ก่อการครู – Korkankru

คลังความรู้ บทความ / บทสัมภาษณ์ ห้องเรียนข้ามขอบ

ให้เด็กได้ ‘เลือก’ อีกสักครั้ง ข้ามขอบไปคุยเรื่องเด็กหลุดจากระบบ สู่ห้องเรียนระบบ 2 กับ ‘พิเศษ ถาแหล่ง’ ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยซ้อฯ

Dec 2, 2024 3 min

ให้เด็กได้ ‘เลือก’ อีกสักครั้ง ข้ามขอบไปคุยเรื่องเด็กหลุดจากระบบ สู่ห้องเรียนระบบ 2 กับ ‘พิเศษ ถาแหล่ง’ ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยซ้อฯ

Reading Time: 3 minutes

 “ผมจะทำที่ห้วยซ้อ บ้านผมอยู่ที่นี่ ถึงห้วยซ้อเหลือเด็กแค่ 200 คน ผมก็จะเขียนย้ายมา”  

ถ้อยคำยืนยันหนักแน่นของ ‘พิเศษ ถาแหล่ง’ ผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคม รัชมังคลาภิเษก อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เมื่อย้อนพูดถึงครั้งที่สอบผู้บริหารได้เป็นครั้งแรก หลังจากชีวิตราชการก่อนหน้าอยู่ในบทบาทครูฝ่ายปกครองโรงเรียนห้วยซ้อที่คลุกคลีใกล้ชิดอยู่กับเด็กหลากหลายรูปแบบด้วยความเชื่อส่วนตัวที่ว่า การเป็นครูไม่ใช่แค่การจัดการเรียนการสอน แต่เป็นการทำงานที่สัมพันธ์กับชีวิตของเด็กอย่างรอบด้าน 

A person standing with his arms crossed

Description automatically generated

นอกจากเหตุผลที่ว่าห้วยซ้อเป็นโรงเรียนในพื้นที่ ‘บ้าน’ ของตัวเองแล้ว การที่ห้วยซ้อกลายเป็นหมุดหมายของเขาในฐานะผู้อำนวยการ ยังมาจากสัญญาใจกับเด็กคนหนึ่งที่เคยมีโอกาสช่วยเหลือดูแลก่อนที่การทำงานในบทบาทครูผู้สอนจะสิ้นสุดลงด้วย  

 “สักวันหนึ่งครูจะกลับมาเป็น ผอ. ที่ห้วยซ้อ เอาอย่างนี้ไหม เธอเรียนให้จบ แล้วแลกสัญญากัน” 

เมื่อ ผอ.พิเศษกลับมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมจนถึงปัจจุบัน คำยืนยันว่าเขามองโรงเรียนห้วยซ้อเป็นฐานสำหรับการทำงานก็ค่อยๆ ก่อรูปชัดเจนขึ้น แม้เด็กไม่ได้เหลืออยู่เพียง 200 คนอย่างที่เคยยกตัวอย่าง แต่ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาก็ปรากฏให้เห็นอยู่เสมอ นำไปสู่การชวนครูและบุคลากรในโรงเรียนลุกขึ้นมาข้ามขอบห้องเรียนแบบเดิม ผลักดันให้เกิด ‘ห้องเรียนระบบ 2’ ขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่ในการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นให้กับนักเรียนที่ไม่สามารถเรียนในห้องเรียนระบบปกติได้ 

การผลักดันในเชิงระบบซึ่งเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ซับซ้อนอย่างปัญหาในชีวิตของเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ดูเหมือนว่า ผอ.พิเศษยังคงมุ่งมั่นและยืนยันที่จะทำจนเห็นผลประจักษ์ให้ได้ 

