“ลอง เรียน รู้” เส้นทางสู่การค้นพบตัวเองของเด็กวัยเรียน (รู้)
Reading Time: 2 minutesภายในงานเสวนา “ส่งเสียงถึง (ว่าที่) นายก: เรื่องมันเศร้าขอเล่านิดนึง” จัดโดย InsKru พื้นที่แบ่งปันไอเดียการเรียนรู้ของคุณครูทั่วประเทศ เมื่อเดือนเมษายน 2566
“โจ๊ก” – ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต ศึกษานิเทศก์ (ศน.) ชำนาญการ สะท้อนความคาดหวังของนักเรียนกับภาคส่วนอื่นๆ ว่าไม่สอดคล้องกัน
“ถ้าถามว่าหลักสูตรควรจะเน้นอะไร ให้เลือกเน้นระหว่าง หนึ่ง การรู้จักและค้นพบตัวเอง สอง วิชาการและความสนใจตามความถนัด สาม วิชาการเพื่อการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และ สี่ เน้นวิชาชีพตามความสนใจและความถนัด”
ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นครู นักเรียน ผู้ปกครอง และศึกษานิเทศ ตอบว่าควรเน้นการค้นพบตัวเอง ส่วนผู้บริหารโรงเรียนมองว่าควรเน้นวิชาการตามความสนใจและความถนัด
“เราจะเห็นความไม่ตรงกันในการกำหนดหลักสูตรของโรงเรียน เด็กเน้นว่าอยากจะค้นพบตัวเอง แต่ผู้บริหารโรงเรียนที่กำหนดทิศทางการเปิดรายวิชา เน้นวิชาการตามความสนใจและความถนัด ขณะที่เด็กบอกว่าเขายังไม่รู้ว่าสนใจอะไรหรือถนัดอะไร”
ใครจะช่วยให้เด็กค้นพบตัวเองและค้นพบได้อย่างไร
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรายังต้องถามด้วยว่า การค้นพบตัวเองจำเป็นหรือไม่
ลองมาฟังความเห็นจากนักเรียนอย่าง “ฮง” – ณัฏฐวุฒิ เทียนธีระบุญญา โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ ประสานมิตร และ “พอใจ” – ภูมิธิดา วิทโยภาส โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ องครักษ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่กำลังเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย
แล้วทำไมห้องเรียนปกติในระบบการศึกษาจึงยังช่วยพวกเขาหาคำตอบที่สำคัญของชีวิตไม่ได้
แบ่งสาย แบ่งเอก ตัวช่วยหรือพาหลง?
ณัฏฐวุฒิและภูมิธิดาเล่าว่าโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒทั้งสองแห่งมีการเลือกแผนกการเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายต่างจากโรงเรียนทั่วไป จึงกลายเป็นความท้าทายสำหรับเด็กที่ยังไม่รู้จักตัวเอง
“โรงเรียนหนูให้ความสำคัญกับด้านแพทย์ ไม่ได้แบ่งสายวิทย์-คณิต เหมือนโรงเรียนอื่น แต่จะแยกเป็นวิทยาศาสตร์การแพทย์ และไม่มีศิลป์-คำนวณ แต่มีศิลป์อย่างอื่น เช่น ศิลป์ภาษา ศิลป์ออกแบบ แต่ไม่ได้มีมากเหมือนที่ประสานมิตร” ภูมิธิดาอธิบายชัดถ้อยชัดคำ
