Korkankru

ก่อการครู คลังความรู้ คลังความรู้ บทความ

‘ห้องน้ำสีรุ้ง’ ตราประทับของความเสมอภาคทางเพศในโรงเรียน ?1 min read

Reading Time: 2 minutes ‘ห้องน้ำสีรุ้ง’ จะช่วยให้นักเรียนรู้สึกได้รับการยอมรับในอัตลักษณ์ทางเพศของตนจริงหรือ? Jun 24, 2024 2 min

‘ห้องน้ำสีรุ้ง’ ตราประทับของความเสมอภาคทางเพศในโรงเรียน ?1 min read

Reading Time: 2 minutes

กระแสของ Pride Month หรือ เดือนแห่งการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางเพศ ได้รับการตอบรับจากสังคมไม่เว้นแต่ในรั้วโรงเรียน โดยเห็นได้จากการจัดกิจกรรมหรือการสร้างรูปธรรมอย่าง ‘ห้องน้ำสีรุ้ง’ เพื่อเป็นเครื่องมือหรือตราประทับว่า โรงเรียนแห่งนั้นล้วนให้ความสำคัญต่อความหลากหลายทางเพศ

คำถามชวนคิดต่อ คือ การมี ‘ห้องน้ำสีรุ้ง’ จะช่วยให้นักเรียนรู้สึกได้รับการยอมรับในอัตลักษณ์ทางเพศของตนจริงหรือ? 

และโรงเรียนเข้าใจถึงความสำคัญของการเคารพต่อความแตกต่างทางเพศจริงหรือ?

แน่นอนว่า หนึ่งในประโยชน์สำคัญของการมีห้องน้ำสีรุ้ง คือ การเพิ่มพื้นที่หรือเพิ่มทางเลือกให้แก่นักเรียนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายนอกเหนือจากชาย/หญิง มีพื้นที่ที่ช่วยให้รู้สึกปลอดภัยมากขึ้นเมื่อต้องใช้ห้องน้ำในการทำธุระส่วนตัว ทว่า ความรู้สึกดังกล่าวควรถูกจำกัดเพียงแค่ในพื้นที่ห้องน้ำหรือไม่ และทำอย่างไรที่ความรู้สึกปลอดภัยและการได้รับการยอมรับต่ออัตลักษณ์ทางเพศจะขยายขอบเขตกว้างขวางออกไปมากขึ้นในพื้นที่โรงเรียน

ก่อนจะไปสู่ปลายทางของการยอมรับต่ออัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย หากชวนนึกย้อนกลับไปยังพื้นที่ของโรงเรียน มีอะไรบ้างที่ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้หรือช่วยปลูกฝังค่านิยมของการเคารพต่อผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่าง ?

หลุมพรางต่อ ‘เพศหลากหลาย’ ที่ปรากฏในพื้นที่โรงเรียน

เมื่อสำรวจในพื้นที่ของโรงเรียนพบว่า ทั้งครูและนักเรียนต่างยังคงจำกัดตัวเองอยู่ในกล่องของ ‘ความเป็นชายและหญิง’ โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ การนำเสนอและผลิตซ้ำของหลักสูตรที่มักนำเสนอแนวคิดว่า เพศชายและหญิงเกิดมาและมีบทบาทที่ต่างกัน ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้แทรกซึมอยู่ในแทบทุกวิชา เช่น วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศึกษา ทำให้บทบาทหรืออัตลักษณ์ทางเพศอื่นที่ไม่เป็นไปตามกรอบที่นำเสนอถูกทำให้เข้าใจว่ามีความแปลกหรือไม่เป็นปกติ (นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล และอัครา เมธาสุข, 2564) 

นอกจากเนื้อหาของหลักสูตรแล้ว กฏระเบียบหรือแบบแผนต่างๆ ของโรงเรียนยังคงยึดตามกรอบเพศด้วย เช่น การกำหนดเครื่องแบบนักเรียนหรือทรงผมที่บ่งบอกเพศสภาพชายและหญิง การใช้คำนำหน้านาม การเข้าแถวที่แบ่งระหว่างชายและหญิง เป็นต้น 

