Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้ บทความ / บทสัมภาษณ์

‘ตั้งเป้าสุดท้ายว่าจะเลิกทำ’ ความหวังของ ‘ครูจุ๊บแจง-ศิริพร ทุมสิงห์’ ครูแนะแนวที่อยากให้เรื่องสิทธิของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ1 min read

Reading Time: 2 minutes จากเด็กเนิร์ดในช่วง ม.ต้น สู่เด็กสายกิจกรรมในช่วง ม.ปลาย เธอได้เจอกับเพื่อนๆ และความสนุกจากการเรียนรู้นอกห้องเรียน ทำให้เธอสนใจศิลปะมากขึ้น และใช้เป็นแรงขับเคลื่อนหนีห่างจากสิ่งที่ไม่ชอบ มาถึงช่วงต้องเลือกคณะเพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัย เธอเลือกให้ผ่านๆ ไปแบบตามเพื่อน แต่แม่ก็ยังอยากให้เธอได้ลองเลือกเรียนครูเอาไว้ด้วย Jun 19, 2024 2 min

‘ตั้งเป้าสุดท้ายว่าจะเลิกทำ’ ความหวังของ ‘ครูจุ๊บแจง-ศิริพร ทุมสิงห์’ ครูแนะแนวที่อยากให้เรื่องสิทธิของเด็กเป็นเรื่องสำคัญ1 min read

Reading Time: 2 minutes

“เราเกลียดอาชีพครู เพราะรู้สึกว่าตัวเองโดนแย่งความรัก โดนแย่งความใส่ใจ แม่เราเป็นครูสอนศูนย์เด็กเล็ก เขามักต้องพาเด็กกลับมาบ้านด้วยเสมอ ฝากใครดูแลไม่ได้เราก็ต้องเป็นคนดูแลให้ เรามองว่าอาชีพครูเป็นอาชีพที่ไม่มีความสุขเลย เราไม่อยากเป็น ” ‘ครูจุ๊บแจง-ศิริพร ทุมสิงห์’ บอกให้ฟังเมื่อถามถึงจุดเริ่มของการเข้ามาทำงานอาชีพครู 

จากเด็กเนิร์ดในช่วง ม.ต้น สู่เด็กสายกิจกรรมในช่วง ม.ปลาย เธอได้เจอกับเพื่อนๆ และความสนุกจากการเรียนรู้นอกห้องเรียน ทำให้เธอสนใจศิลปะมากขึ้น และใช้เป็นแรงขับเคลื่อนหนีห่างจากสิ่งที่ไม่ชอบ มาถึงช่วงต้องเลือกคณะเพื่อเรียนต่อมหาวิทยาลัย เธอเลือกให้ผ่านๆ ไปแบบตามเพื่อน แต่แม่ก็ยังอยากให้เธอได้ลองเลือกเรียนครูเอาไว้ด้วย 

“หัวสมองวัย 18 ปีในตอนนั้น ขอคณะอะไรก็ได้ที่ไม่มีสาระ นั่นก็คือครูแนะแนว” และสุดท้ายเธอก็ได้เข้าเรียนในสิ่งที่ไม่ชอบ แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่แม่ภูมิใจด้วยเช่นกัน 

เธอยอมเรียนแต่เป็นการเรียนแบบที่ไม่ได้อยากเป็นครู เรียนเพื่อให้รู้ว่าเรียนแล้ว ผ่านการต่อสู้กับตัวเองค่อนข้างเยอะ แต่ในระหว่างทาง เธอได้เรียนเรื่องรัฐสวัสดิการ เรียนกระบวนทัศน์ หรือเรียนเรื่องมายาคติ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเปลี่ยนวิธีคิดให้ต่างออกไป และได้เห็นว่าในหลักสูตรของการผลิตครูไม่มีการวิพากษ์สิ่งเหล่านี้ ซึ่งเป็นระบบที่กระทบกันไปหมด

บวกกับการได้เจอครูแนะแนวคนหนึ่งที่ช่วยปลดล็อกแผลในใจที่ผ่านมาของอาชีพครู และเป็นครูแนะแนวคนเดียวกันที่ทำให้เธอมองครูแนะแนวเปลี่ยนไปไปตลอดกาล 

“ครูแนะแนวนั้นสำคัญมาก ทำไมถึงไม่ได้เจอตั้งแต่แรก ถ้าได้เจอตั้งแต่วันนั้น กูคงไม่เป็นคนที่ตัดสินอะไรโง่ๆ แบบนี้แน่นอน” 

