ก่อการครู – Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้ บทความ / บทสัมภาษณ์

พระคุณที่สาม ยังแจ่มใสอยู่ไหม ?

Jan 16, 2025 2 min

พระคุณที่สาม ยังแจ่มใสอยู่ไหม ?

Reading Time: 2 minutes

highlight

  • เพลงไหว้ครูที่คุ้นหูตั้งแต่จำความได้ สร้างวาทกรรม ความเชื่อ สู่การสร้างอัตลักษณ์และมายาคติความเป็น “ครูไทย”
  • “ความเสียสละ”  กลายเป็นเครื่องมือใช้งานนอกเหนือขอบเขตการสอนและหน้าที่ครู จึงกลายเป็นภาระใหญ่ไม่รู้ตัว พร้อมกับถูกละเลยสวัสดิภาพที่ควรได้รับ
  • ทำความเข้าใจปรากฎการณ์การลาออกราชการของครู ด้วย “การให้ความสำคัญต่ออัตลักษณ์” เพื่อชี้ให้เห็นว่า ปัญหาครูหมดไฟหรือครูลาออก ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยตัวของครูเอง

“…ครูบาอาจารย์ ที่ท่านประทานความรู้มาให้
อบรมจิตใจ ให้รู้ผิดชอบชั่วดี
ก่อนจะนอนสวดมนต์อ้อนวอนทุกที
ขอกุศลบุญบารมีส่งเสริมครูนี้ให้ร่มเย็น

ครูมีบุญคุณจะต้องเทิดทูลเอาไว้เหนือเกล้า
ท่านสั่งสอนเรา อบรมให้เราไม่เว้น
ท่านอุทิศ ไม่คิดถึงความยากเย็น
สอนให้รู้จัดเจน เฝ้าแนะ เฝ้าเน้น มิได้อำพราง…”

วันไหว้ครู คือหนึ่งในวันสำคัญของภาคการศึกษาหรือโรงเรียนต่าง ๆ จัดให้มีพิธีกรรม เพื่อให้นักเรียนหรือลูกศิษย์ได้มีโอกาสแสดงความเคารพและบูชาครูของพวกเขา ซึ่งในวันดังกล่าว เพลงพระคุณที่สาม มักถูกเปิดหรือขับร้องเพื่อสร้างบรรยากาศให้นักเรียนยิ่งตระหนักถึงบทบาทและหน้าที่ของครู 

แม้วาทกรรมดังกล่าวยังคงมีอิทธิพลต่อครูและสังคม ทว่า ในบทความนี้ ผู้เขียนชวนให้กลับมาพิจารณาถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อวิชาชีพครู พระคุณที่สามหรือครูในวันนี้ยัง ‘แจ่มใส’ อยู่หรือไม่ ซึ่งคำว่าแจ่มใสในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงในแง่ของบุญคุณของครูที่เป็นที่ประจักษ์แก่ศิษย์หรือผู้อื่นเท่านั้น แต่ยังหมายถึง  ‘ความปลอดโปร่ง ความสดใส หรือความมีชีวิตชีวา’ ของตัวตนคนเป็นครู 

วาทกรรมในเพลงไหว้ครู

ธนัชพร ฉันทาภิสิทธิ์ (2563) ได้ศึกษาวาทกรรมความเป็นครูที่ปรากฏในบทเพลงดังกล่าว พบว่ามีการถ่ายทอดวาทกรรมความเป็นครู 4 วาทกรรม ได้แก่ ครูเป็นผู้เสียสละ ครูเป็นผู้มีความรู้ ครูเป็นผู้สอนมอบความรู้ให้กับนักเรียน และครูเป็นบุคคลที่ทุ่มเททำงานหนัก ซึ่งจากวาทกรรมดังกล่าวนำมาสู่การสร้างอัตลักษณ์ความเป็นครูไทยและเป็นมายาคติของสังคมทั้ง 5 รูปแบบ ได้แก่ (1) ครูเป็นผู้เสียสละตน (2) ครูมีหน้าที่สั่งสอนและขัดเกลาให้กับสมาชิกในสังคม (3) ครูผู้มีความรู้ความสามารถ  (4) ครูผู้มีความอดทนทุ่มเท และ (5) ครูผู้มีพระคุณต่อศิษย์ 

