ก่อการครู – Korkankru

ก่อการครู กิจกรรมที่ผ่านมา คลังความรู้ บันทึกเวทีการเรียนรู้ บัวหลวงก่อการครู

‘ครูคือมนุษย์’ สำรวจภูมิทัศน์ภายในของความเป็นครู เพื่อเข้าใจผู้คนที่อยู่รอบห้องเรียน

Reading Time: 3 minutes บันทึกหลักสูตรแกนนำครู โครงการก่อการครู ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้ โมดูล 1 "ครูคือมนุษย์ สำรวจภูมิทัศน์ภายในของความเป็นครู" ผ่านกิจกรรมที่ชวนสำรวจภายในตนเอง เพื่อเข้าใจผู้อื่น และค้นหาเป้าหมายใหม่ที่จะทำให้บรรยากาศของการเรียนรู้เอื้อกับทุกผู้คนรายรอบ Nov 26, 2019 3 min

‘ครูคือมนุษย์’ สำรวจภูมิทัศน์ภายในของความเป็นครู เพื่อเข้าใจผู้คนที่อยู่รอบห้องเรียน

Reading Time: 3 minutes

เมื่อการศึกษากลายเป็นความทุกข์ร่วมของชาติ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงเกิดความร่วมมือกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการพัฒนาครูและบุคลากรทางศึกษาของ โรงเรียนประชารัฐ และการพัฒนาขับเคลื่อนโรงเรียนร่วมพัฒนาในโครงการก่อการครู: ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้ และโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Project)

หลังจากกิจกรรมทำความรู้จัก และจับคู่รับฟังที่มาของอาชีพครู และอาชีพครูมีคุณค่าต่อตัวเราและคนอื่นอย่างไร และจับกลุ่ม 4 คนแบ่งปันความรู้สึกจากกิจกรรมแล้ว จึงเข้าสู่ฐานการเรียนรู้ 4 ห้องย่อยที่มีเนื้อหาแตกต่างกัน แบ่งกลุ่มเล็กเพื่อการคุยที่ลงลึก เวียนอบรมไปทีละห้อง แล้วนำความรู้และประสบการณ์มาแบ่งปันและต่อยอดร่วมกันในวันสุดท้าย

ห้องย่อยแรกในกิจกรรม ครูคือมนุษย์ สำรวจภูมิทัศน์ภายในของความเป็นครู มีคุณธนัญธร เปรมใจชื่น และทีมงานจาก Seven presents เป็นกระบวนกร

โดยเน้นการมีศักยภาพที่จะสะท้อนตัวเอง มองกลับเข้าไปในตัวเอง มีความเป็นจริงกับตัวเอง เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อลำเลียงสิ่งที่อยู่ข้างในออกมาข้างนอกอย่างตรงไปตรงมา มีกิจกรรมเผชิญกับความสั่นไหว ทบทวนคุณค่าผ่านคำสำคัญต่างๆ และกิจกรรม 4 ทิศ เริ่มด้วยให้ทุกคนไปยืนท้ายห้องแล้วให้แต่ละคนยกสถานการณ์ไหนที่ทำให้ประหม่า สั่นกลัว ไม่เป็นตัวของตัวเอง เดินไปยืนที่ฝั่งตรงข้ามห้อง แล้วหันกลับไปมองที่เพื่อนท้ายห้อง แล้วประกาศออกไป หลายคนบอกว่า

“เมื่อเราทำสิ่งที่ไม่เหมือนใคร จะมีคนอื่นมองแปลกๆ เราไม่สามารถอธิบายให้คนเข้าใจในสิ่งที่เราเป็น เราไม่มั่นใจ หรือหนูรู้สึกอึดอัด เวลาต้องทำสิ่งที่ทุกคนคิดว่าเราทำได้ แต่จริงๆ เราทำไม่ได้”

กิจกรรมดังกล่าวเป็นการเขย่าให้แต่ละคนทดลองออกจากพื้นที่ปลอดภัย มาสู่พื้นที่เสี่ยง เพื่อให้เผยตัวเอง เห็นมุมมองและความเป็นไปได้ใหม่ๆ

