Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้ ด้านการศึกษา บทความ / บทสัมภาษณ์ บัวหลวงก่อการครู

เวทมนตร์การเรียนรู้เปี่ยมพลัง : เพราะครูต่างมีคาถาวิเศษของตัวเอง2 min read

Reading Time: 3 minutes แม้เราจะไม่ได้อยู่ในโลกแฟนตาซี แต่เวทมนตร์ในห้องเรียนก็สามารถเกิดขึ้นได้ หากครูพยายามสำรวจ เรียนรู้ และเข้าใจพลังงานภายในของตนโดยอาจเทียบเคียงกับศาสตร์ของแม่มดว่าด้วยเรื่องธาตุทั้ง 5 Jun 26, 2023 3 min

เวทมนตร์การเรียนรู้เปี่ยมพลัง : เพราะครูต่างมีคาถาวิเศษของตัวเอง2 min read

Reading Time: 3 minutes

‘เวทมนตร์’ แรกเริ่มได้ยินคำนี้ พานให้นึกถึงความแฟนตาซี ร่ายคาถา เสกสรรค์ปั้นแต่งแร่ธาตุให้กลายเป็นพลังงานชวนตื่นตะลึง ประหนึ่งนวนิยายที่หลายคนหลงรักอย่าง ‘Harry Potter’

ใครบ้างที่ไม่อยากเรียนฮอกวอตส์ หรือใช้ชีวิตในโลกมหัศจรรย์ที่สัตว์พูดได้ เหาะเหินด้วยไม้กวาดและไม่ต้องกังวลรถติดขัดกลางดงคอนกรีตเสริมความร้อน แม้เป็นเรื่องในจินตนาการที่ไกลลิบ แต่ปัจจุบันก็ไม่มีใครบอกเสียหน่อยว่าเวทมนตร์เป็นเรื่องเพ้อฝัน ขอเพียงแค่รู้จักตัวเองดีพอ เราก็มีโอกาสที่จะเป็นอะไรก็ได้ทั้งนั้น

เฉกเช่นเดียวกับการศึกษาในห้องสี่เหลี่ยมที่ไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อหรือหล่อเลี้ยงความอับเฉาให้อนาคตของประเทศ หากมีการพลิกแพลงด้วยกิจกรรมหรือสื่อการสอนที่เกี่ยวข้องกับ ‘เวทมนตร์’ ก็สามารถกล่อมผู้เรียนให้มีสมาธิกับเนื้อหาได้อยู่หมัด ทั้งยังลดปัญหาพฤติกรรมเชิงลบ สร้างความสนุกสนานเพลินเพลิด และสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ระยะยาวให้กับนักเรียนได้ โดยที่ครูผู้สอนไม่จำเป็นต้องยกถังน้ำขึ้นเขาเพื่อฝึกวิชา หรือจำศีลในป่าเป็นสิบปีเพื่อปลุกดวงตาที่สาม หรือต้อง ‘ท่องจำ’ คาถายาวเหยียดและเสาะหานิ้วมือแม่มดหม้ายแห่งป่าดำในแคว้นรูห์ของเยอรมนี ก็สามารถร่ายเวทสอนนักเรียนได้อย่างทรงฤทธานุภาพ 

เวทมนตร์ในที่นี้ จึงหมายถึงความสามารถในการสอนและความสามารถในการดึงศักยภาพของนักเรียนออกมา โดยไม่ยึดติดกับขนบการสอนแบบท่องจำ ในทางหนึ่ง เวทมนตร์เปรียบเสมือนวิธีการสอนที่แปลกใหม่ ไม่จำเจ และมีจุดตั้งต้นอยู่ที่ผู้สอนต้องหาแง่มุมใหม่ ๆ มาใช้ในชั้นเรียนของตน

เวทมนตร์ที่เรียบง่าย เริ่มต้นด้วยจินตนาการของครู

เวทมนตร์แห่งการสุ่ม

เวทมนตร์แห่งจินตนาการ

เวทมนตร์แห่งการแบ่งปัน

เวทมนตร์แห่งธรรมชาติ

เวทมนตร์เรียกสติ

สารพัดเทคนิคของผู้เข้าร่วมโมดูล 2 ชุดวิชาทักษะและเครื่องมือการเรียนรู้ ‘วิชาเวทมนตร์การเรียนรู้เปี่ยมพลัง’ ของโครงการบัวหลวงก่อการครู แสดงให้เห็นว่า การสอนด้วยเวทมนตร์ไม่ได้ยากเกินความสามารถมนุษย์ ครูผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งแบ่งปันว่า เขานิยาม ‘คาถาเรียกแขก’ ขึ้นมาเพื่อขจัดปัญหาที่ต้องสอนในรายวิชาที่ตนไม่ถนัด ทำให้การสอนนอกเหนือวิชาศิลปะไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป

