Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้ บทความ / บทสัมภาษณ์

‘แค่อยากเห็นมันเปลี่ยนก็เลยลุกไปทำ’ ‘ครูกั๊ก-ร่มเกล้า ช้างน้อย’ กับ PLC Reform วงพูดคุยที่ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมกัน1 min read

Reading Time: 2 minutes ‘ครูกั๊ก-ร่มเกล้า ช้างน้อย’ ครูแกนนำโครงการก่อการครู ผู้เป็นตัวแทนโหนด PLC Reform บอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนที่นำเครื่องมืออย่าง PLC ‘Professional Learning Community’ มา Reform จนทำให้เกิดวงพูดคุยที่สามารถดึงส่วนผสมในโรงเรียน ทั้งเด็ก ครู ผู้บริหาร รวมถึงผู้ปกครอง มาร่วมรับฟัง มองเห็นปัญหา เกิดการแชร์ไอเดียใหม่ๆ จนเกิดการพัฒนาที่ทุกคนได้มีส่วนร่วม Jun 19, 2024 2 min

‘แค่อยากเห็นมันเปลี่ยนก็เลยลุกไปทำ’ ‘ครูกั๊ก-ร่มเกล้า ช้างน้อย’ กับ PLC Reform วงพูดคุยที่ทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมกัน1 min read

Reading Time: 2 minutes

“PLC สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับครูที่โรงเรียนค่อนข้างเยอะ ไม่ใช่ผมเป็นคนสร้างการเปลี่ยนแปลงแต่ตัว PLC ทำให้ทุกคนได้สร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน ดังนั้นเครดิตมันจึงเป็นของทุกคนเลย” 

‘ครูกั๊ก-ร่มเกล้า ช้างน้อย’ ครูแกนนำโครงการก่อการครู ผู้เป็นตัวแทนโหนด PLC Reform บอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนที่นำเครื่องมืออย่าง PLC ‘Professional Learning Community’ มา Reform จนทำให้เกิดวงพูดคุยที่สามารถดึงส่วนผสมในโรงเรียน ทั้งเด็ก ครู ผู้บริหาร รวมถึงผู้ปกครอง มาร่วมรับฟัง มองเห็นปัญหา เกิดการแชร์ไอเดียใหม่ๆ จนเกิดการพัฒนาที่ทุกคนได้มีส่วนร่วม

จากที่เคยลองผิดถูกในปีแรกเริ่ม และพบว่าการใช้ PLC ในโรงเรียนนั้นล้มเหลว ถูกแปะป้ายว่าเป็นกิจกรรมปลอมๆ ที่จัดขึ้นมาเพื่อให้ครูถ่ายรูปและทำรายงานจบ มาวันนี้ PLC เปลี่ยนแปลงวงคุยให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงอย่างที่ควรเป็น เพิ่มส่วนเสริมเข้ามาทั้งเรื่องของ ‘PLC Policy Learning Community’ เพื่อให้ครูกับฝ่ายการเมืองได้ส่งเสียงถึงกัน รวมถึงยังมี ‘PLC Podcast Learning Community’ ที่มาช่วยเน้นย้ำให้เห็นว่าการเรียนรู้ไม่ได้อยู่เพียงห้องเรียนเท่านั้น 

การศึกษาและปัญหายังอยู่เป็นของคู่กัน วันที่ทุกอย่างยังคงต้องเปลี่ยนแปลงไป ก่อการขอพาทุกคนไปทำความรู้จักครูกั๊ก ครูแกนนำประจำโหนด PLC Reform  ให้มากขึ้น ผ่านจุดเริ่มต้นของการเข้ามาทำอาชีพครู การเปลี่ยนแปลงของแวดวงการศึกษาที่มองเห็น ฟังความคิด ความท้าทาย และสิ่งมุ่งหวังของของครูแกนนำผู้มีคติสอนใจว่า “อย่าถอดใจเลิกสู้ แค่อยากเห็นมันเปลี่ยนก็ลุกไปทำ”

จุดเริ่มต้นการเข้ามาเป็นครู 

ตอน ม.ต้น พยายามทำเกรดให้ได้ดีเพื่อให้ตัวเองเลือกสายเรียนได้ เลยได้เรียนวิทย์-คณิต มันทำให้ผมต้องเลือกระหว่างเรียนดนตรีหรือเรียนวิชาการ ตอนนั้นจึงต้องตัดสินใจเลือกเรียนพิเศษ เพราะกลัวว่าจะเรียน ม.6 ไม่จบ 