“โรงเรียนผมมีวิชาเอกถึง 36 วิชา เช่น เอกแพทย์ เอกพยาบาล เอกเทคนิคการแพทย์ เอกภาพยนตร์ เอกกราฟิก การแบ่งเอกหลายสายแบบนี้ก็มีปัญหานะ เด็กบางคนยังไม่รู้จักตัวเองตั้งแต่มัธยมต้น สุดท้ายก็เลือกแผนกการเรียนแบบมั่วๆ ตอนมัธยมปลายอยู่ดี”
ณัฏฐวุฒิขยายความ “มั่ว” นั้นต่อว่า
“ตอนเรียนชั้น ม.3 จะมีวิชาเสริมสาระ ซึ่งวิชาพวกนี้ก็คือวิชาเอกตอน ม.ปลาย แต่เด็ก ม.3 บางคนยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรจริงๆ พอขึ้นชั้น ม.ปลาย ก็มักเลือกเอกตามเพื่อน แล้วก็มีเอกที่เรียนคล้ายกัน แต่วิธีการสอนไม่เหมือนกัน เช่น เอกฟิล์ม (ภาพยนตร์ดิจิทัล) มีอาจารย์ที่มีประสบการณ์จาก production house มาสอน ส่วนเอก IMT (นวัตกรรมเทคโนโลยีมัลติมีเดีย) ก็ได้เรียนวิชาภาพยนตร์เหมือนกัน แต่เน้นอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เอก DMA (ดิจิทัล มีเดีย อาร์ต) เป็นอาจารย์กลุ่มศิลปะ”
ณัฏฐวุฒิมองว่าระบบการแบ่งแผนกการเรียนคล้ายกับมหาวิทยาลัย ทำให้นักเรียนค้นพบตัวเองชัดเจนขึ้น เพราะการเรียนวิชาเอกจะลงลึก ทำให้มั่นใจว่าใช่ตัวเราหรือไม่ใช่ ถ้าไม่ใช่ เมื่อต้องเลือกคณะสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็จะไม่เลือกพลาดเหมือนช่วงมัธยมปลายอีก
“ถ้าถามว่าทำให้เรารู้จักตัวเองไหม หนูมองว่าไม่เลย” เสียงของภูมิธิดากลับเห็นต่าง เธอบอกว่าการเลือกอาชีพของนักเรียนสมัยนี้มักมาจากข่าวลือ สื่อสังคมออนไลน์ และสิ่งที่ครูแนะแนวทำให้เราเห็น
“สมมติทั้งโลกนี้มีร้อยอาชีพ เราอาจจะเคยเจอแค่ 5 อาชีพ เพราะอัลกอริทึมของสื่อสังคมออนไลน์ที่เสนอแต่สิ่งที่คิดว่าคนเห็นตรงกัน หรือเป็นสิ่งที่เราเคยคลิกดู สองคือถึงแม้ว่าครูในโรงเรียนจะเป็นครูรุ่นใหม่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าครูรุ่นใหม่ก็อาจไม่ได้เห็นโลกทั้งหมด เขาก็แนะนำให้เราดูบางอย่างเท่านั้น”
ผลสำรวจอาชีพในฝันของเด็กไทยเมื่อปี 2564 โดย Adecco Children Survey พบว่า “หมอ” เป็นอาชีพในฝันอันดับ 1 รองลงมาคือ “ครู” และอันดับ 5 คือ ตำรวจ ทั้งสามอันดับเป็นภาพจำของอาชีพที่มีมายาวนาน ส่วนอันดับ 3 และ 4 คือ Youtuber และ ดารา นักร้อง สะท้อนอิทธิพลของสื่อออนไลน์สมัยใหม่ที่มีต่อการรับรู้ของเด็กไทยทั่วประเทศ
แล้วระหว่างการเรียนแบบให้เด็กเลือกสาย กับการเรียนวิชาทั่วๆ ไปแบบไหนน่าจะตอบโจทย์กว่า
