การเดินทางเชื่อมต่อกับชุมชน สู่การเรียนรู้ที่แสนพิเศษจากโรงเรียนวัดบ้านห้วยยาว
Reading Time: 2 minutesตลอด 2 ปีกับการเดินทางร่วมกันระหว่างโรงเรียนวัดบ้านห้วยยาวกับโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาพิจิตร – อุตรดิตถ์ (Partnership School) เส้นทางที่ผสานไปด้วยเครือข่ายมากมาย ทั้งภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาสังคมหลอมพลังเพื่อพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้เรียนอย่างแท้จริง
โรงเรียนวัดบ้านห้วยยาวกับเสน่ห์การเรียนรู้บนธรณีสงฆ์ วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทย
“โรงเรียนวัดบ้านห้วยยาวเป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนในธรณีสงฆ์ ไม่ได้ใช้แค่เพียงพื้นที่แต่ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต” สร้อยลัดดา แก้วสว่าง (ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดบ้านห้วยยาว) ชวนคุยถึงภูมิทัศน์การจัดตั้งของโรงเรียนว่าอยู่ภายในรั้ววัดห้วยยาวราษฎร์บำรุง สภาพแวดล้อมที่โอบล้อมไปด้วยวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมของชุมชน วัดเสมือนตำราประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอันสำคัญ และคนในชุมชนเปรียบดั่งครูรายวิชาชีวิตจึงส่งผลให้บ้าน วัด และโรงเรียนเกิดความร่วมมือเพื่อพัฒนาผู้เรียนเสมือนบุตรหลานของตนอย่างเข้าใจ
PLC บ้านห้วยยาว จุดประกายคุณภาพชีวิตของผู้เรียน
PLC (Professional Learning Community) เครื่องมือที่พากลุ่มคนจากจุดเล็ก ๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ โรงเรียนวัดบ้านห้วยยาวเปิดพื้นที่ชวนตัวแทนครู ผู้ปกครอง พระสงฆ์ และสมาชิกในชุมชน สานสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ด้วยกระบวนการของ PLC ในจุดมุ่งหมายร่วมคือการพัฒนาผู้เรียนที่เสมือนบุตรหลานของทุกคน พบว่า สภาพแวดล้อมของโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ถูกล้อมรอบไปด้วยแหล่งน้ำใหญ่ แต่เด็กขาดโอกาสในการฝึกฝนทักษะการเอาชีวิตรอดและพื้นฐานการว่ายน้ำ (Swim and Survive) และพบอีกปัญหาใหญ่คือเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ตลอดทุกช่วงชั้นเป็นจำนวนมาก จึงเกิดความร่วมมือกันออกแบบ โครงการอ่านได้ว่ายน้ำเป็น เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้และเพื่อพัฒนาทักษะการว่ายน้ำพื้นฐาน โดยให้ครูประจำชั้นแต่ละช่วงชั้นจัดเวลาฝึกฝนทักษะการอ่านออก-เขียนได้แล้วเปิดการทดสอบ หากนักเรียนผ่านการทดสอบจะสามารถไปเรียนว่ายน้ำนอกสถานที่กับทางโครงการได้ นอกจากนี้โรงเรียนยังมีกิจกรรมค่ายภาษาอังกฤษกับครูชาวต่างชาติ เป็นความมุ่งหวังของผู้ปกครองที่อยากให้เด็กได้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษที่สำคัญต่อการดำเนินชีวิต โรงเรียนจึงเปิดพื้นที่ให้เด็กได้สื่อสารกับครูชาวต่างชาติโดยตรงเพื่อความรู้สึกคุ้นเคยและกล้าที่จะสื่อสารจนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ความสำเร็จนี้กำเนิดจากความไว้ใจซึ่งกันและกันระหว่างผู้ปกครองกับโรงเรียน ผู้ปกครองไว้ใจว่าโรงเรียนจะพัฒนาบุตรหลานของตนไปในทิศทางที่ดีและโรงเรียนเองก็ไว้ใจว่าผู้ปกครองจะเข้าใจและให้โอกาสบุตรหลานได้ฝึกฝนตนเอง สร้างต้นแบบภาพฝันของการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่อย่างเข้มแข็งจากรากฐานสำคัญคือวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของเด็กในชุมชน
คุณค่าในตัวผู้เรียน คือ วัตถุดิบหลักของโรงเรียนวัดบ้านห้วยยาว
“เราทุกคนไม่จำเป็นต้องมีอาชีพเดียว เพราะเราทุกคนต่างมีทักษะที่หลากหลายในคนเดียว” เสียงสะท้อนแสดงจุดยืนของตัวแทนครูโรงเรียนวัดบ้านห้วยยาว ยืนหยัดในความเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความสามารถที่แตกต่างหลากหลาย การศึกษาที่มุ่งเน้นแค่วิชาการอาจจะยังไม่เพียงพอต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ดังนั้นโรงเรียนวัดบ้านห้วยยาวจึงพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนโดยเน้นความสนใจของผู้เรียนเป็นสำคัญและคำนึงถึงสภาพแวดล้อมชุมชนโดยรอบให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาผู้เรียน อย่างไรก็ตามหากต้องการพัฒนาความสามารถผู้เรียนรายบุคคล ผู้เรียนจะต้องเห็นคุณค่าในตนเองและเห็นคุณค่าจากสิ่งที่อยู่รอบตัวเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ โครงการศิลปะรักษ์โลก อีกหนึ่งโครงการที่ดึงศักยภาพผู้เรียนให้เห็นคุณค่าในตนเองและนำสิ่งที่อยู่รอบตัวไม่ว่าจะเป็นใบกาบกล้วย กากมะพร้าว เปลือกหอย และเศษวัสดุจากธรรมชาติมาสร้างเป็นชิ้นงานเพื่อหารายได้ให้กับตนเอง
