ประมวลการเรียนรู้: เวทีบ่มเพาะภาวการณ์นำร่วมสำหรับพลเมืองรุ่นใหม่
Reading Time: 4 minutesที่ผ่านมาเมื่อนึกถึงคำว่า ผู้นำ (Leader) ผู้คนมักจะนึกถึงวีรบุรุษหรือผู้ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อม อันเป็นความหวังในการนำพาสังคมไปสู่ความเจริญ เป็นผู้แก้ไขปัญหาตั้งแต่เรื่องเล็กไปถึงเรื่องใหญ่ ซึ่งเป็นมุมมองแบบกระบวนทัศน์เดิม ที่ผู้นำจะมีบทบาทในการนำเดี่ยวหรือนำแบบวีรบุรุษ (Heroic Leadership)
แต่การนำแบบที่ผ่านมาอาจไม่เหมาะกับการนำในสภาวะปัจจุบันที่สังคมมีความซับซ้อนมากขึ้น ดังจะเห็นได้ว่าหลายครั้งการพึ่งพาการนำของผู้นำเพียงคนเดียว อาจทำให้เกิดการตัดสินใจผิดพลาด จนส่งผลกระทบต่อผู้อื่นในวงกว้างได้
โครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีแนวคิดว่าหากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่สังคมในระยะยาว ควรที่จะพัฒนาบ่มเพาะ พลเมืองรุ่นใหม่ (Young Active Citizen) ให้เป็น ผู้นำร่วม (Collective Leadership) หรือผู้นำที่ใช้ปัญญาร่วมจากสังคม รับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อหาทางแก้ไขและพัฒนาร่วมกัน โดยได้จัดเวทีบ่มเพาะภาวะการนำร่วมสำหรับพลเมืองรุ่นใหม่ (Collective Leadership for Young Active Citizen) ขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ในวันที่ 16 – 18 มีนาคม ที่ผ่านมา รวมจำนวนพลเมืองรุ่นใหม่ที่ผ่านการบ่มเพาะมากถึงกว่า 100 คน
ในการจัดครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก คุณน้อง – ธนัญธร เปรมใจชื่น กระบวนกรจากบริษัทเซเว่น เพรสเซนส์ (Sevenpresents) และทีมมาเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม คุณธนัญธรได้อธิบายแนวคิดในการบ่มเพาะพลเมืองรุ่นใหม่ร่วมกับโครงการฯ ว่า “การจัดกิจกรรมเน้นให้คนรุ่นใหม่ที่จะก้าวมาเป็นผู้นำในอนาคต ได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องด้านในของตัวเอง เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตกับผู้คนในการทำงานร่วม เพราะในวันข้างหน้าเมื่อเขาเติบโตขึ้น เขาจะได้ไม่พลาดที่จะได้ยินเสียงของตัวเองและผู้อื่น และไม่พลาดโอกาสที่จะได้รับรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว
โดยการก้าวมาเป็น ‘ผู้นำร่วม’ ไม่ได้หมายถึงว่าทุกคนจะต้องมีตำแหน่ง แต่หมายถึงการมี ‘สำนึกร่วม’ ที่จะรู้สึกว่านี่คือองค์กรของฉัน นี่คือบ้านของฉัน นี่คือประเทศของฉัน และฉันจะดูแลทั้งหมด คนทุกคนเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบและแบ่งเบาซึ่งกันและกัน
โดยกระบวนการเรียนรู้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ การเรียนรู้ตนเอง และการทำความเข้าใจธรรมชาติของการทำงานเป็นทีม
