“เราต่างมี Learning style เป็นของตัวเอง”
โจทย์ของการศึกษา คือการเรียนรู้ที่ไร้ขอบ
Reading Time: 2 minutes
ว่ากันตามตรง การศึกษาไทย คลำไปตรงไหนก็ดูจะเต็มไปด้วยปัญหา และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการก็ดี รวมทั้งเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูง ในหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา สิ่งที่พบคือ การกำหนดนโยบายใหม่เพื่อแก้ปัญหาการศึกษาของชาติ การยกเลิกโครงการเดิมเพื่อจัดทำโครงการใหม่ โดยไม่คำนึงถึงความต่อเนื่องและผลสัมฤทธิ์ของโครงการ นโยบายหลายอย่างมุ่งไปสู่การเรียกร้องความนิยมในช่วงเวลาสั้นๆ โดยไม่คำนึงผลเสียระยะยาว หลายโครงการทำเพื่อหาผลประโยชน์ในทางทุจริตที่ปรากฏอยู่ตามหน้าข่าวไม่ขาดตา หรือกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ปัญหาที่แท้ไม่เคยถูกแก้ ซ้ำเติมด้วยปัญหาใหม่ ที่มาในนามของการแก้ไขปัญหา
นี่คือวัฏจักรของระบบการศึกษาไทย ที่กำลังถูกตั้งเรียกร้องทั้งรากฐานวิธีคิดและวิธีปฏิบัติรูปแบบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเติบโตของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานโลกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
ทักษะที่เราต้องมี VS ระบบที่เราต้องอยู่
เวลาเรานึกถึงการศึกษาในโลกยุคใหม่ โลกที่วิทยาการต่างๆ จึงมีวิวัฒนาการในอัตราเร่ง โลกที่ย้อนกลับไป 20 ปี ความรู้ใหม่เกิดขึ้นทุกๆ 8 ชั่วโมง ขณะที่ปัจจุบัน มีความรู้ใหม่เกิดขึ้นทุกๆ 12 ชั่วโมง สังคมมนุษย์กำลังหมุนด้วยเทคโนโลยีและพลังของการเปลี่ยนแปลง ไม่มีอาชีพใดยืนยงถาวร อาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ขณะที่ การศึกษาถูกออกแบบมาราวกับว่า เด็กคนหนึ่งจะเรียนจบและทำงานเดิมไปตลอดชีวิต
คำถามที่ว่า “โตไปจะทำอาชีพอะไร” จึงอาจไม่มีความจำเป็นอีกแล้วในปัจจุบัน
เพราะคำถามที่สำคัญกว่านั้น การศึกษาจะสามารถให้ทักษะแก่ผู้เรียนที่มีความแตกต่างหลากหลาย และมีความสนใจเฉพาะได้อย่างเพียงพออย่างไร
ในรายงาน The Future of Jobs โดย World Economic Forum ปี 2025 ได้สำรวจ 10 ทักษะที่ตลาดแรงงานทั่วโลกต้องการ ได้แก่
- การคิดเชิงวิเคราะห์ และการสร้างนวัตกรรม (analytical thinking and innovation)
- การเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม และมีกลยุทธ์การเรียนรู้ (active learning and learning strategies)
- ความสามารถในการแก้ปัญหาซับซ้อน (complex problem solving)
- การคิดและวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ มีวิจารณญาณ (critical thinking and analysis)
- ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นต้นแบบ ไม่ซ้ำใคร (creativity, originality and initiative)
- ความเป็นผู้นำ และการมีอิทธิพลต่อสังคม (leadership and social influence)
- ความสามารถในการใช้ ควบคุม ดูแลเทคโนโลยี (technology use, monitoring and control)
- ความสามารถในการออกแบบเทคโนโลยี และเขียนโปรแกรม (technology design and programing)