นอกจากนี้ เธอชี้ให้เห็นว่ากระบวนการผลิตสร้างวาทกรรมความเป็นครูไทยเกี่ยวข้องกับสถาบันทางศาสนา สถาบันทางสังคม และอิทธิพลจากการปกครองที่ส่งผลต่อการให้ความหมายการเป็นครู รวมถึงวิธีการถ่ายทอดได้ทำผ่านสถาบันการศึกษาและสถาบันทางสังคมด้วยเช่นกัน การผลิตซ้ำเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการด้วยการถ่ายทอดผ่านพิธีการที่มีแบบแผนชัดเจน และการสัมภาษณ์บ่งชี้ว่าวาทกรรมความเป็นครูไทยยังคงทำงานอยู่ในผู้ประกอบวิชาชีพครูในฐานะหลักเกณฑ์ในการอ้างอิงความเป็นครูแบบดั้งเดิมและความเป็นครูที่ทันสมัยในการสร้างทางเลือกตัดสินใจในการปฏิบัติ (ธนัชพร ฉันทาภิสิทธิ์, 2563) 

ครูต้องเป็นผู้เสียสละ…เพื่อใคร? 

หนึ่งในวาทกรรมสำคัญที่มักครอบอยู่กับวิชาชีพครูคือ ความเสียสละ แต่สิ่งที่น่ากลับมาตั้งคำถามคือ ความเสียสละนั้นคืออะไร? และเสียสละเพื่อใคร? แน่นอนว่าคำตอบที่มีต่อประเด็นดังกล่าวอาจแตกต่างไปตามบริบทและประสบการณ์ของครูแต่ละคน ครูบางคนอาจมองว่าการได้ทุ่มเทเพื่อการสอนอย่างเต็มที่ หรือเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้แก่นักเรียน แม้จะต้องใช้ทรัพยากรส่วนตัวบ้าง (เช่น เวลา อุปกรณ์ หรือทุนทรัพย์) แต่หากช่วยให้การเรียนรู้ของนักเรียนเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ ครูก็พร้อมที่จะเสียสละทรัพยากรดังกล่าว

ขณะที่ครูบางคน ความเสียสละดังกล่าวถูกใช้นอกเหนือจากขอบเขตของการสอน แต่ถูกใช้ไปกับภาระงานอื่น ซึ่งมักเป็นภาระที่เกิดขึ้นเพื่อการแก้ปัญหาเชิงระบบ เช่น การทำงานบริหารบุคคล การทำงานงบประมาณ การทำงานการเงินและพัสดุ เป็นต้น รวมถึงภาระงานประเมิน งานโครงการต่าง ๆ รวมถึงนโยบายของผู้บริหารที่มักสั่งการลงมาและมักไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของนักเรียน 

ในแง่นี้ หากตั้งคำถามว่า สิ่งที่มนุษย์ครูต้องแบกและต้องทำอยู่ในทุกวันนี้ เป้าหมายที่แท้จริงของความเสียสละดังกล่าวนั้น ทำไปเพื่อใคร ? ปลายทางของผู้ได้ประโยชน์จากความเสียสละของครูคือใคร ? คือ นักเรียนที่ได้ประโยชน์เรื่องการเรียนรู้ หรือผู้บริหารที่ได้ตอบตัวชี้วัดของนโยบายการศึกษา หรือตัวของระบบราชการที่มีครูเป็นผู้รองรับและแก้ปัญหาให้ตัวระบบอยู่ ?

