ก่อการครู – Korkankru

Reading Time: 3 minutes ครบรอบ 1 ปีของโครงการโรงเรียนปล่อยแสง โรงเรียนนำร่องทั้ง 6 ได้ย้อนดูการเปลี่ยนแปลงของตนเอง ทั้งอุปสรรคที่ก้าวข้าม บทเรียนที่ได้เรียนรู้ ทบทวนภาพฝันของห้องเรียนที่อยากสร้าง แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนต่างโรงเรียน เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจให้กันและกัน Jul 6, 2023 3 min

ถอดบทเรียน 6 โรงเรียนปล่อยแสง ย้อนรอยเส้นทางการเรียนรู้ที่ผลิบาน

Reading Time: 3 minutes

“รู้สึกตื่นเต้นพอสมควร เพราะปีนี้เป็นครั้งแรกที่เรามารวมกันพร้อมหน้าทั้ง 6 โรงเรียน หลังจากที่อบรมโมดูลต่างๆ ของโครงการ ก็ไม่มีโอกาสมาเจอกันแบบนี้ ต่างคนต่างอยู่โรงเรียนของตัวเอง ค้นหาโจทย์และพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของโรงเรียนตามประเด็นที่แตกต่างกัน  วันนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะได้มาแลกเปลี่ยนและสะท้อนการเรียนรู้กันว่า โรงเรียนฉันมีโจทย์แบบนี้ เกิดการเรียนรู้แบบนี้ ของโรงเรียนเธอล่ะเป็นอย่างไร” 

อธิษฐาน คงทรัพย์ หรืออาจารย์เปิ้ล หัวหน้าโครงการโรงเรียนปล่อยแสงและผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงานถอดบทเรียนรวมในรอบ 2 ปีของโครงการฯ เมื่อปลายเดือนเมษายน 2566 โดยครูจากโรงเรียนที่เข้าร่วมทั้ง 6 โรงเรียนได้มาเข้าร่วมในฐานะโรงเรียนปล่อยแสง ผูกมิตรใหม่ โชว์ แชร์ และเชื่อมโยงประสบการณ์ เหมือนมาส่องแสงให้กันและกัน ขยายความเข้าใจของครูสู่มุมมองใหม่ๆ และอาจช่วยให้เข้าใจโจทย์ของโรงเรียนตนเองได้ดีขึ้นด้วย

เส้นทางที่เราผ่านมา

กระดาษแผ่นยาวมอบให้ครูแต่ละโรงเรียนใช้บันทึกแทนไทม์แมชชีนย้อนไปในอดีต ทบทวนว่าที่ผ่านมาเคยได้เข้าร่วมกิจกรรมใดของโครงการ เข้าเรียนวิชาหรือเวิร์กช็อปไหน  หลังเรียนเสร็จได้ประกายความคิดหรือเกิดไอเดียนำไปลงมือทำกิจกรรมอะไรต่อบ้าง อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในวงเพื่อนครู หรือวิธีการสอนในห้องเรียน  

กลุ่มครูจากทุกโรงเรียนค่อยๆ ทบทวนเขียนทุกผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงทั้งเล็กและใหญ่ ใช้เวลาไม่นานกระดาษที่ยาวเป็นเมตรๆ ก็เต็มไปด้วยภาพและตัวอักษรบ่งบอกเส้นทางที่ผ่านมา

ย้อนกลับไปเมื่อเริ่มต้นโครงการในเดือนเมษายน 2565 ครูเกือบทุกคนจะเข้าอบรมโมดูล 1 ชื่อ “ครูคือมนุษย์ สำรวจภูมิทัศน์ภายในของความเป็นครู” เพื่อเข้าใจผู้อื่นและผู้เรียนมากขึ้น และสำหรับครูผู้บริหารจะมีห้องพิเศษ “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างแรงบันดาลใจ” ต่อด้วยโมดูลที่ 2 คือตลาดวิชา 6 ห้องเรียน คือ ศาสตร์และศิลป์แห่งการเรียนรู้, ครูกล้าแสดง, Creative Learning, ห้องเรียนแห่งรัก, ทักษะการโค้ชเพื่อครู และวิชาการเงิน รู้ก่อนทำก่อน รวยกว่า ซึ่งเปิดให้ครูเลือกเข้าเรียนเพื่อติดเครื่องมือตามความสนใจ  ตามด้วยโมดูลที่ 3 Authentic Learning ฝึกการเป็นกระบวนกร  และปิดท้ายด้วยการประเมินผลการเรียนรู้

หลังจากนั้นเข้าสู่การพัฒนานิเวศรายโรงเรียน ทั้งกิจกรรมออนไลน์ I like I wish I dream เพื่อหาว่าแต่ละโรงเรียนสนใจจะพัฒนานิเวศการเรียนรู้ด้านไหน อยากเห็นโรงเรียนเป็นอย่างไร และโรงเรียนกับโครงการจะจับมืออะไรกันได้บ้าง ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีแนวทางและสิ่งที่อยากได้ไม่เหมือนกัน

