ก่อการครู – Korkankru

กิจกรรมที่ผ่านมา คลังความรู้ ด้านการศึกษา บทความ / บทสัมภาษณ์ บันทึกเวทีการเรียนรู้ ร่วมพัฒนาใจกระทิง

เนรมิตลานโล่งให้กลายเป็นพื้นที่โชว์ของ ณ ลานเพลิน Play & Learn จากโรงเรียนบ้านน้อย”ปรึกอุทิศ”

Reading Time: 3 minutes ลานเพลิน Play & Learn พื้นที่การเรียนรู้ที่ถูกเนรมิตจากลานโล่งของโรงเรียนบ้านน้อย"ปรึกอุทิศ" ซึ่งทลายกำแพงการเรียนรู้ให้ขยับขยายออกนอกโรงเรียน ภายใต้ความร่วมมือและการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายและชุมชนรอบรั้วโรงเรียน Mar 12, 2024 3 min

เนรมิตลานโล่งให้กลายเป็นพื้นที่โชว์ของ ณ ลานเพลิน Play & Learn จากโรงเรียนบ้านน้อย”ปรึกอุทิศ”

Reading Time: 3 minutes

ผ่านพ้นปีที่ 2 ของโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาพิจิตร – อุตรดิตถ์ (Partnership School Project) ไปเป็นที่เรียบร้อย โดยในปีนี้ทางโครงการฯ ส่งเสริมให้ผู้คนภายในนิเวศการเรียนรู้ทั้ง ผู้เรียน ครู ผู้บริหาร และชุมชน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่ของตน ผ่านการทำโปรเจกต์ที่ทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของการเรียนรู้อันมีคุณค่าและความหมาย ผ่านการคิด การลงมือทำด้วยตนเอง นับว่าเป็นการทลายกำแพงการเรียนรู้ให้ขยับขยายออกนอกรั้วโรงเรียน โดยทางโรงเรียนบ้านน้อย”ปรึกอุทิศ” 1 ใน 5 โรงเรียนเครือข่าย ร่วมนำเสนอผลงานการขับเคลื่อนโครงการในงานเวทีเครือข่าย แสดงพลังสื่อสารสังคม ภายใต้แนวคิด “ลานเพลิน Play & Learn”

“โรงเรียนเราไม่มีโดม ไม่มีอาคารอเนกประสงค์ เลยคิดว่าลานกลางแจ้งของเรามันเหมาะกับการจัดลักษณะงานแบบไหน ก็เลยสรุปกันในที่ประชุมว่า ให้เป็นสไตล์งานวัดนี่แหละ”

เอกชัย เครือขอน หรือ ผอ.เอก (ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้อย”ปรึกอุทิศ”) บอกเล่าที่มาที่ไปของชื่องานเวที “ลานเพลิน Play & Learn” และขยายความต่อว่า ด้วยความที่พื้นที่ของโรงเรียนอยู่ใกล้กับวัดบ้านน้อย ซึ่งทางโรงเรียนเองได้มีโอกาสพาเด็ก ๆ ไปร่วมงานกับทางวัดอยู่บ่อยครั้ง จึงก่อเกิดเป็นไอเดียในการผสมผสานเอาเอกลักษณ์ของโรงเรียนเข้ากับวิถีชีวิตโดยรอบที่จับต้องได้ง่าย และเนรมิตลานกลางแจ้งให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงาน โดยได้รับแรงสนับสนุนอันดีจากวัดและชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านอุปกรณ์เครื่องเสียง ระบบไฟ โครงเวที เต็นท์ หรือภาพบรรยากาศของพ่อแม่พี่น้องที่ตบเท้าเข้ามาร่วมเพลิดเพลินไปกับงานเวทีในครั้งนี้ สะท้อนภาพการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างของชุมชนและโรงเรียนได้เป็นอย่างดี

ลานกว้างที่ดูธรรมดา แต่อัดแน่นไปด้วยภาพจำที่ไม่ธรรมดา

……การแสดงบาสโลบอันพร้อมเพรียง จากกลุ่มอนามัยชุมชน

……การแสดงฟ้อนภูไทแสนงดงามอ่อนช้อย จากเครือข่ายจังหวัดขอนแก่น

……การแสดงดนตรีเต็มวง จากศิษย์เก่าโรงเรียนบ้านน้อย”ปรึกอุทิศ”

