เปลี่ยน ‘โรงเรียน’ เป็น ‘โรงเล่น’ ผ่านการออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้
Reading Time: 2 minutesการออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้ : เมื่อผู้ร้ายกลายเป็นผู้ช่วยในห้องเรียน
เกมมักเป็นผู้ร้ายในสายตาของสังคม เพราะมันดึงดูดความสนใจและเวลาของนักเรียนให้ไปสนใจเกมมากกว่าการเรียนเนื้อหาวิชาการต่างๆ เกมจึงกลายเป็นเสมือนผู้ร้ายในสายตาของคุณครูและผู้ปกครองส่วนใหญ่ แต่เรากลับไม่ค่อยตั้งคำถามว่า เกมทำงานกับความคิดของเด็กอย่างไร และทำอย่างไรให้ผู้ร้ายกลายเป็นผู้ช่วยในการสร้างแรงดึงดูดความสนใจของนักเรียน
วันนี้เราจึงอยากชวนให้คุณมาร่วมจุดไฟการเรียนรู้ ผ่าน “ห้องเรียนออกแบบการเรียนรู้ผ่านเกม” โดยวิทยากร ดร. เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และทีม DeSchooling Game โดย เถื่อนเกม ภายใต้โครงการก่อการครู โดยคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อจะช่วยดึงหัวใจแห่งการเรียนรู้ของเด็กกลับคืนมา
ทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ
หนึ่งในปัญหาการศึกษาในบ้านเรา คือ เราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับกระบวนการคิด และทักษะของผู้เรียน มากเท่ากับเน้นการท่องจำเนื้อหาจนเกิดสุภาษิตที่ว่า ‘ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง’ ซึ่งในโลกปัจจุบัน การเข้าถึงเนื้อหาเป็นเรื่องที่ง่ายเพียงปลายนิ้ว แต่สิ่งที่เด็กๆ ขาดหายคือไฟแห่งการเรียนรู้ โจทย์ใหญ่คือ “เมื่อเขาไม่ได้รู้สึกอยากเรียนรู้ แล้วทำอย่างไรให้ผู้เรียนรู้สึกอยากเรียนรู้ด้วยตัวของเขาเอง”
ศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ พานิช ผู้เขียนหนังสือ ‘ครูเพื่อศิษย์ สร้างห้องเรียนกลับทาง’ ได้อธิบายไว้ว่า “คำว่า ‘กลับทาง’ หมายถึง แทนที่เราจะสอนเนื้อหาแล้วเหมือนให้นักเรียนมา Download เนื้อหาจากเรา ลองเปลี่ยนมาใช้วิธีการ Interactive Learning หมายถึง ปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนด้วยกัน และผู้เรียนกับผู้สอน ทำอย่างไรให้ห้องเรียนของเราเป็นพื้นที่จำลองสถานการณ์ให้เขาได้ลองใช้ความคิด ความรู้ และทักษะของเขามาใช้ได้อย่างถูกต้อง” ดังนั้น สิ่งสำคัญในการเรียนการสอนคือ ต้องทำให้นักเรียนรู้สึกสนุก ตื่นเต้น และอยากที่จะค้นหาความรู้ต่างๆ ด้วยตนเอง
ทำไม ‘เกม’ ถึงเป็น ‘คำตอบ’
จุดสำคัญของการทำเกมเพื่อการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่ความสนุก แต่ผู้เรียนต้องได้ลงมือทำ และทำให้เขารู้สึกมีอารมณ์ร่วม และมีประสบการณ์ร่วมในเรื่องราวนั้นๆ เกมเพื่อการเรียนรู้จะมีองค์ประกอบสำคัญ 3 อย่าง คือ
- Fun (ความสนุก)
- Feel (ความรู้สึก)
- Find (ค้นหา)
ฉะนั้นเกม คือ การจำลองสถานการณ์ จำลองบทบาท และจำลองประสบการณ์ให้พวกเขาได้ทดลองใช้มันเพื่อสำรวจตัวเอง ดึงเอาศักยภาพภายในตัวเองออกมา มันคือวิธีการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกเป็นส่วนเดียวกับเนื้อหา ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถจดจำและเข้าใจความรู้เหล่านั้นให้อยู่ในเนื้อในกายของพวกเขาอย่างยาวนาน
เกมเป็นเครื่องมือปลูกการเรียนรู้ เมื่อปลูกเสร็จต้องได้ลงมือทำ นี่คือหัวใจของการทำเกมเพื่อการเรียนรู้
การที่เราถ่ายทอดเนื้อหาวิชาการ เหมือนเป็นการให้ข้อมูล แต่ยังไม่เป็นความรู้ ข้อมูลจะเป็นความรู้ได้ก็ต่อเมื่อมันกลายเป็นประสบการณ์ แต่ในบริบทห้องเรียนเป็นเรื่องยากที่เขาจะสามารถลงมือทำได้จริงๆ ดังนั้น การที่เราใช้เกมเท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้เขาจำลองประสบการณ์ ได้ลองใช้พื้นที่ของเกมเป็นสนามทดสอบข้อมูลที่เขาได้รับมา ลองผิดลองถูก สร้างปฏิสัมพันธ์ และเรียนรู้จากตนเองและผู้อื่น การใช้เกมในฐานะพื้นที่จำลองสถานการณ์จะตอบโจทย์ลักษณะการเรียนรู้ของผู้เรียนรุ่นใหม่ที่สำคัญคือ
