รัฐไทยไม่ใช่เจ้าของการศึกษา
‘มหาลัย’ไทบ้าน’ โจนทะยานสู่ความเป็นไทในห้องเรียนสีชมพู
Reading Time: 3 minutes
ฉากหนึ่งของจังหวัดขอนแก่นถูกขนานนามว่า ‘ขอนแก่นโมเดล’ จากแผนพัฒนาเมืองของกลุ่มเอกชนให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city) หน้าตาของจังหวัดถูกปรับเปลี่ยนเหมือนภาพฝัน ความเจริญถูกโปรโมทบนจอภาพสามมิติ กระทั่งการประโคมข่าวของภาครัฐ ทว่าห่างออกไปสุดขอบจังหวัดขอนแก่น ประมาณ 100 กิโลเมตร การเข้าถึงของถนนหนทางราบเรียบ อินเตอร์เน็ต น้ำปะปา หรือไฟฟ้า ของ ‘อำเภอสีชมพู’ เรียกได้ว่า อยู่ในสภาพขี้ริ้วขี้เหร่ แม้ที่แห่งนี้จะมีต้นทุนทางธรรมชาติและทัศนียภาพงดงาม แต่ราวกับไม่มีผู้ใดมองเห็น
“มันเหลื่อมล้ำ เมืองขอนแก่นถูกเรียกว่า Smart City แต่ทำไมบ้านของเราไม่ Smart เลย”
สัญญา มัครินทร์ เกิดและเติบโตที่อำเภอสีชมพู เขาใช้เวลา 15 ปีเต็ม ไปกับการเป็นครูในระบบการศึกษา กระทั่งการมาของโรคระบาดโควิด-19 ครูสัญญาต้องกลับบ้าน นั่นคือช่วงเวลาที่เขาได้พินิจรายละเอียดบ้านเกิดของตนเองอีกครั้ง ก่อนพบว่า บ้านของเขามีความงามไม่แพ้ที่ใด
ในเวลาเดียวกัน การศึกษาที่มุ่งตอบโจทย์อุดมการณ์รัฐ ผ่านการตีกรอบและกดทับ นักเรียนไร้อิสรภาพในการเรียนรู้ คุณครูไร้อิสรภาพในการออกแบบห้องเรียน ตำราเรียนที่มุ่งตอบโจทย์ความเชื่อของรัฐกลายเป็นความจริงอันสูงสุดที่มิอาจตั้งคำถามขัดแย้ง ไปจนถึงการแทรกแซงและแทรกซึมของอำนาจนิยมทุกซอกหลืบของระบบการศึกษา คือฟางเส้นสุดท้ายของเขาในฐานะ ‘ครูในระบบ’
“เรารู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่ากับการเป็นครูในระบบ เรารู้สึกว่า ‘วันจันทร์อีกแล้วเหรอ’ วิธีคิดของเรากับระบบการศึกษามันไปคนละทาง เราต้องเจออำนาจนิยม การจัดอันดับ (ranking) การศึกษาแบบควบคุม เราเลยตัดสินใจลาออกเพื่อนับหนึ่งใหม่ คือการก่อตั้งมหาลัยไทบ้าน”
สัญญาหันหลังให้ห้องเรียนสี่เหลี่ยม เขาหอบกระเป๋ากลับบ้าน เพื่อสร้างห้องเรียนแห่งใหม่ที่ไร้กรอบกำแพงกั้น โดยมีตนเองเป็นนักเรียนคนแรก
เที่ยววิถีสีชมพู
แรกเริ่มเดิมที สัญญาและเพื่อนพ้อง ปรารถนาให้สีชมพูกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชน เขาและเพื่อนเริ่มสำรวจประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ เส้นทางการท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติ และต้นทุนของพื้นที่โดยมีจักรยานเป็นยานพาหนะคู่ใจ
“จุดเด่นของที่นี่ยังมีความเป็นชุมชนชนบทชัดเจนมาก พื้นที่ของเราอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน มีทรัพยากรสำคัญคือเขาหินปูน มีเรื่องราวของนักต่อสู้และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ เพราะเป็นพื้นที่คอมมิวนิสต์เก่า คนยุคก่อนเขาต่อสู้เรื่องที่ดินทำกินมายาวนาน”
กลุ่ม ‘เที่ยววิถีสีชมพู’ ก่อตั้งขึ้น โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นสิ่งดึงดูดและสร้างการมีส่วนร่วม ในแบบฉบับของตัวเอง นั่นคือการเข้าไปสานสัมพันธ์กับกลุ่มคนที่จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ ทั้งคนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการ เกษตรกร โรงเรียน ภาคเอกชนในพื้นที่ รวมไปถึงหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อชวนเขาเหล่านั้นมาออกแบบพื้นที่และกิจกรรมผ่านกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีผลประโยชน์ของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ
“การที่เราพาเด็กขึ้นไปบนภูเขา ทำให้เด็กๆ ได้รู้ว่า อีกฝั่งหนึ่งของภูเขาถูกสัมปทานให้เหมืองหินปูน ภูเขาลูกนี้อาจจะหายไปถ้าเราไม่ได้มาใส่ใจกับมัน เราใช้การเรียนรู้กับการท่องเที่ยวเป็น soft power ซึ่ง soft power ไม่ได้หมายความว่าต้องใส่ชุดไทยหรือทำอาหารไทยเหมือนที่รัฐบอก แต่คือการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ให้เด็กได้เชื่อมชุมชนเข้ากับประสาทสัมผัสทุกมิติ อันนี้เป็น soft power ที่ทรงพลัง”