สำหรับการเปิดเวทีการอบรมนี้ค่อนข้างแตกต่างจากเวทีอบรมอื่นตรงที่ เวทีนี้ปราศจากการแนะนำตัว ให้คนอื่นได้รู้จักเราผ่านมุมมองที่อยากนำเสนอ แต่เป็นกระบวนการที่ละลายทุกคนลง ให้ได้ลองเริ่มต้นสำรวจจิตใจของตนทางอ้อมแทน ผ่านกิจกรรม บ้านแห่งลมหายใจ ที่ทุกคนจะได้ออกวิ่งไขว่คว้าความปราถนาของตนเอง ความรัก ความสำเร็จ และมิตรภาพ เพื่อมองว่าชีวิตของเราขับเคลื่อนเพื่อตามหาสิ่งไหน แล้วหากมีอุปสรรคหรือข้อจำกัดเข้ามาขัดขวางให้เดินยากขึ้นเราจะจัดการอย่างไร หรือเลือกไขว่คว้าอะไรไว้ก่อน โดยสิ่งที่กิจกรรมพามองควบคู่กันไป คือ ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นในใจ ซึ่งอาจเกิดแตกต่างกันออกไประหว่างการได้ลองทำกิจกรรมคนเดียว การมีใครสักคนร่วมเดินเคียงข้าง และการทำกิจกรรมร่วมกันเป็นทีม
ถือเป็นกิจกรรมเปิดตัวที่ละลายให้ทุกคนได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันอย่างรวดเร็ว และยังเป็นการเปิดกระบวนการสำรวจใจของตนเอง ซึ่งปูทางไปสู่กิจกรรมทั้งหมดที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ผ่าน ฐานใจ ของผู้เข้าร่วม
หลังจากกิจกรรมเปิดตัวกระบวนการเรียนรู้ พี่น้องจึงได้พาทุกคนฝึก การสื่อสารและการรับฟังอย่างมีคุณภาพ (Dialogue) โดยจับคู่กับเพื่อนแล้วรับฟังเรื่องราวของอีกฝ่าย ภายใต้เงื่อนไขของการเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อให้เกิดการฟังที่ไม่ใช่เพียงการได้ยินแต่ เป็นการรับรู้ไม่มีการสอดแทรก โต้แย้ง และตัดสิน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจความหมายอันแท้จริงของการฟังให้ถึงหัวใจของผู้พูด
สำหรับกิจกรรมช่วงบ่าย พี่น้องได้พาทุกคนเรียนรู้และคลี่คลายความเป็นตัวเองผ่านกิจกรรมการเรียนรู้เรื่อง ผู้นำสี่ทิศ ศาสตร์ของชาวอินเดียนแดงโบราณ ที่สะท้อนบุคลิก พฤติกรรม และการนึกคิดภายในของแต่ละคนในบริบทต่าง ๆ ผ่านสัตว์ประจำทิศ 4 ชนิด ที่มีความแตกต่างกันด้วยแรงขับเคลื่อนสู่เป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าใจว่าตนเองมีลักษณะโน้มเอียงไปในทิศทางใดบ้าง เพราะเมื่อสามารถมองเห็นถึงแรงขับเคลื่อนภายในได้แล้ว ก็จะเกิดความเข้าใจในตนเองและผู้อื่นมากขึ้น รวมถึงสามารถพัฒนาปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นได้ (อ่านคำอธิบายเรื่องผู้นำ 4 ทิศเพิ่มเติมได้ที่ : https://goo.gl/owurxb)
คุณกอล์ฟ – ศรุต ศีลแจ่มใส วิศวกรอาวุโส จากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) สะท้อนบทเรียนที่มองเห็นตัวเองจากการทำกิจกรรมดังกล่าวว่า