“การเลือกสายตอน ม.4 ด้วยปัจจัยบางอย่างที่ไม่ได้ใช้ตัวเองเป็นเกณฑ์ มันก็ไม่ตอบโจทย์ เราไม่ได้มีความสุขกับสิ่งที่เลือกด้วยซ้ำ หนูคิดว่าถ้าเรียนแบบปกติ แต่โรงเรียนมีเวลาให้เด็กไปใช้ชีวิตด้านอื่นๆ ให้ไปลองทำกิจกรรม น่าจะดี”
ภูมิธิดาเสริมว่าเธอรู้จากเพื่อนชาวต่างชาติผ่านทางอินเทอร์เน็ตว่านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในต่างประเทศเลือกได้ว่าจะเรียนวิชาตามปกติในโรงเรียน หรือออกไปฝึกงานนอกสถานศึกษา เธอมองว่าวิธีนี้น่าจะทำให้นักเรียนค้นพบตัวเองเร็วกว่าการเรียน 8-10 ชั่วโมงต่อวันในห้องเรียน
“ไม่ใช่การแนะแนวในหอประชุม แบบนั้นนั่งหลับแน่นอน แต่เป็นกิจกรรมที่ได้ออกไปข้างนอก ไปเห็นโน่นเห็นนี่ เหมือนเวลาเราออกค่าย ถ้าเราได้ทำแบบนั้นตั้งแต่แรก เราอาจพบความสนุกหรือค้นพบตัวเองตั้งแต่ตอนนั้นก็ได้”
รู้จักตัวเอง ทดลองอาชีพ ก่อนตัดสินใจ
ภายในกิจกรรม “TK Park เปิดตำราวิชาแนะให้แนว ตอน ‘Question Me?’ ให้คำถามช่วยเราตามหาตัวตน” เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2566 ที่สถาบันอุทยานการเรียนรู้ TK Park ร่วมกับ A-chieve ธุรกิจเพื่อสังคมที่มีเป้าหมายช่วยเด็กไทยค้นหาตัวเอง จัดกิจกรรมแนะแนวอาชีพให้นักเรียน นักศึกษาและผู้ปกครอง
กิจกรรมแรกคือ “ตุ๊กตาขนมปังของฉัน” ที่ออกแบบให้เราได้ทำแบบทดสอบออกแบบเส้นทางชีวิตทั้ง 6 ด้าน ได้แก่
“หัว” แทนเป้าหมายในชีวิต
“แขนข้างที่ถนัด” แทนความสามารถที่เราทำได้ดี
“แขนข้างที่ไม่ถนัด” แทนความสามารถที่เรายังทำไม่ได้ดี
“หัวใจ” แทนความชอบและความเชื่อของเรา
“ขา” ข้างหนึ่งแทนสถานการณ์สังคมที่ส่งผลต่ออนาคต และขาอีกข้างแทนเงื่อนไขของครอบครัวที่ส่งผลต่ออนาคตของเรา
“วิน” – นรินทร์ จิตต์ปราณีชัย Co-Founder and Chief Executive Officer ผู้ร่วมก่อตั้ง A-chieve เล่าถึงกิจกรรม “ตุ๊กตาขนมปัง” ว่าส่งเสริมให้เด็กรู้จักตัวเองมากขึ้นได้อย่างไร
“ตุ๊กตาขนมปังเป็นการชวนน้องๆ วิเคราะห์ตัวเอง มันมีเรื่องของเป้าหมายชีวิต ความชอบ ความถนัด ไม่ถนัด เงื่อนไขที่บ้าน และสุดท้ายเป็นเงื่อนไนสังคม ซึ่งสี่อันแรกเป็นเรื่องของปัจจัยภายในตัวเรา อีกสองอันเป็นปัจจัยภายนอก คือครอบครัวกับสังคม แต่สุดท้ายทุกอันมีผลต่อการที่เราจะเลือกเป็นอะไรสักอย่าง”
นรินทร์ย้ำว่าการวิเคราะห์ตัวเองจะต้องไม่ถูกตัดสินโดยคนอื่น เราต้องหาคำตอบด้วยตัวเอง ทุกคนรู้ว่าตัวเองอยากมีชีวิตแบบไหน
กิจกรรม “ห้องสมุดมนุษย์” หรือ Human Library เปิดโอกาสให้ทำความรู้จักอาชีพต่างๆ จาก “พี่ต้นแบบอาชีพ” ตัวแทนอาชีพซึ่งเป็นคนดังที่ปรากฏตัวตามหน้าสื่อเป็นประจำ ให้เวลาพูดคุยด้วยคนละ 15 นาที