เธอตั้งใจเป็นครูแนะแนวที่ดีและจะเป็นในเวอร์ชั่นที่ใกล้เคียงกับอาจารย์คนที่ทำให้ได้ผ่านอุปสรรคของชีวิตมาได้ จากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน ครูจุ๊บแจงคือครูแนะแนวที่เป็นเสมือนพื้นที่ปลอดภัยให้กับเหล่าลูกศิษย์ ที่จะขอความช่วยเหลือ ปรึกษา หรือพูดคุย ก็ทำได้อย่างสบายใจเสมอ

และในวันนี้เธอยังเพิ่มบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ที่พยายามลงแรงสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการเรียนรู้เรื่องสิทธิเด็กในโรงเรียน เพื่อไม่ให้ใครต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง การถูกละเมิดทางเพศ หรือการถูกลดทอนคุณค่าในตัวตนของเด็กๆ ฯลฯ ก่อการครูขอพาทุกคนไปทำความรู้จักครูแนะแนวคนนี้ให้มากขึ้น

ตลอดชีวิตการเป็นครู มองเห็นวงการการศึกษาการเปลี่ยนแปลงไปยังไงบ้าง

ในแง่ของกระบวนทัศน์ความเชื่อ เรื่องการเรียนรู้คืออะไร สำหรับคนปฏิบัติงานมันไม่เปลี่ยนยังคงเป็นมายด์เซตเดิม ยังมีครูรุ่นใหม่ที่ยังบอกให้เด็กไปคัดข้อสอบมา เพื่อที่บอกว่าเด็กจะสามารถทำข้อสอบได้ด้วยการจำ แล้วสถาบันผลิตครูยังผลิตนักศึกษาแบบนี้ออกมา

ระบบยังทำให้เชื่อว่าการศึกษามันคือ choice รอง แต่ไม่ใช่ choice หลักของประเทศ เวลาคิดนโยบายอะไรมันก็ออกมาแบบไม่มีประสิทธิภาพ เพราะว่าแก้ยาก งบก็จำกัด และความท้าทายของการศึกษามันไปไม่ถึง 

ปัญหาของการศึกษาคือการต่อรองกับทรัพยากรที่มีจำกัดมาก ต่อรองกับระบบทุนที่คัดเด็กทิ้ง ต่อรองกับความเชื่อที่สอนไม่ได้ ฯลฯ มันมีครูที่พยายามอยากทำอะไรสักอย่างให้ดีขึ้น แต่พอทัดทานกับระบบไม่ไหว เขาก็จะออกไปทำอย่างอื่น ไม่อยากอยู่แล้ววงการครูมันเหนื่อยเหลือเกิน ก็เป็นปัญหาของการผลิตคน ของการส่งต่อ ในวงการศึกษามันแทบไม่เหลือพื้นที่เรียนรู้หรือพื้นที่ของ Growth Mindset ให้เชื่อว่าการศึกษาจะเปลี่ยนชีวิตคน การศึกษาจะสร้างสิ่งใหม่ที่ไม่ทำให้คนติดกับดักเดิม ยังมีปัญหาที่ในหลักสูตรครูที่ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ หรือเราไม่เคยมีการฝึกชุดความคิดการตั้งคำถาม 

ส่วนที่เปลี่ยนแปลงก็คงเป็นความหวังใหม่ๆ ที่เราได้เห็นครูที่พยายามดิ้นรนด้วยตัวเอง ทำยังไงจะสอนดีขึ้น ทำยังไงให้เป็นครูที่ดีขึ้น เราได้เห็นเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น Inskru, ครูขอสอน, ก่อการครู ฯลฯ กลุ่มครูที่รวมตัวทำอะไรเพื่อเด็กหรือครูรุ่นเก่าที่ยังสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เข้มข้นขึ้น แม้แต่ครูที่เกษียณไปแล้วเขายังทำงานอยู่ เพื่อส่งต่อสิ่งต่างๆ ไว้ในชุดความคิดของผู้คน

การเป็นครูช่วยเติมเต็มชีวิตของครูจุ๊บแจงยังไงบ้าง

ขอย้อนกลับไปช่วงที่ลาออกจากอัสสัมฯ เป็นช่วงที่ต้องกลับไปทำธุรกิจกับที่บ้าน สิ่งที่เกิดขึ้นคือลูกศิษย์โทรมาหาทุกวัน เรารู้สึกสนุกกับการได้โดนพวกมันแกล้ง รู้สึกชอบบรรยากาศที่สนิทใจกัน เล่าความทุกข์ เล่าปัญหาต่างๆ ให้ฟังได้  