เขาเล่าเรื่องราวทั้งหมดด้วยน้ำเสียงจริงจังในเจตจำนงให้กับพวกเราฟัง ตั้งแต่การเริ่มต้น การเดินทาง ความท้าทาย และหมุดหมายปลายทางที่วาดหวังไว้ว่า อยากเห็นโรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่แข็งแรงและยืดหยุ่นพอให้ผู้คนในพื้นที่เข้าถึงโอกาสทางการศึกษาได้อย่างแท้จริง  

โจทย์ที่เริ่มต้นจากเด็ก 1 คน

ห้องเรียนระบบ 2 ของห้วยซ้อมีจุดเริ่มต้นมาจากเด็กเพียง 1 คน ผอ.พิเศษเล่าว่า เมื่อปีการศึกษา 2564 มีเด็กชาย 1 คน เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไม่ยอมมาโรงเรียนตามปกติ แม้จะพยายามตามกลับมาเรียนอย่างไรก็ไม่สำเร็จ เมื่อลองสำรวจกันดูลึกๆ แล้วจึงพบว่า เด็กคนนั้นมีปัญหาหลายอย่าง ทั้งสถานะทางครอบครัวและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เอื้อให้มาเรียนในระบบได้ “เราจึงมีโจทย์อยู่ในใจว่า จะทำอย่างไรให้เด็กคนนี้จบม.6 ให้ได้ เลยนึกย้อนไปช่วงสถานการณ์โควิดที่มีการเรียนออนไลน์ ส่งงาน และยังมีผลในระบบได้ ผมก็เลยตัดสินใจว่า ลองให้เขาใช้วิธีการนี้ดู ทั้งเรียนออนไลน์ ทั้งเอางานไปให้ ทั้งหาวิธีการให้เขาส่งร่องรอยการเรียนรู้หรือส่งงานให้ครูทางออนไลน์ได้ โดยระยะแรกเราก็ให้ครูเข้าไปหาที่บ้าน และสอบถามไปบ้าง สุดท้ายเด็กก็ยอมที่จะรับเงื่อนไขวิธีการนี้ แล้วเริ่มปรับตัว จนสามารถจบพร้อมเพื่อนได้”  

หลังจากกรณีของเด็กคนนี้ ปีการศึกษาต่อมาก็มีเด็กที่มีสถานการณ์ชีวิตและปัญหาคล้ายกันเริ่มปรากฏขึ้น ทั้งปัญหาความยากจน ความรุนแรงในครอบครัว สภาพแวดล้อมในชีวิตที่ไม่เอื้ออำนวยให้สามารถเรียนในระบบได้อย่างเต็มที่ นำไปสู่ความรู้สึกอยากถอยห่างจากระบบมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อลองไปสำรวจนักเรียนเป็นคนคนอย่างละเอียดจึงพบว่าเด็กหลายคนมีแนวโน้มหลุดออกจากระบบการศึกษาจากสาเหตุเหล่านี้ นำไปสู่การหาวิธีการสร้างพื้นที่รองรับปัญหาดังกล่าว เพื่อให้เด็กได้เข้าถึงการเรียนรู้ภายใต้ข้อจำกัดและเงื่อนไขชีวิตที่แตกต่างกันของแต่ละคนได้ จึงเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ห้องเรียนระบบ 2’ เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นที่ออกแบบให้สามารถใช้เทคโนโลยีและช่องทางออนไลน์เป็นตัวช่วยในการเรียนรู้ได้ และมีครูประจำชั้นเป็นเหมือน ‘ไปรษณีย์’ คอยรับสาร สังเกตการณ์ และสื่อสารจากครูแต่ละวิชาส่งต่อให้เด็ก แล้วคอยติดตามพัฒนาการและผลการเรียนรู้อย่างใกล้ชิด เพื่อทำให้เด็กยังคงเชื่อมโยงกับโรงเรียนและระบบการศึกษาได้ในแบบที่สอดคล้องกับชีวิตตัวเองมากขึ้น 