“เด็กบางคนแทบไม่มีตัวตนตอนอยู่ในห้องเรียน เขาสายวิชาการไม่เก่ง รู้สึกว่าตัวเองทำอะไรไม่ได้จนเกิดปมในใจเขา พอเข้าร่วมโครงการเขารู้ว่าตัวเองมีที่ยืน มีคนชื่นชมและเห็นคุณค่าในตัวเขา โครงการนี้ทำให้เขารู้จักการทำงานเป็นทีม มีความรับผิดชอบต่อกัน และภูมิใจว่าเขาสามารถหาเงินได้” ครูดาว – อรุโณทัย อาริวงศ์
การเห็นคุณค่าในตัวผู้เรียนไม่ได้อยู่แค่ในโครงการแต่ถูกนำไปใช้กับครูทุกท่านในชั้นเรียนส่งผลให้เด็กโรงเรียนวัดบ้านห้วยยาวกล้าที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์ของตนเองเพื่อถ่ายทอดในกิจกรรมตลาดนัดห้วยยาว
ตลาดนัดห้วยยาว เรียนรู้ ร่วมพัฒนา
เร่เข้ามา เร่เข้ามา สินค้ามากมายจากพลังของชุมชน เสียงเรียกเชิญชวนเข้าสู่บรรยากาศงานแสนครึกครื้น เต็มไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตาจากทุกภาคส่วนทั้งโรงเรียน ผู้ปกครอง ผู้ประกอบการ และชุมชน รวมพลังกันสร้างสรรค์ตลาดด้วยผลิตภัณฑ์ที่ทำจากวัตถุดิบในชุมชน พร้อมการโฆษณาด้วยรอยยิ้มและเรื่องเล่ากระบวนการทำผลิตภัณฑ์ที่แสนภูมิใจจากเด็กอันเป็นเสน่ห์ของบ้านห้วยยาว
ตลอดเส้นทางของแผงตลาดนัดห้วยยาวพบว่า มีทั้งวัตถุดิบรูปธรรมอย่างอาหารพื้นบ้าน ผลิตภัณฑ์จากชุมชน และผลงานศิลปะของนักเรียน ขณะเดียวกันยังมีวัตถุดิบนามธรรมอย่างทักษะการเรียนรู้ ทักษะชีวิต และแรงบันดาลใจที่เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในพื้นที่นั้น โดยมีจุดมุ่งหมายหลักคือเด็กเห็นคุณค่าในตนเอง กล้าที่จะลงมือทำ และถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นให้กับผู้อื่นบรรยากาศแสนอบอุ่นชวนให้ผู้เขียนรู้สึกประทับใจ และสัมผัสได้ถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นจนหลอมรวมเป็นพลังหนึ่งเดียวของชุมชน ตลาดนัดห้วยยาว เรียนรู้ ร่วมพัฒนาเสมือนอาหารที่ปรุงสำเร็จพร้อมให้ผู้ร่วมงานทุกท่านได้ชิมรสชาติสุดกลมกล่อมจากการรวมกันของวัตถุดิบที่หลากหลาย
บทสรุปเส้นทางสู่ภาพฝัน มุ่งหวังสู่ความยั่งยืน
ยุคลธร สังข์สอน – ศึกษานิเทศน์ สพป.พิจิตร เขต 2 เน้นย้ำบทสรุปของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนวัดบ้านห้วยยาว
“เราเห็นห้องเรียนเสริมพลังเชิงบวกมากขึ้น ไม่เห็นภาพที่ครูมายืนชี้ ๆ เพื่อควบคุมเด็ก แต่เป็นพื้นที่ที่โอบอุ้มให้นักเรียนเรียนอย่างมีความสุข เมื่อครูคนหนึ่งเริ่มเปลี่ยนพลังนี้จะแผ่ขยายไปสู่ครูคนอื่น ๆ ต่อไป และสิ่งที่ครูได้ลงมือทำในห้องเรียนทุก ๆ วัน มันจะยังคงยั่งยืนจากความร่วมมือของกันและกัน”
การเดินทางของโรงเรียนวัดบ้านห้วยยาวได้ถ่ายทอดให้เห็นแล้วว่า การพัฒนาการศึกษานั้นอาศัยเพียงแค่ครูและชั้นเรียนยังคงไม่เพียงพอ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถานบันศาสนา และสถาบันการเมืองการปกครอง เพื่อพัฒนาการศึกษาให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียน และตอบโจทย์ความท้าทายด้านความหลากหลายในสังคม โรงเรียนวัดบ้านห้วยยาวได้ฝากอาหารที่ปรุงสำเร็จนี้ไว้เพื่อเป็นกระบอกเสียงสู่สังคมถึงการหันกลับมาให้ความสำคัญกับคุณค่าในตัวเด็กแล้วพัฒนาศักยภาพเด็กจากสิ่งใกล้ตัว แม้ว่าเวทีเครือข่าย แสดงพลังสื่อสารสังคม สร้างการมีส่วนร่วมทางการศึกษาของคนในชุมชน ณ โรงเรียนวัดบ้านห้วยยาวครั้งนี้จะเต็มไปด้วยความสำเร็จ แต่ผู้เขียนยังเชื่อว่าการพัฒนาจากภายในจะสร้างพลังแห่งความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในพื้นที่ การจัดการเรียนรู้ของพื้นที่แห่งนี้จะยังคงเป็นเสน่ห์ของความร่วมมือตลอดไป
ติดตามโครงการฯ ได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/PartnershipschoolAgency