Active Learning ประตูการเรียนรู้พาเด็กสู่ชุมชน โรงเรียนบ้านกาเนะ2 min read
วิทยากรให้คุณครูแบ่งกลุ่มตามความสนใจ ระดมความคิดช่วยกันว่าหากจะต้องขายของให้ผู้ที่ไม่เคยรู้จัก จะแนะนำอย่างไรให้คนสนใจ
“โรตีกาปาย ชาวจีนอพยพเอามาขาย รสชาติหอมอร่อย แป้งกรอบสะอาดบริสุทธิ์ กินกับข้าวโพดก็อร่อยนะคะ” คุณครูกลุ่มโรตีขายก่อน
“บ้านเราภาคใต้เรียกขนมรังต่อ ภาคกลางเรียกขนมดอกจอก ส่วนผสมครบ 5 หมู่ แป้ง ไข่ น้ำมัน น้ำตาล น้ำปูนใส ต้นหอม พริกไทย งาดำ และผักชี ผสมแล้วเอาแม่พิมพ์ชุบแป้งจุ่มลงหม้อ รสชาติมีทั้งเค็ม จืด หวาน เผ็ด” คุณครูกลุ่มรังต่อไม่น้อยหน้า
นี่คือบรรยากาศคึกครื้นในการอบรมครูให้รู้จักการเรียนรู้เชิงรุก หรือ Active Learning โดยออกแบบการเรียนรู้เชิงสมรรถนะที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน ณ โรงเรียนบ้านกาเนะ จังหวัดสตูล โครงการโรงเรียนปล่อยแสง
หลังจากแต่ละกลุ่มขายสินค้าแล้ว วิทยากรก็แจกโจทย์ใหม่ให้ครูคุยกันว่า เนื้อหาสาระวิชาที่เกี่ยวข้องกับสินค้าชิ้นนี้มีอะไรบ้าง ถ้าต้องหาความรู้เพิ่มเติมจะหาได้จากที่ไหน และวิธีการสอนที่สนุกและสร้างสรรค์ที่ครูจะใช้สอนเรื่องสินค้านี้คืออะไร
แหล่งค้นคว้าของแต่ละกลุ่มไม่ต่างกันมาก นั่นคือปราชญ์ชาวบ้าน พ่อค้าแม่ค้า และคลังข้อมูลในโลกออนไลน์ แต่การใช้ในวิชาเรียนแต่ละกลุ่มมีแนวคิดต่างกันไป กลุ่มขนมรังต่อจะนำเข้าไปอยู่ในวิชาภาษาไทย ให้นักเรียนอธิบายวิธีทำขนมเป็นกลอน กลุ่มกาแฟพื้นเมืองสนใจวิชาวิทยาศาสตร์ ให้เด็กๆ ฝึกทักษะการสังเกต ฝึกดม ฝึกชิมจริงๆ กลุ่มโรตีกาปายเลือกวิชาการงานอาชีพฯ เรียนการทำโรตีและวิธีแปรรูปขนม ส่วนวิธีสอนให้สนุกคือร้องเพลง “โรตีแผ่นใหญ่ๆ ใส่ทั้งไข่ ใส่ทั้งนม” อย่างสนุกสนาน
หลังจากการนำเสนอจบลง วิทยากรก็ชวนพูดคุยและสะท้อนการเรียนรู้ร่วมกัน
คุณครูหลายคนสะท้อนว่าเด็กๆ จะชื่นชอบกระบวนการเรียนที่ได้ลงมือทำแบบนี้แน่ แต่ฝ่ายครูเองไม่มั่นใจว่าจะทำได้ไหม หรือทำแล้วจะตอบตัวชี้วัดของโรงเรียน หรือช่วยให้เด็กสอบติดในระดับอุดมศึกษาได้อย่างไร
วิทยากรช่วยชี้ว่าครูอาจไม่มีปัญหาในการออกแบบกระบวนการสอน แต่ติดที่ยังไม่ชัดเจนว่าเด็กได้เรียนรู้อะไร ทำให้ครูไม่มั่นใจในการสอนของตนเอง
“กิจกรรมสองวันต่อไปนี้ เรามาลองวางตัวชี้วัดไว้ก่อน แล้วมาดูว่าหากเราออกแบบการเรียนรู้ให้เป็นระบบมากขึ้น ตัวชี้วัดที่ว่าจะตามมาได้เองไหม และความกังวลไม่มั่นใจจะเปลี่ยนไปอย่างไร”
Active Learning เรียนรู้จากการมีส่วนร่วมและสะท้อนคิด
ตามหลักคิดทางการศึกษา แนวคิดประกอบสร้างนิยม (Constructivism) เชื่อว่า การเรียนรู้เกิดจากการสร้างโดยประสบการณ์ แต่ละคนเรียนรู้จากสิ่งที่ตนเองประสบ ผู้เรียนจึงเป็นเจ้าของการเรียนรู้ ครูเป็นแค่ผู้สร้างประสบการณ์ให้เด็กได้สกัดความรู้ของตนเอง เช่น หากครูพาเด็กไปทัศนศึกษาที่สวนสัตว์ เด็กคนหนึ่งอาจเรียนรู้ว่ายีราฟลิ้นสีดำ ส่วนเด็กอีกคนอาจรู้ว่าเต่าชอบกินแครอตมากกว่าถั่วฝักยาว แม้จะเป็นประสบการณ์เดียวกัน แต่การเรียนรู้แตกต่างกันไปในแต่ละคน