การเริ่มขับเคลื่อนกันจากจุดเล็กๆ เริ่มขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ และคลี่ขยายปัญหาที่ซุกซ่อนออกมาให้เห็นได้มากขึ้นว่า มีเด็กอีกหลายคนที่มีแนวโน้มหลุดจากระบบ และมีเด็กที่หลุดไปหลายคนอยากหวนกลับเข้ามาเรียน จากปีการศึกษา 2564 ถึงในปีการศึกษา 2566 ห้องเรียนระบบ 2 ของโรงเรียนห้วยซ้อจึงมีเด็กกว่า 36 คน ซึ่งส่วนหนึ่งคือเด็กที่หลุดจากระบบไปแล้ว แต่ขอสมัครกลับเข้ามาเรียนใหม่ โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กจากโรงเรียนห้วยซ้อที่ยังมีฐานข้อมูลการเรียนเดิมในโรงเรียน ทำให้สามารถใช้เทียบเพื่อกลับเข้ามาเรียนต่อได้เลย  

“ครูของเรารับรู้ข้อมูลนี้แล้วขับเคลื่อนไปด้วยกัน เราประชาสัมพันธ์ไปยังชุมชน ผมเองก็สื่อสารกับคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชน รวมถึงมีโอกาสไปประชุมกับส่วนต่างๆ ก็เล่าสู่กันฟังว่า มีห้องเรียนระบบ 2 พอเราสื่อสารออกไปก็มีเด็กที่หลุดจากระบบไปนานมากแล้ว เคยเป็นนักเรียนเก่าเราเมื่อ 5-6 ปีก่อน หรือแม้แต่หลุดจากโรงเรียนอื่นแต่อยู่ในพื้นที่ห้วยซ้อ ก็มีความสนใจเข้ามาเรียน โดยแนวทางแรกคือ เราชวนให้กลับเข้ามาเรียนในระบบปกติก่อน แต่ถ้าไม่ได้เราก็มีระบบ 2 ที่สามารถเรียนแบบยืดหยุ่นได้ ส่งงานที่บ้านได้ ซึ่งมีเด็กบางคนเลือกวิธีนี้” 

A group of people sitting in chairs

Description automatically generated

ผอ.พิเศษเล่าถึงการส่งต่อข้อมูลและประชาสัมพันธ์ไปยังชุมชน และแนวทางเบื้องต้นในการเชิญชวนให้เด็กที่มีแนวโน้มและเด็กที่หลุดจากระบบไปแล้ว หวนกลับมาเรียน โดยห้องเรียนระบบ 2 เป็นเหมือน ‘ทางเลือก’ และ ‘ช่องทาง’ ที่ต้อนรับพวกเขากลับมามีโอกาสทางการศึกษาอีกสักครั้งหนึ่งในรูปแบบที่สอดรับกับเงื่อนไขชีวิตของพวกเขามากขึ้น  

“ผมว่ามันสามารถที่จะป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบได้ เป็นการให้เขาเลือกอีกสักครั้งหนึ่ง เมื่อเขาอยากจะกลับมา เราก็เปิดช่องให้เขากลับมา”

การหันหลังให้กับห้องเรียน ที่ไม่ใช่แค่เรื่องผลการเรียน

เมื่อชวนทบทวนถึงปัญหาการหลุดจากระบบ ผอ.พิเศษชวนมองผ่านประสบการณ์ทำงานและการสำรวจของโรงเรียนห้วยซ้อว่า ปัญหาเด็กหลายคนหลุดจากระบบ เสี่ยงหลุดจากระบบ และเลือกที่จะไปเรียนระบบ 2 นั้นมีอยู่ 3 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือ ‘ผลการเรียนในระบบ’ กล่าวคือปัญหาการติด 0 ติด ร ที่แก้ไขยาก แม้ว่าครูจะพยายามหาวิธีการเพื่อให้สามารถวัดประเมินผลได้หลากหลายรูปแบบมากขึ้น แต่เด็กก็ยังไม่สามารถเรียนรู้ได้ เพราะปัญหาหลักคือ ‘การอ่าน-เขียน’  