ไปเรียนพิเศษ 5 วันต่อสัปดาห์ จ่ายเดือนละ 400 บาท เรียน 1 วัน ทำแบบฝึกหัด 4 วัน ที่นั่นจะมีรุ่นพี่ที่เป็นสต๊าฟคอยตรวจการบ้านแบบฝึกหัดที่น้องๆ ทำ คือสต๊าฟจะได้เรียนฟรีและได้เงินค่าจ้าง ผมขึ้น ม.5 ก็ได้สมัครเป็นสต๊าฟเพื่อที่จะได้เรียนพิเศษฟรี มีเงินใช้ และได้ความรู้ด้วย มันเลยทำให้เราค้นพบในวันนั้นว่าการที่ได้เห็นคนอื่นๆ เข้าใจในสิ่งที่เราพูดมันดีจังเลย รู้สึกดีมากๆ คิดว่าอันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้สึกว่า หรือจะเป็นครูดีนะ 

พอถึง ม.6 ก็เลือกวิศวะ ตอนแรกไม่คิดว่าจะเป็นครู รู้แค่ว่าชอบสอน และเลือกครูไว้ลำดับสุดท้าย มีครูที่เรียนพิเศษที่เดียวกันกลับมาแนะแนว แกก็พูดจนผมเคลิ้ม เลยเลือกคณะคุรุศาสตร์ไว้อันดับหนึ่ง เอาไปโชว์รุ่นพี่คนนั้น เขาก็บ่นว่ามึงบ้าหรือเปล่า เป็นครูมันเหนื่อย ผมก็เปลี่ยนเอาครูไว้เป็นอันดับสอง เอากายภาพบำบัดไว้อันดับหนึ่งแทน เอาวิศวะที่อยากเข้าไว้อันดับ 3 และ 4 วันสุดท้ายที่เขาให้เปลี่ยนคณะได้ เป็นวันที่ผมรู้สึกว่า ต้องติดครูแน่เลยว่ะ แล้วมันก็ติดจริงๆ 

รู้สึกยังไงกับการได้เข้าไปเรียนเป็นครู

คิดว่าเราไม่น่าจะเป็นครูในภาพฝันของใคร เข้าไปเรียนก็เล่นดนตรีทำกิจกรรมซะเยอะ จนได้ทำค่าย ชื่ออยากเป็นครู ที่ทางคณะทำ เราก็สมัครเป็นพี่สต๊าฟไปตีกลอง ได้เจอจุดเปลี่ยนหนึ่งอย่าง มีน้องๆ ที่มาเข้าค่าย 120 กว่าคน ทุกคนตะโกนพร้อมกันหมดเลยว่าอยากเป็นครู อยากสอบคณะนี้ให้ได้ จึงเกิดคำถามกับตัวเองว่านี่กูกำลังทำค่ายให้คนที่อยากเข้ามาเป็นครู แต่ขณะที่เราเป็นคนทำ เรายังมีความอยากเป็นครูไม่เท่าน้องๆ เลย เรารู้สึกว่าแพ้ไม่ได้แล้ว เลยเริ่มเสพการสอนหลายๆ แบบของครู เริ่มเสพรุ่นพี่ว่าความอยากเป็นครูของเขาเป็นยังไง 

จนรู้สึกว่าตัวเองอยากเป็นครูจริงๆ คือวันที่ได้ฝึกสอน ราวปี 4 ได้อยู่กับนักเรียนจริงๆ หนึ่งเทอม มันให้ความสุขในขณะทำงาน มันมีความเครียดแหละ แต่มันผ่อนคลายในการที่เราได้เจอเด็ก เด็กมีอะไรใหม่ๆ มาให้เราได้รู้จักทุกปี รู้สึกว่าอาชีพนี้สนุก 

ช่วงที่เรียนจนมาถึงการได้เป็นครู ปัญหาของการศึกษาที่เห็นมีอะไรบ้าง

ในยุคที่เราเรียน รู้สึกว่าเรากลัวครู เราจะไม่ค่อยกล้าลุกขึ้นส่งเสียงใดๆ ครูให้ทำอะไรเราก็ทำไป เน้นการเอาตัวรอดเป็นหลัก พอมาถึงมหา’ลัย ก็เจอสังคมใหญ่ขึ้น มีการตั้งคำถามกับสิ่งที่เชื่อมากขึ้น พอเรียนจบมา ในวันที่เราเป็นครู ได้เห็นมุมมองที่ใหญ่กว่า เริ่มเข้าใจครู เข้าใจสังคมมากขึ้น เริ่มรู้แล้วว่าฟังก์ชั่นของการเปลี่ยนแปลงต้องทำอย่างไร