“สวัสดีครับ พี่เป็น UX/UI Designer นะครับ น้องๆ ชื่ออะไร เรียนชั้นไหนกันบ้าง” เขาทักทายอย่างเป็นกันเอง
“ติว” ต้นแบบอาชีพ UX/UI Designer เริ่มต้นด้วยการแนะนำว่าปัจจุบันอายุ 27 ปี ทำงานเป็น freelance ให้กับองค์กรด้านการเงินระดับประเทศแห่งหนึ่ง เขาค่อยๆ แนะนำว่าอาชีพนี้ทำอะไรบ้าง ต้องเรียนสาขาอะไรมาบ้าง
“ทำไมพี่มาทำอาชีพนี้คะ”
“หลังเรียนจบ พี่เคยทำงานเป็น back-end developer สมมติเวลาเราค้นหาข้อมูลคำว่า ‘ปากกา’ ใน Google ก็จะเป็นหน้าที่ของ front-end ที่เอาคำนี้ไปค้นหลังบ้าน ส่วนตอนค้นข้อมูลหลังบ้านเป็นหน้าที่ของ back-end พอค้นเสร็จก็เอาข้อมูลมาส่งที่หน้าบ้าน ต่อมาพี่มีโอกาสได้ลองออกแบบ UI (User Interface) ได้ลองเรียนรู้กับผู้ใช้งานจริงๆ พี่ชอบเข้าอกเข้าใจคน อยากรู้ว่าผู้ใช้งานเจอความลำบากหรือปัญหาอะไร แล้วพอเราแก้ปัญหาให้เขาได้ เป็นจุดที่ทำให้รู้สึกว่าฉันทำสำเร็จ ผู้ใช้งานก็มาบอกเราว่าขอบคุณที่ทำสิ่งนี้ขึ้นมา ชีวิตเขาดีขึ้นมากเลย พี่เลยเปลี่ยนมาทำงานด้านนี้”
กว่าจะพบตัวตนที่สอดคล้องกับอาชีพจึงไม่ใช่เรื่องตรงไปตรงมา
พี่ต้นแบบอาชีพในกิจกรรมนี้ยังมีอีกหลายคนที่พร้อมพูดคุยด้วย เช่น ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายิกา ศรีเนียน อดีตสมาชิกไอดอล BNK48 นักการเมืองรุ่นใหม่จากพรรคก้าวไกล “ครูทอม คำไทย” – จักรกฤต โยมพยอม ติวเตอร์สอนภาษาไทยที่กำลังตั้งสำนักพิมพ์ของตัวเอง ฯลฯ
A-chieve ก่อตั้งมา 12 ปีแล้ว เริ่มต้นจากการทำงานกับเด็ก และจัดกิจกรรมในรูปแบบงานอีเวนต์ การทำ workshop นรินทร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง A-chieve เล่าถึงอีกกิจกรรมก่อนหน้านี้ที่ช่วยให้เด็กได้มีโอกาสทดลองทำงานจริงๆ
“เราจัดกิจกรรม Job Shodow ส่งน้องๆ ไปอยู่ที่ทำงานจริง 2 สัปดาห์ ซึ่งแม้ว่าน้องอาจจะไม่ได้คำตอบชัด แต่ได้คิดว่าฉันเลือกเรียนตามเพื่อนไม่ได้แล้ว ส่วนใหญ่จะสะท้อนว่ากิจกรรมนี้มีผลต่อการเลือกเรียนคณะต่างๆ รวมถึงการเลือกอาชีพของเขาด้วย”
การทดลองใช้ชีวิตในสถานประกอบการยังเปิดโอกาสให้เด็กได้รับรู้ถึงชีวิตการทำงานว่าต้องตื่นแต่เช้า ออกเดินทาง ต้องทำงานล่วงเวลา ต้องรับมือกับความเครียด ซึ่งไม่สามารถสอนในห้องเรียน แต่เป็นสิ่งที่ได้มากับประสบการณ์ตรง
นรินทร์เล่าว่าเด็กบางคนไปร่วมกิจกรรมวันแรกก็ขอออกจากกิจกรรมเลย บางคนอยากเดินในเส้นทางนั้นต่อ พร้อมกับยกตัวอย่างเด็กที่ได้ไปติดตามการทำงานของบรรณาธิการนิตยสาร แต่น้องเรียนวิทยาศาสตร์และสนใจแพทย์ เมื่อจบโครงการ เขาจึงสอบเข้าสาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเรียนเรื่องการผลิตสื่อสำหรับการเรียนการสอนและกิจกรรมทางการแพทย์