หากว่าสัดส่วนของความเสียสละส่วนมากถูกใช้ไปกับเรื่องอื่น นอกเหนือจากการสอน ผู้ได้ประโยชน์จากความเสียสละดังกล่าวของครู อาจต้องหาหนทางเพื่อตอบแทนกับแรงเหล่านั้น มากกว่าเพียงแค่จัดพิธีกรรมและขับขานบทเพลง เพื่อให้ครูได้รับความซาบซึ้งดังกล่าว

ชีวิตส่วนตัวและสวัสดิภาพที่ถูกมองข้าม

เมื่อวาทกรรมความเสียสละของคนเป็นครู ถูกสถาปนาและผลิตซ้ำอย่างเป็นระบบผ่านเครื่องมือต่าง ๆ เช่น เพลงไหว้ครู สื่อโฆษณา หรือการเชิดชูเกียรติจากรัฐ ในหลายครั้งความลักษณ์ความเสียสละของครูได้เข้าไปในพื้นที่ส่วนตัวของครูด้วยเช่นกัน การกล่าวในแง่นี้ ผู้เขียนไม่ได้หมายถึงการตัดขาดระหว่างความเป็นตัวตนของครูกับงานการสอน ทว่า พยายามชี้ประเด็นเรื่องพื้นที่ส่วนตัว ซึ่งหมายถึง การได้ใช้เวลานอกการทำงานไปกับเรื่องส่วนตัวของครู เพื่อพักผ่อนหรือดูแลตนเอง

ในประเด็นนี้ พบว่า ครูมักต้องทำงานนอกเวลาและถูกเรียกให้ไปช่วยงานวันหยุด จนกลายเป็นเรื่องปกติของครู ซึ่งมักเป็นงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน ในประเด็นนี้ทำให้เรื่องสิทธิและสวัสดิภาพของครูไม่ได้รับการตระหนักถึง เช่น ครูขาดการดูแลเรื่องสภาพจิตใจ การประเมินผลงานของครูที่นับเพียงชั่วโมงการสอน ไม่นับรวมช่วงเวลาอื่นที่ครูต้องปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย รวมถึงสวัสดิการด้านอื่น เช่น คุณภาพของบ้านพักครูที่ไม่เอื้อต่อความปลอดภัย การถูกกีดกันหรือการเลือกปฏิบัติทางเพศ (Jiratchaya Chaichumkhun, 2021) 

หากพิจารณาต่อประเด็นดังกล่าวโดยใช้มุมมองของสิทธิและความเป็นธรรมมาเป็นกรอบการพิจารณาแทนวาทกรรมความเสียสละ จะช่วยให้เห็นว่า สถานการณ์ที่ครูกำลังเผชิญได้รับความเป็นธรรมมากน้อยเพียงใด และสิทธิของครูในการทำงานกำลังถูกละเมิดโดยรัฐหรือไม่ 

‘อัตลักษณ์ของครู’ กับงานการสอน

จากปราฏการณ์ทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ครู ทั้งความคาดหวังที่มีต่อครูจากวาทกรรมต่าง ๆ ทั้งการตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์  ‘ลาออกทำไม?’ ของครูจากมุมของระบบราชการ ผู้เขียนชวนให้กลับมาพิจารณาประเด็นสำคัญ คือ การให้ความสำคัญต่ออัตลักษณ์ของครู ในฐานะปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการทำหน้าที่ของครู และเพื่อชี้ให้เห็นว่า ปัญหาครูหมดไฟหรือครูลาออก ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยตัวของครูเอง ทว่า มีปัจจัยอื่นที่เข้ามาสั่งคลอนกับอัตลักษณ์ของครูเช่นกัน

อัตลักษณ์ (Identity) หมายถึง ความเข้าใจเกี่ยวกับตนเองของตัวเอง และการแสดงออกถึงความเป็นตัวเองต่อผู้อื่น ซึ่งอัตลักษณ์ดังกล่าวมีความผันแปรขึ้นอยู่กับอิทธิพลของปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ ชีวิตส่วนตัว โครงสร้างหรือวัฒนธรรมองค์กร และสังคมหรือนโยบายทางการศึกษา  (Day, 2011 อ้างถึงใน สิทธิชัย วิชัยดิษฐ, 2564) ซึ่งงานศึกษาในต่างประเทศจำนวนไม่น้อยให้ข้อเสนอตรงกันว่า การรักษาสมดุลระหว่างชีวิตและงาน (work-life balance) และการสร้างความสัมพันธ์อันดีในองค์กรล้วนเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการสอนของครู นอกจากนี้ โครงสร้างเชิงอำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างครูและผู้บริหาร รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างครูและผู้ปกครอง ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตลักษณ์ของครูมีความอ่อนไหว และส่งผลทั้งทางบวกและทางลบต่อประสิทธิภาพการสอนและการเรียนรู้ของนักเรียน (เพิ่งอ้าง, 2564)

