Korkankru

ผู้นำแห่งอนาคต

Dialogue: สื่อสารและรับฟังอย่างมีคุณภาพ เพื่อการเติบโตทางภาวะผู้นำ1 min read

Reading Time: 2 minutes เราไม่อาจสร้างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ได้ หากในความสัมพันธ์นั้น ๆ เรายังไม่สามารถเปิดใจรับรู้ เชื่อมโยงกันได้อย่างเท่าเทียม การสื่อสารและรับฟังอย่างมีคุณภาพ สุนทรียสนทนา ตามหลักการของเดวิด โบห์ม Feb 12, 2018 2 min

Dialogue: สื่อสารและรับฟังอย่างมีคุณภาพ เพื่อการเติบโตทางภาวะผู้นำ1 min read

Reading Time: 2 minutes

เราไม่อาจสร้างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ได้ หากในความสัมพันธ์นั้น ๆ เรายังไม่สามารถเปิดใจรับรู้ เชื่อมโยงกันได้อย่างเท่าเทียม การสื่อสารและรับฟังอย่างมีคุณภาพ สุนทรียสนทนา (Dialogue) ตามหลักการของเดวิด โบห์ม จะเป็นการทำให้ผู้คนหันหน้าเข้าหากัน เปิดความรักความเข้าใจในผู้อื่น เพราะเมื่อเราได้ฟังใครจริง ๆ เราจะรับรู้ความเป็นเขา มากกว่าการวิเคราะห์ตัดสินอย่างที่เราคุ้นชิน เมื่อเราฟังเป็น การตัดสินคนอื่นหรือสิ่งต่าง ๆ รอบตัวจะค่อยๆ ลดลง ความเป็นไปได้อื่นจะโผล่ปรากฏโดยไม่ต้องพยายาม ภายในของเราจะเริ่มเคารพในชีวิตอื่นมากขึ้นโดยเฉพาะตัวเอง เราจะหวดตีตัวเราน้อยลง ซึ่งนั่นจะทำให้เราหวดตีคนอื่นน้อยลงด้วย

จะเห็นได้ว่าคุณสมบัติเหล่านี้เป็นคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่ง และเป็นแก่นแกนพื้นฐานสำคัญของภาวะการนำกระบวนทัศน์ใหม่ ทั้งการสร้างภาวะนำร่วม (Collective) การนำโดยการเปลี่ยนแปลงภายในที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภายนอก (Transformative) และการนำโดยเห็นความเชื่อมโยงของสิ่งต่าง ๆ ตระหนักถึงผลการกระทำของตนเอง (Ethical) ล้วนแต่ต้องอาศัยความสามารถในการเห็นและรู้จักตัวเองและผู้อื่นอย่างซื่อสัตย์ทั้งสิ้น เพราะถ้าขาดทักษะเหล่านี้ภาวะการนำของแต่ละคนก็อาจไม่ต่างไปจากภาวะการนำในกระบวนทัศน์เก่า (ภาวะการนำในเชิงวีรบุรุษ (Heroic Leadership Paradigm))

การฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)

เปิดการรับรู้ของตัวเรามากกว่าแค่ถ้อยคำและการจับประเด็นวิเคราะห์ เพราะในขณะที่ใครคนหนึ่งสื่อสาร เราไม่อาจเข้าใจเขาตรงหน้าได้อย่างลึกซึ้ง หากเรายังปล่อยให้ตัวเราควบคุมสถานการณ์เบื้องหน้าทั้งหมด การฟังอย่างลึกซึ้งจึงเป็นการเปิดความเข้าอกเข้าใจ ลดความเป็นอื่นต่อกันกับคนข้างหน้าและคนข้างในเรา

การห้อยแขวนการตัดสิน (Suspending)

การจะสามารถเข้าใจใครคนหนึ่ง สิ่งๆ หนึ่ง หรือปรากฏการณ์หนึ่งๆ ได้อย่างจริงแท้ เราต้องยอมวาง แขวน คุณภาพการคิดวิเคราะห์ การประเมิน และการตรวจสอบไว้เสียก่อน เพราะยิ่งเรามีคุณภาพที่คมชัดในเรื่องใด มีความคล่องและความชำนาญต่อสิ่งไหนมาก ๆ เรายิ่งมีแนวโน้มที่จะไม่อนุญาตให้คำตอบอื่น ความเป็นไปได้อื่นผุดโผล่ขึ้นมา การด่วนสรุปของเรานี้เองที่เป็นกำแพงสำคัญในการเข้าถึง และพิสูจน์ว่าเราสามารถเรียนรู้ได้มากน้อยแค่ไหน

การเคารพผู้อื่น (Respecting)

เป็นอีกเครื่องชี้วัดความเท่าเทียมในมนุษยชาติ การที่เราเคารพให้เกียรติในความเป็นมนุษย์ของคนคนหนึ่ง ด้วยสำนึกภายในที่สะท้อนออกมาผ่านการกระทำต่าง ๆ ของเรา ไม่ว่าใครคนนั้นจะอยู่ในสภาพเช่นไร สัญชาติ ศาสนาใด ยืนอยู่กับชุดความเชื่อแบบไหน มาจากชั้นวรรณะใด ยิ่งเราลดทอนกำแพงของความเป็นอื่นลงได้มาก ก็จะยิ่งแสดงถึงคุณภาพภายในของตัวเรา คุณภาพที่สามารถเคารพและดำรงอยู่ร่วมกับชีวิตอื่น ๆ เคารพในเสียงความเงียบที่เขาไม่สามารถเปิดเผย หรือไม่ปรารถนาจะเผย เคารพในความไม่รู้ของตัวเองเพื่อเข้าถึงความเข้าใจในบางเรื่องราว สิ่งเหล่านี้มีคุณค่ามากต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่มีคุณภาพ

การเผยเสียงจริงแท้ (Voicing)

มีเพียงความจริงแท้ภายในเราเท่านั้น ที่จะนำพาเราไปสู่คำตอบที่ใช่ที่สุดและเป็นหนทางที่ยกระดับเราสู่ภาวะจิตที่แท้จริงได้ เพราะเราจะไม่เป็นอื่นต่อเสียงภายในเรา ไม่บิดเบือนไปตามเสียงของการให้คุณค่าอื่นใดที่ชักนำให้เราคาดโทษตนเอง จนเรามีแต่เสียงของความพยายามท่องจำ มิใช่ความสดใหม่ที่หัวใจเอ่ยขาน ซึ่งบ่อยครั้งก็เป็นการปิดกั้น ตีกรอบ ปกป้องตัวเอง ไม่ให้ตัวเองได้ลองก้าวข้าม อนุญาตให้ตนเองเป็นตนเองอย่างจริงแท้

สื่อสารและรับฟังอย่างมีคุณภาพ เพื่อการเติบโตทางภาวะผู้นำ (Leadership) (YL#4)