เด็กยุคนี้กล้าที่จะสื่อสาร กล้าจะบอกอะไรต่างๆ มากกว่ายุคก่อน อันนี้คือมองจากเด็กในเมือง ถ้ามองจากเด็กต่างจังหวัดยังเป็นสภาพเดียวกันกับตอนที่เราเป็นเด็ก คือมันยิ่งห่างไกลเท่าไหร่เด็กก็จะยิ่งมีอำนาจในการต่อรองน้อยไปเท่านั้น เหมือนเขาก็ยังต้องเชื่อครู ฟังตามคำสั่ง คือในมุมหนึ่ง มันได้สิ่งที่สังคมเรียกว่า การมีสัมมาคารวะ แต่ในขณะเดียวกัน มันซ่อนความกลัวภายใต้อำนาจที่มันกดเอาไว้ด้วยครู เป็นสองด้านที่มองได้ 

ส่วนในมิติของครู ถ้าเป็นเมื่อก่อน เราอยากได้การเปลี่ยนแปลงอะไรมันอาจจะช้า แต่ยุคนี้มันไปได้เร็วกว่า อาจเพราะสังคมฟังกันมากขึ้น ซึ่งมองว่าในยุคนี้เป็นยุคที่แวดวงการศึกษาเปลี่ยนแปลงได้เร็วมากๆ เหมือนกัน 

จากการเปลี่ยนแปลงวงการศึกษา มองเห็นอะไรที่เป็นปัญหาอยู่ หรืออะไรที่แก้ไม่ได้หรือที่แก้ได้บ้างแล้ว

แก้ได้แล้ว คือเรื่องภาระต่างๆ การประเมิน เราเห็นคนที่ทำงานในกระทรวงและต้องการผลักดันเรื่องนี้อยู่ รวมถึงฝั่งการเมืองที่ทำเรื่องยกเลิกการอยู่เวร ถ้าของวิทยฐานะ ลดภาระการประเมินต่างๆ ให้เอกสารน้อยลง ซึ่งมันช่วยให้ครูกลับมาทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย 

ส่วนที่เห็นว่าเป็นปัญหายังไม่เปลี่ยน น่าจะเป็นการเข้าแถวหน้าเสาธงที่มีความยืดเยื้อ มีพิธีกรรมเยอะ มันยังมีอยู่ เรื่องระบบอำนาจยังกักตัวอยู่เหมือนเดิม ความเป็นราชการ ความช้าเรื่องเอกสารการเบิกจ่ายมันก็ยังเยอะ คิดว่าควรทำให้ระบบมันง่าย ตรวจสอบง่าย ปัญหาของความเป็นระบบราชการมันทำให้การศึกษาไปได้ช้า 

ช่วยเล่าถึงสิ่งที่ได้ขับเคลื่อนหรือการเปลี่ยนแปลงการศึกษา

ได้เข้าไปอบรมก่อการครูรุ่น 2 จากนั้นก็เฟดไปพักหนึ่ง จากที่เคยทำโหนดชื่อว่า SLC – School as Learning Community แต่ว่าพยายามทำไปแล้วมันใหญ่ไป และเราก็ขยันเกินไป เลยทำให้ความขยันที่เราทำบ่อยๆ ในโรงเรียน ส่งผลให้ครูหลายๆ คนเหนื่อย คือเราทำ 4-5 งานในสัปดาห์สองสัปดาห์ พอเหนื่อยก็ทำให้เกิดความเฟล เราก็เปลี่ยนจากออนไซต์ไปเป็นออนไลน์แทน พักใจอยู่เดือนสองเดือน พอเราได้กลับมาเปิดวงคุยออนไลน์ ปรากฏว่าออนไลน์เวิร์กมาก เป็นช่วงโควิดพอดีด้วย เราก็เลยจัดออนไลน์ต่อเนื่องไปทั้งปีเลย จัดไปประมาณ 10 กว่าครั้งได้ เหมือนพอเราได้เจอ DNA ของ SLC ก็นำบทเรียนมาปรับขยับให้แคบลง กลายเป็น PLC – Professional Learning Community มันทำให้เราเห็นว่าการพูดคุยของคนในโรงเรียนมันได้ประโยชน์ 