“เมื่อมองลึกลงไป แล้วตั้งคำถามว่า ทำไมเด็กติด 0 ติด ร เราก็พบว่า จริงๆ แล้วเด็กมีความบกพร่องเรื่องการอ่าน การเขียน และการเรียนรู้ พออ่านและเขียนไม่คล่อง เมื่อเรียนวิชาต่างๆ ที่ต้องใช้ทักษะเหล่านี้ เขาก็ไม่สามารถเรียนรู้ได้เต็มที่ เขาก็ไม่อยากเข้าห้องเรียน สุดท้ายก็กลายเป็นวัฏจักร เป็นตัวเร่งในการผลักเด็กส่วนหนึ่งออก”   

ทว่า การหลุดจากห้องเรียนไม่ได้เป็นผลมาจากเรื่องผลการเรียนเท่านั้น ผอ.เน้นย้ำอีกด้านคือประเด็นเกี่ยวกับ ‘ครอบครัว’ อาทิ ครอบครัวแตกแยก ความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงสถานะและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่การเรียนรู้ในระบบปกติไม่สามารถตอบโจทย์ชีวิตได้ เขายกตัวอย่างถึงเด็กคนหนึ่งที่เดินมาบอกเขาว่า ‘ผอ.ครับผมขออยู่ระบบ 2 เพราะผมต้องไปช่วยงานแม่ที่บ้าน ดูแลน้องห้าหกคน และต้องไปกรีดยางรับจ้าง’ 

นอกจากนี้เด็กกลุ่มสุดท้ายที่ผอ.พิเศษมองว่า “กลุ่มนี้ยากมากๆ ที่จะประคองให้เขาอยู่ในระบบการศึกษา” คือกลุ่ม ‘พฤติกรรม’ ซึ่งเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมติดเพื่อน เที่ยวเตร่ ไม่เข้าเรียน หรือไม่สนใจที่จะอยู่ในกระบวนการการจัดการเรียนรู้แบบต่างๆ โดยเขาก็ชี้ชวนให้เห็นว่า ปัญหาของเด็กกลุ่มนี้ก็เชื่อมโยงกับปัญหาก่อนหน้าอย่างไม่อาจแยกขาด ทั้งเรื่องผลการเรียนและครอบครัว ซึ่งเป็นวัฏจักรที่ซับซ้อนของชีวิตเด็กคนหนึ่ง ทำให้เห็นว่าปัญหาการหลุดจากระบบของนักเรียนนั้น เชื่อมโยงกับชีวิตของพวกเขามากไปกว่าเรื่องของการสอบผ่านหรือไม่ผ่านอยู่มาก 

“เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม เท่าที่ผมดูและประมวล น่าจะมาจากพื้นฐานการเลี้ยงดูและเงื่อนไขในครอบครัวส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งช่วงวัยรุ่นตอนต้นก็จะคบหาเพื่อนที่หลากหลายมากขึ้น มันเป็นความซับซ้อนหลายปัจจัย เรื่องการเลี้ยงดูด้วย เพื่อนด้วย หลายคนพ่อแม่ก็ไม่ได้อยู่ด้วย”  

เส้นทางในการกลับมา

ภายใต้ปัญหาที่ซับซ้อนของเด็กกลุ่มต่างๆ ที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา ห้องเรียนระบบ 2 ก็ได้เข้ามาสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น เพื่อเป็นทางเลือกในการหวนกลับเข้ามาของพวกเขา แล้วสามารถใช้โอกาสและทางเลือกนี้ไปใช้ต่อในชีวิตได้จริง “เด็กคนหนึ่งเรียนจบจากระบบ 2 เมื่อปีการศึกษาที่แล้ว เขามาขอวุฒิ ม.6 เพื่อที่จะไปสมัครงานที่ต้องใช้วุฒิ เราก็รีบให้ไปเลย”  