ในส่วนนี้ ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของ Day เพื่อให้เห็นการทำงานของปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ ชีวิตส่วนตัว โครงสร้างหรือวัฒนธรรมองค์กร และสังคมหรือนโยบายทางการศึกษา ซึ่งส่งอิทธิพลต่ออัตลักษณ์ของครู (สิทธิชัย วิชัยดิษฐ, 2564)

  • องค์ประกอบทั้ง 3 ขัดแย้งกัน

Day ชี้ให้เห็นว่า เมื่อปัจจัยทั้ง 3 ส่วนขัดแย้งกัน (ชีวิตส่วนตัว งาน และสังคม/นโยบาย) จะทำให้อัตลักษณ์ของครูเกิดการสั่นคลอนอย่างมาก และพบว่า อิทธิพลทางลบเกิดจากภาระงาน ผู้บริหาร พฤติกรรมนักเรียน ความรับผิดชอบต่อครอบครัว และปัญหาสุขภาพส่วนตัว

เขายกตัวอย่างชีวิตครูที่อยู่บนความขัดแย้งของสามองค์ประกอบ โดยเป็นเหตุการณ์จริงของคุณครูท่านหนึ่งที่มีประสบการณ์สอนกว่า 25 ปี เธอสอนอยู่ ในโรงเรียนประถมที่มีนักเรียน 225 คน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วมีฐานะทางเศรษฐกิจปานกลาง ในชั้นเรียนมีเด็กนักเรียนคนหนึ่งที่ต้องได้รับการดูแลทางด้านพฤติกรรม และเธอรู้สึกเหนื่อยมากกับการที่ต้องคอยจัดการพฤติกรรมของนักเรียน อีกทั้งนโยบายทางการศึกษาปัจจุบันยังส่งผลต่องานของเธอในทางลบ เนื่องจากเธอรู้สึกว่านโยบายเหล่านั้นเพิ่มภาระให้กับเธอจนล้น และเกือบทําให้เธอลาออกจากการเป็นครูเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เธอรู้สึกว่างานของเธอนั้นเบียดบังเวลาส่วนตัว เธอต้องการใช้เวลามากขึ้นกับลูก ๆ แต่งานเอกสารที่เธอจําเป็นต้องนํากลับมาทําที่บ้านทําให้เธอมีเวลาให้กับครอบครัวน้อยลงและเธอรู้สึกผิดกับเรื่องนี้มาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาทางสุขภาพที่จําเป็นต้องรับประทานยาลดความเครียด ครูที่ตกอยู่ในสภาวะเช่นเดียวกับเธอ มักมีความสั่นคลอนทางอารมณ์และมีแนวโน้มว่ามีแรงจูงใจในการทํางานน้อย

  • เมื่อองค์ประกอบหนึ่งมีอิทธิพลมากกว่าองค์ประกอบอื่น

ในสภาวะที่องค์ประกอบหนึ่งมีอิทธิพลเหนือองค์ประกอบอื่น อาจส่งผลต่ออัตลักษณ์ของครูได้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ ขึ้นอยู่กับแรงจูงใจ ความมุ่งมั่น ความ

เชื่อมั่นแห่งตน และการสนับสนุนของเพื่อนครูและผู้บริหาร 

เขายกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ผู้บริหารมีส่วนสําคัญในการสั่นคลอนอัตลักษณ์ของคุณครู โดยกรณีศึกษาเป็นครูอายุ51 ปีที่มีประสบการณ์การสอน 29 ปี เธอเลือกอาชีพครูเนื่องจากเป็นโอกาสที่จะได้ทํางานกับเด็ก ๆ และช่วยให้พวกเขาสร้างความแตกต่างให้กับชีวิตตนเองได้ ปรากฏว่าหัวหน้างานของเธอคนก่อนมีอิทธิพลต่อการทํางานในฐานะครูอย่างมาก ทั้งการที่หัวหน้าไม่ส่งเสริมการทํางานและมีวิธีการสื่อสารที่ไม่ดีทําให้ความสุขในการทํางานลดลง นอกจากนี้เธอรู้สึกถึงความกดดันในการทํางานและแรงจูงใจในการทํางานที่ลดลง อย่างไรก็ตาม โรงเรียนได้มีหัวหน้าครูคนใหม่ที่คุณครูมองว่า ทําให้เกิดผลบวกต่อการทํางานของคุณครูโดยรวม การปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคณะครูและหัวหน้าเป็นสิ่งที่สําคัญมากสําหรับเธอและในที่สุดการเปลี่ยนแปลงบริบทของการทํางานทําให้คณะครูทํางานร่วมมือกันดีขึ้น ส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูเริ่มเป็นไปในทางสนับสนุนซึ่งกันและกันทําให้แรงจูงใจในการทํางานของคุณครูสูงขึ้น