เช่นโรงเรียนที่สอนมีปัญหาบางอย่าง เราก็เชิญผู้บริหาร เด็กๆ และครู มาคุยกัน ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมันทำให้การแก้ปัญหาตรงนั้นง่ายขึ้นด้วย เข้าใจว่าเป็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้ตารางสอน พอได้เห็นความเห็นร่วมกันระหว่าง 3 ฝ่าย มันเลยไม่มีใครด่ากัน เพราะทุกคนล้วนเป็นเจ้าของไอเดีย 

พอ DNA ของ PLC มันเกิดขึ้นในช่วงทดลองทำออนไลน์ ผมก็ย้ายโรงเรียน ตอนนั้นก็ทำโหนดเข้าสู่ปีที่ 2 ปรากฏว่าความกลัวที่เราเคยทำพลาดมันลดลง จนเราทำให้มันสามารถเกิด PLC ออนไซต์ในโรงเรียนตัวเองได้ และมันก็เข้มแข้งขึ้นเรื่อยๆ PLC มันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับครูที่โรงเรียนค่อนข้างเยอะ ไม่ใช่ผมเป็นคนสร้างการเปลี่ยนแปลงนะ แต่ตัว PLC ทำให้ครูทั้งหมดสร้างการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน ดังนั้นเครดิตมันจึงเป็นของทุกคนเลย เราก็เลยเห็นว่าครูคุยเรื่องเด็กกันมากขึ้น คุยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของหลักสูตร ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนไม่ได้คุยเรื่องนี้เลย 

พอเข้าสู่ปีที่ 3 เราก็ลองมาตั้งคำถามกับ PLC มากขึ้น ครูไม้เอก แกบอกว่า PLC มันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวก็ได้ ในเมื่อเราใช้ชื่อกลุ่มว่า PLC Reform เราก็รีฟอร์มคำว่า PLC ไปเลย เราเห็นด้วยกับสิ่งที่เขาแชร์มา ตอนนี้ PLC จึงแบ่งเป็น 3 ขา คือ

1. PLC Reform Professional Learning Community เป็นวงคุยที่พัฒนากันเองมารีฟอร์มคำที่เสียไปแล้ว ให้มันกลับมาเป็นความหมายที่ควรจะเป็น เสียไปแล้วหมายความว่า คำเหล่านี้มันเป็นกิจกรรมปลอม จัดขึ้นมาเพื่อให้ครูถ่ายรูปและทำรายงานจบ ซึ่ง PLC มันดีกว่านั้น

2. Policy Learning Comunity เป็นวงคุยเรื่องนโยบาย เราจับผู้ออกนโยบายมาเจอกับผู้ติดตามนโยบายก็คือครูกับฝ่ายการเมือง คือให้เขาคุยกัน มีปัญหาอะไรส่งเสียงเลย เราจัด Live ด้วย ทำให้เห็นว่ามันมีการรับฟังจริงๆ นะ ถ้าเกิดเขาไม่ทำ คนที่มาดู Live ก็จะคอยช่วยกันตรวจสอบว่าทำหรือไม่ทำ ในขานี้จะทำงานเข้มข้นมากๆ ในช่วงนี้

3. Podcast Learning Community เป็นการเรียนรู้ที่อยู่นอกห้องเรียน ตามอัธยาศัย ทำให้มันเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ผ่านการเข้ามาฟัง Podcast ตอนนี้ที่เพิ่งลงไปคือ รายการถลอกบทเรียน (I Learn) คือฉันเรียนรู้อะไร อยากสร้างวัฒนธรรม I Learn ให้ทุกๆ คนที่เข้ามาฟังได้รู้ว่าพวกเขาเรียนรู้อะไร

สิ่งที่ยากหรือความท้าทายสำหรับการทำโหนด PLC Reform 

PLC ขาแรก น่าจะเป็นความเชื่อเกี่ยวกับ PLC ที่ทำแล้วต้องเครียดแน่เลยคือสิ่งที่ครูๆ จะพูดกันตลอด แต่พอได้ทำแล้วมันไม่ใช่ เกิดเป็นความยากในการชวน แต่เมื่อชวนมาก็ทำให้ได้เห็นว่ามันไม่ยาก 

ขาที่สอง ครั้งแรกที่ทำคือยากเลย เพราะเราชวนทุกคนมาเจอกันในตอนหาเสียงเหมือนทุกคนจะมาดีเบตกันมากกว่า แต่ PLC มันคือการแค่ให้เราคุยกันเฉยๆ แต่หลังจากนั้นก็ไม่ยากแล้ว เพราะพ้นเรื่องหาเสียงไปแล้ว 