ผอ. พิเศษเล่าถึงเด็กที่จบจากระบบ 2 ด้วยน้ำเสียงยินดี ก่อนจะเล่าถึงอีกกรณีหนึ่ง แล้วคลี่ขยายให้เราเห็นวิธีการและขั้นตอนในการสร้างพื้นที่ยืดหยุ่นนี้เพื่อให้เด็กที่เสี่ยงหลุดจากระบบยังคงเชื่อมโยงตัวเองกับระบบการศึกษาได้ แม้ในวันที่พวกเขาไม่อยากมาโรงเรียนเลยก็ตาม โดยเป็นกลุ่มเด็กที่มีพฤติกรรมติดเกม นอนอยู่บ้าน ไม่มาโรงเรียน พ่อแม่ก็ช่วยเหลือหรือบอกกล่าวไม่ได้ ซึ่งโรงเรียนพยายามช่วยเหลือและเป็นจุดเชื่อมระหว่างห้องเรียนกับตัวเด็ก ใช้เวลากว่า 1-2 เทอม จนสุดท้ายเขาเปลี่ยนใจกลับมาเรียนอีกครั้ง  

“เดิมเด็กที่เรียนในระบบปกติ ถ้าเขาไม่ยอมมาเรียนแบบนี้ หากครูยังคิดแบบเดิมๆ เด็กคนนี้ก็จะต้องซ้ำชั้น ติด 0 หลายตัว สุดท้ายเขาก็ไม่มา เพราะอายที่จะมาเรียนกับรุ่นน้อง แต่เราใช้วิธีที่ยืดหยุ่นประคองไว้ให้เขายังรู้ตัวว่า เขายังเป็นนักเรียนอยู่ พร้อมเมื่อไหร่ก็กลับมาได้เสมอ 

A group of people in a circle

Description automatically generated

“แล้วในระหว่างที่รอเขาพร้อม ครูก็ตามไปเยี่ยมถึงที่บ้าน คอยบอกนักเรียนให้ส่งงานทางออนไลน์ พอสิ้นเทอมเราก็จะเรียกพบกลุ่มเด็กห้องเรียนระบบ 2 มาคุยกันเป็นการส่วนตัว ดูว่าเด็กคนนั้นมีแนวโน้มจะกลับมาเรียนในระบบปกติไหม หากเริ่มส่งสัญญาณว่า ขอคิดดูก่อน เราก็รีบประกบเลย แสดงว่า เด็กเริ่มสนใจจะกลับมาในระบบแล้ว บางกรณีก็ให้เพื่อนเป็นคนไปตาม ไปชวนกลับมาเรียน เด็กเขาก็เริ่มกลับมา” 

ผอ.อธิบายตามลำดับขั้นตอนการทำงานกับเด็กอย่างละเอียดและใส่ใจ พร้อมขมวดเหตุผลสำคัญต่อเส้นทางการกลับมาของเด็กๆ ในพื้นที่ระบบการศึกษาว่า 

“ผมว่าที่พวกเขากลับมา เพราะหนึ่งเราให้ ‘โอกาส’ เราบอกว่าเขามีโอกาสที่จะกลับมาเรียนได้ อย่างที่สองคือ ‘ครูผู้ติดตาม’ ตามเสริมแรงให้ตลอด และส่วนที่สามคือ ‘เพื่อน’ เปิดโอกาสที่จะรักเขา ช่วยเหลือเขา ให้กลับเข้ามา” 

ความท้าทายระหว่างทาง

ทั้งนี้แม้ว่าโรงเรียนจะมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนห้องเรียนระบบ 2 ซึ่งเป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่แตกต่างจากแบบเดิม โดยการข้ามขอบและออกจากกรอบของห้องเรียนในระบบที่หลายคนเคยชิน แต่ยิ่งเป็นเช่นนั้นก็ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายในการสร้างความเข้าใจ ผอ. พิเศษเล่าถึงทั้งแรงสนับสนุน ความท้ายทาย และแรงเสียดทานที่พบระหว่างการทำงานขับเคลื่อนเรื่องนี้ 