เด็กๆ มักกระตือรือร้น พร้อมลองทำ ทั้งมอง ชิม สัมผัส เก็บข้อมูลของสิ่งที่ประสบพบเจอเข้ามาเชื่อมโยงกับประสบการณ์เก่า หากได้พูดคุยเพื่อสะท้อนแลกเปลี่ยนก็ยิ่งเกิดการเรียนรู้มากขึ้น งานสำคัญของคุณครูจึงไม่ใช่การสั่งสอน แต่ทำให้ผู้เรียนได้เชื่อมโยงตนเองกับโลกภายนอก นี่คือพื้นฐานความคิดของการเรียนรู้เชิงรุก หรือ Active Learning
คำว่า Active Learning อาจทำให้เข้าใจไปว่าเป็นกิจกรรมที่เน้นการเคลื่อนไหว การเล่นเกม แต่ความจริงองค์ประกอบหลักมีอยู่เพียง 2 ข้อ ข้อแรกคือ การมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นการร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมคิด ร่วมออกแบบ ร่วมปฏิบัติ รวมถึงการมีส่วนร่วมทางใจ เช่น การรู้ว่าตนเองทำได้ดีในส่วนไหน หรือสิ่งที่เราชอบใจในกิจกรรมมีอะไรบ้าง สิ่งสำคัญของการมีส่วนร่วมคือ การสร้างข้อตกลงร่วมกันบางอย่างด้วยตัวเอง ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่การเรียนรู้รวดเร็วขึ้น
ข้อสอง คือ การสะท้อนคิด จากตัวอย่างการไปสวนสัตว์ ผู้เรียนอาจตกผลึกกันคนละแบบ อาจจะตรงหรือไม่ตรงกับธงในใจครู แต่ครูต้องฟังเขา เปิดพื้นที่ให้เขาได้เล่า วันนี้เขาได้เรียนรู้อะไร มีอะไรที่อยากรู้เพิ่มเติม บางครั้งผู้เรียนอาจเชื่อมโยงไปได้ไกลกว่าผู้สอน
สำหรับ Active Learning การตกผลึกสะท้อนคิดของผู้เรียนนั้นเชื่อมโยงสู่ตัวชี้วัดที่ครูโรงเรียนบ้านกาเนะกังวลใจ เพราะการเรียนรู้ไม่ใช่แค่การจดจำ แต่ต้องสื่อสารได้ แสดงสิ่งที่ตนเองเรียนรู้มาได้ ผู้เรียนบางคนอาจถนัดการบอกเล่าเป็นภาษาภาพ วาดรูป บางคนถนัดพูดคุยโต้ตอบ สำหรับเด็กเล็กๆ ระดับชั้นประถมศึกษา การทำแผนผังสรุปความคิดก็อาจจะง่ายและเหมาะสมกว่า เป็นโจทย์ที่ครูผู้สอนเลือกเองว่าจะใช้ตัวชี้วัดแบบใดกับห้องเรียน
การออกแบบการเรียนรู้เชิงสมรรถนะโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน
เพื่อให้ครูสามารถออกแบบห้องเรียน Active Learning ได้อย่างเป็นระบบ วิทยากรจึงติดเครื่องมือเสริมให้อีกชิ้นหนึ่ง เรียกว่า “เส้นโค้งการเรียนรู้ (Learning Curve)” อธิบายอย่างง่ายว่าเป็นเหมือนการทำแผนการสอน แต่ต่างกันที่วิธีการ
เพื่อให้ครูเห็นภาพของการออกแบบห้องเรียนมากขึ้น วิทยากรจึงให้ครูลองออกแบบห้องเรียนเกี่ยวกับของดีในชุมชนอีกครั้งตาม 5 ขั้นตอนของเส้นโค้งการเรียนรู้ โดยมีตัวแทนชุมชนและผู้ปกครองมาร่วมกลุ่มกับครูด้วย
ครูกลุ่มแรกยังสนใจเรื่องขนมรังต่อ ตัวแทนจากชุมชนมาช่วยเสริมว่าขนมนี้เป็นของพื้นบ้านใช้ในประเพณีท้องถิ่นทั้งพุทธและอิสลาม เช่น เทศกาลฮารีรายอ เทศกาลตรุษจีน สร้างรายได้ให้ชุมชน และอาจเป็นอาชีพให้กเด็กๆ ในอนาคต