ความเป็นครูมันน่ารักตรงที่เราเจอความเป็นมนุษย์จริงๆ มนุษย์ที่ไม่รู้จะจัดการชีวิตยังไง มนุษย์ไม่มีที่พึ่ง รู้สึกเป็นคนที่ทำประโยชน์ให้กับพวกเขา และไม่เคยคิดว่าชีวิตตัวเองจะมีคุณค่า เราคิดว่าจะตายตั้งแต่อายุ 25 หลังเรียนจบเราไม่มีแพสชั่นอะไร เรารู้สึกว่าเป็นม้าแข่งที่ต้องเรียนให้เก่งมาโดยตลอด แต่สุดท้ายเรียนไปเพื่ออะไร มันไม่มีเป้าหมาย 

แต่การได้เห็นคุณค่าเหล่านี้ก็ทำให้เรากลับมาเป็นครูอีกครั้ง พอไปบรรจุก็ได้เจอสิ่งที่น่าตกใจ คือต่างจังหวัดที่ห่างไปจากกรุงเทพฯ ไม่กี่ร้อยเมตร มันเหมือนคนละโลก เราไปสอนอยู่ในพื้นที่มวกเหล็กที่ภูเขาล้อมรอบ ต้องฝ่าฟันทุกอย่าง ไม่เคยมีครูแนะแนวในโรงเรียน ซึ่งเราเป็นคนแรกที่ต้องทำทุกอย่าง ต้องช่วยเด็ก ต้องพูดเรื่องการศึกษา ดูแลเรื่องระบบ สอนให้เด็กรู้จักข้อมูลต่างๆ แต่ไม่เคยย้อนกลับไปดูบ้านของเด็ก ว่าพวกเขากินนอนยังไง ทำให้เราเกิดคำถามว่า เรามาอยู่ที่นี่ทำไม มาอยู่ที่ที่ไม่มีทรัพยากรให้เราจัดการ ไม่มีอะไรสักอย่าง ความพร้อม ความเชื่อ หรือคนที่จะมาร่วมงานด้วยกัน 

แต่สิ่งที่เราดีใจคือ มีเด็กเดินมาบอกว่าครูหนูดีใจมากที่ได้เจอครูแนะแนว หนูรอมาตลอดเลยนะ และมันทำให้เราเห็นว่าเด็กเชื่อในตัวเรา เราก็ต้องเชื่อในตัวพวกเขา เราทุ่มเททุกอย่าง แต่ก็ยังเป็นช่วงที่หมดไฟอยู่ มีความรู้สึกที่อยากลาออกอยู่ทุกวัน ก็เลยเข้าไปร่วมในโครงการก่อการครู เมื่อเข้าไป ได้เห็นเพื่อนครูคนอื่นๆ ที่กำลังทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง สำหรับเรามันดูมีความหมายมาก 

อะไรที่ทำให้ลุกขึ้นมาก่อตั้งโหนดก่อการสิทธิเด็ก  

มันเศร้ามากเลยกับการเป็นครูแนะแนวตัวเล็กๆ คนแรกในโรงเรียนที่มวกเหล็ก แล้วเราก็ไม่ได้เห็นภาพที่มันชัดเจนว่าระบบมันทำร้ายเด็กๆ เหล่านี้ยังไงบ้าง ใครจะไปเรียนต่อได้ในเมื่อระบบขนส่งยังไม่ดี พ่อแม่หยุดงานก็เสียรายได้ เขาจะกินอยู่ยังไง เราก็ตั้งรับกับปัญหาไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายมันมีปัญหาหนึ่งที่แรงขึ้นมา นั่นคือ Sexual Harassment 

เราอยากเสริมแรงและดึงให้คนในชุมชนมาสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยกัน แต่มันแทบจะไม่มีเลย พวกเขาไม่สามารถคิดเชื่อมโยงกับระบบและตัวเองได้ขนาดนั้น เลยทำให้ปัญหาหลายๆ อย่างไม่เคยถูกจัดการ 

