การเงินส่วนบุคคล ที่ส่งผลกับทั้งครอบครัว ครูอิงอิง โรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์
Reading Time: 2 minutesหากชวนทุกคนมาเสนอวิชาที่ช่วยพัฒนาครู เชื่อว่าจะได้รับคำตอบหลักๆ อย่างวิชาเสริมเทคนิคและพัฒนาแนวการสอน วิชาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือใหม่ๆ ไปจนถึงวิชาบูรณาการเนื้อหาในห้องเรียนเข้ากับชีวิตประจำวัน แต่วันนี้ครูคนหนึ่งมีคำตอบอื่นที่น่าสนใจ
คุณครู ‘อิงอิง’ ศิริวิมล เวียงสมุทร โรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ จังหวัดหนองบัวลำภู หนึ่งในคุณครูจากโครงการโรงเรียนปล่อยแสง ซึ่งชวนเรามาเดินจับจ่ายซื้อของที่ตลาดข้างโรงเรียนและบอกว่า วิชาที่ตนเองได้ไปเรียนมาแล้วคิดว่าสำคัญมากกับทั้งคุณครูและนักเรียน คือวิชา “การเงินส่วนบุคคล”
“ปัญหาการเงินเป็นเรื่องใหญ่และสร้างความเครียดให้ครอบครัวเราพอสมควร หลายครั้งเรายังใช้เงินแบบเดือนชนเดือนเหมือนกัน เราเป็นครูที่บรรจุเข้ามาได้ไม่กี่ปี ยังไม่มีวิทยฐานะหรือฐานเงินเดือนสูง อีกด้านหนึ่งก็เป็นแม่มือใหม่ที่มีลูกสาววัย ๑๐ เดือน และก็เป็นลูกคนโตของบ้านที่ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ เรามีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในแต่ละเดือนไม่น้อยเลย”
ถึงสังคมจะมองว่าอาชีพครูหรืออาชีพรับราชการนั้นเป็นอาชีพที่มั่นคง แต่จากข้อมูลทางสถิติรายงานว่าครูไทยกว่า 4 แสนรายทั่วประเทศ หรือกว่า 80% ของครูทั้งหมดนั้นมีภาวะหนี้สิน โครงการโรงเรียนปล่อยแสงจึงเปิดวิชาการเงินส่วนบุคคลสำหรับครูโดยเฉพาะขึ้น และครูอิงอิงก็ชักชวนสามีซึ่งเป็นคุณครูโรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์ด้วย เข้ารับการอบรมเพื่อหาทางแก้ปัญหาครอบครัวนี้ไปพร้อมๆ กัน
วางแผนการเงิน “ส่วนบุคคล”
วิชา “การเงินส่วนบุคคล: รู้ก่อน ทำก่อน รวยกว่า” ที่ครูอิงอิงเข้าอบรม เป็นหนึ่งในหกวิชาของ “ตลาดวิชา” โมดูลที่สองของโครงการโรงเรียนปล่อยแสง ดำเนินกิจกรรมโดยวิทยากรจากธนาคารแห่งประเทศไทย มีเนื้อหาครอบคลุมตั้งแต่การช่วยให้ครูได้เรียนรู้วิธีการคำนวณแผนการจัดการทางการเงินของตัวเอง ทั้งการย้อนกลับมาบันทึกและประเมินค่าใช้จ่าย คำนวณหนี้สินที่มีอยู่ รวมถึงออกแบบวิธีการเก็บออมที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล ไปจนถึงการวางแผนเงินใช้หลังเกษียณ