การเรียนรู้ 5 ขั้นตอน เริ่มแรกจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรู้จักขนมรังต่อว่าใช้ในเทศกาลต่างๆ หรือเป็นของฝาก เล่าประวัติความเป็นมาให้เด็กเห็นคุณค่าขนมในท้องถิ่น ตามด้วยศึกษาวิธีการทำอย่างไรให้อร่อย พาเด็กๆ ลงมือทำขนมจริง ชวนผู้เรียนพัฒนาสูตรขนม อาจเปลี่ยนรสชาติหรือเพิ่มเติมส่วนผสม แล้วปิดท้ายด้วยการสะท้อนคิดโดยใช้คำถาม คุณครูและผู้ปกครองจากกลุ่มขนมรังต่อนำเสนออย่างฉะฉาน ส่วนวิทยากรแนะนำเพิ่มเติมว่าอาจเชื่อมโยงกับชุมชนมากขึ้น เช่นร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้ความรู้เรื่องสุขภาพและการบริโภคขนมกับนักเรียน
ครูและผู้ปกครองของกลุ่มที่เหลือ เลือกเปลี่ยนของดีในชุมชนเป็น “ว่าวสตูล” โดยให้เหตุผลว่าเป็นการสืบทอดประเพณีเก่าแก่ตั้งแต่สมัยสุโขทัย เชื่อมโยงโรงเรียนกับปราชญ์ชาวบ้านและผู้สูงอายุในชุมชน ว่าวสตูลมาจากผู้คนหลากกลุ่มหลายเชื้อชาติ ในด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวก็มีงานว่าวประจำปีของจังหวัดสตูล
ในกระบวนการสอน เราจะพาเด็กๆ ร้องเพลงว่าว พาไปรู้จักว่าวประเภทต่างๆ ที่มาที่ไปของมัน เชิญปราชญ์ชาวบ้านมาให้ความรู้การทำว่าวกับนักเรียน ให้พวกเขาพัฒนาและสร้างสรรค์ว่าวรูปแบบใหม่ๆ พัฒนาต่อไปจนถึงการขาย สร้างรายได้ให้กับนักเรียนและชุมชน
“วันนี้ดีใจที่ได้ฟังมุมมองของผู้ปกครอง ชุมชน เพราะปกติเราไม่ค่อยได้คุยกัน แต่พอได้มาคุยกัน มีส่วนร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน มองเห็นภาพเดียวกัน ช่วยกันปรับเปลี่ยน เพราะเราอาจไม่ได้มองครบทุกฝ่าย ขอบคุณที่ได้จัดแบบนี้ อยากให้มีอีกเรื่อยๆ”
“ดีใจที่ได้รับรู้เรื่องราวใหม่ๆ นำสิ่งใกล้ตัวชุมชนมาจัดการเรียนการสอน ซึ่งจะเป็นผลดีกับเด็ก”
“รู้สึกดีใจกับกิจกรรมนี้ เพราะทำให้รู้จุดแข็งจุดอ่อนของชุมชน แล้วเราจะนำไปพัฒนาอย่างไร”
“ชอบวงแบบนี้มาก เพราะผู้ปกครองและครูได้รับฟังความคิดเห็นกัน รู้ว่าผู้ปกครองต้องการอะไร โรงเรียนต้องการอะไรและช่วยกันพัฒนา”
ครูและตัวแทนผู้ปกครองจากชุมชนแลกเปลี่ยนกันหลังจบกิจกรรมด้วยบรรยากาศที่อบอุ่น
กระบวนการตลอด 2 วันเต็มทำให้คุณครูโรงเรียนบ้านกาเนะเห็นแล้วว่าชุมชนของตนนั้นมีของดีอยู่ แต่จะนำมาสร้างเป็นการเรียนรู้อันแสนพิเศษได้อย่างไร ครูอาจต้องเริ่มจากการถามชุมชน พูดคุย ปรึกษา สร้างความร่วมมือระหว่างกัน ลองเปลี่ยนเป้าหมายจากสิ่งใหญ่ๆ มาเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ ใกล้ตัว
เริ่มที่ตนเอง ขยายสู่คนรอบข้าง สู่ชุมชนในฐานะเพื่อนผู้ร่วมทาง
สำหรับความกังวล ไม่มั่นใจเรื่องการตอบตัวชี้วัดที่มีในตอนเริ่มต้น วิทยากรแนะนำว่าในการเรียนรู้แบบ Active Learning อาจต้องเก็บวิธีคิดแบบรายวิชาไว้ก่อน นำสิ่งที่อยากให้เด็กได้เรียนรู้มาตั้งเป็นประเด็น แล้วค่อยๆ ออกแบบอย่างที่เคยทำมา
เงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆ ที่บีบรัดครูนั้นไม่ง่าย แต่ขอให้ครูพยายามลดการคิดลบ และเพิ่มความเชื่อมั่นในตนเอง เพราะทีมงานวิทยากรของโครงการโรงเรียนปล่อยแสงทุกคน เชื่อมั่นว่าโรงเรียนบ้านกาเนะจะสร้างการเรียนรู้ที่มีความหมายขึ้นได้จริงๆ