ชวนเด็กให้อ่านได้ และเขียนดี ไม่ใช่เรื่องยาก
Reading Time: 2 minutesเมื่อการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเด็กกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคุณครูในยุคหลังโควิด-19 โครงการโรงเรียนปล่อยแสงจึงร่วมกับมูลนิธิสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ชวนคุณครูมาเรียนรู้ร่วมกับวิทยากรด้านการอ่านเขียนที่มีชื่อเสียงสองท่าน ว่ากิจกรรมแบบไหนที่จะทำให้การฝึกอ่านฝึกเขียนกลายเป็นเรื่องสนุก และฟื้นทักษะทางภาษาที่หล่นหายไป เพื่อให้เด็กกลับมาตามทันพัฒนาการที่ควรจะเป็นได้ในเร็ววัน
ครูอ่านให้ฟัง เด็กก็อ่านได้
“ปกติการสอนของคุณครูจะตั้งเป้าไว้เลยว่าจะสอนอะไรให้แก่เด็ก แล้วครูก็เลือกหนังสือที่ถูกใจครู มาเล่าให้เขาฟัง แต่ช่วงเวลาแห่งการอ่านก็ควรจะสนุกสำหรับเด็กสิ วันนี้เราเลยเริ่มจากชวนให้คุณครูคิดว่า เด็กชอบอะไร แล้วจะเลือกหนังสือที่ตรงกับความชอบของเขาได้ไหม”
ครู “แต้ว” ระพีพรรณ พัฒนาเวช นักเขียนนิทานเด็ก วิทยากรของโครงการเล่าว่า การอ่านนั้นนอกจากจะเป็นทักษะแล้ว ยังเป็นทัศนคติแบบหนึ่งด้วย ในโลกนี้จึงมีทั้งเด็กที่ “อ่านออกแต่ไม่อ่าน” และเด็กที่ “อยากอ่านแต่อ่านไม่ออก” ซึ่งเธอก็มีเคล็ดลับการเปิดโลกการอ่านง่ายๆ ให้แก่เด็กทั้งสองประเภทนี้มาแบ่งปันแก่คุณครูทุกท่าน
“วิธีเลือกหนังสือสำหรับเด็กเล็ก ง่ายๆ เลยคือดูว่าตัวละครทำอะไรได้ ตรงกับพัฒนาการทางด้านร่างกายหรือภาษาของเด็กรึเปล่า ให้เลือกหนังสือที่เด็กสามารถเอาตัวเองเข้าไปแทนที่ตัวละครในเรื่องได้ เช่น ถ้าเราเลือกหนังสือให้เด็กอนุบาลแล้วเขาเห็นว่า โอ้โห ตัวละครกินแบบนี้เหมือนเราเลย เขียนหนังสือโย้เย้เหมือนเรา ปีนป่ายเหมือนเรา เด็กจะรู้สึกตามว่านี่เป็นเรื่องของเขานี่นา ทำให้ติดใจหนังสือได้ไม่ยากเลย”
เมื่อเลือกหนังสือได้แล้ว ขั้นต่อมาคือการ “อ่านให้ฟัง” ซึ่งครูแต้วเน้นย้ำว่าการอ่านไม่เท่ากับการเล่า การอธิบาย การสอน หรือการถาม อ่านให้ฟังคืออ่านออกเสียงตามตัวอักษรที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเพียงอย่างเดียว ตัวคนอ่านไม่พูดแทรกเสริมเนื้อหา ค่อยๆ อ่านไปทีละบรรทัด ทีละหน้า ให้เด็กฟังพร้อมกับคิดตามช้าๆ โดยขณะเดียวกันก็ได้มองคุณครูจับหนังสือ พลิกหน้ากระดาษ และสบตากันเป็นระยะ
“สิ่งนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับคุณครูหลายคนเราเรียกว่า ‘การอ่านโดยไม่อธิบาย’ เป็นการอ่านที่เหลือพื้นที่ว่างให้เด็กได้คิด ได้ตีความด้วยตัวเอง โดยปกติคุณครูส่วนใหญ่จะเคยชินกับการอ่านไป เล่าไป สอนไป ถามไป อธิบายไป เด็กจะถูกหยุดเป็นช่วงๆ ไม่สามารถติดตามตัวละครและเนื้อเรื่องได้ตั้งแต่ต้นจนจบ เพราะต้องคอยตอบคำถามครูอยู่ตลอดเวลา”
ครูแต้วเลือกแนะนำวิธีนี้เพราะเด็กจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับภาพและคำในหนังสืออย่างเต็มที่ ได้ติดตามเรื่องราวอย่างจดจ่อ หากเขาได้ค้นเจออะไรในเรื่องราวนั้น ก็จะทำให้รู้สึกสนุก และรู้สึกว่าหนังสือไม่ใช่ยาขม
“เด็กแต่ละคนจะคิดตาม จินตนาการตามไม่เหมือนกันอยู่แล้ว เมื่ออ่านจบ เราอยากให้คุณครูกระตุ้นเด็กให้บอกเล่าสิ่งนั้นออกมา เช่น หนูรู้สึกยังไง หนูคิดยังไง ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ทำไมถึงทำหน้าอย่างนี้ ทำไมตัวละครถึงคิดแบบนี้ พยายามเปิดพื้นที่ว่างเยอะๆ ด้วยคำถามปลายเปิด เด็กหลายคนก็คิดได้หลายอย่าง ไม่มีคำตอบที่ผิด เด็กจะรู้สึกว่าการคุยกับคุณครูไม่ใช่เรื่องน่ากลัว เริ่มต้นด้วยการคุยถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังสือนี่แหละ”