“หลักๆ คือเขาสอนให้รู้คุณค่าของเงิน และภัยคุกคามเรื่องการเงินพื้นฐานว่าพฤติกรรมการใช้เงินและการออมของเราเป็นอย่างไร เรื่องเงินใช้หลังเกษียณก็มีโปรแกรมให้เราใส่ตัวเลขว่าเป้าหมายส่วนตัวของเราอยากมีเงินใช้หลังเกษียณเท่าไหร่ เครื่องมือจะช่วยคำนวณให้ว่าก่อนเกษียณเราต้องเก็บออมเดือนละเท่าไหร่ ใช้ได้เดือนละเท่าไหร่ ซึ่งจำนวนเงินหลังเกษียณที่เราอยากใช้สูงมาก พอคำนวณออกมาแล้วเป็นไปไม่ได้ที่จะทำได้ตามนั้น ความต้องการของเราสูงเกินไปจนลืมไปว่าเราไม่สามารถเก็บเงินได้มากขนาดนั้น วิชานี้ทำให้เข้าใจสุขภาพทางการเงินของตัวเรามากขึ้น”
โดยทั่วไปอาชีพข้าราชการครูจะมีการหักเงิน 3% จากเงินเดือนทุกเดือนเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แต่ครูอิงอิงก็เล่าอีกแง่มุมว่า ครูมีเงินออมส่วนนี้อยู่จริง แต่ไม่สามารถถอนมาใช้ได้ยามฉุกเฉิน จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเกษียณแล้วเท่านั้น คนเป็นครูจึงหวังพึ่งแต่เงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการไม่ได้ ต้องรู้จักอดออม เก็บเงินสำรองไว้ใช้ยามฉุกเฉินด้วย
ระหว่างการอบรมช่วงคำนวณค่าใช้จ่าย ครูอิงอิงและสามีนั่งคำนวณรายรับ-รายจ่ายด้วยกัน เพราะครอบครัวนี้จัดการเงินโดยรวมเงินเดือนของทั้งสองคนเข้าด้วยกัน และให้ครูอิงอิงรับผิดชอบนำเงินไปจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ในแต่ละเดือน
“ถ้าเรามีความรู้ตั้งเเต่เเรกก็คงจะมีวิธีคิดในการใช้เงินมากกว่านี้ มีระบบระเบียบมากกว่านี้ แล้วเราก็น่าจะวางแผนการใช้เงินมากกว่านี้ ตอนเรียนจบแล้วทำงานมีเงินเดือน เราก็อยากใช้เงินเดือนของตัวเอง อยากได้อะไรก็ซื้อมาตลอด พอได้เข้าอบรมถึงคิดได้ว่า เฮ้ย! เราควรมีเงินฉุกเฉิน มีเงินสำรองมีเงินเก็บ เพราะอาจจะมีเหตุให้เราต้องใช้เงินก้อนใหญ่เมื่อไรก็ไม่รู้ อาจจะเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าอุบัติเหตุ หรือค่าชำระหนี้ต่างๆ ตัวเราน่าจะระมัดระวังการใช้เงินมากกว่านี้ แต่ที่ผ่านมาเราไม่มีภูมิคุ้มกันในการใช้เงินก็เลยใช้เงินสะเปะสะปะ”
การคำนวณครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ทั้งคู่ได้รับรู้รายรับและรายจ่ายทั้งหมดของครอบครัว และผลลัพธ์ปรากฏว่า เงินของครอบครัวกำลังติดลบ
ปรับเปลี่ยนการเงิน “ส่วนครอบครัว”
“เรารู้ปัญหาตัวเองนะ ใช้เงินเดือนชนเดือน แต่ไม่เคยแน่วแน่ตั้งใจจะแก้ปัญหาจริงๆ ปล่อยผ่านมาตลอด จนสุดท้ายก็เป็นปัญหาเรื้อรัง พอตัวเลขในโปรแกรมคำนวณออกมาติดลบตัวแดง ตอนนั้นเราต้องยอมรับความจริงว่าถึงจุดที่ต้องปรับตัวได้แล้ว”
วันเข้าร่วมอบรมวิชาการเงินส่วนบุคคลจึงเป็นวันที่สองสามีภรรยาได้เริ่มนับหนึ่ง ปรับเปลี่ยนการเงินของครอบครัวใหม่ ด้วยความตั้งใจว่าจะมีวินัยทางการเงินมากกว่าเก่า
ครูอิงอิงเล่าว่าพอสามีรู้ว่าค่าใช้จ่ายในการเข้าสังคมของตนเองนั้น บางเดือนเป็นเงินก้อนใหญ่กว่าค่านมลูกน้อยเสียอีก หลังจากวันนั้นเขาก็แทบจะไม่กินเลี้ยงสังสรรค์กับเพื่อนๆ เลย ยกเว้นงานสำคัญๆ อย่างงานเลี้ยงเกษียณครูอาวุโส