- ชอบสิ่งที่น่าสนใจ
- ชอบสำรวจ
- ได้ทดลองทำจริง
- เรียนรู้จากผลตอบกลับ
หากดูตามลักษณะดังกล่าว จะเห็นว่า เกมสามารถที่จะตอบสนองต่อลักษณะการเรียนรู้ของผู้เรียนรุ่นใหม่ทั้ง 4 ข้อได้ นี่คือพื้นที่ที่เกมสามารถนำไปใช้ได้ในห้องเรียน
วิชาออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้ 101
เวลาที่เราจะทำเกมสักเกมหนึ่ง เราต้องคำนึงว่า ใครคือผู้เล่นของเรา จากนั้นคิดต่อว่า เนื้อหาที่จะใช้ในเกมควรจะเป็นเรื่องใด เช่น เรื่องมาตราตัวสะกด ป.5, การเท่ากันของเศษส่วน, การบวกลบเลข 2 หลักสำหรับเด็กพิเศษ เป็นต้น
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงในการออกแบบเกมเพื่อการเรียนรู้คือ นักเรียนจะรู้เรื่องนี้ไปทำไม ไม่ได้หมายความว่า มันมีประโยชน์อย่างไร แต่พวกเขาจะเอาเกมและเนื้อหาเหล่านี้ไปทำอะไรและนำไปใช้อย่างไร เพื่อให้เกมที่เราออกแบบมาตรงจุดประสงค์ที่เราอยากให้เขาได้รับ เป้าหมายของการพัฒนาเกม คือ เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอนในห้องเรียนควบคู่ไปกับการสร้างความสนุก และความรู้สึกที่ทำให้เขาได้ค้นหา โดยมี Step ดังนี้
Step 1: เกมของเรา เกี่ยวข้องกับประเด็นใด กลุ่มเป้าหมายคือใคร
Step 2: ตอบคำถามเพื่อการออกแบบเกม ในประเด็นดังนี้
- ใครต้องรู้
- รู้เรื่องอะไร
- รู้ไปทำไม (อยากให้ผู้เล่นเอาเรื่องนี้ไปใช้อย่างไร)
- ขอบเขตที่จะเรียนรู้
- วิธีการเล่น (อยากให้ผู้เล่นเรียนรู้ในมิติใด)
- อยากให้อารมณ์ระหว่างเล่นเป็นอย่างไร
เมื่อตอบคำถามข้างต้นได้หมดแล้ว ทีนี้เราก็มาลองพัฒนาเกมในรูปแบบ Human-Centered Design หรือ การออกแบบโดยยึดผู้ใช้งานเป็นหลัก โดยแบ่งเป็น 4 ขั้นตอนดังนี้
บางครั้งการออกแบบเกมอาจใช้เวลานานเป็นเดือนๆ เพื่อพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สิ่งสำคัญคือ อย่าท้อถอยหากการเอาไปใช้ในห้องเรียนครั้งแรกอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่จงตั้งใจพัฒนามันออกมาให้ดีกว่าเดิม ในช่วงแรก ลองจับคู่ผลัดกันเล่นกับเพื่อนครู เพื่อดู Feedback ก่อนนำไปใช้ในห้องเรียนจริงๆ หากพบว่าเกมมีจุดบกพร่องจะได้แก้ไขได้ทันก่อนที่จะถึงมือของผู้เรียน
เปลี่ยน ‘โรงเรียน’ ให้กลายเป็น ‘โรงละเล่น (เพื่อการเรียนรู้)’
ถ้าโรงเรียนคือ สถานที่ที่เด็กใช้เวลาส่วนมากทำกิจกรรมในแต่ละวัน มันคงจะดีไม่น้อยหากสถานที่นั้นเป็นที่ที่ทำให้พวกเขารู้สึกสนุก มีความสุข และช่วยให้เขาสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ดี
โรงเรียนควรเป็น สถานที่ให้เขาได้ทดลองใช้ชีวิตและเรียนรู้ทักษะต่างๆ แต่ในความเป็นจริงเรากลับให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่จะสอนในแต่ละวันมากเกินไป จนหลงลืมว่า ชีวิตวัยเด็กมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเรียนรู้ ทักษะอีกหลายอย่างที่จำเป็นต่อตัวเขาและเธอในอนาคต เมื่อเด็กๆ มาโรงเรียนด้วยความรู้สึกที่อยากมาสนุก อยากมาทำกิจกรรม เรียนรู้ทักษะต่างๆ และเมื่อเด็กๆ รู้สึกว่า โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยและเป็นพื้นที่สำหรับพวกเขาจริงๆ เมื่อนั้นเด็กจะอยากเรียนรู้เรื่องราวอื่นๆ โดยที่เราไม่ต้องออกคำสั่ง เขาจะอยากเข้าห้องสมุดด้วยความรู้สึกที่ว่า ‘ฉันอยากรู้’ ไม่ใช่ ‘ฉันถูกบังคับให้ต้องรู้’ ดังนั้น เกมจึงเป็นผู้ช่วยมือดีที่จะช่วยทำให้พวกเขารู้สึกสนุก ตื่นเต้น ทดลองทำ และเรียนรู้มันด้วยตัวของเขาเอง เราจึงอยากชวนคุณมาร่วมเปลี่ยนคำว่า โรงเรียน ให้กลายเป็น โรงเล่น (เพื่อการเรียนรู้) เพื่อความสุขร่วมของครูและนักเรียน