“กระบวนการของผมจะมีการเสกสิ่งของรางวัลให้โดยแจกเงินปลอมที่พิมพ์ใส่กระดาษแข็ง ใครตอบคําถามหรือออกมาทําโจทย์หน้าชั้นเรียนก็ได้รางวัลไป แล้วมานับท้ายเกม ใครได้มากสุดก็รับของรางวัลไป เช่น ดินสอ ปากกา ยางลบ ไม้บรรทัด”

ข้างต้นคือการใช้เวทมนตร์เป็นเทคนิคหนึ่งในการสอน จะเห็นว่าการออกแบบวิธีการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของครูผู้สอนด้วย แต่ในสภาวะปกติ แอนเดรีย เฟอร์ราโร (Andrea Ferraro) อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด เสนอว่า กลวิธีใช้เวทมนตร์ในชั้นเรียนอาจแบ่งได้ 2 กรณี ได้แก่

  • Anticipatory Sets and Lead Ins – คือการใช้ลูกเล่นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในส่วนบทนำเนื้อหา ซึ่งสามารถเปิดจินตนาการให้ผู้เรียนและเสริมสร้างทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ เช่น เมื่อสอนคำศัพท์ให้เด็กเล็ก แทนที่จะอ่านการ์ด หรืออ่านคำบนกระดานดำแล้วให้เด็กพูดตาม ครูผู้สอนอาจเว้นว่างการ์ดนั้นไว้ โดยเขียนคำศัพท์ด้วยน้ำมะนาว และค่อย ๆ เผยว่า เราจะพบคำศัพท์แต่ละคำหากใช้ไฟฉายฉาบทาบไปที่หลังการ์ดใบนั้น ภาพประทับครั้งแรกของการสอนที่เปี่ยมมนตร์ขลังเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ จะทำให้เด็กสนใจเนื้อหาตลอดบทเรียน
  • การเชื่อมโยงเนื้อหา – แน่นอนว่าเวทมนตร์เป็นมากกว่ากลเม็ดหรือแสงไฟฉาย แต่ยังสามารถเป็นข้อต่อเพื่อเชื่อมเนื้อหา อาจเป็นการพับธนบัตร 100 บาท เป็น 4 ส่วน เพื่อสอนเรื่องเศษส่วนทางคณิตศาสตร์ หรือเนื้อหายาก ๆ อย่างเรื่อง ‘แรงโน้มถ่วง’ ที่ ดร.ทาเทียนา อีรูคฮิโมวา (Tatiana Erukhimova) จากมหาวิทยาลัยเท็กซัสเอแอนด์เอ็ม ใช้เชือกผูกล้อรถจักรยานไว้กับแขนแล้วปล่อย ซึ่งมันก็ตกลงมาห้อยต่องแต่งตามแรงโน้มถ่วง ขณะที่หากหมุนล้อจักรยานเสียก่อน เราจะพบว่าล้อจักรยานก็ยังหมุนอยู่เช่นนั้น ไม่ได้ตกลงมา จากนั้นเธอจึงเชื่อมโยงการลอยอยู่ของโลกที่หมุนรอบตัวเองในจักรวาล จะเห็นได้ว่าการเชื่อมโยงความรู้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความหนักเบาของเนื้อหา หากแต่เป็นเวทมนตร์ของผู้สอนนั่นเอง

ปัจจุบันมีสื่อการเรียนการสอนมากมายที่อยู่ใกล้ตัว ไล่เลียงตั้งแต่คำถามเชาว์ปัญญา เกมปริศนา การ์ดไพ่ หรืออาจเป็นการลงทุนกับอุปกรณ์มายากลเพื่อสร้างความบันเทิงและเพิ่มมิติของการสอน กระนั้น หากต้องการประสบผลสำเร็จโดยการสอนแนวทางนี้ ครูผู้สอนต้องเข้าใจตนเองเสียก่อน ซึ่งเฟอร์ราโรเผยเคล็ดลับว่า

