Korkankru

ก่อการครู กิจกรรมที่ผ่านมา บันทึกเวทีการเรียนรู้

การสอนที่มีความหมาย ครูคือกระบวนกร และนักเรียนคือเจ้าของความรู้6 min read

Reading Time: 3 minutes บันทึกกิจกรรมโมดูลสาม "ครูคือกระบวนกร” เป็นกระบวนการชวนคุณครูก่อการรุ่น 2 กลับมาทบทวนและแลกเปลี่ยนผลการเติบโต เรียนรู้ ทั้งภายในตัวครูและชั้นเรียนของพวกเขาในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และร่วมกันพัฒนาออกแบบกระบวนการเรียนรู้บนฐานการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงหรือ Authentic Learning พร้อมร่วมสะท้อนย้อนมองทิศทางการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงการศึกษาในอนาคตร่วมกัน Dec 6, 2019 3 min

การสอนที่มีความหมาย ครูคือกระบวนกร และนักเรียนคือเจ้าของความรู้6 min read

Reading Time: 3 minutes

หลังจากผ่านกระบวนการเรียนรู้โมดูลแรก “มิติความเป็นมนุษย์ของครู” และโมดูลสอง “ตลาดวิชาเครื่องมือและทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้”  ให้กับครู เพื่อนำกลับไปสร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนของตนแล้ว ในครั้งนี้โครงการก่อการครูเดินทางมาถึงโมดูลสาม “ครูคือกระบวนกร” เป็นกระบวนการชวนคุณครูก่อการรุ่น 2 กลับมาทบทวนและแลกเปลี่ยนผลการเติบโต เรียนรู้ ทั้งภายในตัวครูและชั้นเรียนของพวกเขาในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และร่วมกันพัฒนาออกแบบกระบวนการเรียนรู้บนฐานการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงหรือ Authentic Learning พร้อมร่วมสะท้อนย้อนมองทิศทางการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงการศึกษาในอนาคตร่วมกัน

ช่วงเช้าวันแรก เริ่มต้นด้วยกิจกรรมเพื่อให้ครูได้ทักทายและเตรียมพร้อมทำงานร่วมกันอีกครั้ง จากนั้นกระบวนกรจัดกระบวนการให้ผู้เข้าร่วมกลับมาทบทวนตัวเองและแบ่งปันเรื่องราวในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาผ่าน 3 คำถาม

  1. แต่ละคนกลับไปทำอะไรมาบ้าง?
  2. จุดไหนหรือช่วงไหนที่รู้สึกพึงพอใจ หรืออะไรคือปัจจัยของความสำเร็จ?
  3. การเปลี่ยนแปลงที่เห็นเป็นรูปธรรมในตัวเอง นักเรียน หรือเพื่อนครูในโรงเรียน ?

แล้วแบ่งกลุ่ม 5 คนแลกเปลี่ยนกันทีละข้อและวนไปจนครบ 3 ข้อ จากนั้นแบ่งปันในวงใหญ่

ช่วงบ่าย เริ่มต้นด้วยกิจกรรมสันทนาการเพื่อเตรียมพร้อมหัว กาย ใจ ก่อนเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้เรื่อง Authentic learning กระบวนกรสาธิตห้องเรียนสมมุติสองแบบคือ แบบ Lecture based learning และแบบ Authentic learning ด้วยเนื้อหาเรื่องการจำแนกพืช (plants taxonomy)

โดยให้ครูคนแรกสอนด้วยวิธีการให้อ่านข้อมูลและสอบเพื่อวัดผลทันที เป็นตัวอย่างการเรียนรู้ที่เกิดจากความทรงจำเพียงอย่างเดียว ส่วนห้องเรียนที่สองครูจะให้ทดลองจัดแผงผักจากประสบการณ์ของนักเรียนและทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนในกลุ่ม ก่อนจะเติมความรู้เรื่องการจัดประเภทพืชทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม จากนั้นลองให้นักเรียนจัดจำแนกหมวดหมู่ของผักใหม่ ปิดท้ายด้วยคำถามเรื่องการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน เมื่อจบกิจกรรมกระบวนกรชวนครูแกนนำรุ่นที่ 2  สะท้อนสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ พบว่า