“ปกติเราจะเป็นคนบ้างานมาก มีเป้าหมายชัดเจน ทำงานแล้วก็พุ่งไปอย่างเดียว ไม่ได้มองว่าคนรอบข้างจะรู้สึกอย่างไร พอเข้าร่วมกิจกรรมแล้วทำให้เห็นตัวเองชัดขึ้น สิ่งที่จะไปปรับคงเป็นการลด EGO ของตัวเองลง เห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น ถามความเห็นและความรู้สึกของคนอื่นมากขึ้น”
กิจกรรมวันแรกปิดลงอย่างสวยงามด้วยการรับฟังนิทานจากพี่น้องในชื่อเรื่องว่า การเดินทางของชิ้นส่วนที่หายไป ซึ่งเป็นการทำ Voice Dialogue หรือการถ่ายทอดเรื่องราวเพื่อให้ผู้ฟังได้สำรวจเบื้องลึกของจิตใจตนเอง ยอมรับตัวตน เยียวยาหัวใจ และเรียนรู้มุมต่าง ผ่านเรื่องราวของน้องชิ้นส่วนรูปทรงสามเหลี่ยมที่ค่อย ๆ เจริญเติบโตผ่านการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตนเอง ความสัมพันธ์กับผู้อื่น การก้าวข้ามพื้นที่ปลอดภัยเพื่อเปิดรับประสบการณ์ใหม่ และการเรียนรู้ที่จะพัฒนาเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อการก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ในเช้าวันใหม่ที่สนามหญ้า กระบวนการเรียนรู้ผ่าน 3 ฐาน กาย ใจ และหัว เริ่มต้นขึ้นผ่านเกมสนุก ๆ ที่ช่วยละลายกำแพงของแต่ละคนลง ให้แสดงตัวตนภายในออกมา กิจกรรมแรก คือ มังกรคาบหาง กิจกรรมเพื่อเรียนรู้การทำงานเป็นกลุ่มเล็ก ให้เห็นถึงบทบาทของผู้นำ ผู้ตาม และความเป็นทีม ต่อด้วยกิจกรรมที่สอง ตี่จับ กิจกรรมที่เราคุ้นชินเคยเล่นกันมาแต่วัยเยาว์ แต่เบื้องหลังของกิจกรรมนี้คือการที่แต่ละคนจะได้ใช้เวลามองตัวเองให้ลึกซึ้งว่าเกิดความรู้สึกนึกคิดอะไรขึ้นบ้าง มีการแก้ไขจัดการอย่างไร และที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรามีการทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างไร ภายใต้ความรู้สึกนึกคิดแบบไหน
ทั้งสองเกมที่ทีมกระบวนกรวางไว้มีหน้าที่สำคัญ คือ การเป็นเครื่องมือจำลองสถานการณ์ให้เห็นการทำงานและการนำร่วม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสประสบการณ์ ความรู้สึก และเรียนรู้จากผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
คุณจ๊ะเอ๋ – วริษฐา ขอประเสริฐ Visual note taker บอกว่า การทำงานที่ได้คลุกคลีกับผู้คนหลากหลายจำนวนมาก ทำให้เธอถูกตัดสินจากบางคนทั้งที่ยังไม่รู้จักกันดี เธอจึงเลือกเก็บซ่อนตัวตนบางอย่างไว้
“เมื่อก่อนไม่ค่อยอยากยอมรับตัวตนบางอย่างของตัวเอง เช่น ตัวตนที่เราเคยวางใจโลก ตัวตนที่อ่อนโยน เพราะกลัวถูกเอาเปรียบหรือดูอ่อนแอเกินไปเวลาอยู่กับโลกข้างนอก แต่การเข้าร่วมกิจกรรมนี้ทำให้เรายอมรับตัวตนที่เกือบหลงลืมไปแล้วได้มากขึ้น เพราะเขาก็มีข้อดีที่ทำให้เราเป็นเรา”