แม้โรงเรียนหลายแห่งดูเหมือนว่าจะให้การยอมรับต่อความหลากหลายทางเพศ ทว่า กลับเป็นการยอมรับที่มาพร้อมกับ ‘ความคาดหวัง’ ที่มีต่อนักเรียนกลุ่มดังกล่าว เช่น นักเรียนที่ถูกจัดอยู่ในเพศทางเลือกอื่นมักถูกเรียกว่า ‘ตุ๊ด’ หรือ ‘กระเทย’ ต่างต้องมีความสามารถโดดเด่นกว่าผู้เรียนกลุ่มอื่น โดยเฉพาะในด้านการแสดงออก มีความเป็นผู้นำในการทำกิจกรรมต่างๆ หรือมีความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น ซึ่งความคาดหวังดังกล่าวในบางครั้งได้กลายเป็น ‘ความกดดัน’ ที่ผู้เรียนกลุ่มนี้ต้องแบกรับด้วยเช่นกัน (เพิ่งอ้าง, 2564) 

แล้วเหตุใดนักเรียนและครูยังคงเลือกเดินตามขนบและความคาดหวังในเรื่องเพศของสังคม?

งานศึกษาพบว่า  ‘ความกลัว’ คือ ปัจจัยสำคัญที่ยังกักขังทั้งครูและนักเรียนไว้ ไม่ว่าจะเป็นความกลัวต่อการถูกลดคุณค่า การตีตรา การไม่ได้รับการยอมรับทางสังคม หรืออาจถึงขั้นการถูกลงโทษ หากพวกเขาต้องเดินออกนอกกรอบที่แตกต่างหรือไม่เป็นไปตามคาดหวังของผู้อื่น ทำให้โรงเรียนกลายเป็นพื้นที่ที่ทั้งนักเรียนและครู (ที่เป็น lgbtq+) ไม่อาจเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ และอาจนำไปสู่การขาดศักยภาพในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงในระดับเซลล์ที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของความกลัว นั่นคือ การสูญสลายของจุดเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ประสาทในสมอง ไปจนถึงการตายของเซลล์ประสาทสมอง ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ของมนุษย์ (เพิ่งอ้าง, 2564) 

นอกจากความกลัวที่ทำงานในพื้นที่ของโรงเรียน ปัจจัยสำคัญอีกข้อคือ  ‘ความไม่รู้’ ต่อประเด็นเรื่องเพศ กล่าวคือ การที่กลุ่มอัตลักษณ์ทางเพศอื่นไม่ได้รับการกล่าวถึงในวาทกรรมทางการศึกษา เช่น ไม่ได้รับการเปิดเผยชื่อเรียก ไม่เป็นที่รู้จัก หรือไม่ถูกรับรอง ทำให้แนวปฏิบัติต่อคนกลุ่มเหล่านั้นไม่ถูกตระหนักถึงทั้งจากกลุ่มนักเรียนด้วยกันหรือครูผู้สอน ทำให้ไม่ระมัดระวังทั้งต่อท่าที การใช้คำพูดในการสื่อสารหรือการเรียกขาน รวมถึงทัศนคติที่มีต่อนักเรียนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายไม่ได้รับการตระหนักถึง ซึ่งในบางครั้งนำไปสู่ปัญหาการบูลลี่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศ/เพศวิถีของนักเรียนได้

ปลดล็อกให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้เรื่องเพศ 

แม้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะช่วยเปิดพรมแดนการเรียนรู้เรื่องเพศให้นักเรียนได้อย่างกว้างขวางจนระบบการศึกษาหรือโรงเรียนแทบวิ่งตามไม่ทันต่อองค์ความรู้ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม โรงเรียนยังคงเป็นพื้นที่สำคัญที่จะสร้างการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนในการตระหนักถึงและยอมรับต่อความหลากหลายทางเพศ บนพื้นฐานของการเคารพในความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน 

ในที่นี้ ก่อการครูขอเสนอหลักการสำคัญ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้การเรียนรู้หรือการปฏิบัติต่อประเด็นเรื่องเพศในโรงเรียนครอบคลุมมิติด้านอื่นมากยิ่งขึ้น ได้แก่ หลักของการไม่แบ่งแยก และ ทักษะวัฒนธรรม ดังเสนอต่อไปนี้