ครูพาเด็กเขียน เด็กก็เขียนดี
“วันนี้เราจะมาออกแบบสื่อทำมือที่จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ภาษา ตั้งแต่เรื่องพยัญชนะ สระ การผสมคำ ถ้าเด็กไม่เข้าใจที่พยัญชนะหรือสระตัวไหนเป็นพิเศษ เราก็ทำสื่อทำมือเรื่องนั้นขึ้นมาโดยเฉพาะได้ เพื่อช่วยให้เด็กเข้าใจเรื่องเหล่านี้” ครูปรีดา ปัญญาจันทร์ นักแต่งและวาดภาพประกอบนิทานเด็ก วิทยากรคนที่ 2 เริ่มต้นแบ่งปันสื่อทำมือง่ายๆ จากวัสดุใกล้ตัว
พยัญชนะในภาษาไทยมีหลายตัวที่หน้าตาคล้ายกัน เช่น ค.ควาย กับ ด.เด็ก ก.ไก่ กับ ถ.ถุง น.หนู กับ ม.ม้า บ.ใบไม้ กับ ป.ปลา และอื่นๆ อีกหลายคู่ สื่อทำมือชิ้นแรกของครูปรีดาจะช่วยให้เด็กไม่สับสนในเรื่องนี้
“วิธีการคือนำกระดาษยาวๆ มาแบ่งเป็นสี่ช่อง เขียนคู่พยัญชนะที่เลือกลงในช่องแรกและช่องสุดท้าย ส่วนสองช่องที่อยู่ตรงกลางเราจะวาดรูปจากพยัญชนะนั้นลงไปครับ เช่น ฝั่งซ้ายผมเขียน ค.ควาย ข้างๆ กันก็วาดรูปควาย ส่วนฝั่งขวาของกระดาษก็เขียน ด.เด็กลงไป แล้ววาดรูปเด็กไว้ด้วยกันครับ เมื่อติดกาวด้านหลังกระดาษสองช่องตรงกลางที่วาดรูปไว้ เราก็จะได้เป็นสมุดคำสี่หน้าที่เปิดพลิกไปมาระหว่างสองตัวอักษรได้”
สื่อทำมือแบบนี้ยังประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นได้ เช่น เรื่องสระซึ่งในภาษาไทยมีทั้งสระข้างหน้า ข้างหลัง ข้างบน ข้างล่าง เด็กๆ มักจะสับสนว่าจะต้องเขียนไว้ตรงไหน เราสามารถเขียนคำง่ายๆ โดยแบ่งสระกับพยัญชนะไว้คนละช่องก่อน แล้วอ่านออกเสียงให้เด็กฟัง พร้อมกับเปิด-ปิดกระดาษตามลำดับที่อ่าน เช่น คำว่า “กา” ก็อ่านออกเสียง “กอ อา กา” โดยเปิดให้ดูเฉพาะ ก.ไก่ ก่อน จากนั้นจึงพลิกช่องทางขวาให้เห็นสระอาอย่างเดียว แล้วจึงกางกระดาษทั้งหมดเพื่อให้เด็กเห็นคำว่า “กา” ที่สมบูรณ์
“เมื่อเด็กเริ่มคุ้นชินกับการผสมคำ เราก็ขยับมาทำสมุดภาพสำหรับฝึกอ่าน ในแต่ละหน้าจะมีแค่หนึ่งคำ ไล่ลำดับจากง่ายไปหายาก เช่นสมุดคำเรื่องผลไม้ ผมจะเริ่มจากคำว่า ‘มะละกอ’ เพราะไม่มีตัวสะกด ต่อมาคือ ‘แตงโม’ เพราะสระออกเสียงไม่ยาก ถัดมาคือ ‘ทุเรียน’ เพราะเริ่มมีสระผสม และ ‘น้อยหน่า’ เป็นคำสุดท้ายเพราะเป็นคำที่ยากที่สุด มีทั้งอักษรนำและวรรณยุกต์ ในแต่ละหน้าก็จะวาดภาพผลไม้ลงไปด้วย ซึ่งช่วยให้เด็กจำได้ง่ายขึ้นเยอะเลย”
ครูปรีดาอธิบายว่าสื่อทำมือเหล่านี้จะยิ่งได้ผลมาก หากคุณครูและเด็กๆ ได้มาช่วยกันนั่งเขียนนั่งวาดบัตรคำและสมุดภาพขึ้นมาเอง เพราะบัตรคำที่เขียนด้วยลายมือคนจริงๆ นั้นเป็นแบบอย่างที่ดีมากสำหรับเด็ก ถ้าครูนั่งเขียนบัตรคำกับเด็ก เด็กจะได้เห็นทั้งวิธีการจับดินสอ การเคลื่อนไหวมือ หรือลำดับการลากเส้น
“ถ้าคุณครูนั่งทำให้เห็น เด็กก็จะสนใจ ถ้าคุณครูให้เด็กช่วย เด็กก็ได้หยิบจับ ได้วาดรูป ถ้าคุณครูให้เด็กทำเอง เด็กก็ยิ่งได้ฝึกฝน ถือเป็นการกระตุ้นสมองที่ดีเลยนะ อีกทั้งยังได้มีการพูดคุยมีการถาม ถือเป็นการเรียนรู้ภาษาอีกทางหนึ่ง เคล็ดลับการสอนเด็กเขียนหนังสือง่ายนิดเดียว คือคุณครูต้องสร้างบรรยากาศ ใส่ใจ แล้วก็ต้องต่อเนื่อง ถ้าครูทำอย่างต่อเนื่อง ทำบ่อย ตอกย้ำ ซ้ำทวน อ่านวนจนจำได้เนี่ย เด็กก็จะคุ้นเคยกับตัวหนังสือ แล้วก็จะอ่านได้เขียนได้เองครับ”