Korkankru

ก่อการครู กิจกรรมที่ผ่านมา บทความ / บทสัมภาษณ์ โรงเรียนปล่อยแสง

ฟื้นคืนบรรยากาศห้องเรียนด้วยการเล่น โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์2 min read

Reading Time: 2 minutes สถานการณ์โควิดที่ยาวนานทำให้ครูกับเด็กต่อกันไม่ติด เหมือนมีกำแพงบางๆ มาขวางกั้น โครงการโรงเรียนปล่อยแสงจึงชวนครูโรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์มาสัมผัสการเรียนรู้ผ่านการเล่น บรรยากาศที่สนุกสนานจะเปลี่ยนห้องเรียนได้อย่างไร Jul 25, 2023 2 min

ฟื้นคืนบรรยากาศห้องเรียนด้วยการเล่น โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์2 min read

Reading Time: 2 minutes

โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ จังหวัดสงขลา มีเป้าหมายการจัดกระบวนการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning เพื่อบ่มเพาะเด็กให้เติบโตเต็มศักยภาพที่เขาพึงเป็น แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยาวนาน บรรยากาศในห้องเรียนก็ไม่สดใสเหมือนเดิม 

ทำอย่างไรจะฟื้นคืนบรรยากาศการเรียนรู้ กระตุ้นทั้งครูและผู้เรียนให้กลับมาตื่นตัวกับกิจกรรมตรงหน้า ใช้สื่อออนไลน์ในฐานะเครื่องมือการเรียนรู้อย่างเข้าใจแทนที่จะปล่อยให้เป็นปัญหา

เพื่อตอบคำถามนี้เราจึงชวน “เต้” – ผดุงพงศ์ ประสาททอง กับ “ขวัญ” – ขวัญหทัย สมแก้ว 2 ตัวแทนจากทีมวิทยากรหัวข้อพัฒนาทักษะครูในการใช้เครื่องมือละคร โครงการโรงเรียนปล่อยแสง มาเล่าถึงกิจกรรมตลอดสองวัน ขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน

ทักษะละครกับการเรียนรู้ผ่านร่างกาย

“เวลาวาดรูประบายสีเรามีพู่กันเป็นเครื่องมือ สำหรับละครเรามีแค่ร่างกายทุกส่วน อยากชวนทุกคนจับคู่กันแล้วลองสำรวจว่าหากร่างกายเราเป็นพู่กัน จะระบายเป็นอะไรได้บ้าง” 

ครูแต่ละคนค่อยๆ ขยับแขนขาตามจังหวะเสียงเพลง คนหนึ่งนำ อีกคนเหมือนคนในกระจกคอยทำท่าตาม สลับกันนำผลัดเปลี่ยนกันตาม ก่อนที่วิทยากรจะให้สัญญาว่าหลังจากนี้ไม่มีใครนำไม่มีใครตาม ทั้งคู่มีอิสระปรับเปลี่ยนท่วงท่า แต่ยังคงความเหมือนของการเคลื่อนไหวไว้ ประหนึ่งว่าเป็นคนเดียวกัน

กิจกรรมวันแรกคือทักษะการละคร ชวนครูเปิดใจกับทุกผลลัพธ์ ความกล้าๆ กลัวๆ ความอาย ความไม่ถนัด และการตีความ โดยเริ่มจากการรู้จักขยับท่าร่างกาย ตามด้วยการใช้ร่างกายสื่อความหมายจากโจทย์เล็กๆ สู่โจทย์ที่ใหญ่ขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป จากจับคู่สองคน เพิ่มเป็นทีม 4 คน 8 คน เช่นประกอบท่าและขยับร่างกายให้สื่อถึงน้ำ ไฟ ฤดูกาลต่างๆ รวมกลุ่มทำท่าเป็นดอกไม้หุบ-บาน บางกลุ่มเน้นการขยับแขนขา บางกลุ่มเน้นขยับร่างกายให้เกิดเสียง

ช่วงครึ่งหลังของกิจกรรมวันแรก ครูแต่ละกลุ่มได้รับโจทย์ให้เล่นละครสั้น สื่อสารถึงสถานที่และประเด็นตามที่กำหนด บางกลุ่มได้สถานที่ป่าช้า แต่ละครต้องนำเสนอประเด็นการกลั่นแกล้ง อีกกลุ่มได้สถานที่บาร์โฮสต์ สื่อสารประเด็นมิตรภาพ  แต่ทุกกลุ่มก็แสดงละครตามโจทย์อย่างครื้นเครง 

สิ่งสำคัญคือไม่มีคำว่าถูกหรือผิด ไม่มีการสรุปผล บรรยากาศสนุกสนานเชื้อเชิญให้ครูกล้าทดลอง และแสดงออกอย่างไม่ต้องกังวลกับสิ่งใดๆ