  • ‘หลักของการไม่แบ่งแยก’ ในพื้นที่โรงเรียน

หากเทียบกับปัญหาด้านการศึกษาอื่น การแก้ปัญหาในเรื่องของการสร้างการเคารพและการยอมรับต่อความแตกต่าง เป็นงานสำคัญที่สอดคล้องกับภารกิจของการศึกษามากที่สุด งานศึกษาจำนวนหนึ่งชี้ให้เห็นว่า การศึกษามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความคิดเชิงวิพากษ์และมุมมองด้านจริยธรรม ซึ่งเป็นรากฐานที่นำไปสู่คำถามว่า เราจะเคารพต่อความแตกต่างได้อย่างไร? (Adams et al., 1997)

Lynch และ Baker (2005) เสนอว่า เพื่อที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับความแตกต่างในโลกจริง ทั้งครูและนักเรียนควรมีประสบการณ์ในการอยู่กับสภาพแวดล้อมนั้นด้วย ไม่ใช่เพียงการเรียนรู้ในเชิงนามธรรมของการวิพากษ์หรือความเห็นอกเห็นใจเท่านั้น กล่าวคือ หลักของการไม่แบ่งแยก (The Principle of Inclusion) ควรนำมาใช้เป็นหลักการสำคัญในการออกแบบหลักสูตรหรือการเรียนรู้ในโรงเรียน ในฐานะพื้นที่ปลอดภัยที่นักเรียนจะเรียนรู้ประเด็นดังกล่าวได้โดยไม่สร้างความเกลียดชัง ความขัดแย้ง หรือความรุนแรง อีกทั้งยังสามารถเกิดการชี้แนะจากครูผู้สอนได้ ภายใต้หลักของการไม่แบ่งแยก

หลักการของการไม่แบ่งแยกถูกใช้ครอบคลุมในประเด็นความต่างอื่นนอกเหนือจากประเด็นเรื่องอัตลักษณ์เพศ เช่น ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ ศาสนา ความแตกต่างทางด้านร่างกาย รวมถึงความแตกต่างด้านความสามารถ โดยมีพื้นฐานความเชื่อว่า  การศึกษาเป็นบริการที่ต้องรองรับและสนับสนุนนักเรียนทุกคน ส่งเสริมความเท่าเทียม การเข้าถึงโอกาส และสิทธิของนักเรียน ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการลดการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) 

ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในโรงเรียน ทั้งครู ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ส่วนต่างๆ ต้องมีความเข้าใจในหลักการไม่แบ่งแยก รวมถึงต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบด้วยความยุติธรรม และมีความเป็นธรรมต่อนักเรียน ดังนั้น โรงเรียนที่มีความเชื่อและนำหลักการดังกล่าวไว้ในแนวนโยบายหรือหลักปฏิบัติของโรงเรียน มีแนวโน้มที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักเรียนทุกคน และไม่เกิดการแบ่งแยก (ในประเด็นความแตกต่างด้านต่างๆ ) ทั้งในระดับบุคคลและระดับโรงเรียน

นอกจากนี้ โรงเรียนควรส่งเสริมการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนมีสายตาของการมองโลกอย่างเป็นธรรม การเรียนรู้ถึงแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคและความยุติธรรมทางสังคมควรได้รับการสนับสนุนและบรรจุในโรงเรียน เช่น ประเด็นความเท่าเทียมที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ของชนชั้นทางสังคม เพศ สีผิว สัญชาติ ชาติพันธุ์ เป็นต้น ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่นักเรียนที่ต้องเรียนรู้เรื่องเหล่านี้เท่านั้น แต่ทั้งครูและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในนิเวศการศึกษาทั้งหมดควรที่จะต้องเรียนรู้และตระหนักถึงความสำคัญด้วยเช่นกัน

  •  ‘ทักษะวัฒนธรรม’ เพื่อการอยู่ร่วมท่ามกลางความแตกต่าง

นอกจาการเรียนรู้ในประเด็นการไม่แบ่งแยกแล้ว อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญ คือ การใช้ทักษะวัฒนธรรม (culturally fluency) เป็นแนวทาง เพื่อการเรียนรู้อยู่ร่วมสำหรับนักเรียนเมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์ต่อความแตกต่าง กล่าวคือ โรงเรียนควรเป็นพื้นที่สำคัญในการเรียนรู้และ ‘ฝึกฝน’ ให้นักเรียนมีความคล่องทางวัฒนธรรม (ในที่นี้หมายถึง ความแตกต่างหลากหลาย) ซึ่งความสามารถดังกล่าวเกิดขึ้นได้ด้วยการหมั่นตั้งคำถามต่อตนเองถึงการให้คุณค่าต่อชุดความเชื่อ อคติ และความลำเอียง เมื่อสิ่งเหล่านั้นมีอิทธิพลต่อความคิด การตัดสิน และการมีปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น ซึ่งในที่นี้คือ ผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย

ความสำคัญของทักษะวัฒนธรรมคืออะไร?

“ทักษะวัฒนธรรม จะช่วยให้คนอยู่ร่วมกันอย่างสันติด้วยการพัฒนาความสามารถของตัวเองเมื่อต้องสัมพันธ์กับคนที่แตกต่าง โดยอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า เราจะไม่เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางเมื่อปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และไม่ยึดติดว่า เราถูกต้องชอบธรรมแต่เพียงฝ่ายเดียว “ทักษะวัฒนธรรม”  พยายามเอื้ออำนวยให้ผู้คนสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในฐานะเพื่อน เพื่อที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติในชุมชนที่ให้ความสำคัญกับมิตรภาพที่แข็งแกร่ง” (ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, 2560)

จากข้อความข้างต้น ทักษะวัฒนธรรมจะช่วยให้นักเรียนมีความสามารถในการ ‘ปฏิสัมพันธ์’ ต่อผู้อื่นได้อย่างเป็นธรรม และช่วยทำให้การอยู่ร่วมกันในโรงเรียนหรือสังคมมีความสันติต่อกันมากยิ่งขึ้น

ลักษณะพื้นฐานของทักษะวัฒนธรรม

(เดชา ตั้งสีฟ้า, 2560) ประกอบด้วย 

  1. การตระหนักรู้ (A: Awareness) 

การตระหนักถึงความหลากหลายที่ดำรงอยู่ในสังคมในมิติต่างๆ และตระหนักถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ เช่น โครงสร้างทางสังคม ระดับการศึกษา ฐานะ หรือเพศ รวมถึงการตระหนักว่า ความขัดแย้งทางความคิด หรือความขัดแย้งในการยึดถือชุดคุณค่าที่ต่างกันเป็นเรื่องปกติของสังคม 

คำถามคือ การตระหนักถึงประเด็นดังกล่าว จะนำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์ของตนเองต่อผู้อื่นอย่างเป็นธรรมได้อย่างไร

  1. ความเคยชิน (H: Habit) 

ความเคยชินมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของบุคคล และปรากฏตั้งแต่ระดับบุคคล ระดับองค์กร และระดับสังคม 

เช่น หากนักเรียนถูกปลูกฝังวิธีคิดและพฤติกรรมในสภาพแวดล้อมของแนวคิดโลกนี้มี 2 เพศ โลกทัศน์และพฤติกรรมที่เขาจะแสดงออก อาจเห็นว่าอัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆ มีความ ‘แปลก’ หรือ ‘ไม่ปกติ’ และไม่รู้วิธีที่จะมีปฏิสัมพันธ์ต่อเรื่องเหล่านั้นอย่างไร 

อย่างไรก็ตามความเคยชินถูกสร้างหรือฝึกฝนได้ เช่น การฝึกฝนให้เกิดความเคยชินกับการอยู่ในสังคมที่ให้ความสำคัญต่อการเคารพซึ่งกันและกัน หรือฝึกฝนที่จะให้นักเรียนได้เรียนรู้ต่อการมีปฏิสัมพันธ์ต่อความแตกต่างที่อยู่รอบตัวของพวกเขา เป็นต้น

  1. ความสามารถ (A: Ability) 

 ในที่นี้หมายถึง ความสามารถในการเปิดพื้นที่ให้กับคนอื่นที่แตกต่างจากเราได้ ด้วยการไม่วางตัวเองเป็นศูนย์กลางท่ามกลางความแตกต่าง และการเคารพต่อความเป็นอื่น นอกจากนี้ยังหมายถึง ความสามารถในการสัมพันธ์กับคนอื่นอย่างยุติธรรม และสามารถสื่อสารเพื่อไม่ทำให้ความขัดแย้งนำไปสู่ความรุนแรง