เมื่อทุกโรงเรียนเขียนเส้นทางการเรียนรู้ของตนเองบนกระดาษเสร็จ ก็ถึงเวลาให้ครูผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน เล่าเรื่องราวของโรงเรียนตนเอง และฟังเรื่องราวของโรงเรียนอื่นๆ 

ขยายความสัมพันธ์รอบตัว “ครู” : โรงเรียนสุจิปุลิ

โรงเรียนสุจิปุลิขับเคลื่อนหลักสูตรฐานสมรรถนะผสมผสานกับการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) มาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่อยากพัฒนาต่อคือ “การเสริมพลัง” ให้ครูเห็นคุณค่าของตนเองในฐานะมนุษย์และในฐานะครู ซึ่งหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรม Empowerment และทักษะการโค้ชเพื่อครู  การดูแลหัวใจตนเองของครูก็มีมากขึ้น รับรู้คุณค่าที่ตนยึดถือ และเข้าใจธรรมชาติที่ตนเองเป็น 

การเข้าใจตนเองยังนําไปสู่การสร้างพื้นที่สำหรับโอบอุ้มและเข้าใจคนอื่น ผ่านการฟังแบบไม่ตัดสิน ทั้งในการทํางาน และกับผู้ปกครองของนักเรียน  

การฟังช่วยทลายกําแพงที่ขวางกั้นระหว่างกัน สร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ได้สัมผัสถึงศักยภาพและคุณค่าของอีกฝ่ายด้วยหัวใจที่เป็นกลาง

บูรณาการห้องเรียนด้วย Team teaching : โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุง

โรงเรียนศรีรักษ์ราษฎร์บำรุงเปี่ยมล้นด้วยบุคลากรที่มีศักยภาพหลายด้าน  แต่ความท้าทายที่โรงเรียนพยายามก้าวข้าม คือรูปแบบการสอนที่มีครูเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ ซึ่งส่งผลให้การเรียนรู้ในมิติหลากหลายหยุดชะงัก  โรงเรียนจึงมุ่งไปที่การสร้างวงพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนาการทำงานเป็นทีม สนับสนุนให้ครูก้าวข้ามความกลัวหรือขอบเขตการเรียนรู้ของตนเอง ผลักดันวัฒนธรรมการทํางานที่เปิดพื้นที่ลองผิด-ลองถูก 

กระบวนการเหล่านี้นำมาสู่ “การจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบกลุ่ม (team teaching)” เชื่อมโยงองค์ความรู้และบูรณาการต่อไปยังหมู่บ้านและกลุ่มวิชาชีพในละแวกใกล้เคียง เกิดเป็น “หลักสูตรชุมชนที่สร้างเสริมอาชีพต่อตัวเด็ก” ทำให้การเรียนรู้สามารถต่อยอดไปสู่การมีรายได้ เด็กสามารถเลี้ยงตนเอง และสนับสนุนองค์ความรู้ภายในชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

ชุมชนคือเพื่อนร่วมทาง : โรงเรียนบ้านกาเนะ

โรงเรียนบ้านกาเนะรายล้อมไปด้วยวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ชุมชนมุสลิมที่เข้มแข็ง และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนโดยรอบ จึงอยากพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะที่เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงจากวิถีชีวิตชุมชน  โรงเรียนจึงมุ่งเน้นที่การสร้างความเข้มแข็งของภาคี ดึงชุมชนและผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม ผ่านกิจกรรมเปิดวงคุยและร่างหลักสูตรที่นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาบูรณาการในห้องเรียนอย่างเป็นรูปธรรม

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลแล้ว คือครูสามารถเอาชนะความกังวลกับเรื่องการวัดผลการเรียนรู้ของเด็กที่ครูต่างแบกรับมาตลอด  ครูมีความกล้าริเริ่มไอเดียการสอนที่แปลกใหม่ และมั่นใจมากขึ้นในการออกแบบการเรียนรู้และกิจกรรม Active Learning โดยเพิ่มอรรถรสการเรียนรู้ด้วย “ของดีในชุมชน” ให้เด็กรู้จักและเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่รายล้อมรอบตนเอง

เปลี่ยนห้องเรียนในฐานะผู้อำนวยการเรียนรู้ : โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม

โรงเรียนเขาน้อยเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่ครูมีความสัมพันธ์กับเด็กอย่างใกล้ชิด และมีเป้าหมายคือการสร้างสรรค์วัฒนธรรมห้องเรียนใหม่ที่ครูและเด็กเท่าเทียมกัน ท้าทายวัฒนธรรมห้องเรียนเดิมที่ให้ผู้เรียนเป็นผู้รับความรู้ ลดการใช้อำนาจและเปลี่ยนให้ครูเป็น “ผู้อำนวยการเรียนรู้” แทน

การเปลี่ยนแปลงเริ่มจากครูไม่กี่คน แต่เมื่อเพื่อนครูในโรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการ มีเครื่องมือและความกล้ามากขึ้น ต่างก็เห็นภาพสะท้อนของเพื่อนร่วมอาชีพว่า “เราทุกคนสามารถเปลี่ยนห้องเรียนได้” เกิดคลื่นการเปลี่ยนแปลงจากระดับภายใน กระเพื่อมสู่ครูคนอื่นๆ ให้กล้าคิด กล้าออกแบบ และนำไปปฏิบัติ ซึ่งเห็นผลจากการสะท้อนของผู้เรียนว่า พวกเขาสัมผัสได้ว่าครูเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้อย่างแท้จริง

