ก่อการครู – Korkankru

e-learning learning tools บัวหลวงก่อการครู

Learning Assessment: ประเมินผู้เรียนให้สอดคล้องกับนิเวศการเรียนรู้

Reading Time: < 1 minute การประเมินก็เปรียบเหมือนกับ GPS หรือแผนที่นำทาง เพื่อจะบอกว่าขณะนี้ครูอยู่ที่ไหน ตำแหน่งไหน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยสำคัญให้ผู้สอนสามารถพัฒนาผู้เรียนได้อย่างถูกจุด Dec 21, 2023 < 1 min

Learning Assessment: ประเมินผู้เรียนให้สอดคล้องกับนิเวศการเรียนรู้

Reading Time: < 1 minute

การประเมินผู้เรียนเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญในกระบวนการเรียนรู้ องค์ความรู้เกี่ยวกับการประเมินจะเป็นตัวช่วยสำคัญให้ผู้สอนสามารถพัฒนาผู้เรียนได้อย่างถูกจุด พร้อมไปกับจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความสามารถของผู้เรียน

ในกระบวนการประเมินการเรียนรู้ (Learning Assessment) สิ่งที่ต้องคำนึงเป็นประการแรกคือ ผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) ว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ครูตั้งไว้หรือไม่ โดยมองไปถึงเป้าหมายปลายทางเป็นสำคัญ ขณะเดียวกัน การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ (Learning Experience) หรือการออกแบบกิจกรรมทางการเรียนรู้ ก็นับเป็นองค์ประกอบที่จะนำพาไปสู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ที่ดีด้วยเช่นกัน

แม้ว่าการประเมินการเรียนรู้จะไม่ได้เป็นปัจจัยต้นทางที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ของเด็ก แต่ก็นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยืนยันให้แน่ใจได้ว่า ผู้สอนได้นำพาผู้เรียนไปสู่การเรียนรู้ที่ถูกทิศทาง 

ผศ. ดร.สุรวิทย์ อัสสพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการประเมิน ให้คำอธิบายว่า การประเมินก็เปรียบเหมือนกับ GPS หรือแผนที่นำทาง เพื่อจะบอกว่าขณะนี้ครูอยู่ที่ไหน ตำแหน่งไหน ซึ่งจะนำไปสู่กระบวนการวางแผนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สามเหลี่ยมการประเมิน

‘สามเหลี่ยมการประเมิน’ คือองค์ประกอบสำคัญสำหรับการประเมินผลการเรียนรู้ ประกอบไปด้วย 

1) สิ่งที่ต้องการประเมิน อันดับแรกคุณครูต้องกำหนดสิ่งที่ต้องการประเมินก่อน เช่น ต้องการประเมินเรื่องการทำงานร่วมกับผู้อื่น สิ่งที่ต้องรู้อย่างแรกคือนิยามของการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีองค์ประกอบอะไรบ้าง มีลำดับขั้นอย่างไร รวมถึงพฤติกรรมบ่งชี้ ผู้เรียนจะต้องแสดงออกอย่างไรบ้าง เพื่อบ่งบอกถึงความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ต้องประเมินทั้งสิ้น

2) การสังเกต หมายความว่า ผู้สอนหรือผู้ประเมินจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสังเกตผู้เรียน โดยต้องออกแบบวิธีการสังเกต หรือรวบรวมข้อมูลที่บ่งชี้ว่าผู้เรียนมีผลลัพธ์การเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ ยกตัวอย่างเช่น การประเมินเรื่องการทำงานร่วมกับผู้อื่น ในส่วนนี้จะต้องออกแบบวิธีสังเกตจากสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้ผู้เรียนได้แสดงออกว่าเขาสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

3) การตีความ เป็นขั้นตอนต่อเนื่องจากการสังเกต เนื่องจากการสังเกตคือกระบวนการหนึ่งของการรวบรวมข้อมูล ดังนั้นจึงต้องแปลงข้อมูลดิบเหล่านั้นเป็นข้อมูลสารสนเทศที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เป็นการหาวิธีการที่จะทำให้เราสรุปได้ว่าผู้เรียนบรรลุผลแล้วหรือยัง หรือผู้เรียนอยู่ในระดับไหน ซึ่งจะช่วยให้ผู้สอนรู้ว่าควรส่งเสริมผู้เรียนต่อไปอย่างไร

สามเหลี่ยมการประเมินมีทั้งการทำงานที่ค่อนข้างเป็นทางการที่เป็นกิจลักษณะ ขณะเดียวกันก็มีการทำงานแบบทันทีทันใดเช่นเดียวกัน เช่นการประเมินความเข้าใจจากอากัปกิริยาระหว่างการเรียนการสอน เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่บนหลักการเดียวกันว่าจะต้องเข้าใจในสิ่งที่ต้องการประเมินอย่างชัดเจน

ลักษณะของการประเมิน (Aspect of Assessment)

ลักษณะของการประเมินในการเรียนการสอนยุคปัจจุบันจะเน้นอยู่ที่ 3 รูปแบบ ได้แก่

1) การประเมินผลการเรียนรู้ (Assessment of Learning: AOL) เป็นการประเมินว่าผู้เรียนเกิดผลการเรียนรู้อย่างไรบ้าง ดังเห็นได้ในรูปแบบของเกรดเฉลี่ย ผลคะแนน เป็นต้น ซึ่งเป้าหมายของการประเมินนี้เป็นไปเพื่อที่จะรู้ว่าความสามารถของผู้เรียนอยู่ในระดับใด 

2) การประเมินเพื่อการเรียนรู้ (Assessment for Learning: AFL) การประเมินลักษณะนี้จะเน้นการให้ข้อมูล มุ่งอุดช่องว่างทางการเรียนรู้ ซึ่งในบางกรณีผู้เรียนสามารถอุดช่องว่างนั้นได้ด้วยตัวเอง จากการที่ผู้สอนแนะนำให้ทำสิ่งต่าง ๆ ดังนั้นการประเมินเพื่อการเรียนรู้ จึงเป็นการประเมินเพื่อที่จะหาวิธีแก้ไข ปรับปรุงว่าครูหรือนักเรียนควรทำอย่างไรเพื่อจะไปถึงเป้าหมาย

3) การประเมินขณะเรียนรู้ (Assessment as Learning: AAL) เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ใคร่ครวญ ทบทวนกระบวนการเรียนรู้ของตัวเองว่าเรียนรู้อะไร ถนัดอะไร หรือเรียนไม่ได้เพราะเหตุใด

อย่างไรก็ตาม การทำเครื่องมือการประเมินไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากคนรอบตัวที่เป็นครูผู้สอนด้วยกันเอง ต้องมีการแลกเปลี่ยนเครื่องมือระหว่างกัน นอกจากนี้ยังต้องทำความเข้าใจว่าการประเมินเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ใช้งบประมาณ อาจมีการนำเครื่องมือจากภายนอกมาปรับใช้ให้เหมาะกับบริบทของแต่ละโรงเรียน 

สิ่งสำคัญคือ ผู้สอนต้องทราบถึงพื้นฐานความรู้เดิมของผู้เรียน รู้ว่าควรสนับสนุนผู้เรียนแต่ละกลุ่มอย่างไร เพื่อจะออกแบบห้องเรียนให้ตอบโจทย์ความหลากหลายของผู้เรียนได้อย่างเหมาะสม

Array