุษย์อาจเน้นเรื่องการกลับมาย้อนมองตนเอง แต่สิ่งสำคัญคือการเชื่อมโยงให้คุณครูตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงปัจเจกของเขาจะส่งผลต่อระบบและโครงสร้างได้จริง 

สิ่งนี้คือหัวใจของโครงการโรงเรียนปล่อยแสง 

คือการเปลี่ยนแปลงในระดับฐานคิดและความเชื่อของคุณครูเอง

Array