รวมเสียงสะท้อนปัญหา จากสายตาคุณครูปล่อยแสง พวกเขากำลังเผชิญโจทย์แบบไหนในระบบการศึกษาไทย
Reading Time: 2 minutes“งานเอกสารของครูเยอะเกินไป ครูมีหน้าที่สอนในห้อง แต่ต้องไปทำงานเรื่องการเงิน ครุภัณฑ์ด้วย”
“การศึกษามุ่งเน้นไปทางคะแนน ให้เด็กสอบ ให้เด็กแข่งขันกัน แล้วเด็กเรียนไปมีความสุขไหม”
“โรงเรียนขนาดเล็กๆ กำลังเผชิญกับเรื่องงบ เขาต้องกังวลตลอดเวลาว่าโรงเรียนจะถูกยุบเมื่อไหร่”
โครงการโรงเรียนปล่อยแสงมุ่งมั่นที่จะพัฒนานิเวศการเรียนรู้ ฟื้นคืนความสัมพันธ์ที่ดีในระบบโรงเรียน ทำให้กระบวนการจัดการเรียนการสอนสามารถดูแลให้ผู้เรียนมีพัฒนาการและเติบโตขึ้นอย่างมีความสุข มีความหมาย และมีคุณค่า แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้นเราอาจต้องกลับมามองให้ลึก ฟังเสียงของครูให้ชัดว่าพวกเขากำลังเผชิญกับโจทย์แบบไหน Pain Point หรือสิ่งที่ครูอยากเปลี่ยนแปลงและ อยากได้รับการดูแลเป็นพิเศษคืออะไร
มารับฟังผู้อยู่กับปัญหาจริงๆ ไปด้วยกัน
ระบบการวัดผลที่จำกัดความหลากหลาย
“ระบบวัดผลด้วยเกรด คะแนน แทนที่โรงเรียน ครู หรือพ่อแม่จะให้ความสำคัญกับตัวเด็ก”
“เด็กเรียนมีความสุขไหม เรียนแล้วเอาไปทำให้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้ไหม แก้ปัญหาที่เจอได้ไหม”
“กลายเป็นว่าทุกคนกดดันเด็กว่าต้องได้เกรด 4 ต้องได้คะแนนเต็ม”
“ถ้าเราเปลี่ยนใหม่ จากงานชิ้นนี้ของเด็ก เรามองเห็นอะไรในตัวเขาได้บ้าง เราตัดสินจากเกณฑ์แบบอื่นได้ไหม เช่น จากการพัฒนางานในแต่ละครั้ง หรือความพยายามของเขา เราไม่ควรตัดสินเด็กด้วยมิติใดมิติเดียว เพราะทุกคนมีศักยภาพ มีตัวตนที่หลากหลายแตกต่างกัน”
ระบบการวัดผลตามเกณฑ์ที่ไม่ยืดหยุ่น ไม่ได้ส่งผลกับแค่ผู้เรียน แต่สร้างความกดดันกับครูผู้สอนด้วย เพราะครูก็ถูกการประเมินการทำงานจากผลลัพธ์ของเด็กที่ครูรับผิดชอบ หากผู้เรียนได้คะแนนไม่ตรงเป้าที่โรงเรียนหรือระบบการศึกษากำหนด ก็จะส่งผลถึงการประเมินการผ่านงาน การปรับตำแหน่ง รวมถึงการขึ้นเงินเดือนของครู
“แทนที่ครูจะทุ่มเทใส่ใจกับผู้เรียนจริงๆ ก็ต้องถูกกดดันว่าจะทำอย่างไรให้เด็กคนนี้ได้คะแนนเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์และตัวชี้วัด ทำอย่างไรเขาจะสอบไม่ตก ครูผู้สอนเองก็ไม่มีความสุข”
ครูน้ำตาลทิ้งท้ายว่าเด็กแต่ละคนชอบหรือถนัดไม่เหมือนกัน การศึกษาจึงควรเป็นพื้นที่ชี้ถูกมากกว่าชี้ผิด ช่วยชี้แนะชี้นำให้ผู้เรียนมองเห็นศักยภาพของตนเอง ว่าทำสิ่งไหนได้ดี และพื้นที่พัฒนาต่อนั้นอยู่ตรงไหน เพื่อให้เขาเติบโตต่อไปในแบบฉบับของตนเอง
คุณภาพการศึกษาและราคาในการเข้าถึง
“การเข้าถึงการศึกษาต้องใช้เงินเยอะ ทุกคนไม่ได้มีเงินเท่ากัน หลายครอบครัวยังต้องหาเช้ากินค่ำด้วยค่าแรงขั้นต่ำ กัดฟันให้รอดไปวันต่อวัน”
ครู “น้ำฝน” – น้ำฝน ทองพงษ์ โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์ จังหวัดสงขลา สะท้อนว่ายังมีเด็กจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงการศึกษาด้วยเหตุผลด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นค่าเทอม ค่าชุดเครื่องแบบ ค่าสมุดหนังสือ หรือค่าเดินทาง และมีเด็กอีกหลายคนที่ต้องเรียนด้วย ทำงานด้วย เพื่อให้มีทุนทรัพย์อยู่ในระบบการศึกษาต่อ