  • เมื่อสององค์ประกอบมีอิทธิพลโดดเด่น

บางครั้งคุณครูอาจตกอยู่ในสภาวะที่มีสององค์ประกอบส่งผลต่ออัตลักษณ์ในเวลาเดียวกัน 

กรณีตัวอย่างคุณครูท่านหนึ่งในการศึกษาของ Day เพิ่งได้รับการเลื่อนตําแหน่งเป็นผู้บริหาร (งาน) ในช่วงเวลาที่กําลังมีนโยบายใหม่เข้ามาพอดี ทําให้ชีวิตส่วนตัวถูกกระทบกระเทือน เขาบอกว่าช่วงนั้นแทบจะเป็นจุดตํ่าสุดของอาชีพ เนื่องจากตําแหน่งบริหารดึงเวลาของเขาออกไปจากการสอน นอกจากนั้น เขายังต้องการเวลาที่จะอยู่กับภรรยาและลูก ๆ ของเขามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังจากนั้น สิ่งต่าง ๆ เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีมากขึ้น เมื่อเขาตั้งหลักได้และเริ่มสร้างความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงาน

อีกหนึ่งตัวอย่างของการที่องค์ประกอบ 2 อย่างส่งอิทธิพลร่วมกัน คือ กรณีของคุณครูท่านหนึ่งในวัย 33 ปีเขามีความสุขกับการสอนมากทั้งๆ ที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ คุณครูยังทํางานด้วยความมุ่งมั่นเพื่อเด็กนักเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กที่สถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวไม่ดีแม้ว่าปัญหาเรื่องสุขภาพจะทําให้เขาไม่สามารถทํางานได้เต็มที่ แต่ด้วยการสนับสนุนของหัวหน้างาน และความสัมพันธ์ที่ดีของเพื่อนร่วมงาน ทําให้เขารักษาแรงจูงใจในการสอนไว้ในระดับสูงได้

  • มื่ออัตลักษณ์ของครูที่อยู่บนความสมดุล

คุณลักษณะที่สําคัญของคุณครูที่มีอัตลักษณ์อยู่บนความสมดุล คือ ความมุ่งมั่นทุ่มเทและมีแรงจูงใจในการทํางานสูง ซึ่งจะนํามาซึ่งการสอนที่มีประสิทธิภาพ นั่นหมายถึง ความสามารถในการจัดการองค์ประกอบต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างดี ทั้งชีวิตส่วนตัว หน้าที่การงาน และพร้อมรับมือกับนโยบายทางการศึกษา รวมถึงความคาดหวังของสังคม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่คาดคิดขององค์ประกอบบางอย่าง เช่น วิกฤตชีวิต นโยบาย นักเรียน หรือเพื่อนร่วมงาน แต่ด้วยความสามารถในการรองรับการเปลี่ยนแปลงทําให้สามารถรักษาอัตลักษณ์ของตนเองได้อย่างมั่นคง

เขายกตัวอย่างกรณีศึกษาเป็นคุณครูท่านหนึ่ง ซึ่งสามารถรักษาสมดุลของชีวิตและงานได้อย่างดี เธอทําอาชีพครูเพราะเห็น “คุณค่าและความหมาย” ของการเป็นครู นอกจากนั้นสามีของเธอซึ่งเป็นครูเช่นเดียวกันต่างเข้าใจและสนับสนุนการงานของกันและกัน รวมถึงสามารถแบ่งเวลาระหว่างการทํางานและเวลาการใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างเหมาะสม โดยเธอสามารถแบ่งเวลาหลังเลิกงานและช่วงสุดสัปดาห์เพื่อใช้เวลากับครอบครัวได้อย่างดีทําให้เธอมีความสุขทั้งที่ทํางานและที่บ้าน

