โครงการวิจัย “สำรวจวาทกรรมเกี่ยวกับการจัดการในชั้นเรียนและการลงโทษของครูระดับชั้นมัธยมศึกษา”
Reading Time: < 1 minuteงานวิจัยชิ้นนี้มีเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจชุดความคิด/วาทกรรมต่างๆ ที่หล่อเลี้ยงให้ครูยังเลือกใช้การจัดการชั้นเรียนและการลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง เห็นได้จากปรากฏการณ์ที่ยังมีการตีนักเรียนอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่คำอธิบายต่อการจัดการชั้นเรียนและการลงโทษด้วยความรุนแรงมักเป็นการอธิบายในเชิงพฤติกรรมของครูในฐานะปัจเจกบุคคลซึ่งไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจความแพร่หลายของปรากฏการณ์การใช้การตีเพื่อการลงโทษได้ โดยมีข้อค้นพบ และประเด็นสำคัญจากการศึกษา ดังต่อไปนี้
หนึ่ง ปรากฎการณ์การลงโทษด้วยความรุนแรงไม่ได้เกิดขึ้นด้วยตัวของมันเองหากแต่เป็นส่วนหนึ่งและมีความเกี่ยวพันกับปรากฎการณ์ โครงสร้างทางสังคม และชุดวาทกรรมต่างๆ ได้แก่ ความเป็นครูและบทบาทของครูที่ถูกคาดหวังให้เป็นแม่พิมพ์ ที่ต้องขัดเกลาเด็กให้เป็นนักเรียนที่มีความสมบูรณ์แบบและเป็นไปตามมาตรฐานที่สังคมคาดหวัง อีกทั้งระบบการฝึกฝนครูที่อาจจะไม่ได้แสดงให้เห็นทางเลือกในการจัดการชั้นเรียนและการลงโทษนอกจากการใช้อำนาจ และวัฒนธรรมระบบรุ่นพี่รุ่นน้องและความเคารพอาวุโส (โซตัส) ที่มีความเข้มแข็งในคณะศึกษาศาสตร์หลายๆแห่ง
สอง แม้ครูหลายคนจะไม่ใช้การลงโทษด้วยการตี แต่หากตีความผ่านมโนทัศน์เรื่องความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมแล้ว วิธีการจัดการชั้นเรียนและการลงโทษในระบบการศึกษาไทยที่ไม่ใช่การตีสามารถถูกตีความได้ว่าเป็นการใช้และผลิตซ้ำความรุนแรงบางประการได้เช่นกัน อย่างเช่น การควบคุมร่างกายของเด็กผ่านเครื่องแบบและกฎระเบียบ หรือ รูปแบบการปลูกฝังพฤติกรรมนักเรียนบางประการ โดยเฉพาะความเชื่อว่าเด็กควรมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ความเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโส จะทำให้เด็กเป็นที่รักและเอาตัวรอดได้ในสังคม เป็นต้น โดยผู้วิจัยพยายามเสนอว่าสิ่งหนึ่งที่ปรากฎการณ์เหล่านี้เป็นความรุนแรงคือการผลิตซ้ำวาทกรรมที่หล่อเลี้ยงความไม่เท่าเทียมในสังคมให้คงอยู่ เนื่องจากวาทกรรมเหล่านี้ได้สถาปนาความจริงว่าคนในแต่ละสถานภาพ (เช่น ครู หรือ นักเรียน) ควรมีวิถีประพฤติปฏิบัติอย่างไร ทำอะไรได้ ทำอะไรไม่ได้ และสนับสนุนให้เกิดการสยบยอมมากกว่าตั้งคำถามหรือต่อต้านต่ออำนาจ สำหรับผู้วิจัยระบบความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนเช่นนี้ยังเป็นการสะท้อนวาทกรรมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชนในฐานะ “ผู้ปกครอง” และ “ผู้ใต้ปกครอง” อีกด้วย
สาม ในแง่ของผลกระทบต่อสุขภาวะ งานวิจัยชิ้นนี้พบว่าการจัดการชั้นเรียนและการลงโทษด้วยความรุนแรง เป็นระบบที่ทำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเป็นทุกข์ ทั้งนักเรียนที่เห็นว่าการจัดการชั้นเรียนและการลงโทษด้วยความรุนแรงเป็นวิธีการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความเครียดและหวาดกลัวต่อการเรียนรู้ รวมถึงเกิดความสัมพันธ์และทัศนคติที่ไม่ดีต่อครู ในขณะเดียวกันครูเองทั้งกลุ่มที่ยังเลือกใช้การจัดการชั้นเรียนและลงโทษด้วยความรุนแรงนั้น มีความเครียด กดดัน และไม่มีความสุข โดยเฉพาะจากความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับเด็ก และกลุ่มครูที่พยายามเปลี่ยนไปใช้วิธีการจัดการชั้นเรียนและการลงโทษด้วยวิธีอื่นๆ ก็ไม่มีความสุขจากการถูกจำกัดทางเลือกและการต้องสยบยอมต่อวิธีการจัดการชั้นเรียนและการลงโทษที่ตนเองไม่เห็นด้วย
ติดตามรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์เร็วๆนี้…