สร้างทีมครูที่แข็งแกร่งจากความสามารถที่หลากหลาย : โรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์

โรงเรียนคำแสนวิทยาสรรค์เป็นโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับโรงเรียนอื่นๆ ในโครงการ ด้วยจำนวนครูหลักร้อย จำนวนนักเรียนหลักพัน  ความท้าทายที่โรงเรียนเผชิญ คือการสร้างความเป็นเอกภาพที่คงไว้ซึ่งความหลากหลายของเพื่อนครูต่างประสบการณ์ ต่างช่วงวัย ต่างกลุ่มสาระวิชา 

หลังจากการเข้าร่วมกิจกรรม Team Building ครูแต่ละคนได้เรียนรู้การสร้างพลังร่วมในทีม (team spirit) เห็นมุมภาวะผู้นำของตนเอง กับภาวะผู้นำของเพื่อนร่วมงานในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งนําไปสู่การยอมรับในความแตกต่าง ความเชื่อใจ การวางใจในวิธีการสอนแบบใหม่ที่เพื่อนเสนอ เปิดใจเรียนรู้และเข้าใจตัวตนของเพื่อนครู นำความต่างของแต่ละคนมาสนับสนุนกันและกัน

เมื่อครูเข้าใจในเรื่องทีมก็ได้นำความรู้ความเข้าใจนี้ส่งต่อแก่นักเรียนในเรื่องการเคารพความแตกต่างหลากหลาย ลดการกลั่นแกล้ง ล้อเลียน หรือรังแกกัน (Bullying) ในโรงเรียนอีกด้วย

ประสานความเข้าใจในนิเวศการเรียนรู้ : โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์

โรงเรียนศรีนครินทร์วิทยานุเคราะห์มีหลักสูตรและกระบวนการสอนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ โดดเด่นเรื่องการเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนมีโอกาสเติบโตอย่างเป็นธรรมชาติผ่านสิ่งแวดล้อมรอบตัวและการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม พร้อมกับบูรณาการหลักสูตรที่สอดคล้องกับชุมชนและวัฒนธรรมท้องถิ่น ให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ ทดลองและถอดบทเรียนจากประสบการณ์จริง 

อุปสรรคของโรงเรียน คือการออกแบบกระบวนการตรวจประเมิน เพื่อวัดผลสมรรถนะผู้เรียนให้เหมาะสมกับหลักสูตรเฉพาะของโรงเรียน และยังมีปัญหาการสร้างความเข้าใจให้บุคลกรเห็นภาพหลักสูตรตรงกัน

หลังจากเข้าร่วมอบรมหลักสูตรฐานสมรรถนะและการประเมิน ครูได้เห็นภาพรวมของโรงเรียนมากขึ้น เข้าใจทิศทางและแนวทางการขับเคลื่อนองค์กรชัดเจนขึ้น เกิดการประสานความเข้าใจและภาพฝันระหว่างครูผู้ปฏิบัติและผู้บริหาร  นอกจากนี้การอบรมยังช่วยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงาน เกิดความร่วมมือที่แน่นแฟ้นขึ้น ขยายสู่ชุมชนและภาคีเครือข่ายอื่นๆ 

การเรียนรู้ที่ผลิบาน

กิจกรรมการถอดบทเรียนร่วมกันวันนี้ ทำให้ครูแต่ละคนได้ย้อนมองเส้นทางการเรียนรู้ของตนเองใหม่อีกครั้ง ได้จุดประกายความคิดจากห้องอบรม ได้ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงเล็กๆ  ได้ลองเชื่อมประสานสร้างนิเวศการเรียนรู้ไปสู่ชุมชน  

ทุกโรงเรียนก่อกองไฟแห่งความเปลี่ยนแปลงขึ้น เล็กใหญ่แตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ผู้บริหาร ครู หรือผู้เรียน 

การเดินทางไกลบนเส้นทางการเปลี่ยนแปลงนี้ ต้องเจอกับสิ่งที่ยาก ท้าทาย เป็นบทเรียนและอุปสรรคสำคัญในชีวิต แต่สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้คุณครูเปลี่ยนแปลง ห้องเรียนเปลี่ยนไป เกิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่สร้างนิเวศที่ดีที่โอบอุ้มการผลิบานของผู้เรียน 

ครูทุกคนไม่ได้เดินอยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่ยังมีเพื่อนร่วมทาง ทั้งเพื่อนครูในโรงเรียน และอีก 5 โรงเรียนในโครงการโรงเรียนปล่อยแสง ที่พร้อมจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งต่อวิธีคิดและกระบวนการสอน ตลอดจนแบ่งปันรอยยิ้มและกำลังใจให้แก่กัน

จนกว่าจะถึงภาพฝันที่โรงเรียนต้องการไปให้ถึง

Array