4 รูปแบบ ก้าวสู่ Team Teaching สอนอย่างไรให้เหมาะกับเด็กและห้องเรียน
Reading Time: < 1 minuteจำได้ว่าครั้งหนึ่งสมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น เราสอบวิชาคณิตศาสตร์ผ่าน เพราะคุณครูฝึกสอนคนหนึ่งคอยเดินเข้ามาอธิบายซ้ำในจุดที่ไม่เข้าใจ เรารู้สึกมีความสุขในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และไม่ใช่แค่เราที่รู้สึก แต่เพื่อนหลายคนก็รู้สึกไม่ต่างกัน ราวกับว่าองค์ความรู้ที่โดยปกติจะหมุนวนอยู่แค่บริเวณหน้าชั้นเรียนได้แผ่ขยายทั่วถึงทั้งห้อง ยอมรับว่าช่วงนั้นบรรยากาศในชั้นเรียนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่มีความกังวลว่าจะตามเนื้อหาที่คุณครูสอนไม่ทัน หากไม่เข้าใจในจุดไหน ก็มีคุณครูฝึกสอนที่พร้อมจะเข้ามาอธิบายเพิ่มเติมในจุดนั้นอยู่เสมอ
จากการเรียนการสอนในรูปแบบเดิม ๆ ที่หลายคนคุ้นชิน คือ มีคุณครูเป็นผู้บรรยายหน้าชั้น 1 คน ต่อนักเรียน 25-30 คน หรือบางโรงเรียนอาจมากถึง 40 คน แน่นอนว่าเด็กแต่ละคนย่อมมีความสามารถในการทำความเข้าใจเนื้อหาแตกต่างกัน และบางครั้งคุณครูก็อาจดูแลได้ไม่ทั่วถึง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแนวคิดในการจัดกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบ ‘Team Teaching’ หรือการสอนรูปแบบทีม ซึ่งมีครูตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่การวางแผนการสอน บูรณาการศาสตร์วิชา และแบ่งบทบาทในการสอน โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เนื้อหาได้อย่างหลากหลาย และเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดการเรียนการสอน
ตัวอย่างเช่น การบูรณาการวิชาวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์ ผ่านเรื่องไฟฟ้าที่เป็นเรื่องใกล้ตัวและอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยครูวิทยาศาสตร์จะให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับไฟฟ้า ก่อนที่ครูคณิตศาสตร์จะประยุกต์ให้นักเรียนคำนวณขนาดห้อง เพื่อเลือกขนาดเครื่องปรับอากาศที่สอดคล้องกับพื้นที่และสามารถกระจายความเย็นได้อย่างทั่วถึง
Team Teaching จึงเป็นเครื่องมือที่ครูแต่ละโรงเรียนสามารถนำไปประยุกต์ได้ตามความเหมาะสม โดย Team Teaching สามารถแบ่งเป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
หนึ่งคนสอน หนึ่งคนสนับสนุน
ครู 2 คน จะแบ่งบทบาทกันอย่างชัดเจน คือ ครูคนหนึ่งรับหน้าที่เป็นผู้สอนหลักอยู่หน้าชั้นเรียน ส่วนครูอีกคนทำหน้าที่สังเกตการณ์หรือช่วยเหลือ เช่น คอยดูแลว่ามีนักเรียนคนไหนต้องการความช่วยเหลือหรือไม่ และช่วยอธิบายเพิ่มเติมในส่วนที่ผู้เรียนไม่เข้าใจ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาได้ครบถ้วนมากขึ้น
การจัดการเรียนการสอนรูปแบบนี้ นิยมใช้ในกรณีที่มีครูฝึกสอนมาช่วยสอนและดูแลความเรียบร้อยของห้องเรียน
การสอนเวียนฐาน
สิ่งสำคัญสำหรับการสอนรูปแบบนี้จำเป็นต้องมีจำนวนครูที่มากพอ เนื่องจากเป็นการจัดศูนย์การเรียนรู้ในห้องเรียน โดยแบ่งเนื้อหาการสอนออกเป็นฐานต่าง ๆ และมีครูประจำฐาน ซึ่งแต่ละฐานจะสอนเนื้อหาพร้อมกัน เมื่อครบเวลาที่กำหนด นักเรียนก็จะหมุนเวียนเปลี่ยนฐาน กระทั่งนักเรียนทุกคนได้เข้าเรียนครบทุกฐาน ทำให้เกิดการบูรณาการวิชาหรือองค์ความรู้หลายเรื่องในชั่วโมงเรียนเดียวกัน
การสอนคู่ขนาน
การจัดการเรียนการสอนที่แบ่งนักเรียน 1 ห้อง ออกเป็น 2 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะมีครูรับผิดชอบและสอนเนื้อหาเดียวกัน การสอนลักษณะนี้จึงเหมาะกับห้องเรียนที่มีนักเรียนจำนวนเยอะ เมื่อแบ่งกลุ่มจะทำให้ครูสามารถให้ความรู้และดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องใช้พื้นที่ห้องเรียนมากขึ้น หรืออาจแบ่งนักเรียนเป็น 2 ห้องเรียน ก็ได้เช่นกัน
การสอนเป็นทีม
ครูแต่ละคนมีหน้าที่ของตัวเองและมีบทบาทเท่ากัน โดยครูทุกคนจะมีส่วนในการตั้งวัตถุประสงค์ในการสอน การออกแบบการเรียนรู้ กระทั่งผสานการสอนเนื้อหาแต่ละชั่วโมงร่วมกัน ซึ่งอาจเป็นวิชาในหมวดสาระการเรียนรู้เดียวกัน หรือต่างหมวดสาระการเรียนรู้ก็ได้ อย่างเช่นการเชื่อมโยงความรู้วิชาภาษาไทยกับศิลปะ และสอดแทรกความรู้เรื่องการป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน
แม้ Team Teaching จะมีหลายรูปแบบ แต่จุดร่วมที่สำคัญของทุกรูปแบบ คือ การทำงานร่วมกันของครูตั้งแต่การวางแผนการสอน การวิเคราะห์ผู้เรียน การแบ่งบทบาทหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ที่ครูตกลงมาสอนร่วมกัน และหลังจากสอนเสร็จจะมีการประเมินร่วมกันว่า ชั่วโมงการสอนนั้นเป็นอย่างไร เด็กเข้าถึงความรู้ที่ครูสอนมากน้อยแค่ไหน และการสอนนั้นมีสิ่งไหนควรพัฒนาบ้าง
การสอนแบบทีมจึงนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คุณครูสามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย รวมถึงช่วยเปลี่ยนบรรยากาศในห้องเรียนให้มีความน่าสนใจและเข้าถึงผู้เรียนได้มากขึ้นอีกด้วย