การเรียนและการสอนที่มีความหมาย ต้องเชื่อมโยงกับประสบการณ์ชีวิตจริง ค่อยๆ ทำให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของความรู้ของตนเอง และนำพาการเรียนรู้ไปทีละขั้น

หลังจากนั้น จึงให้ผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสออกแบบการเรียนการสอนตามหลักการดังกล่าวร่วมกัน โดยทีมกระบวนกรเติมเครื่องมือและความรู้เพื่อช่วยในการออกแบบการเรียนรู้ได้แก่

หนึ่ง การใช้ Authentic Design Canvas เพื่อช่วยในการคิดองค์ประกอบ 6 เรื่องของแผนการสอนที่ครบถ้วนและเชื่อมโยงกัน เช่น ผลลัพธ์การเรียนรู้ กระบวนการ กิจกรรม การประเมินผล เป็นต้น

สอง แนวคิดการเรียนรู้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือ Transformative Learning Curve ที่แบ่งออกเป็น 5 ขั้น 1) ขั้นตอนการ intro เป็นกระบวนการเตรียมความพร้อมและสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน 2) การกระตุ้น ทำให้ผู้เกิดความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นและอยากเรียน 3) การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ทำให้นักเรียนเข้าใจและรับรู้ถึงกาเรียนรู้ในวิชานั้นๆ อย่างชัดเจน 4) การสรุปผลการเรียนรู้ที่เกิดจากการสะท้อนตัวเอง กลุ่มย่อย และกลุ่มใหญ่ และ 5) การนำความรู้ใหม่ไปเชื่อมโยงกับประสบการณ์เก่า สร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ และการนำไปใช้ประโยชน์

และ สาม การประเมินผล เพื่อตอบคำถามถึงผลสำเร็จที่เชื่อมโยง Head, Heart, Hand ว่าตรงกับวัตถุประสงค์ที่ออกแบบไว้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการให้นักเรียนประเมินกันเอง การติดตามพฤติกรรมระหว่างเรียนกับหลังจากเรียน เมื่อเรียนรู้เรื่อง Authentic Learning แล้ว จึงแบ่งกลุ่ม 5 ลงพื้นที่ตลาดศาลายา เพื่อค้นหาโจทย์การเรียนรู้ นำกลับมาช่วยกันออกแบบการเรียนการสอนเพื่อทดลองการสอนเป็นทีมในวันถัดไป

วันที่สอง ครูถูกแบ่งกลุ่มกลุ่มละ 5 คน ทดลองกระบวนการเรียนรู้ตามที่ออกแบบไว้บนโจทย์ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงภายในเวลา 30 นาที และให้เปิดพื้นที่ให้สะท้อนว่าการเรียนการสอนเป็นอย่างไรในสายตาของผู้สอน ผู้เรียน และผู้สังเกตการณ์ภายนอกหลังจากจบกระบวนการระหว่างกันและกัน 15 นาที  โดยแบ่งเป็นสามห้อง ห้องละ 5 กลุ่ม

ก่อนที่ช่วงค่ำ จะเป็นการทบทวนการเรียนรู้ของตัวเองด้วยกระบวนการ Intuitive Writing โดยให้แต่ละคนทบทวนการเรียนรู้จากการเข้าร่วมโมดูล 3 แล้วเขียนความคิดที่ผุดออกมาโดยไม่ต้องคัดกรองด้วยความรู้สึกถูกผิด ควรไม่ควร แต่บันทึกอย่างตรงไปตรงมาและซื่อสัตย์กับตัวเอง ก่อนจะอ่านให้เพื่อนในกลุ่มย่อยฟังตามความสมัครใจโดยไม่ต้องอธิบาย เพื่อฝึกเผชิญหน้ากับความรู้สึกต่างๆ ไม่ว่าความสั่นประหม่า ความกลัวถูกตัดสิน หรือการสูญเสียภาพลักษณ์ เป็นต้น ปิดท้ายด้วยการมอบของขวัญด้วยการกล่าวชื่นชมความงดงามของเพื่อนที่แต่ละคนเห็น