“ปกติหลังเลิกเรียน เขาจะไปเตะบอลกับเพื่อนครู แล้วก็ไปกินข้าวกันต่อ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ไปเลย กลับมากินข้าวที่บ้าน ค่าใช้จ่ายยิบย่อยที่ตัดได้ เราตัดหมดเลย แต่ช่วงแรกๆ ไม่ง่าย เพื่อนๆ ก็แปลกใจ แต่โชคดีที่เรามีเพื่อนที่เข้าใจว่าเรามีภาระอะไรบ้าง และเราต้องคอยบอกกันเองในครอบครัวอยู่เรื่อยๆ ว่าจะเอาบรรทัดฐานการใช้จ่ายเงินของครอบครัวอื่นมาเทียบไม่ได้”
ความพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงิน ยังสร้างความเข้าใจเรื่องความสุขของครอบครัว เพราะการรัดเข็มขัด ประหยัดอดออม ก็ทำให้เกิดความเครียดและความกดดัน เกิดคำถามว่าทำไมพวกเขาไม่ได้ทำหรือไม่ได้มีสิ่งต่างๆ ที่ครูอายุเท่าๆ กันมีบ้าง แต่คำถามเหล่านี้ก็ค่อยๆ หายไป เมื่อครูอิงอิงกับสามีได้ย้อนคิดว่า สิ่งไหนคือความสุขของตนเองจริงๆ และจุดไหนคือตรงกลางระหว่างการให้รางวัลตัวเองและการมีสุขภาพทางการเงินที่มั่นคง
“เราเคยถามกันว่าปิดเทอมอยากไปเที่ยวไหม เห็นคนอื่นไปเที่ยวเราก็รู้สึกอยากไปเหมือนกันนะ แต่พอคุยกันจริงๆ ก็รู้ว่าเราแค่อยากลองเพราะเห็นคนอื่นทำ ถ้าได้ทำจริงๆ ความสุขนั้นก็อาจเติมใจเราได้ไม่นาน แลกด้วยการใช้เงินเยอะมาก พอคิดได้แบบนี้เราทั้งคู่ก็เลือกใช้เงินกับความสุขที่อยู่กับเราได้นานๆ เป็นความต้องการของเราจริงๆ อย่างสามีชอบไก่ชนมาก เขาก็จะใช้เวลาวันหยุดปิดเทอมอยู่บ้าน เลี้ยงไก่ เล่นกับลูก ส่วนเราจะแบ่งเงินเก็บส่วนเล็กๆ ไว้ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยบ้างบางครั้ง เรายังเป็นคนเดิมที่ยังอยากได้นู่นนี่ แต่ก็มีวินัยมากขึ้น”
ทุกเดือน คุณครูอิงอิงจะแบ่งเงินจากรายรับเก็บเป็นเงินออมไว้ให้ลูกใช้ตอนโต และเก็บเล็กผสมน้อยจากเงินที่เหลือจากการจับจ่ายใช้สอยรายวัน พร้อมกับบันทึกลงในสมุดสติ๊กเกอร์เพื่อติดตามสถานะทางการเงินของตัวเอง
สิ่งที่เปลี่ยนไปมากที่สุดหลังการอบรม คือการที่สามีภรรยาพูดคุยเรื่องการเงินของครอบครัวกันจนเป็นเรื่องปกติ
“เมื่อก่อนเราจะไม่พูดเรื่องเงินกับสามีเลย เพราะกลัวว่าถ้าเขารู้ว่าสุขภาพการเงินของครอบครัวไม่ดีแล้วจะเครียด แต่พอเราได้เห็นตัวเลขติดลบด้วยกันวันนั้น เราเห็นปัญหาครอบครัวชัดขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น แล้วก็พูดคุยเรื่องนี้กันมากขึ้น เรารู้สึกว่าได้แก้ปมปัญหาชีวิตของครอบครัว รู้สึกว่าครอบครัวตัวเองโชคดีจริงๆ ที่ได้รับโอกาสแบบนี้”
เริ่มต้นออมเงินในห้องเรียน