“เราได้รับการสนับสนุนเสริมแรงว่า ทำเลย เป็นเรื่องที่ดี เป็นการให้โอกาส เด็กบ้านเราจะได้มีวุฒิการศึกษา แต่ก็มีข้อคำถามมาจากกลุ่มคนในแวดวงการศึกษาด้วยกัน คนที่อยู่นอกการทำงานของเรา เช่น ผู้บริหารโรงเรียนอื่น สุดท้ายทุกคนจะถามมาเหมือนกันหมดว่า แล้วคุณภาพล่ะ ได้ตามมาตรฐานไหม ระบบประเมินผลเป็นอย่างไร เอาอะไรวัด 

“ถ้าเขาถามด้วยความสนใจ ผมก็จะพยายามอธิบายว่า ผมเอาโอกาสนำ แล้วเรื่องคุณภาพจะตามมา คือเราให้โอกาสกับเด็กก่อน เพราะเด็กกลุ่มนี้กำลังจะหลุดและหลุดไปแล้ว เราใช้วิธีการจัดการเรียนการสอนโดยการสื่อสารทางออนไลน์ การสื่อสารแบบพบกลุ่ม ให้เด็กได้ทำอะไรก็ได้ในชีวิตจริง ถามชีวิตจริงของเขา แล้วเชื่อมโยงเข้ามาหาหลักสูตร”  

นอกจากความท้าทายในแง่ความร่วมมือและข้อคำถามจากคนในแวดวงแล้ว ประเด็นท้าทายอีกอย่างหนึ่งของการทำงานเรื่องนี้คือกลุ่มเด็กในระบบ 2 ที่มีความยากง่ายในการติดตามดูแลแตกต่างกัน

“เด็กบางคนยากเรื่องการสื่อสาร ช่องทางการสื่อสาร เด็กบางคนยากตรงที่จะต้องทำความเข้าใจกับเขาว่า เรื่องการศึกษายังสำคัญ เรื่องการเรียนรู้ยังจำเป็น บางคนยากตรงผู้ปกครอง เพราะผู้ปกครองไม่ได้อยู่ด้วย ผู้ปกครองที่อยู่ด้วยจริงๆ ก็เป็นแค่คนดูแล หรือปู่ย่าตายาย ซึ่งอาจจะสื่อสารและทำความเข้าใจกันยาก” 

ในเส้นทางที่ท้าทาย ในความยากง่ายที่เข้ามาปะทะสังสรรค์ ผอ.พิเศษพูดด้วยน้ำเสียงที่ซ่อนรอยยิ้มว่า “ผมดีใจและปลื้มใจตรงที่เขาไม่หลุดจากระบบ เขากลับมาได้ จะเรียนเก่งไม่เก่งอะไร ผมเอาไว้ทีหลัง ขอให้กลับมาได้ ขอให้กลับมาก่อน ครูประจำชั้นก็น่าจะดีใจว่าเราดึงเด็กไว้ได้” 

เขายังยังได้เล่าถึง ‘การเปลี่ยนแปลงที่พบ’ ในระหว่างทางขับเคลื่อนนี้ด้วยถ้อยคำตั้งต้นว่า ‘ผมนับถือหัวใจครู’ ซึ่งการทำงานร่วมกันกับครูก็คือหนึ่งในความท้าทายที่เขาได้เรียนรู้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดของบุคลากรในโรงเรียน อีกทั้งยังเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี 

“การขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นงานที่หนัก แต่ส่วนหนึ่งผมนับถือหัวใจครู พวกเขาทุ่มเทมาก ช่วงแรกๆ อาจเกิดจากการสั่งการของผมให้ทุ่มเท แต่ช่วงหลัง ผมเริ่มถอยออกมาแล้วใช้วิธีสังเกต ก็เห็นว่าพวกเขาทำได้ แรกๆ เคร่งครัดมาก ผมทำ คุณก็ต้องทำ แต่ตอนนี้ครูเองก็เริ่มรู้แล้วว่า ห้องเรียนระบบ 2 เป็นอย่างไร ทำกันอย่างไร

