Korkankru

ก่อการครู กิจกรรมที่ผ่านมา บทความ / บทสัมภาษณ์ โรงเรียนปล่อยแสง

หลากวิธีเสริมพลังครู เมื่อในชั่วโมงเรียนไม่ได้มีครูคนเดียวในห้อง โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง3 min read

Reading Time: 2 minutes หลายครั้งการจัดการสอนแบบบูรณาการนั้นไม่ง่าย ท้าทายทั้งทักษะและการบริหารทรัพยากร โครงการโรงเรียนปล่อยแสงจึงชวนครูจากโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุงมาจับกลุ่มออกแบบการเรียนรู้ที่ให้ครูสอนร่วมกันเป็นทีม แล้วผลที่ได้จะเป็นอย่างไร มีคำตอบผ่านกิจกรรม Jul 26, 2023 2 min

หลากวิธีเสริมพลังครู เมื่อในชั่วโมงเรียนไม่ได้มีครูคนเดียวในห้อง โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง3 min read

Reading Time: 2 minutes

โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง จังหวัดปราจีนบุรี โรงเรียนประจำชุมชน ตั้งใจพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นรายบุคคล เน้นบูรณาการกับการสร้างเสริมทักษะอาชีพที่ผู้เรียนสนใจ  แต่ความท้าทายที่กำลังเผชิญ คือข้อจำกัดด้านความเชี่ยวชาญของครูที่ต้องเปิดสอนวิชาใหม่ๆ หลายวิชามารองรับ จึงเป็นโจทย์หนึ่งที่โครงการโรงเรียนปล่อยแสงพยายามเข้าไปช่วยแต่ละโรงเรียนพัฒนานิเวศการเรียนรู้ที่มีสภาพแวดล้อมและบริบทของชุมชนแตกต่างกันไป

วันที่โครงการฯ เดินทางมาถึงโรงเรียนศรีรักษ์ฯ วิทยากรพบว่าคุณครูไม่ได้ขาดแคลนเครื่องมือออกแบบการสอน แต่อาจต้องการแรงเสริม เปิดพื้นที่ทดลองบางอย่างเพื่อสร้างความมั่นใจ และเปิดมุมมองการทำงานใหม่ๆ ผ่านการสอนร่วมกันเป็นทีม หรือ Team teaching ที่เน้นการบูรณาการวิชาต่างๆ เข้าด้วยกัน สร้างผลลัพธ์และคำตอบใหม่ๆ ด้วยความรู้จากหลากหลายศาสตร์ หลากหลายคำอธิบาย

กิจกรรมตลอดสองวันนับจากนี้จะเป็นอย่างไร ขอเชิญชวนทุกคนมาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน

ออกแบบห้องเรียนที่เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้

การเรียนการสอนแบบบูรณาการนั้นส่งผลดีต่อผู้เรียน เพราะได้ลงมือปฏิบัติจริง ไม่น่าเบื่อ แต่หลายครั้งที่ไม่อาจทำได้ทุกคาบ หรือบางครั้งการสอนแบบบรรยายก็ยังเหมาะสมสำหรับเนื้อหาพื้นฐานในวิชา คำถามคือครูจะจัดการอย่างไรให้การเรียนการสอนแบบบูรณาการไม่กลายเป็นภาระหนักอึ้ง และคาบเรียนที่เน้นบรรยายยังเป็นการสอนที่มีคุณภาพ

เพื่อตอบคำถาม วิทยากรชวนครูมาทบทวนทำความเข้าใจกับ Active Learning หรือการเรียนรู้เชิงรุกอีกครั้ง โดยตั้งต้นจากหลักการสำคัญของการเรียนรู้เชิงรุก ซึ่งไม่ใช่แค่การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมและการลงมือปฏิบัติ  

Active Learning ไม่ได้หมายถึงการปล่อยให้ผู้เรียนลงมือทำอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมและการสะท้อนคิดสิ่งที่ได้ทำ เช่น การบอกสิ่งที่ได้เรียนรู้ ข้อเด่น-ข้อด้อยของการเรียน  แม้แต่การสอนแบบบรรยายก็เป็น Active Learning ได้ถ้าผู้เรียนมีบทบาทในการเรียนรู้ของตัวเอง เพราะระหว่างที่เรียนก็มีการเก็บเกี่ยวความรู้ ตั้งคำถาม สะท้อนคิดอยู่ในหัวตลอดเวลา

เพื่อให้คุณครูฝึกฝนการออกแบบการเรียนรู้เชิงนิเวศ วิทยากรจึงตั้งโจทย์ให้ครูเลือกเนื้อหาการเรียนรู้จากชุมชน นำมาออกแบบบูรณาการเป็นกิจกรรมในห้องเรียน โดยระบุว่าส่วนไหนที่ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเองมากที่สุด

ครูแต่ละกลุ่มเลือกหัวข้อแตกต่างกันไป กลุ่มหนึ่งอยากทำห้องเรียนเกี่ยวกับ “ต้นมะดัน” ผลไม้ขึ้นชื่อประจำชุมชน  อีกกลุ่มสนใจเรื่องข้าวอินทรีย์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน  ทั้งสองกลุ่มอยากพาผู้เรียนไปพูดคุยกับเกษตรกรและสัมผัสพืชท้องถิ่น ผู้เรียนจะได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง

อีกกลุ่มสนใจศึกษาเรื่องสมาคมฌาปนกิจ ซึ่งเป็นกองทุนสำหรับจัดงานพิธีศพของคนในหมู่บ้าน ป้องกันปัญหาการกู้เงินนอกระบบ  ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ผ่านการสรุปความเข้าใจของตนเองเพื่อผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ให้กองทุน  กลุ่มสุดท้ายทำเรื่องประเพณีแข่งเรือยาว จุดเด่นอยู่ที่การบูรณาการสามกลุ่มสาระวิชา สังคมศึกษา ภาษาไทย และศิลปะ  ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ผ่านการออกแบบผลงานลวดลายเรือและประเมินผลงานของเพื่อนๆ ร่วมกัน

ครูแต่ละกลุ่มล้วนแล้วแต่มีไอเดียการจัดการเรียนการสอนที่น่าสนใจ ระดมความคิดและเขียนลงแผ่นกระดาษอย่างลื่นไหล

แต่ทั้งหมดยังเป็นแค่ความคิด วิทยากรจึงให้ครูแต่ละกลุ่มทดลองจัดห้องเรียนขึ้นมาจริงๆ โดยให้ครูกลุ่มอื่นมารับบทผู้เรียน 

เสริมพลังการสอน ผ่านกิจกรรมห้องเรียนจำลอง Mock Up Classroom

วันนั้นบรรยากาศในกิจกรรมห้องเรียนจำลองเป็นไปอย่างสนุกสนานครื้นเครง ทั้งครูผู้สอนและครูผู้รับบทผู้เรียนจำเป็น แต่ละกลุ่มได้ทดลองไอเดียการสอนมากมาย ทั้งส่วนเนื้อหาสาระ นันทนาการ รวมถึงกิจกรรมตกผลึกความคิดท้ายคาบเรียน  

กลุ่มสมาคมฌาปนกิจตั้งคำถามกับเรื่องคุณค่าของเงินพาเชื่อมโยงไปถึงความมั่นคงทางการเงินที่สัมพันธ์กับชีวิต  กลุ่มข้าวอินทรีย์ชวนผู้เรียนเปรียบเทียบความแตกต่างของข้าวอินทรีย์กับข้าวเคมี  กลุ่มมะดันจัดกิจกรรมนอกสถานที่ไม่ได้ ก็นำต้นมะดันเข้ามาในห้องเรียนให้เรียนรู้ มีกิจกรรมวัดความเป็นกรด-ด่างของใบไม้  กลุ่มประเพณีแข่งเรือยาวสอนวิชาภาษาไทยและศิลปะในคาบเรียนเดียวกัน เด็กๆ ได้ทั้งวาดลายไทยและเขียนคำกลอนจากคำไวพจน์  