หลังจากเข้าอบรม ครูอิงอิงย้อนระลึกถึงเมื่อยังเป็นเด็กที่เธอถูกสอนให้ออมเงินเช่นกัน แต่ตอนนั้นเธอเข้าใจว่าการออมเงินคือการเก็บเงินไปซื้อในสิ่งที่เราอยากได้ ตอนนี้เธอจึงอยากจะส่งต่อแนวคิดการบริหารจัดการเงินให้กับนักเรียน ว่าเงินสามารถนำไปต่อยอดได้มากกว่านั้น
“เป็นเรื่องที่เด็กๆ ควรจะได้เรียน มันสำคัญมาก โรงเรียนเรามีเด็กหลายคนที่เรียนจบมัธยมแล้วต้องเริ่มทำงาน เราจึงคิดว่าถ้าวิชานี้อยู่ในหลักสูตรด้วยก็น่าจะดีนะ”
ถึงแม้ว่าครูอิงอิงจะสอนวิชาภาษาไทย ซึ่งไม่ได้มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเรื่องการเงินนัก แต่เธอก็มักหาวาระโอกาสในวิชาโฮมรูม พูดคุยปลูกฝังเรื่องการรู้คุณค่าของเงินกับเด็กๆ ประจำชั้นของตัวเองอยู่เสมอๆ
“เด็กๆ อาจไม่ต้องคิดไกลถึงขั้นวางแผนเงินตอนเกษียณแบบเรา แต่เราก็อยากให้เขารู้คุณค่าของเงินที่ได้รับมาและกำลังจะใช้ไปในวัยของเขา เราใช้วิธีชวนให้เด็กๆ มาคำนวณเงินของตัวเอง คล้ายๆ ที่เราไปอบรม แต่ปรับนิดหน่อย คือให้เขาคำนวณดูว่าเงินที่ได้มาโรงเรียนแต่ละวัน คิดเป็นสัดส่วนเท่าไรของรายรับของที่บ้าน แล้วให้นักเรียนย้อนดูว่าเขาใช้จ่ายเงินที่ได้รับมานี้อย่างไร เอาไปใช้จ่ายกับอะไรมากน้อยแค่ไหน แล้วนักเรียนคิดว่าได้ใช้เงินส่วนนี้อย่างเกิดประโยชน์หรือยัง”
ในปีการศึกษานี้ ครูอิงอิงได้เป็นครูประจำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เธอจึงทำโครงการเล็กๆ ในห้องของตัวเองโดยชวนเด็กๆ ออมเงินระยะยาว โดยไม่ต้องตั้งเป้าหมายว่าจะออมให้ได้เท่าไร หรือจะเอาไปใช้จ่ายซื้อของอะไร
“เหมือนการชวนเด็กๆ ทำชาเลนจ์ท้าทายตัวเอง ชวนเขามาดูว่าถ้าออมเงินไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ขึ้น ม.4 จนจบ ม.6 นักเรียนจะออมเงินได้เท่าไร ก็มีเด็กหลายคนเอาด้วย การฝึกออมเงินครั้งนี้จะช่วยติดวิธีคิดและแง่มุมบางอย่างให้พวกเขาไปใช้ตอนโตเป็นผู้ใหญ่”
เรื่องราวของครูอิงอิง คุณครูมือใหม่ที่บริหารจัดการเงินของตัวเองไม่ได้ แต่หลังจากได้โอกาสเข้าอบรมกับโรงเรียนปล่อยแสง ได้รับรู้ปัญหาของตัวเองและค่อยๆ แก้ไปพร้อมกับครอบครัวอย่างน่าชื่นใจ ทำให้น่าคิดไม่น้อยว่าขณะที่การเงินเป็นเรื่องใหญ่ แต่ทำไมเราจึงไม่ค่อยได้เรียนวิชานี้กัน และคุณครูหลายคนก็ยังสอบวิชานี้ในชีวิตจริงไม่ผ่าน
วิชาการเงินอาจไม่ใช่วิชาแรกๆ ที่จะถูกหยิบยกขึ้นมาเมื่อพูดถึงการพัฒนาครู และมักถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เมื่อครูมีความรู้และความตระหนักในวินัยทางการเงิน ก็จะบริหารจัดการชีวิตของตัวเองและครอบครัวให้มีความมั่นคง สามารถดำรงสถานภาพความเป็นครูได้อย่างสง่างาม เป็นตัวอย่างของการใช้ชีวิตในโลกจริงกับโลกในโรงเรียนที่อาจช่วยส่งต่อความมั่นคงทางการเงินให้แก่นักเรียนต่อไป