วันที่สาม เริ่มต้นด้วยกระบวนการถอดบทเรียน “ความรู้ที่ทำให้เป็นครูที่ดีขึ้นคืออะไร” ครูต่างร่วมกันถ่ายถอดจนได้ชุดความรู้ที่น่าสนใจหลายประการ เช่น ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กหลายแบบ ๆ ในห้อง ครูต้องปรับตัวให้เข้าวิถีการเรียนรู้ของเด็กที่แตกต่างกัน ออกแบบกระบวนการที่ “จริง” กับเด็กแล้วค่อยเขียนแผนการสอนเป็นเอกสาร การสรุปหรือจุดลงของ Learning Curve มีความสำคัญไม่แพ้จุดพีค กระบวนการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องดีเลิศไปทางใดทางหนึ่ง แต่ควรกลมกล่อมสมดุลทั้ง Head-Heart-Hand และการให้ความเป็นธรรมกับการประเมินเด็กที่มีความแตกต่างหลากหลาย

ก้าวสู่โมดูลสุดท้าย “ครูปล่อยแสง” เป็นเวทีสาธารณะที่เปิดพื้นที่ให้คุณครูสื่อสารสิ่งที่ค้นพบจากการเปลี่ยนแปลงทั้งเกิดขึ้น โดยใช้กระบวนการ Open Space ระดมประเด็นที่ครูก่อการรุ่น 2 ต้องการส่งต่อให้กับสังคมมาตรงกลางวง เพื่อได้ประเด็นและจึงให้จัดกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนาเป็นเวิร์กชอปในงานตามประเด็นความสนใจ ประเด็นที่เกิดขึ้น เช่น โค้ดสะดิ้ง – Coding for Life, คิด-เล่น-เห็น-ชาติ, โลก/ซึม/เศร้า, พื้นที่ปลอดภัย, Self Love, วิทยาศาสตร์เพื่อคนพิเศษ, มองให้ได้เห็น ฟังให้ได้ยิน สัมผัสให้รู้สึก, Meaningful Classroom, เข้าใจไหมนักเรียนวัยรุ่น, เกมเพื่อการศึกษา, Inner Art อนุบาลไม่ใช่โรงเรียน

ปิดท้ายการอบรมในช่วงบ่าย หารือถึงทิศทางของก่อการครูโดยครูผู้ก่อการทั้งสองรุ่น เพื่อขับเคลื่อนสังคมผ่านการศึกษาร่วมกัน โดยมีกลุ่มก่อการครูรุ่น 1 ที่ขับเคลื่อนในเชิงพื้นที่ เครื่องมือ และประเด็น มาเชื่อมร้อยต่อยอดหรือนำเสนอพื้นที่ เครื่องมือ และประเด็นใหม่ ๆ เช่น โฮงเฮียนเวียนสอน, บอร์ดเกม, ก่อการครูเขาใหญ่, ก่อการครูสุพรรณ, ก่อการครูสังกัด กทม., ก่อการครูชายแดนเหนือ, ก่อการครูหนองจอก, ก่อการครูวิทย์ปล่อยแสง, ห้องเรียนประชาธิปไตย, ก่อการครูสกลนคร, ก่อการครูศิลปะ, ก่อการรัก ดูแลเรื่องสุขภาพจิต, และครูสายรุ้ง แบ่งปันไอเดียการเรียนการสอนของเด็กพิเศษ เป็นต้น

บันทึกหลักสูตรแกนนำครูรุ่นที่ 2 โครงการก่อการครู ครูบันดาลใจ จุดไฟการเรียนรู้
โมดูล 3 “พัฒนาและออกแบบกระบวนการเรียนรู้” วันที่ 19-21 ตุลาคม 2562 ณ ห้องประชุมเอมเมอรัล โรงแรมเดอะ รอยัล เจมส์ กอล์ฟ&รีสอร์ท

[pdfjs-viewer url=”https%3A%2F%2Fwww.leadershipforfuture.com%2Fwp-content%2Fuploads%2F2019%2F12%2F%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B9-2-%E0%B9%82%E0%B8%A1%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B8%A5-3-script-191019-21-final.pdf” viewer_width=100% viewer_height=1360px fullscreen=true download=true print=true]

ภาพกิจกรรม คลิก

Your email address will not be published.