ต่อด้วยกิจกรรมสำรวจคำที่มีความสำคัญต่อตัวเอง เช่น ซื่อสัตย์ ความเมตตา ความยุติธรรม ความมานะพากเพียร ความรัก ความอิสระ และอื่นๆ รวม 21 คำ แล้วเลือก 5 คำที่แต่ละคนเห็นว่าสำคัญที่สุด ให้คุณค่าที่สุด ก่อนจะให้ค่อยๆ ปล่อยไปทีละใบจนเหลือเรื่องที่สำคัญที่สุด แล้วเลือกคุยกับคนที่เลือกคำเดียวกัน แบ่งกลุ่มย่อยเล่าเหตุการณ์หรือประสบการณ์ที่ทำให้คำที่เลือกมีความสำคัญกับชีวิตของตนเอง

กิจกรรมผู้นำ 4 ทิศ คุณลักษณะของคนจากภูมิปัญญาของชนพื้นเมืองที่แบ่งตามลักษณะของสัตว์ 4 ชนิด คือ กระทิง มุ่งเป้าหมาย ความสำเร็จ ความรวดเร็ว หนู มุ่งความสัมพันธ์ อินทรี มุ่งอิสระ ความคิดสร้างสรรค์ และหมี มุ่งความถูกต้องสมบูรณ์แบบ เพื่อใช้ในการเรียนรู้ความเข้าใจตัวเองและผู้อื่น แล้วทบทวนว่าแต่ละคนมีสัดส่วนของทิศต่างๆ อยู่ในตัวเองเท่าไหร่ และทายว่า 3 คนที่มีอิทธิพลในชีวิตของตนเองมีสัดส่วนความเป็นทิศอะไรบ้าง เท่าไหร่ ก่อนจะแบ่งกลุ่มย่อยแลกเปลี่ยนกัน

ช่วงค่ำ ชักชวนทุกคนมาพูดคุยภาพยนตร์เรื่อง Children full of Life ชีวิตของครูสูงวัยชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเด็กๆ ในห้องเรียนและตัวเอง โดยใช้กรอบการมองจากสิ่งที่แต่ละคนได้เรียนรู้ในแต่ละห้อง แล้วแบ่งกลุ่ม 6 คนแลกเปลี่ยนกัน ปิดท้ายด้วยการแบ่งปันในวงใหญ่

วันที่สองคือกิจกรรม กล้าที่จะไม่สอน: การสอนในวัฒนธรรมอำนาจนิยม สู่กระบวนการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ โดยมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม)

เริ่มด้วยกิจกรรม ฝ่ามืออรหันต์ โดยให้ผู้เข้าร่วมจับคู่กัน คนที่เลือกเป็นหมายเลข 1 ยกฝ่ามือห่างจากหน้าของหมายเลข 2 รักษาระหว่างฝ่ามือกับหน้าไว้ เมื่อเริ่มหมายเลข 1 เคลื่อนนำ หมายเลข 2 เคลื่อนตาม ระหว่างที่ทำให้แต่ละคนสังเกตว่ารู้สึกอะไรบ้าง มีการกระทำไหนที่เข้ามากระแทกความรู้สึก

ก่อนจะเพิ่มเป็น 4 คน แล้วให้แต่ละคนสะท้อนในวงใหญ่ กิจกรรมดังกล่าวทำให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจถึงความรู้สึกของการเป็นผู้นำและผู้ตาม และย้อนกลับมาพิจารณาเปรียบเทียบกับโครงสร้างอำนาจในห้องเรียนและโรงเรียนด้วย