ภาพบรรยากาศที่แสนสนุกสนาน เป็นกันเอง และเพลิดเพลินดั่งชื่องานที่ ณ ขณะนี้ ถูกรังสรรค์ให้กลายเป็นพื้นที่แสดงศักยภาพของเหล่าเด็ก ๆ และเครือข่ายของทางโรงเรียน หากมองลึกลงไป ภาพตรงหน้านี้กำลังแสดงให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์อันดีของทั้งผู้คนในชุมชนและเครือข่ายภายนอก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอนามัยชุมชน ซึ่งโดยปกติจะใช้พื้นที่ลานกว้างของโรงเรียนบ้านน้อย”ปรึกอุทิศ” ในการจัดกิจกรรมบาสโลบเพื่อออกกำลังกายตอนเย็นอยู่เป็นประจำ รวมถึงการใช้พื้นที่ดังกล่าวในการจัดงานแข่งขันบาสโลบระดับอำเภอ ถัดไปเป็นการแสดงฟ้อนภูไทจากขอนแก่น ถือเป็นการใช้โอกาสในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างภาคที่ไม่อาจพบเห็นได้บ่อยนักในพื้นที่ อีกทั้งมีแผนให้เข้ามาสอนการฟ้อนให้นักเรียนโรงเรียนบ้านน้อย”ปรึกอุทิศ” ในอนาคต และท้ายสุดเป็นการแสดงดนตรีสร้างความสนุกสนาน บันเทิงใจ ให้กับผู้เข้าร่วมงานที่แวะเวียนมาเยี่ยมชมในครั้งนี้

อีกหนึ่งเสียงสะท้อนที่น่าสนใจจากกลุ่มศิษย์เก่าที่มาร่วมแสดงดนตรีในงาน เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า ไม่เคยเห็นโรงเรียนจัดงานในรูปแบบนี้มาก่อน งานที่เนรนิตพื้นที่ลานกว้างแสนธรรมดาให้กลายเป็นศูนย์กลางที่เชื่อมสัมพันธ์ของคนในชุมชน ตลอดจนเปิดพื้นที่ให้โรงเรียนได้โชว์ผลงานของทั้งนักเรียน ครู ผู้บริหาร และเครือข่ายชุมชน ในการสร้างภาพจำใหม่ ๆ ของโรงเรียนบ้านน้อย”ปรึกอุทิศ” ให้คนภายนอกได้สัมผัสกลิ่นอายที่ไม่เหมือนใคร การเชื่อมโยงกลุ่มคนในนิเวศการเรียนรู้ได้เข้ามาทลายรั้วการเรียนรู้ ที่ไม่ได้ถูกจำกัดให้เป็นเพียงบทบาทของบุคลากรทางการศึกษานี้เอง จึงกลายเป็นอีกหนึ่งงานเวทีแสดงพลังอันแสนวิเศษที่ซ่อนอยู่ในตัวของทุกคน

การร่วมแรงร่วมใจของคนในโรงเรียนทลายโจทย์หิน สู่ปลายทางของการเรียนรู้ที่มีคุณค่าและมีความหมาย

ไฮไลท์สำคัญของงานเวทีเครือข่าย แสดงพลังสื่อสารสังคม “ลานเพลิน Play & Learn” ที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้และถือเป็นแก่นหลักในการจัดงาน ที่หันไปทางไหนก็จะเจออยู่ภายในเต็นท์รายรอบนั่นคือ การจัดแสดงผลงานความสำเร็จของโปรเจกต์นักเรียน ครู และผู้บริหาร ที่ขยับปรับเปลี่ยนบทบาทของตนไปสู่การเป็น “ผู้ก่อการ (Agency)” หรือ “นักสร้างการเปลี่ยนแปลง”  ซึ่งตลอดการเดินทางร่วมกับโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาพิจิตร – อุตรดิตถ์ (Partnership School Project) ในปีที่ 2 ทั้งนักเรียน ครู และผู้บริหาร ได้เข้าร่วมกระบวนการเสริมสร้างองค์ความรู้ เสริมสร้างความเชื่อมั่น นำไปสู่การเป็นเจ้าของโปรเจกต์เอง ตั้งแต่กระบวนการคิดริเริ่ม ได้ลงมือทำ ลองผิดลองถูก สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ไปพร้อมกัน