  • เริ่มต้นอย่างเรียบง่ายและช้าเข้าไว้ โดยเริ่มจากสิ่งที่ตัวเองสนใจ
  • พัฒนาการใช้เวทมนตร์ที่เหมาะกับบุคลิกและสไตล์การสอนของตน
  • อย่าใช้เทคนิคเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าในชั้นเรียนเดิม เพราะเด็กจะสูญเสียความกระตือรือร้น
  • ใช้เวทมนตร์เป็นครั้งคราว เป็นธรรมชาติ และไม่ควรคาดหวังว่านักเรียนจะเข้าใจบทเรียนจากแนวทางนี้เป็นหลัก
  • เลือกอย่างรอบคอบว่าจะเป็นผู้เลือกนักเรียนหรือให้นักเรียนอาสามีส่วนร่วมในการสอน เพราะอาจทำให้นักเรียนคนอื่นรู้สึกถูกทอดทิ้ง ซึ่งทำให้ได้รับสารที่ไม่เท่ากัน

ขณะที่ บาร์บารา เบรย์ (Barbara Bray) ผู้ร่วมก่อตั้ง Personalize Learning, LLC และร่วมเขียนหนังสือ Make Learning Personal and How to Personalize Learning (2017) ย้ำว่าเวทมนตร์ก็คือ ‘วัฒนธรรม’ ในห้องเรียนของครูแต่ละคน และเป็นหัวใจการเรียนรู้ของเด็ก เสมือนการเปลี่ยนจุดเน้นจากการ ‘สอน’ เป็นการ ‘เรียนรู้’ เกี่ยวกับเด็กแต่ละคน และสรรหาวิธีที่พวกเขาจะสามารถเป็นผู้ขับเคลื่อนการเรียนรู้ของตัวเอง ครูอาจต้องรู้จักสังเกตเด็ก ๆ ก่อนเข้าห้องเรียนและรู้สึกร่วมไปกับพวกเขา เช่น รู้สึกตื่นเต้นที่จะได้เห็นรอยยิ้ม ได้ยินความสุข และโอบรับความสุขจากทุกคนในห้องเรียน

จะเห็นได้ว่า ข้อเสนอของเฟอร์ราโรและบาร์บารา หรือกระทั่งการแบ่งปันของครูที่เข้าร่วมโครงการ ล้วนสะท้อนว่าเวทมนตร์ไม่ใช่สิ่งไกลตัวจากครูผู้สอน ทั้งยังไม่ใช่คู่ปฏิปักษ์กับห้องเรียน การเปลี่ยนมุมมองการสอนเช่นนี้เองที่ทำให้ห้องเรียน นักเรียน และครู ไม่ใช่เพียงผู้พูดและผู้ฟังอีกต่อไป

โมเดล 5 ธาตุ เพื่อจัดการห้องเรียนอย่างลงตัว

แม้ว่าเทคนิคและมุมมองต่อเวทมนตร์จะมีทิศทางที่หลากหลาย แต่ในการจัดอบรม “วิชาเวทมนตร์การเรียนรู้เปี่ยมพลัง” ได้เผยโมเดลบางอย่างที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือสมการง่าย ๆ ที่ครูต้องรู้ก่อนว่าตัวเองเป็นคนธาตุอะไร เพื่อเสริมจุดแข็ง และเติมจุดอ่อน เพื่อจัดการบรรยากาศในชั้นเรียนได้อย่างสมดุล

ผศ.ดร.ปวีณา แช่มช้อย คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับผู้เข้าร่วมโครงการว่า เธอเชื่อว่าครูทุกคนมีเวทมนตร์เป็นของตัวเอง เปรียบได้กับ 5 ธาตุ คือ ดิน น้ํา ลม ไฟ และจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นอีกรูปแบบที่อาจช่วยจัดการพลังงานให้เด็กอยู่กับครูและครูอยู่กับเด็กได้อย่างกลมกลืนมากขึ้น

“ไอเดียเรื่อง 5 ธาตุ มาจากศาสตร์ของแม่มด ซึ่งเป็นศาสตร์โบราณของทางตะวันตกที่ดูแลเรื่องธาตุหรือความสมดุลที่แทนด้วยดวงดาว ผู้คิดค้นคนแรกที่คิดเครื่องหมายนี้คือ พีทาโกรัส” ปวีณากล่าวกับผู้เข้าร่วมโครงการ

1. ธาตุดิน สื่อถึงความมั่นคง ความหนักแน่น ปลอดภัย อบอุ่น ถ้าครูเป็นคนมีธาตุดิน เครื่องมือการสอนก็คือการใช้ ‘พื้นที่’ เพื่อจัดการการเรียนรู้ ซึ่งนอกจากจะทำให้นักเรียนรู้สึกมั่นคงแล้ว ครูผู้สอนยังรู้สึกมั่นคงตามไปด้วย

ตัวอย่างคือ การตั้งโจทย์เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้ระบายสิ่งที่อยู่ในใจตอนเช้า ทำให้ชั้นเรียนมองเห็นกันและกัน รู้สึกปลอดภัยมากขึ้น และรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน

หรือการทํากิจกรรมเรียกสติ โดยเฉพาะหลังพักกลางวันที่เด็ก ๆ มักง่วงนอน ครูอาจชวนทํากิจกรรมง่าย ๆ อย่างนั่งสมาธิ นับเลข หรือตบมือ

2. ธาตุลม สื่อถึงความพลิ้วไหวและการสร้างสรรค์ เสมือนบรรยากาศของการสร้างอารมณ์ร่วมให้เด็กอยากเรียน ยกตัวอย่างเช่น การตกแต่งห้องเรียนให้มีพื้นที่ตรงกลางที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าเป็นพื้นที่พิเศษร่วมกัน หรืออาจ ‘เปิดเพลง’ คลอกับการสอน เพื่อเพิ่มการไหลของพลังงานบวก ในบางวิชาอาจใช้นิทานช่วยในการสอน 

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การใช้ละครการศึกษา (Drama in Education) ในวิชาสังคมซึ่งสามารถยกกรณีศึกษาให้เด็ก ๆ แบ่งกันสวมบทบาท เช่น เป็นนักข่าว ตากล้อง ผู้ให้สัมภาษณ์ แหล่งข่าว หรือบุคคลในประวัติศาสตร์ จากนั้นให้ทำสกู๊ปข่าวออกมานำเสนอหน้าชั้น สิ่งนี้อาจช่วยเปิดจินตนาการควบคู่กับความจริงจัง และทำให้บรรยากาศในห้องเรียนถ่ายเทโปร่งโล่งมากขึ้น 

3. ธาตุน้ํา คือความลื่นไหล ความต่อเนื่อง หรือการ ‘ด้นสด’ ในชั้นเรียน ใช้สำหรับกรณีที่ครูเตรียมกิจกรรมมาบางส่วน แล้วค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนกระบวนการสอนและเนื้อหาไปตามสถานการณ์ ดังนั้นการพินิจธรรมชาติการไหลของน้ำจะช่วยเสริมความเข้าใจในส่วนนี้ได้

ตัวอย่างคือ หากเช้านี้เด็กอินดรามา หรือมีเรื่องถกเถียงในสังคมออนไลน์และไม่สนใจกับเนื้อหา สิ่งที่จะทำให้จังหวะของห้องเรียนไปต่อได้ คือกิจกรรมที่ทำให้เด็กต้องคิดและสร้างสรรค์ ณ ตอนนั้น เช่น ให้เล่านิทานต่อกันเป็นทอด ๆ หรือใช้สัญลักษณ์อุปมา เช่น ในวิชาพลศึกษา ครูอาจถามนักเรียนว่า กรณีของ เมสัน กรีนวู้ด (Mason Greenwood – นักฟุตบอล) สะท้อนเหตุการณ์อะไรในสังคม หลังเกิดข่าวทำร้ายร่างกายแฟนสาวของเขา และกีฬาฟุตบอลมีบทบาทอย่างไรต่อประเด็นนี้ ก่อนชักชวนเข้าสู่เนื้อหาการสอนต่อไป

4. ธาตุไฟ คือความอยากรู้อยากเห็นและความกล้าหาญ คำถามสำคัญคือทําอย่างไรให้เด็กอยากรู้อยากเห็น และครูกล้าหาญที่จะลองการสอนแบบใหม่หรือไม่

ทางออกด้านใกล้ที่สุดคือ การเปลี่ยนห้องเรียนแบบเดิมเป็น Gamification (การเรียนรู้ด้วยเกม) ซึ่งทำให้แม่นยำเนื้อหามากกว่า เพราะทำให้เด็กมีความรู้สึกร่วม มีการแข่งขันและรางวัลที่สามารถโน้มเข้ามาสู่บทเรียนได้ ตัวอย่างเช่น วิชาการงานอาชีพที่สอนเรื่องการซักผ้า ครูอาจแบ่งเป็นกลุ่มนักเรียนให้แข่งขันแบบเป็นทีมกัน โดยมีด่านซักผ้า ตากผ้า เก็บผ้า พับผ้า รีดผ้า หากทีมใดทำได้ทั้งปริมาณและคุณภาพก็เป็นผู้ชนะ โจทย์สำคัญคือการเชื่อมโยงระหว่าง ‘เกม’ กับ ‘การเรียนรู้’ ที่เด็กต้องเป็นผู้ตกผลึกด้วยตนเองมากที่สุด

5. ธาตุจิตวิญญาณ แม้ดูเป็นคำที่ค่อนข้างนามธรรม แต่จิตวิญญาณภายในห้องเรียนจะถูกปลุกก็ต่อเมื่อห้องเรียนมีธาตุทั้ง 4 ข้างต้นอย่างสมดุล เสมือนจุดที่ครูต้องตรวจสอบและประเมินสถานการณ์ภายในห้องว่าขาดธาตุอะไรไป บางวันเด็กอาจมีหัวข้อคุยเรื่องที่เขาสนใจ ครูก็อาจต้องเติมธาตุน้ำหรือนำกิจกรรมด้นสดเข้ามา หากวันไหนเด็กดูง่วงเหงาหาวนอน ก็อาจต้องงคิดเกมที่เป็นธาตุไฟร่วมกับการสร้างสรรค์ของธาตุลมเข้ามาในชั้นเรียน

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ธาตุจิตวิญญาณไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ก่อน แต่เป็นธาตุที่ต้องสร้างขึ้นมาร่วมกันระหว่างนักเรียนและครู

ปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้เราจะไม่ได้อยู่ในโลกแฟนตาซี แต่เวทมนตร์ในห้องเรียนก็สามารถเกิดขึ้นได้ หากครูพยายามสำรวจ เรียนรู้ และเข้าใจพลังงานภายในของตนโดยอาจเทียบเคียงกับศาสตร์ของแม่มดว่าด้วยเรื่องธาตุทั้ง 5 ก็ได้ เพราะท้ายสุด ครูทุกคนล้วนมีหัวใจที่ทำเพื่อผู้อื่น ซึ่งนับเป็นสิ่งพิเศษและมีคุณค่าเป็นทุนเดิม เพียงแต่ถ้าครูค้นพบคาถาที่ตนถนัด นั่นจะยิ่งทำให้บรรยากาศในห้องเรียนสนุกสนานเพลินเพลิด และช่วยให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสค้นพบเวทมนตร์ของตนเองเช่นกัน 

หลังจากจบการอบรม เสียงของครูผู้เข้าร่วมโครงการล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยความตระหนักถึงเวทมนตร์ในตัวและหัวใจของตน ซึ่งกระตุ้นการผลักประตูห้องเรียนให้เป็นมากกว่าห้องสี่เหลี่ยมที่กักขังความเครียดตึงของนักเรียน ความมีชีวิตชีวาเช่นนี้เองที่อาจเป็นบ่อเกิดของการเรียนรู้ที่มีที่ทางของจินตนาการ ความฝัน และความหวังในอนาคตต่อไป

เพราะครูต่างมีคาถาวิเศษของตัวเอง 

“อิ่ม, อิ่ม, ร่าเริงมาก, ออนซอน, เปิดกว้าง, สนุก, สดชื่น, สมองฟู, ตื่นตัว, เจอแล้วนะ, ว้าว, คือดี, สุดยอด, สร้างสรรค์, ดีมาก, เพลิน, ประทับใจ, ว้าว, รับรู้, แปลกใหม่, สิ่งใหม่ ๆ, สนุก, ปวดเข่า, happy, เปิดใจและเปิดกว้าง, ฮักอีหลี, ใจฟู, สุดปัง, ปิ๊งแว็บ, เติมเต็ม, เปิดตา เปิดใจ, แจ่มเลย, ป๊อป, ขลัง, ตื่นตัว ฯลฯ”

เราหวังว่า คำทั้งหลายข้างต้นจะผุดขึ้นได้ในห้องเรียนเวทมนตร์


อ้างอิง

  1. Barbara Bray. (2017). 7 Ideas to Discover Magic in Your Classroom. rethinking learning https://barbarabray.net/2017/08/11/7-ideas-to-discover-magic-in-your-classroom/
  2. Andrea Ferrero. n.d., Magic in the Classroom. Lesson Planet https://www.lessonplanet.com/article/language-arts/magic-in-the-classroom
  3. บันทึกโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ โรงเรียนนําร่องการศึกษาฐานสมรรถนะ “บัวหลวงก่อการครู” (สร้างนิเวศการเรียนรู้) โมดูล 2 : ชุดวิชาทักษะและเครื่องมือการเรียนรู้ วิชา เวทมนตร์การเรียนรู้เปี่ยมพลัง

Your email address will not be published.