ตามด้วยการแบ่งกลุ่มย่อยวิเคราะห์ 4 ตัวละครในโรงเรียน ว่าผู้บริหารกลัวอะไร จึงไม่กล้าเปลี่ยนแปลง ความกลัวของครูคืออะไร นักเรียนกลัวอะไรถึงไม่กล้าบอกความต้องการที่แท้จริง และผู้ปกครองกลัวอะไร แล้วให้แต่ละกลุ่มใช้กิจกรรมประติมากรรมภาพนิ่ง ต่อตัวเป็นภาพความกลัวของกลุ่มต่างๆ แทนเหตุการณ์หรือปัญหาบางอย่าง และต่อตัวเป็นภาพที่สองว่า ถ้าต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ใครควรจะเปลี่ยน เปลี่ยนอย่างไร เมื่อเปลี่ยนแล้วทำให้เป็นอย่างไร โดยการ 1. เปลี่ยนการจัดวางตำแหน่งภาพ 2. เปลี่ยนบทพูด ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจคนกลุ่มต่างๆ และเห็นพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

ช่วงบ่ายคือ กระบวนการเรียนรู้เพื่อเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย โดยนพ.พนม เกตุมาน เป็นการเรียนรู้ถึงความแตกต่างของคน โดยการลงมือทำ แล้วติดตามความคิดและความรู้สึกไปด้วย ก่อนจะมาถอดบทเรียนในตอนท้าย

หลังจากพาผู้เข้าร่วมเข้าสู่ความสงบ ลุกเดินสำรวจทั่วห้อง แล้วสังเกตความรู้สึกของตัวเองกับพื้นที่ต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร หาจุดที่รู้สึกปลอดภัยที่สุด จุดที่ไม่ปลอดภัยที่สุด รวมถึงคนที่เรารู้สึกว่าปลอดภัย เดินเข้าไปใกล้ๆ แต่ให้รักษาระยะห่างโดยไม่ให้รู้ตัว ก่อนจะให้จับคู่แบ่งปันสาเหตุที่แต่ละเลือก

  1. จุดที่รู้สึกปลอดภัย
  2. จุดที่รู้สึกไม่ปลอดภัย
  3. คนที่เรารู้สึกปลอดภัย แล้วแลกเปลี่ยนความรู้สึกในวงใหญ่

กระบวนกรพูดถึง สามเหลี่ยมพฤติกรรม ที่ใช้จะอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ในเชิงจิตวิทยา มีสามฐาน คือฐานทางกาย ฐานทางใจ จะมีความคิดและความรู้สึก คือ Head คิด และ Heart ความรู้สึก และ Hand พฤติกรรมการแสดงออก ทฤษฎีดังกล่าวสามารถนำมาใช้ทำความเข้าใจพฤติกรรมของเด็ก ว่าเขาคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร

หลังจากฟังบรรยายแล้ว กระบวนกรให้ผู้เข้าร่วมจับกลุ่ม 4 คน แต่ละคนวาด Road map ถนนชีวิตของตัวเอง วาดความเป็นมา จุดเปลี่ยน จุดหักเห ความสุข ความทุกข์ของชีวิต แล้วเล่าให้เพื่อนในกลุ่มฟัง เป็นการทบทวนเพื่อทำความเข้าใจชีวิตตัวเอง ได้แบ่งปันให้คนอื่นที่รับฟังอย่างลึกซึ้ง ทำให้มองเห็นและเข้าใจที่มาของความแตกต่าง ซึ่งสามารถนำไปใช้ชีวิต รวมถึงกับนักเรียนในห้องเรียนของแต่ละคนได้

ช่วงค่ำ เป็นการเปิดพื้นที่ แบ่งกลุ่มย่อย 4 คน ให้ผู้เรียนทั้งสามห้องย่อย ต่อยอดกระบวนการเรียนรู้สองวันที่ผ่านมาด้วยกระบวนการใคร่ครวญสะท้อนคิด เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการตกตะกอนจนกลายเป็นองค์ความรู้บางอย่างด้วยตัวเอง และแบ่งปันกันในวงใหญ่