สำหรับกิจกรรม “ห้องสมุดมนุษย์” A-chieve เคยจัดเวิร์กช็อปแบบเดียวกันกับที่ TK Park ให้กับโรงเรียนมาก่อน
“การนำพี่ต้นแบบอาชีพมาแนะแนวก็เพื่อให้ข้อมูลซึ่งเราเรียกว่า ‘หัวใจอาชีพ’ ว่าควรจะต้องมีอะไรบ้าง”
กิจกรรมนี้เน้นเรื่องความหลากหลายของอาชีพ ให้เด็กเข้าไปฟังและพูดคุยถึงแต่ละอาชีพในเบื้องต้น เพื่อให้สามารถศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพเหล่านั้นต่อได้ด้วยตัวเอง
ล่าสุด A-chieve ร่วมมือกับโครงการร้อยพลังการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์ นำกระบวนการอย่างตุ๊กตาขนมปังและกิจกรรมอื่นๆ เข้าไปอบรมครูแนะแนว เพื่อให้ครูนำไปประยุกต์ใช้ในสถาบันการศึกษา
“เป็นโอกาสดีที่ได้ร่วมงานกับครูว่าจะแนะแนวช่วยให้เด็กค้นพบอาชีพที่ตัวเองอยากเป็นได้อย่างไร และได้พัฒนาแผนการสอนสำหรับครูแนะแนวขึ้นมาด้วย เมื่อครูเข้ามาอบรมแล้ว ครูสามารถนำแผนการสอนนี้ไปทำกิจกรรมกับน้องๆ ในโรงเรียนได้เลย”
โลกเปลี่ยนไปทุกวัน อาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ ชั่วโมงแนะแนวแบบเดิมๆ ในห้องสี่เหลี่ยมอาจไม่ตอบโจทย์เด็กรุ่นใหม่อีกต่อไป
“โรงเรียนหรือครูต้องเอื้อให้เด็กได้มีประสบการณ์กับสิ่งที่เขาอยากจะเลือก เช่น พาไปเจออาชีพต่างๆ หรือมีกิจกรรมให้รู้จักอาชีพรอบตัว ในโรงเรียน หรือในบ้านก็ได้”
เขาเสริมต่อว่าไม่ใช่แค่ในโรงเรียนเท่านั้น แต่หน่วยงานนอกโรงเรียนอย่างบริษัทเอกชนหรือองค์กรต่างๆ ก็มีความสำคัญ เพราะหากหน่วยงานเหล่านี้เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เข้าไปเรียนรู้ก็เป็นเรื่องดีเช่นกัน
“ต้องเปลี่ยนปัจจัยต่างๆ ในระบบนิเวศของการเรียนรู้ มีหลายปัจจัยที่เสริมซึ่งกันและกันอยู่”
อาชีพ VS ตัวตน
แขกรับเชิญในรายการโทรทัศน์ชื่อดังที่อยู่คู่สังคมไทยมานานหลายสิบปี เล่าว่าตลอดชีวิตของการประกอบอาชีพนักพูด คำถามที่คนนิยมถามเธอมากที่สุดคือ “พี่…แล้วผมจะหาตัวตนของผมเจอได้อย่างไร”
เธอเคยตอบคำถามเหล่านี้ว่าก็ลองทำอะไรต่างๆ จะได้รู้ว่าชอบทำอะไร แต่เมื่อเวลาผ่านไป เธอกลับตอบว่าไม่ต้องตามหาตัวตนแล้ว เพราะว่ามันคือสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เราเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา
ขณะที่แขกรับเชิญอีกคนเสนออีกมุมว่า เราควรหาตัวเองในจุดเริ่มต้นว่าชอบอะไร เมื่อชอบแล้ว เราจะพยายามฝึกฝนและพัฒนาต่อยอด จนค้นพบตัวตนของเราในที่สุด
การพูดคุยถกเถียงในรายการโทรทัศน์ทำให้น่าฉุกคิดว่า “เราจำเป็นต้องรู้จักและค้นพบตัวเองไหม”
ผู้ร่วมก่อตั้ง A-chieve ตอบกลับทันทีว่า “จำเป็น”
“คำว่ารู้จักตัวเองมีหลายด้าน แต่ในมุมของการเลือกเรียนต่อหรือเลือกอาชีพมีผลเยอะ ถ้าเราไม่รู้ว่าเงื่อนไขที่บ้านคืออะไร แต่พอเลือกแล้วกลับเจอว่าพ่อแม่ไม่อนุญาตให้เรียน หรือเราชอบมาก แต่อาจมีเรื่องของทักษะและความรู้ที่ยังขาดอยู่ แล้วเราต้องไปเติม เพื่อที่จะเป็นสิ่งนั้นได้”
นรินทร์ยกตัวอย่างเด็กที่สนใจเรื่องคอมพิวเตอร์ แต่ไม่เข้าใจความแตกต่างระหว่าง “วิศวกรรมคอมพิวเตอร์” กับ “วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์” เพราะไม่มีข้อมูล จึงเลือกเข้าเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สุดท้ายต้องลาออกมาสอบเข้าใหม่ เพราะไม่เหมือนการเรียนการสอนของคณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่เด็กสนใจ
แม้จะเป็นแค่ความเข้าใจผิดที่ดูเล็กๆ แต่ก็ทำให้เด็กเสียเวลาชีวิตไป 1 ปี
“ต้องมีกระบวนการทำให้เด็กเข้าใจตัวเองมากขึ้น และมีข้อมูลให้เขาเข้าใจคณะที่ตัวเองอยากจะเลือก ทำให้เห็นด้วยว่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างไร ก่อนจะตัดสินใจ” นรินทร์สรุป
ขณะที่ ณัฏฐวุฒิ เทียนธีระบุญญา และ ภูมิธิดา วิทโยภาส นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั้งสองคนย้ำตรงกันว่าการได้ทดลองใช้ชีวิตและเรียนรู้ คือหัวใจสำคัญของการค้นพบตัวเอง
“สุดท้ายเราทุกคนต้องออกไปใช้ชีวิตตอนโต เราทุกคนไม่ได้มานั่งเรียนแบบนี้ ถ้าเช่นนั้นสิ่งที่เราควรฝึกฝนไม่ใช่ความรู้ แต่เป็นการใช้ชีวิตหรือเปล่า ทุกวันนี้เวลาเราเลือกเส้นทางชีวิต ไม่ควรจะเลือกเผื่อว่าอนาคตข้างหน้าจะได้มีหน้าที่การงานที่ดี หรืออย่างน้อยก็มีกิน มันล้าสมัยที่จะคิดแบบนั้น เพราะเด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มีเป้าหมายสูงกว่านั้น ในเมื่อคนเปลี่ยนแล้ว ระบบก็น่าจะเปลี่ยนด้วยหรือเปล่า” ภูมิธิดาชวนตั้งคำถาม
“ผมมองว่าเราต้องเจอตัวเอง ถ้าเรายิ่งชอบอะไร เราจะทำสิ่งนั้นได้ดี แล้วรู้ตัวเองว่าจะพัฒนาต่อไปทางไหน ความชอบนั้นอาจกลายเป็นสิ่งที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศก็ได้
“แต่ถ้าเราไม่ชอบสิ่งที่ทำ เราอาจหายใจทิ้งไปวันๆ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย” ณัฏฐวุฒิทิ้งท้าย