ผอ.เอก เล่าด้วยความภาคภูมิใจให้เราฟังว่า เมื่อทุกคนได้มีโอกาสเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยไม่มีใครถูกบังคับ ทำให้ทุกคนพร้อมที่จะลงมือทำโครงการของตัวเองให้สำเร็จลุล่วง และดื่มด่ำกับผลงานที่เกิดขึ้นจากฝีมือของตนเองได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยเบื้องหลังบทบาทของผู้อำนวยการนั้นคือ การให้คำปรึกษากับเด็ก ๆ และคณะครู ช่วยเหลือจัดสรรงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากทางมูลนิธิใจกระทิง ให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละโปรเจกต์ ไม่ว่าจะเป็นค่าอุปกรณ์ที่ใช้ในโปรเจกต์ ค่าอุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน รวมถึงทำงานร่วมกับศึกษานิเทศก์ในการติดตามและประเมินผลการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่า เป็นการสร้างภาพจำของผู้บริหารยุคใหม่ ในฐานะผู้สนับสนุนเส้นทางการเรียนรู้ เสมือนลมใต้ปีกที่พยุงให้ทุกคนสามารถผ่านพ้นอุปสรรคปัญหา โบยบินไปถึงฝั่งฝัน

“เด็กเขาอ่านหนังสือที่ยึดตามหลักสูตรของแกนกลางไม่ได้ เลยไม่ค่อยอยากมาโรงเรียน มันก็เกิดเป็นปัญหาลูกโซ่ต่อไป” จากการเล็งเห็นปัญหาพัฒนาการของเด็กด้านการอ่านออก-เขียนได้ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาทั้งในกลุ่มเด็กทั่วไป รวมถึงนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorders) นับว่าเป็นโจทย์ที่สร้างความท้าทายให้กับครูและผู้บริหารโรงเรียนบ้านน้อย”ปรึกอุทิศ”

พัฒนากร ประดิษฐ์วงศ์วาน หรือ ครูเพชร ตัวแทนของครู เล่าอย่างเปิดอกถึงหนึ่งในปัญหาที่ค้นพบ คือ หนังสือภาษาไทยที่ใช้ในปัจจุบันมีจำนวนสระมากจนเกินไป เป็นอุปสรรคในการอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักเรียนที่บกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning Disorders) ทางคณะครูและผู้อำนวยการจึงร่วมกันคิดหาวิธีปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนใหม่ โดยหยิบยกเอาหนังสือบทเรียนเล่มเก่าที่มีสระจำนวนไม่เยอะมากมาใช้นำร่อง เป็นการค่อย ๆ เตรียมความพร้อมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้แบบขั้นบันได เมื่อเด็ก ๆ มีพื้นฐานในการอ่านเบื้องต้นแล้ว การกลับไปอ่านหนังสือเล่มใหม่ที่ใช้ในปัจจุบันจึงเป็นเรื่องง่าย และสามารถคลี่คลายปัญหาด้านการอ่านออก-เขียนได้สำเร็จ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับผู้เรียนที่มีความแตกต่างหลากหลาย พร้อมจับมือหาทางออกไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นอกจากการส่งเสริมงานด้านวิชาการภายในโรงเรียนให้แข็งแรงขึ้นแล้ว ด้วยลักษณะของโรงเรียนบ้านน้อย”ปรึกอุทิศ” ที่เป็นโรงเรียนขยายโอกาส จึงมอบพื้นที่สร้าง “โอกาส” ให้กับกลุ่มนักเรียนที่มีความถนัดที่หลากหลายทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพ จากเสียงสะท้อนของ น้องบีม และ น้องโบ้ เจ้าของโปรเจกต์เก่าไป ใหม่มา หนึ่งในโครงงานพัฒนาเยาวชนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่ต้องการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ จึงรวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ ที่สนใจด้านงานช่างเหมือนกัน เปิดให้บริการรับซ่อมจักรยานยนต์ให้กับคนในชุมชน โดยคิดแค่เพียงค่าอะไหล่เท่านั้น ทั้งสองคนเล่าให้ฟังว่า มีที่บ้านคอยสนับสนุนเรื่องเครื่องมือและฝึกเกลาทักษะการช่างให้ ส่วนทางโครงการฯ ก็ได้เข้ามาเสริมสร้างในส่วนของทักษะการทำงานเป็นกลุ่ม การไว้ใจซึ่งกันและกัน รวมถึงการกล้าแสดงออก กล้าสื่อสารมากขึ้น ผ่านการเข้าร่วมค่ายนักเรียนเปลี่ยนโลก

ถึงจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการทำโปรเจกต์เล็ก ๆ กันเองภายในกลุ่ม แต่ใครจะรู้ว่าสิ่งนี้ได้กลายมาเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ในการเติมเต็มเส้นทางความฝันของเด็ก ๆ ทั้งสองคน ทั้งบีมและโบ้ตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เพิ่งได้ค้นพบศักยภาพของตัวเองหลังจากที่โรงเรียนและโครงการฯ ได้เปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ลองลงมือทำโปรเจกต์นี้ด้วยตัวเอง ก่อเกิดเป็นความภาคภูมิใจที่เป็นเชื้อเพลิงเติมไฟที่อยู่ภายในตัวให้กลับมาลุกโชติช่วงอีกครั้ง โดยเมื่อทั้งคู่จบการศึกษาภาคบังคับจากโรงเรียนบ้านน้อย”ปรึกอุทิศ” ได้วางแผนอนาคตให้เตรียมพร้อมเข้าสู่รั้ววิทยาลัยเทคนิคพิจิตร ตามความสนใจและความถนัดต่อไป

แม้แต่ละคนจะยืนอยู่คนละบทบาทหน้าที่ แต่การร่วมแรงร่วมใจเพื่อไปสู่เป้าหมายปลายทางที่วาดไว้ ทำให้ทุกคนสามารถลุกขึ้นมาเป็น “ผู้ก่อการในทางที่ดี” ได้เหมือนกัน เป็นการดึงเอาศักยภาพข้างในออกมาโชว์ให้คนอื่น ๆ ได้รับรู้ว่าโรงเรียนบ้านน้อย”ปรึกอุทิศ” ก็มีของดีไม่แพ้ใคร นับว่าเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่จะติดอยู่ในความทรงจำของใครหลายคนไปอีกนานแสนนาน

กว่าจะมาเป็นกระถางต้นไม้รูปปลาที่ตั้งโชว์อยู่ในงาน บอกเลยว่า “ไม่ง่าย”

ผลงานกระถางรูปปลาถูกวางเรียงรายอยู่ภายในบูธของโครงการนักคิดนักประดิษฐ์ หนึ่งในโครงการพัฒนาผู้เรียน เมื่อมองดูดี ๆ จะมีทั้งตัวอย่างผลงานที่สมบูรณ์ลงสีอย่างสวยงาม แต่ข้าง ๆ กันก็มีตัวอย่างของผลงานที่ดูไม่สมบูรณ์แบบนัก สีก็ดูซีดจืดจาง ตัวกระถางก็มีรอยร้าว และต่อจากนี้คือเรื่องราวที่จะมาบอกเล่าเส้นทางที่ไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบของกระถางต้นไม้รูปปลา ที่กว่าจะได้มาตั้งโชว์อยู่ ณ ตรงหน้านี้ “มันไม่ง่าย”

‘ทำไมลงสีแล้วสีมันไม่ติด จากสีสด ๆ ผ่านพ้นไปสองสามวันสีก็จืดลง เวลาขูดสีก็หลุดอีก’ ตัวโปรเจกต์ดูเหมือนจะมีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้น แม้จะเจออุปสรรค แต่ก็ไม่มีใครคิดยอมแพ้ ทั้งนักเรียน ครู และผู้อำนวยการ ต่างช่วยกันค้นหาทางออก ลองผิด ลองถูกหาสูตรที่ใช่ จนกระทั่งไปเจอกับกลุ่มชุมชนที่ผลิตกระปุกออมสิน ในจังหวัดพิจิตรที่อยู่ไม่ไกลจากโรงเรียน ซึ่งจัดตั้งเป็นโรงงานผลิตส่งออกกระปุกออมสินรายใหญ่ของประเทศ แสงแห่งความหวังจึงค่อย ๆ ปรากฏ