“พอเราทำเรื่องการท่องเที่ยว ชุมชนรู้สึกมีส่วนร่วม เพื่อนๆ เขาสนุก ส่วนเราในฐานะครู เราสนใจเรื่องการเรียนรู้ เลยลองเอาเด็กๆ ไปเชื่อมโยงกับเรื่องท่องเที่ยว พาไปเรียนรู้กับธรรมชาติ พาไปเรียนรู้กับชุมชน เราไม่อยากเห็นการท่องเที่ยวที่คนมาใช้เวลาถ่ายรูป แล้วก็กลับไป แต่การเรียนรู้ทำให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนกันกับคนในชุมชน การท่องเที่ยวอาจช่วยเพิ่มรายได้ชุมชนในระดับหนึ่ง แต่การเรียนรู้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝั่ง พวกเราเลยขยับมาก่อตั้งเป็นมหาลัยไทบ้าน”
ไทมุง / ไททอร์ค / ไททำ / ไททริป ของ ‘ไทบ้าน’
มหาลัย’ไทบ้าน ได้รับแนวคิดจาก ‘มหาลัยเถื่อน’ โดยกลุ่มมะขามป้อม พวกเขาเชื่อเรื่องการเรียนรู้ในความสัมพันธ์เชิงแนวระนาบ หมายถึงการไม่ผูกขาดอำนาจที่ใครคนใดคนหนึ่ง นั่นทำให้พื้นที่ของมหาลัยไทบ้าน ทุกคนสามารถเป็นได้ทั้งนักเรียนและครู ผ่านกระบวนการสลับบทบาท ผลัดกันเรียน เปลี่ยนกันสอน แล้วกระบวนการเรียนรู้ที่ว่า มีหน้าตาอย่างไร
หลักสูตรของมหาลัยไทบ้าน คือการกินอยู่ร่วมกันเป็นเวลา 4 วัน 3 คืน ผ่านกิจกรรม 4 ส่วน คือ
- ไทมุง – วงสนทนาสำหรับการฟุ้งและฝัน แลกเปลี่ยนไอเดียกันไปมา เพื่อสร้างความสัมพันธ์ของผู้คนแปลกหน้า มีตั้งแต่วงไทมุงแบบจริงจัง นั่งเก้าอี้ล้อมวง ปูเสื่อ หรือกระทั่งวงไทมุงแบบอิสระ
- ไททอล์ก – การเรียนการสอนจากประสบการณ์ที่แตกต่างกัน โดยการเชิญูคนนอกพื้นที่และคนในพื้นที่มาแลกเปลี่ยนเรื่องราวประสบการณ์จากหลากหลายอาชีพ เช่น ผู้สื่อข่าวภาคสนาม นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ปี 1 นักเขียนนิยายวัยมัธยม อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย วิศวกร ฯลฯ
- ไททำ – การเรียนรู้ภาคปฏิบัติ ผ่านการลงมือและลงภาคสนามในอำเภอสีชมพู อาทิ การทดลองทำสาโทโดยมีครูภูมิปัญญาในพื้นที่เป็นผู้สอน หรือการลองทำ ‘หลามปลาช่อน’ ในไร่เกษตรผสมผสานของคนในชุมชน รวมไปถึงการได้ลองสร้างศิลปะจากหินในธรรมชาติ
- ไททริป – การใช้เวลาไปกับการเล่น การเที่ยว เอาตัวเองออกไปสัมผัสกับวิถีชีวิตของชุมชนที่หลากหลายในตำบลผานกเค้า อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย อย่างการไปเที่ยว ‘บ้านม้าไทย’ ของนักบุกเบิกการท่องเที่ยวโดยชุมชนและนักพัฒนาเกษตรอินทรีย์ หรือการไปเยือน ‘ไร่โนอาร์ 100 ไร่’ พื้นที่ปลอดสารเคมี และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ฯลฯ
“มหาลัยไทบ้านเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เราพยายามสร้างทางเลือกให้กับคนในระบบ นั่นเพราะมีครูแบบเราไม่น้อยนะที่เจ็บปวด (suffer) ในระบบการศึกษา พวกเราเลยอยากทำให้เห็นว่า มันมีความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการเรียนรู้ เช่น การใช้รากฐานชุมชนเป็นฐาน”
“มันจำเป็นที่ต้องมีพื้นที่เช่นนี้ เราพบว่ามีคนที่ไม่โอเคกับระบบและคนที่โหยหาการเรียนรู้ที่ไร้กรอบ ไร้ชั้น โรงเรียนกระแสหลักพยายามจัดการศึกษาเหมือนโรงงาน มันทำให้ชีวิตชีวาของการเรียนรู้หายไป”
ถึงที่สุด ‘มหาลัย’ไทบ้าน’ ปรารถนาจะรื้อฟื้นชีวิตชีวาของผู้คน ปรารถนาถักทอความสัมพันธ์ที่ขาดวิ่น ระหว่างชุมชน การเรียนรู้ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และปรารถนาให้ชุมชนกลับมาแข็งแรงได้ด้วยตนเอง ภายใต้โครงสร้างที่กดทับคุณภาพชีวิตจนบี้แบน
พวกเขาเชื่อว่า การเรียนรู้ควรยืนอยู่บนอัธยาศัยอันหลากหลายของมนุษย์ ควรยืนอยู่บนประโยชน์ที่จับต้องได้ เราต่างรู้ว่าระบบการศึกษาภายใต้การดูแลของราชการมีลักษณะตรงข้ามกับข้างต้น นี่จึงเป็นเหตุผลและความจำเป็นของการ ‘มีอยู่’ และ ‘ดำรงอยู่’ ของมหาลัยไทบ้าน และการบุกเบิกอันกล้าหาญของคนสีชมพู