ความสำคัญของกิจกรรมห้องเรียนจำลองคือการได้ทดลองสอนตามแผนที่กลุ่มวางแผน เผชิญปัญหาเฉพาะหน้าที่คาดไม่ถึง ลองผิดลองถูกว่าจะแก้ไขอย่างไร และส่วนสุดท้ายคือการตกผลึกการจัดห้องเรียนที่ออกแบบ ทั้งจากมุมคนสอนและมุมผู้เรียน

“ชอบที่กลุ่มมะดันยกต้นมะดันมาให้ทำกิจกรรมถึงในห้อง เพราะในกรณีที่เราลงพื้นที่จริงไม่ได้ ผู้สอนก็ต้องออกแบบประสบการณ์ในห้องเรียนว่าจะทำอย่างไรให้เสมือนจริงที่สุด” 

“สิ่งที่ชอบมากคือการวางแผนภายในกลุ่มและการแบ่งหน้าที่ พอสอนด้วยกัน 5 คน เราต้องแบ่งหน้าที่ว่าใครเป็นผู้เริ่ม ใครเป็นผู้ตาม ใครเป็นตัวหลัก ใครเป็นตัวเสริม”

“ชอบความเป็นกันเองระหว่างครูกับนักเรียน ระหว่างที่ครูคนหนึ่งสอนแล้วมีครูอีกคนนั่งข้างๆ คอยช่วยเหลือ เป็นบรรยากาศการเรียนรู้อย่างมีความสุขของผู้เรียน” ครูสะท้อนจากมุมมองการเป็นผู้เรียน

“ชอบกระบวนการกลุ่มและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การจัดการเรียนการสอนที่ทำมา เราต้องอยู่หน้าชั้นเรียนคนเดียว แต่ตอนนี้ทุกคนได้ช่วยกัน เพิ่มเติมเสริมให้กัน” ครูอีกคนให้ความคิดเห็นกับกระบวนการสำคัญที่ได้จากการทำห้องเรียนจำลอง คือการทดลองสอนร่วมกันหลายคน ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การเรียนรู้ของนักเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รูปแบบการสอนร่วมนั้นมีหลากหลาย วิทยากรจึงขอใช้ช่วงเวลาสุดท้ายก่อนจบกิจกรรมเล่าถึงการสอนร่วมกันแบบต่างๆ เพื่อให้ครูโรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุงนำไปประยุกต์ใช้ต่อ

จาก Co-Teaching สู่ Team Teaching

“การสอนเป็นทีม” หรือ “Team Teaching” เป็นหนึ่งในการสอนร่วม (Co-Teaching) ที่มีครูตั้งแต่ 2 คนมาสอนร่วมกัน ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น หนึ่งคนสอน-หนึ่งคนช่วย คือมีครูสอนหลักหนึ่งคนและครูอีกคนช่วยแจกอุปกรณ์และดูภาพรวมในห้องเรียนว่ามีนักเรียนคนไหนต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม

อีกรูปแบบที่นิยมคือ หนึ่งคนสอน-หนึ่งคนสังเกตการณ์ ซึ่งมักใช้ในกรณีห้องเรียนมีเด็กพิเศษ ครูสังเกตการณ์จะคอยติดตามเด็กพิเศษว่ามีพฤติกรรมอย่างไร สมาธิหลุดจากเนื้อหาแล้วหรือไม่ เรียนเข้าใจหรือเปล่า เพื่อให้ครูสอนมีสมาธิกับทั้งห้องได้เต็มที่