“เราไม่ได้มาสอนการเล่นละคร แต่ว่าเราใช้กระบวนการละครทำให้เกิดการเรียนรู้ เรามักพูดว่า ลุกขึ้นเลย ลุกขึ้นเลย มาลองขยับร่างกายดู เพราะในกิจกรรมนี้ยิ่งเราปล่อยให้ร่างกายเคลื่อนไหวก็ยิ่งเกิดไอเดียมากขึ้นเรื่อยๆ เราอาจค้นพบท่วงท่าใหม่ๆ ค้นเจอศักยภาพใหม่ๆ ที่แท้จริงเรามีอยู่แล้ว แต่ไม่เคยใช้” 

พี่อาจารย์เต้เล่าว่าความตั้งใจตลอดวันนี้ คือการให้ครูได้สัมผัสการเรียนรู้ผ่านร่างกาย ใช้ร่างกายนำ ไม่มีการติดขัดเพราะคิดไม่ออก ลองท่าหนึ่งแล้วค่อยกลับมาคุยกัน ถ้าอยากเปลี่ยนก็ลองอีกท่า ไม่มีถูกผิด ซึ่งต่างจากความคุ้นชินของครูที่มักเริ่มการเรียนรู้จากสมอง ความคิดและความจำ ซึ่งมักมีคำตอบที่ตายตัว

กระบวนการละครนำพาให้คุณครูกลับมาเป็นหนึ่งกับร่างกาย หัวใจ และสภาวะในขณะปัจจุบัน เชื่อมต่อความรู้สึกและความคิด เพื่อเข้าใจตัวเองผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งกิจกรรมขยับร่างกายตามจังหวะ กิจกรรมสวมบทบาทท่าทางตามผู้อื่น ได้ลองละทิ้งเสียงจากตัวเอง และสัมผัสมุมมองของผู้อื่นด้วยใจที่เป็นกลาง

“นอกเหนือจากการเรียนรู้ในฐานะผู้แสดง ถ้าไปนั่งอยู่ในกลุ่มคนดูเราจะได้ยินเสียงต่างๆ มากมาย มีไอเดียหลากหลายมากมายเกิดขึ้นจากการดู ตีความ และต่อยอด  เกิดการเรียนรู้จากการได้ยินคำตอบของคนอื่น ขยายคำตอบในความคิดของเรา เป็นประสบการณ์ตรงที่เขารับรู้และต่อยอดของเขาเอง” 

ไม่มีใครนั่งอยู่เฉยๆ  วางการคิดไว้ก่อน ให้ร่างกายและจินตนาการนำพาไป ก้าวข้ามความกลัวจนไปพบกับตัวตนที่ไม่เคยเห็น  สัมผัสบางแง่มุมของเพื่อนร่วมงานที่ไม่เคยเปิดเผย แม้จะทำงานร่วมกันมาหลายปี 

แม้ไม่มีการสรุปเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน แต่ทั้งหมดคือการเรียนรู้ผ่านการเล่นที่ประทับอยู่ในตัวครูแล้วเรียบร้อย และวันหนึ่งจะถูกคุณครูนำไปประยุกต์ใช้ในห้องเรียนในแบบฉบับของตนเอง เพราะศิลปะการแสดงและการละครนั้นช่วยให้ผู้เรียนปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ และทำลายกำแพงที่ขวางกั้นความสัมพันธ์ระหว่างกัน และช่วยฟื้นคืนความรู้สึกร่วมกับเนื้อหาและห้องเรียนอีกครั้งหนึ่ง

สื่อออนไลน์ นิเวศแห่งใหม่ที่เราต้องใช้อย่างเท่าทัน

โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์เข้มแข็งเรื่องการบูรณาการหลักสูตรเข้ากับนิเวศการเรียนรู้ ทำกิจกรรมพาเด็กเรียนรู้เรื่องธรรมชาติรอบจังหวัดสงขลา มีกิจกรรมร่วมกับชุมชนชาวประมงและเกษตรกร แต่สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้รูปแบบการเรียนรู้ของเด็กๆ ขาดตอนไปด้วยการเรียนการสอนแบบออนไลน์ 

สิ่งที่ครูค้นพบหลังโรงเรียนกลับมาเปิดเรียนปกติ คือเด็กมีพฤติกรรมเสพสื่อเปลี่ยนไป โดยเฉพาะกับสื่อลามกในช่องทางออนไลน์ เครื่องมือการเรียนรู้เรื่องสื่อจึงเป็นอีกหัวข้อซึ่งโรงเรียนร้องขอให้โครงการโรงเรียนปล่อยแสงนำมาอบรมในครั้งนี้ด้วย 

วันที่สอง วิทยากรจึงเชิญชวนครูมาสำรวจการรู้เท่าทันข่าวปลอมผ่านกิจกรรม “ใช่หรือมั่ว ชัวร์หรือไม่” 