พอได้เข้ามาอยู่ในก่อการครู เราได้เจอระบบ ได้เจอเพื่อนๆ ก็ทำให้เรารู้สึกว่ายังมีความหวัง เจอเส้นทางที่จัดการสิ่งต่างๆ มานั่งฟังพี่ๆ ที่มาก่อการครู และเจอปัญหาหนึ่งที่หนักมาก พี่เขาเล่าให้ฟังว่า มีเคสที่เด็กโดนครูในโรงเรียนล่วงละเมิดและใช้วิธีสร้างพวก เด็กที่โดนก็ต้องยอม พี่คนนั้นก็ไม่รู้จะจัดการยังไง เราเองก็เคยโดนแตะเนื้อต้องตัวเหมือนกัน 

คิดว่าทำไมครูพวกนี้มันถึงยังอยู่ เราเลยรวมตัวกันกับพี่ๆ เพื่อนๆ นั่งเช็กและเจอว่าปัญหานี้มีกันทุกโรงเรียน ถ้ามีก็ต้องแก้ เลยเริ่มต้นที่ว่าทำยังไงให้เคสนี้ได้รับการช่วยเหลือ คอนแท็กกับองค์กรภายนอก เจ้าหน้าที่ส่วนต่างๆ พยายามเดินเรื่องเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาให้ได้ จากโควิดจนถึงตอนนี้คดีเพิ่งจะสิ้นสุดที่ศาลชั้นแรก และคิดดูว่าบาดแผลของเด็กจะเป็นยังไง ที่สำคัญไปกว่านั้นคือมันเรียกร้องได้แค่คดีเดียว ซึ่งครูคนนี้ทำมาแล้วในหลายโรงเรียน และที่เลวกว่านั้นพอมันได้รับการย้ายโรงเรียนไปอยู่อีกที่ ก็ยังทำเหมือนเดิม เลยถูกให้ออกจากราชการ คนแบบนี้มันร้ายกาจมาก ที่แย่คือในเคสต่างๆ ทุกคนโทษเด็ก ไม่มีใครเชื่อเด็ก 

คำถามคือถ้ามันไม่มีครูลุกขึ้นมาทำอะไรแบบนี้ ยังมีครูในโรงเรียนที่กล้าทำ เด็กเองก็ไม่รู้ว่านี่คือความรุนแรง แยกไม่ออกว่าความรักหรือการใช้ Child Glooming มากไปกว่านั้น เราไม่เคยมีการผลักดันใช้ Child Safeguarding Policy เพื่อเป็นเงื่อนไขในการควบคุมไม่ให้เกิดพฤติกรรมกลุ่ม แต่เราไปเชื่อจรรยาบรรณ ไปเชื่อศีลธรรมอันดีงามเลยกลายเป็นว่าสิ่งเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นอยู่ ทั้งๆ ที่ในต่างประเทศก็มีระบบที่ทำให้เราสามารถคัดกรองคนได้ แต่ทำไมเราไม่ทำ เลยลุกขึ้นมาทำก่อการสิทธิเด็ก ประจวบเหมาะกับช่วงที่มีม็อบเคลื่อนไหวทางการเมือง ก็เลยได้ทำไปต่อยาวๆ เราได้พูดเรื่องม็อบเด็ก พูดเรื่องการมีส่วนร่วมของเยาวชน พูดเรื่องที่เด็กเลือกวัคซีนไม่ได้ หรือเรื่องสวัสดิภาพเด็ก ฯลฯ 

เราพยายามทำยังไงให้ครูมีชุดความคิดเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ ในช่วงที่ทำเริ่มมีเครือข่ายที่ได้ไปเข้าร่วมทำงาน เช่น Amnesty International, UNICEF, หรือ Save The Children ฯลฯ เพื่อสร้างความรู้ให้ครูในการรับรู้เรื่องสิทธิเด็ก เพราะเราเชื่อว่าสิทธิเด็กมันเชื่อมกับจิตวิทยาพัฒนาการของเด็กที่เซลล์สมองเขาถูกทำลายด้วยความรุนแรง ไม่ว่าทางกายวาจาใจ และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ มันกระทบการกระบวนการเรียนรู้ และทำให้ต้นทุนที่ควรมีตั้งแต่ระดับสมองของเขามันถูกลดทอน เป็นค่าเสียโอกาสจากสิ่งเหล่านี้ เลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องทำ ต้องพูดซ้ำๆ