ขาที่สามน่าจะเป็นเรื่องคอนเทนต์และเวลา เรื่องมันเยอะ และทีมที่ทำอยู่คนละที่หมดเลย เลยทำให้ทำงานไม่ได้เต็มที่

Hidden Agenda จริงๆ ของ PLC คืออยากเปลี่ยนวัฒนธรรมครูในโรงเรียน พอได้คุยเรื่องเด็กเยอะขึ้นมากๆ คุยเรื่องการเรียนรู้ ทิศทางการทำงานก็จะเปลี่ยน ทุกอย่างพอมันมุ่งมาทางเด็กหมดเลย ผมรู้สึกว่าอันนี้เป็นสภาพแวดล้อมที่ดีของการทำงานในโรงเรียน คือมันเปลี่ยนจริงๆ 

เรารู้สึกเป็นตัวกลางของการเปลี่ยนแปลงมันได้ สิ่งที่อยากเห็นและอยากให้เกิดขึ้น ผมมองว่าอยากทำวง PLC ที่เป็นวงคุยกับต่างประเทศ เหมือนการคุยกันเดือนละครั้งปีละครั้ง เราจะได้เรียนรู้จากกันและกัน ว่าใครมีปัญหาแบบไหน เอาของมาแลกกัน ผมอยากทำนะ แต่ไม่รู้จะทำได้มากน้อยแค่ไหน

งานในโหนด PLC Reform ที่ได้ทำเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง

ผมว่าผมเห็นผลแล้ว เราได้ความสัมพันธ์ที่ดีกลับมา ระหว่างคนทำงานด้วยกัน เราได้เห็นว่าการคุยกับครูในโรงเรียนง่ายขึ้น เราได้เห็นว่าการคุยกับนักการเมืองมันสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง หรืออย่างการทำ Podcast รายการ I Learn ทำให้ตัวผมเองได้เรียนรู้เยอะมากๆ จากการทำสิ่งนี้ ก่อนที่จะไปถึงผู้ฟังด้วยซ้ำ เราก็เลยเห็นว่าการเรียนรู้ไม่ใช่เรื่องไกลตัว 

มันมีหนังเรื่องหนึ่งชื่อว่า Lone Servival สร้างจากเรื่องจริง ที่ทหารไปปฏิบัติการบนภูเขาชื่อปฏิบัติการ Red Wing มีฉากหนึ่งที่ ผอ. หน่วยโดนยิง เขาฝากบอกเพื่อนๆ ว่า อย่าถอดใจเลิกสู้ ผมรู้สึกว่าคำนี้ดีมาก เวลาที่เราเห็นว่าสิ่งที่เราทำอยู่มันไปข้างหน้าได้ และมันมีจังหวะที่เราเหนื่อย ก็จะนึกถึงเสมอ ถ้าเหนื่อยพักก่อน แล้วค่อยกลับมาสู้ใหม่ ทหารที่พูดคำนี้สุดท้ายก็ตาย แต่พอได้พูดให้เพื่อนฟัง คนอื่นๆ ก็อยู่รอดและสู้จนจบได้ ผมว่ามันโคตรทรงพลัง

พลังงานแบบไหนที่ใช้ในการทำงานหรือสร้างการเปลี่ยนแปลง

แค่อยากเห็นมันเปลี่ยนก็เลยลุกไปทำ


ครู-ฉบับครูกั๊ก

ครูที่ดีจะต้องสับสนหน่อย ว่าจริงๆ แล้วฉันเป็นคนดีหรือไม่ดี ผมว่าคนดีจะต้องรู้ว่าตัวเองมีทั้งข้อดีและไม่ดี

ครูที่ดีรู้ว่าการสอนสำคัญที่สุด เพราะมันคือหน้าที่ครู ฉะนั้นถ้ามีงานไหนเข้ามาให้โฟกัสที่งานสอน 

ครูที่ดีต้องเตรียมตัวสอน วางแผนการสอน คิดมาแล้วว่าจะเข้าไปสอนอะไร 

ครูที่ดีต้องจัดเวลาพักให้เป็น ไม่ใช่ทำทุกอย่างเป็นงานครูทั้งหมด ไม่งั้นงานครูเฉา

ครูที่ดีไม่ตัดสินนักเรียนจากความผิดพลาดแค่ครั้งเดียวของพวกเขา 


Your email address will not be published.