วันสุดท้ายของการอบรมเป็นกิจกรรม นับเลข ที่ช่วยสะท้อนให้ผู้เข้าร่วมเห็นถึงบทเรียนเรื่อง การให้โอกาสแก่ความผิดพลาด เพราะในการทำงานหรือการใช้ชีวิต เราอาจทำเรื่องผิดพลาดหรือประสบพบเจอกับความผิดพลาดจากผู้อื่นหลายครั้งครา บทเรียนจากกิจกรรมนี้ที่ทุกคนจะได้พบ คือ การให้ที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งคือ การให้โอกาสในการปรับปรุง แก้ไข ขัดเกลา ทั้งแก่ทั้งตัวเราและผู้อื่น
เพราะน็อตทุกตัวสำคัญต่อการขับเคลื่อน ทุกก้าวที่เราคืบขยายเกิดจากการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน หากตระหนักรู้ถึงเรื่องนี้คุณจะเป็นความงดงามที่ผู้อื่นอยากเดินร่วมไปกับคุณ
คุณมาย – อารีย์ มูลสาร ผู้ช่วยเลขาประชาสังคมพังงาแห่งความสุข เล่าว่า
“ค่ายนี้จุดประกายให้เธออยากก้าวไปอีกขั้น ด้วยการเปลี่ยนแปลงตัวเอง เมื่อก่อนเคยเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เพราะกลัวคำตอบของตัวเองจะไม่ถูกต้อง แต่โครงการนี้ทำให้เราเปลี่ยนความคิด อยากจะผลักตัวเองให้มีความเป็นผู้นำมากขึ้น อยากท้าทายตัวเอง ออกจากสิ่งเดิมๆ ที่เคยเป็น อยากก้าวไปอีกขั้น”
คุณเจ – สุรเชษฐ์ ตรรกโชติ Project Manager จากองค์กรด้านธุรกิจเพื่อสังคม EdWINGS บอกถึงมุมมองความเป็นผู้นำที่เขาอยากเป็นในอนาคตว่า
“เราอยากเป็นผู้นำที่คาดหวังการท้าทายจากผู้ตาม ซึ่งเป็นชุดความคิดใหม่ที่จะมาทำลายชุดความคิดเดิมของเรา เพราะนั่นแสดงให้เห็นว่าทีมของเรามีศักยภาพสูงมาก และเราเองก็อยากเป็นผู้นำที่สบายใจได้ว่า ไม่ว่าจะมีเราหรือไม่ภารกิจที่สร้างอยู่จะไปต่อได้ เพราะการที่เราขึ้นมาเป็นผู้นำก็เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่มารับช่วงการทำงานต่อไปเรื่อยๆ”
ก่อนจะแยกย้ายกลับไปสู่วิถีชีวิตของแต่ละคน พร้อมดวงตาที่มองเห็นมุมมองใหม่และกว้างขึ้นจากการเข้าร่วมกิจกรรม ครูน้องได้ชวนทุกคนทบทวนบทเรียนที่ผ่านมาตลอด 3 วัน แล้วเขียนลงในจดหมายที่จ่าหน้าซองถึงตัวเอง โดยจดหมายเหล่านี้จะถูกส่งกลับไปหาทุกคนผ่านไปรษณีย์เมื่อเวลาผ่านไป โดยหวังว่าเมื่อทุกคนได้เปิดอ่านจดหมายของตัวเองอีกครั้ง จะได้หวนระลึกถึงบทเรียนที่ได้ตกตะกอนจากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ และย้ำเตือนถึงเส้นทางของตนที่ตั้งใจจะก้าวต่อไป
ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นตัวตนของตัวเองที่ถูกพัฒนา และพร้อมจะก้าวสู่การเป็นผู้นำร่วมที่นำพาความเปลี่ยนแปลงอันเข้มแข็งสู่สังคมในอนาคต
ประมวลการเรียนรู้จากเวทีบ่มเพาะภาวการณ์นำร่วมสำหรับพลเมืองรุ่นใหม่ (Collective Leadership for Young Active Citizen) วันที่ 16 – 18 มีนาคม 2561 เวทีบ่มเพาะภาวะการนำร่วมสำหรับพลเมืองรุ่นใหม่ (Collective Leadership for Young Active Citizen)
วันที่ 16 – 18 มีนาคม 2561