“วันนี้เราแบ่งห้องเป็นสามส่วน วิทยากรจะแสดงข่าวขึ้นมาเรื่องหนึ่ง ถ้าครูคิดว่าข่าวนี้จริงให้มานั่งฝั่งที่ติดป้ายว่าจริง ถ้าคิดว่าเป็นข่าวปลอมให้มานั่งที่อีกฝั่งหนึ่ง แต่ถ้าคิดว่าข่าวนี้เรายังไม่แน่ใจให้ลุกไปนั่งด้านหลังห้อง ถ้าพร้อมแล้วเริ่มเลยค่ะ” 

ข่าวที่วิทยากรเตรียมมานั้นครูหลายคนเคยเห็นผ่านตากันมาบ้าง เช่น น้ำกระชายผสมน้ำผึ้งมะนาวช่วยลดน้ำหนักได้ การใช้กัญชาส่งผลเสียต่อทารกในครรภ์ ฯลฯ ซึ่งครูก็มีหลากหลายความคิดเห็น เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง แตกต่างกันในแต่ละข้อ  วิทยากรขอให้ตัวแทนจากแต่ละฝั่งออกมาอธิบายว่าเหตุใดจึงคิดแบบนั้น บางครั้งเหตุผลที่ให้นั้นก็ฟังดูเข้าท่าจนมีครูเลือกย้ายมุมความเชื่อกันเลยทีเดียว

พี่อาจารย์ขวัญสะท้อนว่า “กิจกรรมนี้อยากให้ครูเห็นบรรยากาศการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ หลังจากการเลือกเชื่อ-ไม่เชื่อในครั้งแรก เราได้พูดคุยกันก่อนตัดสินใจใหม่อีกครั้ง เป็นการช่วยกันตรวจสอบว่าเราใช้วิจารณญาณกับข้อมูลนั้นมากพอไหม ให้คุณครูได้ใช้กระบวนการคิดแบบเดียวกันนี้กับการเสพสื่อและข้อมูลข่าวสารในชีวิตจริง ชะลอความเร็ว อย่าเพิ่งแชร์ต่อ อย่าเพิ่งส่งโดยที่เราไม่รู้ความจริง เพราะหลายครั้งเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการส่งต่อสื่อเหล่านั้น ทั้งผ่านการแชร์ในช่องทางออนไลน์ หรือการเล่าแบบปากต่อปากให้คนรู้จักฟัง”

ปัจจุบันนิเวศการเรียนรู้ของเด็กไม่ใช่แค่ที่บ้านและโรงเรียน แต่มีสื่อออนไลน์เข้ามาเป็นนิเวศใหม่ซึ่งเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร  หากครูรู้วิธีใช้นิเวศสื่ออย่างเท่าทัน สามารถคิดวิเคราะห์ที่มาที่ไปของข่าวสาร ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล ตลอดจนรู้เท่าทันอิทธิพลทางความคิดที่แฝงมากับสื่อ  ครูก็จะประยุกต์นิเวศสื่อมาเป็นการเรียนรู้ของเด็กๆ ได้อย่างปลอดภัย

การเรียนรู้ผ่านการเล่น

“เราเริ่มต้นจากการเล่น การเล่นนำมาซึ่งความสนุก และความสนุกเป็นประตูสู่ทุกอย่าง”

พี่อาจารย์เต้สะท้อนว่า “ความสนุก” คือหนึ่งในประตูการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เพราะความสนุกนำไปสู่ความรู้สึกปลอดภัย ผ่อนคลาย ถ้าครูสามารถสร้างห้องเรียนที่สนุกได้ เด็กจะเปิดใจ เหมือนอย่างกิจกรรมการละครในวันแรกที่แม้ครูจะเคลื่อนไหวร่างกายตลอดทั้งวันแต่ไม่มีใครหมดพลังเลย เพราะความสนุกกระตุ้นให้ทุกคนอยากเรียนรู้ อยากเชื่อมโยงเข้าหากันและกัน 

ส่วนพี่อาจารย์ขวัญให้แง่คิดว่า “ห้องเรียนไม่ควรมีคำว่าผิดถูก กิจกรรมเรื่องสื่อในวันที่สอง ครูหลายคนถกเถียงกันอย่างจริงจังว่าข่าวไหนจริงข่าวไหนปลอม หลายคนเห็นต่าง แต่ไม่มีใครทะเลาะกัน เราพูดคุยอย่างปลอดภัยในบรรยากาศที่สนุกสนานได้ ห้องเรียนก็ควรเป็นแบบนั้น เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่กว้างใหญ่พอจะเปิดรับความสนุกของคนหลากหลาย ปลอดภัยพอให้ใครสักคนยกมือถามและแสดงความคิดเห็น”  

เมื่อต้องพัฒนาการเรียนการสอน หลายคนอาจนึกถึงการจัดทำโครงการใหญ่โต การใช้เทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ใหม่ๆ แต่กระบวนการตลอดสองวันนี้พาเรากลับสู่ความสุขเรียบง่ายของวัยเด็ก คือความสนุกสนานและความปลอดภัย 

ฟื้นคืนบรรยากาศห้องเรียนใหม่ผ่าน “การเล่น” รูปแบบการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติที่สุดของมนุษย์เรา

Your email address will not be published.