รูปแบบการสอนร่วมกันแบบนี้ครูช่วยกันโดยแบ่งหน้าที่หลักและหน้าที่เสริม แต่ยังมีอีกรูปแบบที่ครูช่วยสอนหน้าห้องพร้อมกัน ทำกิจกรรมพร้อมกันจริงๆ คล้ายวงดนตรี คนหนึ่งเล่นกีตาร์ คนหนึ่งตีกลอง อีกคนเล่นเปียโน ทุกคนเล่นบทบาทพร้อมกันอย่างสอดประสาน เรียกว่า Team Teaching 

“ขั้นตอนสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือการเตรียมตัวและวางแผนร่วมกันตั้งแต่ก่อนเริ่มการสอน ตกลงบทบาทกันให้ชัดเจนว่าระหว่างการสอน ใครจะเป็นฝ่ายนำและฝ่ายตามในช่วงใด และขั้นตอนท้ายสุดที่สำคัญมากๆ เป็นหัวใจที่อยากให้ครูทำกันมากขึ้น คือ After Action Review การคุยในวงครูหลังการสอนร่วมกัน ว่าการสอนเมื่อชั่วโมงที่แล้วเป็นยังไง รู้สึกว่าผู้เรียนหลุดไหม มีตรงไหนที่เราขัดกันเอง เราสองคนเชื่อมถึงกันหรือเปล่า ส่วนไหนที่ฉันทำได้ดีแล้ว และควรพัฒนาจุดไหน เป็นการสะท้อนระหว่างครูด้วยกันเพื่อพัฒนาปรับปรุงการสอนร่วมกันครั้งต่อๆ ไป”

การสอนเป็นทีมนั้นส่งผลเชิงบวกในหลายมิติ เช่น ผู้เรียนได้เห็นความหลากหลายในเรื่องเดียวกันจากครูหลายคน ได้มองเรื่องเดิมจากหลายมุมมอง  ส่วนครูได้สังเกตและใส่ใจผู้เรียนมากกว่าเก่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนก็ใกล้ชิดกว่าเดิม 

ที่สำคัญคือความสัมพันธ์ระหว่างครูที่ได้ใช้เวลาร่วมกัน เข้าใจกันและกันมากขึ้น เป็นพลังเสริมสร้างให้ครูในโรงเรียนก้าวไปในทิศทางเดียวกันอย่างมั่นใจ

วัฒนธรรมการสอนเชิงรุก

“ดีใจที่ได้เรียนรู้วิธีการสอนของครูแต่ละคน เพราะไม่มีโอกาสได้เรียนรู้วิธีการสอนและการวางแผนการเตรียมงานของครูอื่นๆ มากนัก โดยเฉพาะการชื่นชมและแนะนำจุดที่ควรพัฒนาหลังการทำห้องเรียนจำลอง นี่คือสิ่งที่ครูต้องการที่สุด ต้องการวัฒนธรรมองค์กรที่ครูเข้าใจการส่งเสริมการพัฒนาของกันและกัน” คือเสียงสะท้อนจากครูในวงพูดคุยสุดท้ายก่อนจบกิจกรรม 

หลายครั้งหลายหนที่ครูพยายามนำกระบวนการ Active Learning ไปปรับใช้ในโรงเรียนของตนเอง  แต่อาจยังไม่ได้สื่อสารปรับความเข้าใจกับครูคนอื่นๆ และลงเอยด้วยการถูกตำหนิ หรือไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนครูและผู้บริหาร เกิดเป็นความขัดแย้งในโรงเรียนที่ส่งผลให้ครูหลายคนหมดพลังที่จะพัฒนาการสอน

Active Learning จึงไม่ใช่แค่การออกแบบการเรียนการสอนในห้องเรียนอย่างเดียว และจะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่ด้วยครูคนเดียว แต่ยังต้องอาศัยทั้งระบบของโรงเรียนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทุกๆ มิติ  เริ่มต้นจากการสร้างความสัมพันธ์ของครูและเพื่อนครู ค่อยๆ เรียนรู้ แลกเปลี่ยน เปิดใจ และพัฒนาห้องเรียนที่เด็กมีส่วนร่วม ครูมีส่วนร่วม ไปด้วยกัน

Your email address will not be published.