ทาง ผอ.เอก ได้ขอความอนุเคราะห์ทางกลุ่มชุมชน ให้ทั้งนักเรียนและคณะครู เข้าไปศึกษาการผลิตกระปุกออมสิน ตั้งแต่เทคนิคการผสมปูน การทำแม่พิมพ์ การผสมสี และการพ่นสี โดยได้รับแรงสนับสนุนที่อบอุ่นจากทางชุมชน ในการสร้างการเรียนรู้ในฐานะวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ อีกทั้งคอยติดต่อถามไถ่ทางโรงเรียนอยู่ตลอด เผื่อมีส่วนไหนให้ช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งทางโรงเรียนเองได้นำเอาองค์ความรู้ในการผลิตกระปุกออมสิน มาประยุกต์ใช้เข้ากับกระถางต้นไม้ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะแสนโดดเด่นไม่เหมือนใคร นั่นก็คือ กระถางต้นไม้รูปปลามังกร ช่วยเสริมสร้างทักษะอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ผู้เรียนได้สำเร็จ และต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน จากกระถางธรรมดา ๆ ที่ไม่มีใครเหลียวมอง แปลงร่างสู่กระถางสีสดงดงามที่ถูกสั่งจองจนผลิตไม่ทัน ใครจะไปคิดว่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นในตอนแรกจะกลายเป็นสะพานนำพาไปสู่เส้นทางการเรียนรู้ที่มีความหมาย ที่แฝงอยู่หลังภาพของกระถางต้นไม้รูปปลาที่วางอยู่คู่กัน

ภาพจำที่เปลี่ยนไป และก้าวถัดไปที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมของโรงเรียนบ้านน้อย”ปรึกอุทิศ”

เชื่อว่าภาพความสำเร็จของโรงเรียนบ้านน้อย”ปรึกอุทิศ” ร่วมกับโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาพิจิตร – อุตรดิตถ์ (Partnership School Project) ในปีที่ 2 นอกเหนือจากการได้ปลุกปั้นโปรเจกต์ของตัวเอง ยังมีภาพของการทำงานขับเคลื่อนการศึกษาที่สอดประสานทั้งโรงเรียนในมิติอื่น ๆ  ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการเรียนการสอน อาทิ การสอนแบบเชื่อมโลกจริง มีการออกแบบกิจกรรมใหม่ ๆ ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติมากขึ้น ไม่ใช่การเขียนตามหนังสือเพียงอย่างเดียวเหมือนเมื่อก่อน ตลอดจนชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นวิทยากรผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ไม่ใช่ครูก็ทำได้ เป็นการพลิกภาพจำเดิม ๆ ของการเรียนการสอนในโรงเรียนสู่ทิศทางใหม่ โดยมีผู้อำนวยการเป็นผู้หนุนหลังตลอดเส้นทางการเรียนรู้ของนักเรียนและครู ซึ่งผลลัพธ์ของความตั้งใจนี้ก็ได้สะท้อนกลับมาที่ตัวผู้เรียนเอง ที่กล้าก้าวข้ามขีดจำกัดของตน กลับมามองเห็นศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวและแสดงออกมาให้ทุกคนได้เห็นเป็นประจักษ์

“มุ่งเน้นสร้างเสริมองค์ความรู้พื้นฐาน ในด้านการอ่านออก-เขียนได้ คิดเลขเป็นให้มากขึ้น รวมถึงทักษะการคิดตรึกตรองด้วย ผมอยากให้เด็ก ๆ มีความสุขกับการเรียน รู้จักการตั้งเป้าหมายในชีวิต อยากให้เขามีพื้นฐานในการประกอบอาชีพตั้งแต่เด็ก ๆ สามารถนำไปต่อยอดสร้างอาชีพได้ตั้งแต่ประถม มัธยม นำไปสู่การต่อยอดพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป”

น้ำเสียงหนักแน่นของ ผอ.เอก กำลังบอกเล่าภาพฝันที่จะเกิดขึ้นในโครงการปีถัดไป ทั้งการเสริมสร้างทักษะสำคัญในการใช้ชีวิต เปรียบดั่งการติดอาวุธให้เขาพร้อมที่เผชิญสังคมโลกกว้าง รวมถึงการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีความจำเป็นและสอดคล้องกับวิถีชีวิตให้เหมาะสมสอดคล้องกับเด็ก ๆ ดั่งที่โรงเรียนบ้านน้อย”ปรึกอุทิศ” ให้ความสำคัญมาโดยตลอด

ติดตามโครงการฯ ได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/PartnershipschoolAgency

Array