“คนที่ไม่มีเงินมีปัญหาแบบหนึ่ง ส่วนคนที่มีเงินก็จะมีปัญหาอีกแบบหนึ่ง การศึกษาในประเทศเราเหมือนยอดพีระมิด ตอนอนุบาลประถมเราอยู่โรงเรียนไหนก็ได้ ฐานพีระมิดกว้างมาก แต่พอเข้ามัธยมก็ต้องเริ่มสอบแข่งขัน เด็กในชนบทจะพยายามเข้าโรงเรียนประจำอำเภอ ส่วนมากจะแข่งขันกันเข้าโรงเรียนดังในจังหวัด หรือบางคนก็ไปเรียนที่กรุงเทพฯ เลย ยิ่งพอระดับมหาวิทยาลัยการแข่งขันก็ยิ่งสูง ยอดพีระมิดเล็กลงเรื่อยๆ”
ยิ่งมีทุนทรัพย์มาก ก็ยิ่งเข้าถึงโอกาสได้มาก ดูจะไม่ใช่คำกล่าวที่ผิดนัก เมื่อครูน้ำฝนชวนมองถึงระบบการสอบเข้าเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเก็บค่าสมัครสอบแยกย่อยตามวิชา และเก็บเงินเพิ่มในวิชาเสริม หากผู้เรียนต้องการเลือกสอบหลากคณะ หลายมหาวิทยาลัย ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งเพิ่มขึ้น
“เพื่อให้สามารถสอบแข่งขันกับคนอื่นได้ หลายคนก็ต้องมีค่าเรียนพิเศษอีก ทุกอย่างใช้เงินหมด แล้วคนที่ไม่มีเงินจะเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างไร”
ครูน้ำฝนย้ำว่าการศึกษาคือหนทางที่ดีที่สุดในการหลุดพ้นจากความยากจนในประเทศนี้ การศึกษาอย่างมีคุณภาพที่ฟรีจึงเป็นทั้งความหวังและความฝันที่เด็กจำนวนมากยังรอคอยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
โรงเรียนขนาดเล็กกับความท้าทายขนาดใหญ่
“โรงเรียนได้เงินสนับสนุนตามจำนวนเด็ก โรงเรียนขนาดเล็กในชนบทจึงเผชิญกับปัญหาเรื่องงบประมาณอยู่ตลอดเวลา ครูต้องคอยกังวลว่าโรงเรียนจะถูกยุบเมื่อไหร่” ครู “ปาล์ม” – จิตราภรณ์ สุวรรณรัตน์ บอกเล่าปัญหาและอุปสรรคที่ตนเองเคยประสบพบเจอในโรงเรียนขนาดเล็กที่สอน
เนื่องจากโรงเรียนมีงบประมาณเพียงพอจ้างครูได้ไม่กี่คน ครูปาล์มจึงต้องรับหน้าที่ครูประจำชั้นของเด็กทุกชั้นเรียน ตั้งแต่อนุบาลถึงประถมศึกษาตอนปลาย ควบคู่กับเป็นครูสอนวิชาภาษาอังกฤษให้เด็กทั้งโรงเรียน เธอเล่าว่าเด็กๆ ใส่ใจใฝ่รู้ใฝ่เรียนมาก แต่โรงเรียนขาดความพร้อม ขาดการสนับสนุนที่จำเป็น และสุดท้ายโรงเรียนก็ต้องปิดตัวลง
“คนที่น่าสงสารคือเด็กๆ เพราะพอโรงเรียนถูกยุบ ชุมชนนั้นก็ไม่มีสถานศึกษา เด็กในหมู่บ้านที่ไม่มีเงินค่าเดินทางไปเรียนในเมืองก็ต้องหยุดเรียน มันไม่ยุติธรรมกับเขา แม้จะเป็นเด็กแค่ 3-4 คน แต่วันหนึ่งพวกเขาก็อาจเติบโตเป็นผู้ที่พัฒนาชุมชนของตนเองและประเทศได้”
ปัญหาที่โรงเรียนขนาดเล็กต้องเผชิญนั้นไม่ได้มีเพียงแค่งบประมาณ ครูที่มีอยู่น้อยนิดยังต้องจัดการงานเอกสารการประเมินต่างๆ เช่นเดียวกับโรงเรียนอื่นๆ หรือในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ขณะที่หลายโรงเรียนเปลี่ยนไปดำเนินการสอนผ่านช่องทางออนไลน์ แต่ก็มีโรงเรียนจำนวนมากที่ไม่สามารถทำได้เนื่องจากไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตหรืออยู่นอกเขตสัญญาณโทรศัพท์
ครูปาล์มสะท้อนความท้าทายขนาดใหญ่ที่โรงเรียนขนาดเล็กกำลังประสบ ซึ่งนับวันปัญหาก็ยิ่งยากและซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ทิ้งเป็นคำถามให้คิดว่าระบบการศึกษาและการจัดสรรงบประมาณโรงเรียนที่ช่วยให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกันนั้นจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