ปัญหาที่เจอในการทำงานกับโหนดก่อการสิทธิเด็กมีอะไรบ้าง

เรื่องสิทธิเด็กเหมือนเป็นเรื่องที่ทะเลาะกันตลอดเวลา เพราะว่าเราต้องมาเถียงกันว่าในความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง บรรทัดฐานมันควรได้อะไรหรือไม่ได้อะไร ด้วยยุคสมัยเปลี่ยน ความต้องการเปลี่ยน เราก็ต้องเคารพผู้คนในปัจจุบันว่าจะเอาอะไร ก็เป็นปัญหาหนึ่งในเรื่องของมุมมองวิธีคิด 

ปัญหาสองคือ ตอนที่อยู่มวกเหล็ก เรามีลูกศิษย์ที่กลายเป็นผู้ลี้ภัย ช่วงที่ม็อบชูสามนิ้วเราก็โดนไปด้วย คือทำงานนี้แล้วหมดพลัง โดนความเข้าใจผิดอยู่ตลอดหรือพอไปทำงานกับองค์กรต่างๆ เช่น Amnesty International หรือกลุ่มธรรมศาสตร์ กลายเป็นว่าครูที่มีความเชื่อหนึ่ง เขามาคุยกับเราว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันคืออะไร มีเบื้องลึกเบื้องหลังยังไง เลยทำให้เราไม่สามารถไปถึงคนที่มีความเชื่อที่แตกต่างจากเรา เพื่อที่จะดึงมือออกมาเป็นเพื่อนกัน มาทำงานนี้ด้วยกัน

อีกอันที่ยากคือ เราเคยเข้าไปกระทรวง สิ่งที่เกิดขึ้นคือเขาไม่ฟัง และถูกบ่นว่าเป็นครูแล้วมาทำอะไร มันทำให้เรากระโดดออกจากความเป็นครูเพื่อไปเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่สนใจทำงานเรื่องประเด็น นโยบาย ไปหานักการเมืองเพื่อจะไปให้ถึงคนที่อยู่สูงที่สุดที่มีอำนาจพอจะ convince ได้ เรารู้สึกว่า ความยากคือใครที่คุมอำนาจ เพราะมันทำให้ครูตัวเล็กๆ ไปไม่ถึงเส้นทางในการรับฟัง การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนมันไปไม่ถึงก็เป็นปัญหาเหมือนกัน 

โหนดก่อการสิทธิเด็กพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไร

เริ่มต้นปีแรก จัดอบรม 6 รุ่น เป็นออนไลน์ แต่จัดอบรมได้ 3 รุ่น เพราะมีปัญหาโควิด จัดอบรมเพื่อให้เกิดเครือข่ายครูในก่อการสิทธิเด็ก เราได้เป็นตาข่ายกันครูที่กำลังละเมิดเด็กไม่ให้กล้าทำ มีครูที่มีพาวเวอร์ที่กล้าพูดในเรื่องนี้ เรามีทนายความที่พร้อมจะต่อสู้คดี เวลามีปัญหาเรื่องการ Sexual Harassment เด็กกับครูก็จะมาปรึกษาเราได้

เรามีหลักสูตรแบบสำเร็จรูปเอาไปชงใช้ได้เลย และในพาร์ตบางส่วน เราก็ประสานกับคนนั้นคนนี่ที่มีคอนเนกชั่นกับนักกิจกรรมการเมือง เราก็ซัพพอร์ตอะไรพวกนี้ได้ หรือแม้กระทั่งการไปเข้าร่วมวงที่เป็นตัวแทนเรื่องสิทธิเด็ก หรือในเวทีนานาชาติ เข้าไปเพื่อให้รู้ว่ามันเกิดะไรขึ้น เอาข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน และยังมีเรื่องการทำงานสื่อสาร เช่น สรุปคอนเทนต์ จัดวงพูดคุย จัดอบรม โดยเชิญอาจารย์จากสถาบันเด็กมาพูดเรื่องนี้ เพื่อที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเรื่องสิทธิเด็ก 