A group of people sitting on the floor

Description automatically generated

“ผมมองว่า ตอนนี้ครูของโรงเรียนเราเป็นพื้นที่ปลอดภัยและประคับประคองเด็กได้ เด็กคนไหนมีปัญหา สามารถมาหาครูได้ อาจช่วยแก้ได้ไม่มากก็น้อย การดูแลเด็กของครูโรงเรียนห้วยซ้อเข้มแข็งมากพอสมควร ดีขึ้น ใส่ใจมากขึ้น” ผอ.พูดถึงครูและการทำงานร่วมกันของเขากับครูและชี้ให้เห็นต่ออีกว่า จากตอนแรกถึงตอนนี้ครูเริ่มมีความมุ่งมั่นในการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น เขาใช้คำว่า “ใจของครูมาแล้ว” ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลทำให้มีแนวโน้มในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานร่วมกันที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต  

ทว่าก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อครูในโรงเรียนมีภาระหน้าที่ในการดูแลเด็กอย่างจริงจังและรอบด้าน ไม่ใช่เพียงงานสอนเท่านั้น เราจึงถามถึงวิธีหนุนกำลังใจครูเพื่อให้ครูสามารถมีพลังกายใจเต็มที่ในการดูแลชีวิตเด็กอย่างจริงจัง ผอ.พิเศษตอบวิธีหนุนกำลังใจครูในแบบของเขาว่า 

“ทำไปกับครู ไม่ทิ้งครู ทำไปพร้อมกัน บางคนมองว่าการเป็นผู้บริหารเหมือนโค้ชอยู่ข้างนอกสนามแล้วสั่งการ แต่ผมคิดตลอดว่า เราต้องเป็นกัปตันทีมที่สามารถสั่งการในสนามได้ด้วย และยังลงสนามได้ด้วย ทุกตำแหน่งต้องออกแรง เราก็ต้องออกแรงด้วยเหมือนกัน” 

ปลายทางที่วาดหวัง

การทำงานร่วมกันในหลากหลายฝ่ายทำให้การขับเคลื่อนห้องเรียนระบบ 2 ที่เริ่มจากโจทย์เล็กๆ อย่างจะทำอย่างไรให้เด็กชายชั้น ม.6 คนนั้นเรียนจบพร้อมเพื่อน ก็ขยายวงและต่อจุดจนเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว นักเรียนในห้องเรียนระบบสองมีตัวมีตนอยู่จริง และสามารถใช้โอกาสทางการศึกษานี้ในการต่อยอดกับชีวิตพวกเขาได้จริง เมื่อเป็นเช่นนั้นโจทย์จึงขยายขอบขึ้นเช่นกัน ผอ.พิเศษแบ่งปันความหวังในมุมมองของเขาให้พวกเราฟังว่า อยากเห็น ‘ห้วยซ้อ’ เติบโตไปต่อไปอย่างไร 

“มิติที่หนึ่ง คือ ผมต้องการให้ห้องเรียนระบบ 2 มีความเข้มแข็งและชัดเจนกว่านี้ในแง่ของกระบวนการและวิธีการ เพื่อเป็นที่ยอมรับของคนที่ยังมีข้อสงสัยว่าให้เกรดอย่างไร ออกมาอย่างไร ซึ่งส่วนตัวผมไม่กังวล เพราะเป้าหมายของผมคือ ต้องการดึงเด็กให้อยู่ในระบบการศึกษา แล้วให้เขามีวุฒิการศึกษา ดังนั้นผมจึงอยากเห็นความชัดเจน ความเข้มข้น และกระบวนการที่คมชัด อยากเห็นการยอมรับมากขึ้นว่า เด็กกลุ่มนี้ไม่ใช่เด็กแถว 2 ของโรงเรียน หรือของระบบ” เขาเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง  