วันที่สาม ห้องย่อยที่ 4 พลังแห่งการฟัง โดยคุณอธิษฐาน์ คงทรัพย์ โดยการเชื้อเชิญให้คุณครูได้ทดลองมีประสบการณ์ว่าเวลาที่เราฟังคนอื่น เราฟังแบบไหน และมีการฟังแบบไหนบ้าง เกิดอะไรกับตัวเราเมื่อที่ได้ยินบางสิ่งที่อยู่ภายในตัวคนอีกคนหนึ่ง จับคู่สลับกันเล่าเรื่องความทรงจำไม่รู้ลืม โดยคนฟังจะไม่ถามแทรกแต่ฟังอย่างตั้ง ฟังแม้สิ่งที่ผู้เล่าไม่ได้พูดออกมา และฝึกการสะท้อนที่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องราว แต่ลึกลงไปถึงความรู้สึกของผู้เล่าด้วย ก่อนจะแบ่งปันการเรียนรู้ร่วมกันในวงใหญ่ เพียงแค่กิจกรรมแรกทำให้ผู้เข้าร่วมบางคน

“ไม่ได้คิด ถ้าพูดให้ดูสวยงามเหมือนหัวใจฟังอย่างเดียวโดยที่สมองไม่ได้คิดอะไร เหมือนว่าดี เพราะสมองไม่ได้ทำงาน หัวใจทำงานมากกว่า”

หลังจากผ่านประสบการณ์การรับฟังอย่างลึกซึ้งแล้ว กระบวนการต่อมาเป็นการจับคู่ฝึกแยกแยะระหว่างความคิดและความรู้สึก ผู้เล่ายกสถานการณ์ชีวิตจริงที่ทำให้อุทานประโยคหนึ่งออกมา แล้วให้ผู้ฟังทายว่าผู้เล่ารู้สึกอย่างไร ก่อนจะปิดท้ายด้วยการฝึกค้นหาความต้องการในกลุ่มย่อย ผ่านไพ่ความรู้สึกและความต้องการซึ่งเป็นการถอดรหัสคาดเดาความรู้สึกและความต้องการที่อยู่ในสถานการณ์บางอย่าง ภายใต้น้ำเสียง ภายใต้สีหน้าท่าทาง หรือแววตา ช่วยให้ผู้ฟังไม่ด่วนตัดสินตีความผู้พูดจากเพียงแค่คำพูดของเขา แต่เข้าไปถึงความต้องการเบื้องลึกที่เขามีอยู่ ทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน, มีความเห็นอกเห็นใจ และรู้จักที่จะตอบสนองความต้องการของคนอื่นในเชิงบวก เรามีหน้าที่เป็นครู เราสอนนักเรียนอย่างเดียว เด็กจะมีโอกาสพูดน้อยมาก ต้องกลับไปใช้คือฟังนักเรียนบ้าง

ช่วงบ่าย อธิบายภาพรวมวิธีการทำงานของโครงการก่อการครูในอนาคต และตลาดวิชาในโมดูล 2 แล้วจึงแบ่งกลุ่มย่อยคุยตามภูมิภาคว่าเราอยากจะกลับไปสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรจะร่วมกันอย่างไร ก่อนจะปิดวงร่วมกันอย่างเรียบง่าย

บันทึกหลักสูตรแกนนำครู โครงการก่อการครู ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้ โมดูล 1 ครูคือมนุษย์ สำรวจภูมิทัศน์ภายในของความเป็นครู วันที่ 29-31 ตุลาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 08.30-20.30 น. ณ ห้องประชุมเอมเมอรัล โรงแรมเดอะ รอยัล เจมส์ กอล์ฟ & รีสอร์ท โดย คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

อ่านบันทึกเวทีได้ที่ 

[pdfjs-viewer url=”https%3A%2F%2Fwww.leadershipforfuture.com%2Fwp-content%2Fuploads%2F2019%2F11%2F%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9-%E0%B8%98.%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%9E-%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%A5-1-scripts-191029-31-final.pdf” viewer_width=100% viewer_height=1360px fullscreen=true download=true print=true]

ประมวลภาพกิจกรรม

Array