สิทธิเด็กในภาพจำ ถูกมองว่าเด็กมันฮึกเหิม ปีนเกลียว แต่จริงๆ ไม่ใช่ สิทธิเด็กคืออำนาจที่เอามาคุ้มครองเด็ก แต่ภาพนี้มันถูกสลายไปโดยการแปะป้าย และผลิตซ้ำจากคุณครูที่บอกว่าเธอเป็นนักเรียนเธอห้ามพูด เอาเวลาไปเรียน มายด์เซตครูแบบนี้ควรโดนเปลี่ยน เหมือนหมากล้อมที่ทำให้เขาไม่มีที่ยืนที่ต้องคิดต้องเชื่อแบบนี้อีก อาจจะฟังดูโหดร้าย เพราะคนที่เชื่อแบบนี้จะทำให้หมากที่เป็นสีดำกลายเป็นดำทั้งหมด แต่ถ้าเราล้อมเขาไว้แล้วเปลี่ยนเป็นขาวให้หมด มันก็จะไม่กล้าที่จะเป็นดำ หรือกระทั่งทำให้รู้สึกละอายว่าถ้าคุณเป็นมนุษย์คนหนึ่งก็ควรเห็นเด็กว่าเป็นคนเหมือนกัน

ครูจุ๊บแจงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างจากการทำงานในโหนดการก่อการสิทธิเด็ก

หนึ่ง คนที่ควรโดนคดีมันโดนคดี คนที่มันไม่ควรจะอยู่มันได้ออกไปจากระบบ แต่ก็น่ากลัวเหมือนกันที่มันจะกลับเข้ามาในระบบ เพราะว่าตัวระบบยังไม่สมบูรณ์มากพอ

สอง เด็กที่เรียนกับเราหรือเรียนกับครูที่อยู่ในก่อการสิทธิเด็กทุกคน มีชุดความคิดที่ถูกติดตั้ง เพียงแต่ว่าวันหนึ่งที่เขากล้าหาญ หรือวันที่ถูกละเมิด เขาจะปกป้องตัวเองและคนอื่นได้ 

สาม เราเชื่อว่าครูจะเข้มแข็งขึ้น เราเห็นหลายๆ เคสที่ส่งมาปรึกษาเรา มีครูที่ถูกละเมิดจาก ผอ. เขาจะไม่ยอมทนกับเรื่องพวกนี้ 

การทำงานของโหนดคือ พยายามทำงานสื่อสารกับตัวเด็ก เราพยายามทำให้เด็กเห็นช่องทางในการมีส่วนร่วมในการใช้สิทธิ์ ในการที่จะได้รับการคุ้มครอง สร้างความเชื่อว่าเราสามารถคุ้มครองตัวเองได้ หรือในมุมมองผู้ใหญ่ เราก็ใช้วิธีการสื่อสารที่ให้เชื่อว่าปัญหาเหล่านี้มันแก้ได้ เพราะถ้าไม่เชื่อเลยว่าปัญหานี้จะแก้ได้ เขาจะหมักปัญหานี้ไว้ มองว่าเด็กยังไม่โดนอะไร เด็กจะผ่านไปได้ เด็กจะไม่กล้าพูด ฯลฯ คือมันจะเกิดการรวมปัญหาไว้และไม่ถูกแก้ นี่คือสิ่งที่ก่อการสิทธิเด็กพยายามกระทุ้งให้ครูเชื่อว่าปัญหานี้มันแก้ได้ เราแข็งแรงมากพอ เรามีระบบที่ซัพพอร์ตตามกลไกที่ทำได้จริงๆ 

ทุก 3 เดือนเราจะมีข้อความขอความช่วยเหลือ และเราสามารถสร้าง Empower ให้พวกเขาได้ และเขาเชื่อเรื่องสิทธิโดยที่ไม่ต้องไปหาสื่อที่ทำให้เขาถูกละเมิดซ้ำ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงกับเด็กๆ คือมีเด็กมาโวยวายกับเราว่า เราไปละเมิดสิทธิเขา เรารู้สึกดีที่เขาเริ่มเข้าใจสิทธิของตัวเองมากขึ้น 

สิ่งที่ยากของการทำงานกับโหนดก่อการสิทธิเด็ก

สิ่งที่ยากคือความเชื่อไม่เหมือนกัน แล้วเราไม่มีทักษะการฟังที่เข้าไปถึงหัวใจของคน เราถูกปิดด้วยอคติและมายาคติ หรือสิ่งที่ประกอบสร้างมา เราเถียงกันด้วยความรักในตัวบุคคล เช่น อาจมีคนที่รักลูกแล้วบอกว่าถ้าเขารักลูกด้วยวิธีการนี้มันผิดด้วยเหรอ ซึ่งควรจะมีคนไปบอกเขาได้ว่ามันผิด หรือบางอย่างที่รัฐแก้ปัญหาให้ แต่ไม่มีใครไปบอกรัฐว่าอันนี้เป็นการละเมิดหรือเปล่า มันก็เลยเป็นสิ่งที่ยาก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกเก็บไว้ใต้พรม ไม่มีใครอยากทำ เพราะทำแล้วเหนื่อยเปล่า โดนด่า โดนติดตาม โดนคุกคาม เกิดความกลัว ถูกขู่ ใครจะอยากทำ มันยาก 

อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรที่สุด

ก่อการสิทธิเด็กตั้งเป้าสุดท้ายว่า จะเลิกทำ ถ้ามันมีครบทุกอย่าง มันเป็นตามทุกอย่างที่เด็กได้รับสิทธิ์ ครูไม่ต้องมาเป็นตัวแทนในการออกมาบอกเล่าเรื่องนี้ ครูควรได้กลับไปสอน กลับไปจัดการห้องเรียนตัวเอง ถ้าครูต้องทำหมดทุกอย่าง แล้วครูจะเอาชีวิตไหนไปใช้ชีวิต 

เราเป็นครูมีหน้าที่ต้องสอนเด็ก แต่การทำโหนดคือจิตอาสา แค่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงนิดหนึ่งก็ถือว่าโอเคแล้ว

คำถามสุดท้าย ทุกวันนี้ใช้พลังงานแบบไหนในการพาตัวเองไปทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง 

เมื่อก่อนใช้พลังโกรธ เพราะรู้สึกไม่ยุติธรรม โกรธแล้วก็แอ็กชั่น โกรธแล้วก็ปกป้องคนอื่น วนเวียนไป แต่ตอนนี้มันก็กลับมาที่เรารักตัวเองและอยากปกป้องเด็ก มากไปกว่านั้นคือ เรารักตัวเอง ก็เลยต้องเหลือพลังเพื่อจะไปทำอย่างอื่น 

สิ่งที่เราทำคือพยายามทำ Self Care ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นการนั่งสมาธิ ฮีลด้วยการฟังเพลง ใช้ชีวิต กินของที่มีประโยชน์ การได้กลับมาอยู่กับตัวเอง เขียนไดอารี่ ถ่ายภาพ ชมงานศิลปะ เราออกไปใช้ชีวิตด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่งาน หรือการไปเจอเพื่อนๆ พลังงานใหม่ๆ เพื่อที่จะได้กลับมาทำงานได้ดีและลุยได้เต็มที่มากขึ้น อันนี้คือสิ่งที่เราดูแล 

มากไปกว่านั้นคือเราซัพพอร์ตพี่ๆ เพื่อนๆ ที่เป็นอาสาสมัคร ใครมีปัญหาอะไร มีอะไรให้ช่วย ถ้ามีคนไม่ไหวเราพร้อมช่วย รู้สึกขอบคุณการรู้คุณค่าความรักที่ทำให้เรายังอยู่ตรงนี้


ครู-ฉบับครูจุ๊บแจง

ครูที่ดีไม่มีอยู่จริง มีแค่ครูที่ทำหน้าที่จัดการเรียนรู้ จัดสิ่งต่างๆ ให้พร้อมสำหรับเด็กคนหนึ่ง

ครูที่รู้สึกว่าจะมีประโยชน์ต่อเด็กๆ คือครูที่เท่าทันแหล่งอำนาจทั้งภายนอก ภายใน และอำนาจของการฟังที่ไม่ด่วนตัดสิน การเชื่อว่ามนุษย์คนหนึ่งเปลี่ยนแปลงได้ มนุษย์คนหนึ่งเลวได้ ดีได้ หรือตัวเราก็ดีเลวได้เหมือนกัน 

ครูที่กล้าหาญ การเป็นครูที่กล้าหาญจะส่งพลังที่จะไม่สยบยอมต่อทุกสิ่งอย่าง แม้กระทั่งปัญหาตัวเอง ปัญหาเด็ก ปัญหาการจัดการการศึกษา ปัญหาระบบ ปัญหากระทรวง ปัญหาผู้ปกครอง ฯลฯ 

ครูที่มีสุขภาวะดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ Well Being ที่ไม่ใช่แค่ทางกาย แต่ยังมีเรื่องของภายใน จิตใจ สภาพแวดล้อม เศรษฐกิจ การเงิน การอยู่ในระบบที่มีความเป็นธรรม 

ครูที่รักได้อย่างไม่มีเงื่อนไข (Love Wins) ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะดีเลว 

Your email address will not be published.