- การจัดการความเครียด ยืดหยุ่น และรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ (resilience, stress tolerance and flexibility)
- การให้เหตุผล การแก้ปัญหา และการระดมแนวคิด (reasoning, problem-solving and ideation)
เราต่างมี Learning style เป็นของตัวเอง
238,707 คน คือตัวเด็กไทยที่หลุดออกจากระบบการศึกษา สำรวจโดยกระทรวงศึกษา
ส่วนข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ระบุว่า วัยรุ่นไทยอายุ 10-19 ปี ประมาณ 1 ใน 7 คน และเด็กไทยอายุ 5-9 ปี ประมาณ 1 ใน 14 คน มีความผิดปกติทางจิตประสาทและอารมณ์
ยังไม่นับรวมข้อมูลอีกหลายชุดที่บอกตรงกันว่า ผู้เรียน ผู้สอน ตลอดจนทุกคนในระบบนิเวศการศึกษา เผชิญหน้ากับสภาวะวิกฤติทางการเรียนรู้ โหยหาอิสรภาพความสนุกสนานในการศึกษา และสูญเสียเวลาในการเติบโตไปกับกรอบหลักสูตรที่ไม่หลากหลาย ไม่ตอบโจทย์ และเข้มงวด
การศึกษาไทยปัจจุบันมีลักษณะและบรรยากาศที่ตึงเครียด ขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงเร็ว ผันผวน และมีความไม่แน่นอนสารพัด ความรู้เดิมไม่น้อยในระบบการศึกษากลายเป็นความรู้เก่าไปอย่างรวดเร็ว และหากเราเลื่อนกลับไปดูทักษะที่จำเป็นในโลกอนาคตอันใกล้อีกครั้ง ความจริงหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ นั่นคือ ระบบการศึกษาไทย ไม่ได้ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดแรงงานโลก และสิ่งนี้อาจนำไปสู่วิกฤติและการสูญเสียโอกาสอย่างเลี่ยงไม่ได้
ครั้นเราจะมองหาทางออกของการแก้ไขระบบการศึกษาให้ยืดหยุ่นสอดคล้องกันผู้เรียนและผู้สอนที่หลากหลาย เรากลับพบความจริงที่ว่า ผ่านมากว่า 2 ทศวรรษเป็นอย่างน้อย ที่ไทยไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาได้
กระนั้นพื้นที่เหนือจรดใต้ทั่วประเทศไทย ยังคงมีคนกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยกระจายตัวสร้างแหล่งการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ผ่านชุมชน การเรียนรู้จากของเล่น หรือวิชาที่ไม่มีสอนอยู่ในห้องเรียน การเรียนรู้ที่ไม่จำกัดรูปแบบเหล่านี้เกิดขึ้นและดำเนินงานด้วยอุดมการณ์เดียวกัน นั่นคือ การสร้างทางเลือกให้กับการศึกษาไทย เพราะแต่ละคนมีความแตกต่างหลากหลาย การเรียนรู้ก็ย่อมไม่มีคำตอบตายตัวเช่นเดียวกัน
นี่จึงเป็นที่มาของการพาสำรวจตัวอย่างพื้นที่การเรียนรู้นอกห้องเรียน 9 แห่ง ซึ่งอาจเป็นทางออกของปัญหาระบบการศึกษา ผ่านการเรียนรู้ที่จะพาผู้หาคำตอบและตอบโจทย์ความต้องการของชีวิตสำหรับคนทุกวัย พร้อมทั้งสร้างสายสัมพันธ์อันเข้มแข็งระหว่างแหล่งการเรียนรู้ ครอบครัว ชุมชน หรือกระทั่งการศึกษาในระบบ
ถึงที่สุด โลกปัจจุบันกำลังเรียกร้องให้ผู้เรียนต้องรู้ตนเองว่า ‘เขาเรียนรู้ได้ดีที่สุดในแบบไหน’ ซึ่งสิ่งนี้จะโยงสู่การเตรียมพื้นที่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นเพียงพอ สำหรับผู้เรียน และผู้สอน ที่จะสามารถมองหา Learning style ที่เหมาะกับตนเองได้