“ส่วนมิติที่สอง คือ เด็กระบบปกติในโรงเรียน ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องกระบวนการการจัดการเรียนรู้ให้เด็ก ซึ่งไม่ควรเป็นแบบเดิมที่ครูเป็นคนบอกความรู้แค่นั้น เด็กไม่ได้คิด ไม่ได้ลงมือทำ เด็กไม่ได้เกิดกระบวนการที่ทำงานและคิดร่วมกัน พอสุดท้ายก็มาสอบเด็กแล้วบอกว่า เธอเก่งนะได้เกรด 4 เธอตกนะ ได้ 0 ผมว่าควรมีกระบวนการการออกแบบการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป แล้วพ่วงกับการประเมินเด็กที่เปลี่ยนไป รวมถึงมุมมองที่มองเด็กก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย

“ผมอยากให้เด็กทุกคนที่อยู่ในมือเรา เกิดความรู้สึกว่า ทั้งครู โรงเรียน ผู้บริหาร และเพื่อน เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่เขาจะสามารถพักพิงและพึ่งพาได้ในยามที่วิกฤติ เพื่อที่จะไม่ให้เขาตกหลุมในชีวิตและหลุดออกไป” 

A group of people looking at a whiteboard

Description automatically generated

ผอ.พิเศษยังขยายความต่อภาพที่วาดหวังเอาไว้อีกว่า “ผมอยากให้มันเกิดความยั่งยืนในเรื่องการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน ให้เด็กมีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ อยากเรียนตัดต่อ อยากเรียนอาหาร อยากเรียนดนตรี อยากทำกิจกรรม ผมอยากเห็นว่า พื้นที่ของเรารองรับได้ ครูเราสามารถที่จะจัดการบริการให้กับเด็กได้ ในสิ่งที่เขาอยากทำ อยากลอง อยากลองเรียนรู้ บางทีเราไปวางกรอบให้เด็กจนเหมือนบังคับให้เขาเรียน แน่นอนว่าในส่วนที่จำเป็นต้องเรียนก็ต้องเรียน แต่ส่วนหนึ่งผมว่า เขาควรจะมีอิสระและพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ โดยที่โรงเรียนเป็นหน่วยบริการในการจัดการเรียนรู้ให้เขา ผมอยากเห็นภาพนี้เกิดขึ้นในห้วยซ้อ” 

“ถ้าเกิดขึ้นได้จริง มันจะไม่ใช่เฉพาะนักเรียนของเรา แต่เด็กประถมก็เข้ามาเรียนรู้ด้วยได้ แม้แต่ชุมชน พ่อแม่ผู้ปกครองอยากมาเรียนรู้ เรื่องการทอผ้า การทำเบเกอรีก็อาจจะเป็นไปได้ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ชุมชน” 

ภาพที่อยากให้การเรียนรู้เชื่อมโยงและสอดรับกับชีวิตจริงๆ ของเด็กและผู้คนในห้วยซ้อ ให้พวกเขาได้มีโอกาสและช่องทางเข้าถึงการศึกษาได้อย่างยืดหยุ่น เป็นความมุ่งมั่นในปลายทางสำหรับผู้อำนวยการแบบ ‘พิเศษ ถาแหล่ง’ หากแต่ในความมุ่งมั่นทั้งหมด เขาก็รู้ดีว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ล้วนต้องใช้เวลาและผู้คนร่วมเดินทาง การทำงานของเขาที่มีพื้นที่ห้วยซ้อเป็นฐานในวันนี้ จึงเป็นการต่อเติมและก่อร่างสร้างรากฐานที่มั่นคงเอาไว้     

“มันอาจจะไม่สำเร็จในช่วงที่ผมอยู่ก็ได้ แต่อย่างน้อยต้องสร้างฐานไว้ ทำจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน”

Array