เมื่อพิจารณางานศึกษาของ Day ทำให้เห็นว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการประกอบสร้างอัตลักษณ์ของครู ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อการสอนด้วยนั้น จำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบอื่นด้วยเช่นกัน กล่าวคือ เราไม่สามารถคาดหวังให้ครูได้ทุ่มเทการทำหน้าที่สอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีแรงจูงใจ หรือมีพลังงานที่ดี หากว่าปัจจัยอื่น เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนครูหรือผู้บริหารในโรงเรียนไม่ราบรื่น  ปัจจัยเชิงโครงสร้างหรือนโยบายทางการศึกษาที่ทำให้ครูมีภาระงานล้นมือจนแทบขยับตัวไม่ได้ เมื่อปัจจัยเหล่านี้ไม่เอื้อให้ครูได้เกิดอัตลักษณ์มั่นคงในทางบวก กล่าวคือ ครูไม่สามารถรักษาสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัว งาน และสังคม/นโยบาย ทำให้ส่งผลต่อความสั่นคลอนของอัตลักษ์และแรงจูงใจของครูในการทำงานการสอนได้

เข้าใจคนเป็นครูด้วย ‘ความเป็นมนุษย์’

กลับไปตั้งคำถามต่อวาทกรรมความเสียสละของครูอีกครั้ง ทุกวันนี้ครูต้องการคำชื่นชมในนามของความเสียสละจริงหรือ ? หากว่าความเสียสละดังกล่าวได้กร่อนทำลายชีวิตส่วนตัว สุขภาพ หรืออุดมการณ์/ความเชื่อของครู 

ต่อปัญหาหรือปรากฏการณ์ที่มักเกิดขึ้นกับวิชาชีพครู เช่น ปรากฏการณ์ครูลาออก ปรากฏการณ์ครูหมดไฟ ผู้เขียนเห็นว่า เราควรกลับมาตั้งคำถามถึงปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์เหล่านั้น นอกเหนือจากปัจจัยที่เกิดจากตัวปัจเจกหรือตัวครู ปัจจัยเชิงระบบเป็นสิ่งสำคัญที่ถูกมองข้ามหรือไม่ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา ด้วยการทำให้ปัญหาเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องของครูในนามของปัจเจก

นอกจากนี้ การมองเห็นครูเป็น ‘คน’ ที่กำลังเผชิญกับความเปราะบาง ความสั่นไหว ความท้อแท้ หรือความเหนื่อยล้า เช่นเดียวกับที่เราทุกคนต่างเผชิญได้เช่นเดียวกัน อาจช่วยให้เราเข้าใจสภาวะที่ครูกำลังเผชิญอยู่จริง ไม่ใช่เพียงสภาวะของต้องมุ่งมั่น ทุ่มเท หรือความเสียสละ ดังที่เรามักถูกทำให้รับรู้และซาบซึ้งกับวาทกรรมดังกล่าว จนหลงลืมไปว่า ครูก็คือมนุษย์คนหนึ่ง

reference:

  • ธนัชพร ฉันทาภิสิทธิ์. (2563).  วาทกรรมความเป็นครูไทยในบทเพลงประกอบพิธีไหว้ครูในสถาบันผลิตครู [วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
  • สิทธิชัย วิชัยดิษฐ. (2564). การพัฒนาครูอย่างเป็นองค์รวม เส้นทางร่วมสร้างของก่อการครู. คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 
  • Jiratchaya Chaichumkhun. (2021).  ภาระงานล้น แต่เงินน้อย สรุปปัญหา #ทำไมครูไทยอยากลาออก เมื่อครูถูกผลักให้เป็นผู้เสียสละ. the Matter. https://thematter.co/social/education/why-thai-teachers-wanna-quit/160415.

เรียบเรียงโดย  กัญณัฐ กองรอด

ภาพโดย  Manita

Array