หากหลักการข้างต้นของทักษะวัฒนธรรมถูกนำไปใช้จริงในการสร้างการเรียนรู้ในโรงเรียน ประเด็นความหลากหลายทางเพศอาจเป็นเพียงหนึ่งในกรณีศึกษาที่จะทำให้นักเรียนได้ฝึกฝนและพัฒนาความสามารถของตนในการมีปฏิสัมพันธ์ต่อความแตกต่างหรือความเป็นอื่น ซึ่งมีประเด็นอีกมากที่ยังท้าทายและเป็นโจทย์สำคัญให้นักเรียนได้เรียนรู้ในโลกจริง

ลึกกว่าการมีห้องน้ำสีรุ้ง คือ สภาพแวดล้อมที่ทุกคนต่างเคารพซึ่งกันและกัน

เมื่อการตระหนักถึงความสำคัญของความแตกต่างปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในแง่ของการไม่ถูกเลือกปฏิบัติ การไม่ถูกแบ่งแยก และการได้รับปฏิสัมพันธ์ที่ดีจากผู้อื่น จะช่วยสร้างความรู้สึกภาคภูมิใจต่อการแสดงถึงอัตลักษณ์ทางเพศที่พวกเขาและเธอเป็น ซึ่ง นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล (นวนันต์ เกิดนาค, ม.ป.ป.) ชี้ให้เห็นว่า ความรู้สึกดังกล่าวควรเป็นความรู้สึกขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมีโดยไม่ถูกจำกัดด้วยอัตลักษณ์ทางเพศ และไม่ควรมีใครต้องรู้สึกแย่ รู้สึกผิด หรือเป็นบาปต่ออัตลักษณ์ทางเพศของตน 

หากโรงเรียนสามารถจัดการเรียนรู้เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่นักเรียนต่างภาคภูมิใจต่ออัตลักษณ์ทางเพศของตน รวมถึงการได้รับความเคารพต่ออัตลักษณ์ที่แตกต่างทั้งจากระดับนักเรียน ครู และโรงเรียนในฐานะองค์กรแล้วนั้น การมีหรือไม่มีของ ‘ห้องน้ำสีรุ้ง’ อาจไม่ใช่ปัญหา เมื่อนักเรียนและครูต่างตระหนักถึงแก่นสำคัญของการยอมรับต่อความแตกต่าง เคารพต่อความเป็นมนุษย์ และปฏิบัติต่อกลุ่มอัตลักษณ์ทางเพศอื่นได้อย่างเป็นธรรม


reference:

– นรุตม์ ศุภวรรธนะกุล และ อัครา เมธาสุข. (2564). ขังเด็กไทยไว้ในความกลัวด้วยมายาคติเรื่องเพศในห้องเรียน, ใน ใต้พรมแห่งความดีงาม ถอดรหัสประเด็นการศึกษาไทย. คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

– นวนันต์ เกิดนาค. (ม.ป.ป.). ถกประเด็นข้อสังเกต: การแสดงออกของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ และเส้นทางสู่สมรสเท่าเทียม. คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. https://lsed.tu.ac.th/published-message-content-44

– ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2560). ทักษะวัฒนธรรมคืออะไร?. เอกสารประกอบกระบวนการโครงการโรงเรียนทักษะวัฒนธรรม.

– เดชา ตั้งสีฟ้า. (2560). แสง น้ำ และรวงข้าว: ทักษะวัฒนธรรมเพื่อความเป็นอื่น. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร (องค์การมหาชน).

–  Adams, M., Bell, L.A. and Griffin, P., eds. (1997). Teaching for Diversity and Social Justice: A Source Book. New York: Routledge.

– Lynch, K., & Baker, J. (2005). Equality in education: An Equality of Condition Perspective. Theory and Research in Education, 3(2), 131-164.

– Ministerial Advisory Committee: Children and Students with Disability (2017). Principles for Inclusion for Children and Students with Disability in Education and Care. https://inclusiveschoolcommunities.org.au/resources/toolkit/understanding-principles-inclusion

เรียบเรียงโดย  กัญณัฐ กองรอด

ภาพโดย  ภัทรินทร์ สุขรื่น

Your email address will not be published.