การศึกษาไทยที่ดีกว่านี้
“ระบบการศึกษาในปัจจุบันสร้างความทุกข์ให้กับคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทุกคนห่วงใย มีความปรารถนาและความมุ่งมั่นที่อยากจะพัฒนาระบบการศึกษา แต่ว่ายังไปไม่ถึงดวงดาว”
ประเด็นแรกเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง เนื่องจากโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งด้านเทคโนโลยี การเกิดอาชีพใหม่ๆ ตลอดจนปัญหาสังคม ไม่ว่าความเหลื่อมล้ำและเศรษฐกิจตกต่ำที่ทวีความรุนแรงขึ้น หรือสถานการณ์โรคระบาด ความท้าทายคือระบบการศึกษา โรงเรียน และการจัดการที่เกี่ยวข้อง จะปรับตัว เปลี่ยนแปลง ให้เท่าทันกับโจทย์ของยุคสมัยนี้ได้อย่างไร
ประเด็นที่สอง คือหน้าที่ที่เปลี่ยนไปของครู เพราะเมื่อการศึกษาพัฒนาไปข้างหน้า ครูอาจต้องรับหน้าที่ผู้อำนวยการเรียนรู้ ออกแบบกิจกรรมบูรณาการใหม่ๆ เพื่อให้การเรียนการสอนมีคุณภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันครูก็ยังมีภาระงานนอกห้องเรียน ทั้งงานเอกสาร การประเมิน พิธีการต่างๆ รวมถึงงานเวรยามดูแลความสงบเรียบร้อยของโรงเรียน นำมาสู่โจทย์ที่อาจารย์อ้อมองว่า โครงการโรงเรียนปล่อยแสงจะเข้าไปเติมเต็มครูให้สามารถอยู่ร่วมกับปัญหาที่มีความสลับซับซ้อนนี้ได้อย่างไร
ประเด็นสุดท้าย คือความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของตัวผู้เรียนเอง เด็กยุคปัจจุบันเติบโตมากับเทคโนโลยีและการรับข้อมูลข่าวสาร โครงการฯ ค้นพบว่าวิธีการเรียนรู้ของเด็กเปลี่ยนไปจากอดีตมาก หลักสูตรแบบเดิมที่เน้นท่องจำอาจจะไม่สอดคล้องกับผู้เรียนซึ่งมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น ทำอย่างไรระบบการศึกษาและครูจะออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียน เป็นนิเวศการเรียนรู้ที่มีความสุขและมีความหมายสำหรับทุกคนจริงๆ
“ปัญหาที่ครูในระบบการศึกษาไทยกำลังเผชิญนั้นมีหลายระดับและสลับซับซ้อนมาก ตอนนี้สภาวะจิตใจของครูอาจเริ่มล้า หมดพลัง บางคนอาจรู้สึกถอดใจอยากลาออกจากระบบ ทั้ง ที่ตั้งแต่ตัดสินใจมาเป็นครู มีอุดมการณ์และ ความมุ่งมั่นจะมาเป็นครูที่ดี เราจะช่วยกันพัฒนาครูเหล่านี้ได้อย่างไร เพื่อทำให้พวกเขามีพลัง สามารถทำหน้าที่ของตนเองอย่างสง่าผ่าเผยอีกครั้งหนึ่ง”
โครงการโรงเรียนปล่อยแสงเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงการศึกษาอย่างยั่งยืนนั้นต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ ของนิเวศการเรียนรู้ เริ่มจากครูที่เปลี่ยนแปลงห้องเรียนของตนเอง ขยายไปสู่การเปลี่ยนแปลงโรงเรียน และระบบในภาพใหญ่ จะเป็นไปได้ไหมหากเราสามารถคืนครูให้กับห้องเรียน ลดภาระงานเอกสารต่างๆ ให้ครูกลับไปดูแลเด็กอย่างเต็มที่ เพิ่มทางเลือกที่หลากหลายให้เด็กได้เข้าใจตนเอง ไม่วัดผลเพียงจากคะแนน และกระจายการศึกษาอย่างทั่วถึง ครอบคลุมเด็กในชนบทและผู้ขาดแคลนปัจจัย
ถึงเวลาที่ทุกคนต้องมาช่วยกันออกแบบระบบการศึกษาใหม่และมองครูในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง