Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้ บทความ บทความ / บทสัมภาษณ์ บัวหลวงก่อการครู

ยงยุทธ ศรีจันทร์ : สร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน รับฟังโดยไม่ตัดสิน เข้าใจเด็กในทุกมิติ1 min read

Reading Time: 2 minutes “เมื่อมองย้อนกลับมาที่นักเรียน ผมพบว่า เด็กบางคนไม่จำเป็นต้องเก่งวิชาการ ไม่ต้องสมบูรณ์แบบเหมือนคนอื่น ขอแค่ให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น ยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน แล้วนำมาประกอบกัน ผลงานก็จะสมบูรณ์ Jun 21, 2023 2 min

ยงยุทธ ศรีจันทร์ : สร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน รับฟังโดยไม่ตัดสิน เข้าใจเด็กในทุกมิติ1 min read

Reading Time: 2 minutes

“เรารับฟังเด็กมากขึ้น ทำความเข้าใจเด็กมากขึ้น ฟังโดยที่ไม่จับผิดตัวเด็ก และเชื่อว่าเด็กสามารถตัดสินใจเลือกได้ด้วยตัวเอง”

ผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 โรงเรียนบ้านนาคำหลวง ตำบลนาข่า อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี เล่าให้ฟังว่า หลังจากจบการอบรม ‘โครงการบัวหลวงก่อการครู’ ทำให้ตนเองมองเด็กเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

จากครูที่ต้องการให้เด็กได้รับความรู้ตามมาตรฐานตัวชี้วัด คะยั้นคะยอให้เด็กท่องจำเนื้อหาโดยไม่ใส่ใจพื้นฐานของเด็กแต่ละคนเท่าที่ควร ‘ทักษะการโค้ช’ จากโครงการฯ ทำให้ครูกิ๊ฟมีมุมมองใหม่ต่อเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม และหันไปทำงานร่วมกับครอบครัวและชุมชนมากขึ้น

“ผมนำทักษะนี้ไปใช้กับเด็กที่มีปัญหาทะเลาะวิวาทกัน คือรับฟังเขาว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แล้วถ้าให้เขาเลือกทำอีกครั้งหนึ่ง เขาจะเลือกทำแบบไหน

“มีเด็กคนหนึ่งค่อนข้างดื้อ แต่พอเราไปเยี่ยมบ้านเขา ครอบครัวเขาน่าสงสารมาก แม่ไปทำงานต่างจังหวัด เขาจึงอยู่กับยาย บางทียายต้องไปยืมเงินเพื่อให้เด็กคนนี้ได้ไปโรงเรียน แล้วน้าที่อยู่ด้วยก็ชอบใช้ความรุนแรง พอรู้ภูมิหลังของเด็กคนนี้แล้ว ทำให้ผมเปลี่ยนความคิดไปอีกแบบหนึ่งเลย คำถามคือ เราจะช่วยเหลือเขายังไงล่ะ”

เมื่อเริ่มเปิดใจรับฟังเด็ก ครูกิ๊ฟจึงไม่เพียงสวมบทบาทครูในรั้วโรงเรียน หากยังเริ่มเปิดดวงตามองเด็กในมิติที่หลากหลายมากขึ้น นั่นจึงทำให้เขาเป็นครูที่ดีที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น

ภารกิจเยี่ยมบ้าน สำคัญไม่น้อยกว่างานสอนหนังสือ 

ในช่วงเวลาปกติ ครูกิ๊ฟเล่าว่า ปัญหาในห้องเรียนคือความไม่ได้สัดส่วนของจำนวนนักเรียนและครู ในชั้นเรียนที่ครูกิ๊ฟรับผิดชอบ มีจำนวนเด็ก 35 คนต่อครู 1 คน และครู 1 คน ยังต้องรับผิดชอบนักเรียนหลายระดับชั้น ทำให้ไม่สามารถดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึง 

เมื่อถึงช่วงปิดเทอม ยาเสพติดเริ่มแพร่ระบาดในเด็กนักเรียนบางกลุ่ม แม้ปัญหานี้จะลากยาวมาตั้งแต่ช่วงโรคระบาดโควิด-19 แต่ครูกิ๊ฟมองว่า สาเหตุหนึ่งมาจากครอบครัวของเด็กเอง

“เท่าที่คุยกับเด็ก เด็กบอกว่าผู้ปกครองไม่เข้าใจ เมื่อผู้ปกครองไม่เข้าใจ เด็กก็ออกจากบ้าน ผู้ปกครองก็ไม่ได้ถามเหตุผล ผมจึงไปคุยกับฝั่งผู้ปกครอง บางท่านไม่รู้จักประนีประนอม ใช้มุมมองของตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่มองมุมเด็กเลย ทำให้ปัญหายาเสพติดยังคงอยู่”

“ผมใช้ทักษะการฟังโดยไม่ตัดสินและทักษะการตั้งคำถาม ทำให้เด็กเปิดใจมากขึ้น ตัดสินใจได้ดีขึ้น สุดท้ายเขาก็เปลี่ยนตัวเอง เขากลับมาได้ ผมก็ดีใจกับเขา อาจจะกลับมาไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ผมดีใจมากกับเด็กที่กลับมาได้”

เมื่อถามถึงภาระหน้าที่ ครูกิ๊ฟชี้ว่า เวลาส่วนใหญ่ของครูหมดไปกับการทำงานเอกสาร เช่น เขียนแผนปฏิบัติการ สรุปโครงการ จัดทำรายงาน ทำรายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา ทั้งที่ครูควรจะมีเวลาเตรียมแผนการสอน ออกแบบการสอน หรือดูแลเด็กได้มากกว่านี้

ครูกิ๊ฟเล่าว่า โดยส่วนตัวจะพยายามแบ่งเวลาไปเยี่ยมบ้านเด็กในช่วงเย็นหลังเลิกเรียน หากแต่งานเอกสารที่รัดตัวกลับเป็นอุปสรรคสำคัญ

ผมไม่ท้อนะ จากเมื่อก่อนผมตั้งเป้าหมายว่า เด็กทุกคนต้องเข้าใจเนื้อหาที่เราสอน แต่หลังจากอบรมผมก็เปลี่ยน mindset กลายเป็นเราต้องดูที่ศักยภาพของตัวเด็กมากกว่า แม้ผมพยายามจะดัน แต่บางทีศักยภาพเขาได้แค่นั้น เราต้องเข้าใจ เมื่อมี Mindset แบบนี้ จึงทำให้เราไม่ท้อกับความเป็นครู

‘เรียนแบบกลุ่ม’ วิธีดึงความสนใจเด็กในรายวิชาคณิตศาสตร์

“ผมอยากให้เด็กมีส่วนร่วมมากที่สุดโดยเปลี่ยนรูปแบบการเรียนเป็นการจัดกิจกรรมกลุ่ม แต่ก็ยังเป็นเรื่องใหม่อยู่ เพราะครูส่วนมากไม่ได้สอนระบบกลุ่ม ซึ่งคุณครูที่เข้าร่วมโครงการฯ ต้องค่อย ๆ ช่วยกันปรับกระบวนการสอนระบบกลุ่มทีละนิดละน้อย

“นโยบาย Active Learning กำลังถูกพูดถึงมากขึ้น ดังนั้นต้องทำให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียน กระตุ้นให้เด็กมีส่วนร่วมกับกิจกรรมมากที่สุด ให้เด็กแสดงความคิดเห็น โดยครูจะสวมบทบาทเป็นผู้สนับสนุน”

การบวก ลบ คูณ หาร เป็นไม้เบื่อไม้เมากับเด็กนักเรียนเสมอมา ครูกิ๊ฟจึงใช้การสอนรูปแบบกลุ่มในชั้นเรียนของตน เริ่มจากการจัดกลุ่มโดยคละความเก่งด้านวิชาการของเด็ก ตั้งโจทย์ให้ทุกคนในกลุ่มต้องมีส่วนร่วม ผลลัพธ์คือทำให้เด็กที่เรียนอ่อนมีพัฒนาการด้านวิชาการมากขึ้น และเด็กทุกคนมีทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นมากขึ้น

นอกจากนี้ ระบบของโรงเรียนก็มีกลไกในการช่วยเหลือนักเรียนทางหนึ่ง นั่นคือ ‘ชั่วโมงซ่อมเสริม’ ครูกิ๊ฟอธิบายว่า ชั่วโมงนี้จะมีทุกวันศุกร์ก่อนคาบสุดท้าย โดยจะคัดเด็กที่ไม่ได้มีทักษะตามตัวชี้วัดมาเรียนเพิ่มเติม

“วิชาซ่อมเสริมจะไม่ได้แยกไปตามแต่ละวิชา ขึ้นอยู่กับผู้รับผิดชอบคือคุณครูประจำห้องนั้น ๆ โดยส่วนมากจะเน้นวิชาหลักคือ ไทย คณิต อังกฤษ วิทยาศาสตร์

“เด็กบางคนที่ไม่มีพื้นฐานบวก ลบ คูณ หาร เราก็จะเก็บสถิติว่าเด็กกลุ่มนี้มีกี่คน แล้วให้เขาไต่ระดับไปเรื่อย ๆ เริ่มจากง่ายไปยาก เน้นสร้างแรงจูงใจ ให้เด็กมีกำลังใจว่าเขาทำได้”

ติดปีกความมั่นใจกับครู

เมื่อย้อนถามถึงประสบการณ์การอบรมในโครงการบัวหลวงก่อการครู ครูกิ๊ฟตั้งข้อสังเกตว่า ผลจากการเข้าอบรมทำให้ครูเกิดทัศนคติและมุมมองใหม่ ๆ โดยเฉพาะบรรยากาศแห่งความไว้ใจ เมื่อครูได้รับความไว้ใจ ทำให้มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น สิ่งนี้คือจุดตั้งต้นที่ทำให้ชีวิตข้าราชการครูตลอด 5 ปี เกิดความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น

“สิ่งที่ได้รับจากโครงการคือ บรรยากาศที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สร้างความมั่นใจให้คุณครูที่เข้าร่วมอบรม เช่น กิจกรรมวาดภาพ ปกติแล้วผมวาดไม่ค่อยสวย แต่วิทยากรให้เขียนชื่อกำกับไว้ แล้วเมื่อรวมกับเพื่อนในกลุ่มกลายเป็นภาพใหญ่ ปรากฏว่าผลงานภาพรวมออกมาดูดี”

ครูกิ๊ฟเชื่อว่า ทุกปัญหาย่อมไม่มีทางตัน แต่สิ่งสำคัญคือ จังหวะการเลือกใช้เครื่องมือที่ตนมีให้ถูกจุด

“เมื่อมองย้อนกลับมาที่นักเรียน ผมพบว่า เด็กบางคนไม่จำเป็นต้องเก่งวิชาการ ไม่ต้องสมบูรณ์แบบเหมือนคนอื่น ขอแค่ให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น ยอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน แล้วนำมาประกอบกัน ผลงานก็จะสมบูรณ์”

Your email address will not be published.